8 คำตอบ ก่อนตัดสินใจลงทุนกองทุนรวมตราสารหนี้โลก

โดย ธนวัฒน์ ปัจฉิมกุล ผู้อำนวยการบริหาร ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนต่างประเทศ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย)
3 Min Read
22 กุมภาพันธ์ 2565
4.419k views
Inv_8 คำตอบ ก่อนตัดสินใจลงทุนกองทุนรวมตราสารหนี้โลก_Thumbnail
Highlights

การลงทุนตราสารหนี้ในช่วงที่อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงและอัตราดอกเบี้ยกำลังเป็นขาขึ้น อาจทำให้ขาดทุนจากราคาตราสารหนี้ที่ปรับตัวลงเมื่ออัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น เนื่องจากการเคลื่อนไหวของอัตราดอกเบี้ยจะส่งผลกระทบต่อผลตอบแทนการลงทุนของตราสารหนี้ ดังนั้น นักลงทุนจึงควรปรับแผนการลงทุน ซึ่งทางเลือกหนึ่ง คือ การลงทุนผ่านกองทุนรวมตราสารหนี้โลก เพราะเพิ่มตัวเลือกในการลงทุนให้หลากหลาย ทำให้มีความยืดหยุ่นในการบริหารพอร์ตลงทุน

ปัจจุบันนอกจากนักลงทุนจะลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ไทยแล้ว ยังเริ่มมองหากองทุนรวมตราสารหนี้โลกเพื่อเป็นทางเลือกในการบริหารความเสี่ยงให้กับพอร์ตลงทุน ขณะเดียวกันเพื่อเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีสม่ำเสมอจากการกระจายการลงทุนในตราสารหนี้หลากหลายประเภท 

 

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้กองทุนรวมตราสารหนี้โลกมีตัวเลือกในการลงทุนที่หลากหลาย ทำให้มีความยืดหยุ่นในการบริหารพอร์ตลงทุน แต่ราคาตราสารหนี้จะมีความผันผวนขึ้นลงตามสภาวะตลาด ดังนั้น ก่อนตัดสินใจลงทุนจึงต้องศึกษา ติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดผันผวนและนโยบายการเงินของธนาคารกลางของประเทศที่สำคัญอย่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป มีการเปลี่ยนแปลง และหากสนใจลงทุนกองทุนรวมตราสารหนี้โลกในปีนี้ลองหาคำตอบ 8 ข้อ ดังนี้

 

1. ผลตอบแทนของกองทุนรวมตราสารหนี้โลกปี 2564

ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้เม็ดเงินลงทุนไหลเข้าตลาดหุ้นและสินทรัพย์เสี่ยงต่าง ๆ ในปี 2564 เพิ่มขึ้นพอสมควร เช่น ดัชนี MSCI World Equity เม็ดเงินไหลเข้าเพิ่มขึ้นประมาณ 20% หรือดัชนี S&P 500 เม็ดเงินไหลเข้าเพิ่มขึ้นประมาณ 28% เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบ WTI เพิ่มขึ้นถึง 58.9% ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อประเทศต่าง ๆ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะประเทศที่เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ดี เช่น สหรัฐอเมริกา

 

อัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น ส่งผลให้ตราสารหนี้รัฐบาลกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วมีผลงานที่ไม่ดีนัก โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Bond Yield) เช่น พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกา พันธบัตรรัฐบาลเยอรมนี พันธบัตรรัฐบาลอังกฤษปรับตัวเพิ่มขึ้น ถือเป็นการสะท้อนการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น (Bond Yield ตราสารหนี้เพิ่ม = ราคาตราสารหนี้ลด) โดย Bond Yield ของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นนี้ก็ได้เป็นแรงผลักดันสำคัญให้ Bond Yield ของประเทศต่าง ๆ ปรับเพิ่มขึ้นตามไปด้วย รวมถึง Bond Yield ของพันธบัตรรัฐบาลไทยและกลุ่มประเทศอาเซียน

 

ในอีกด้านหนึ่ง กลุ่มตราสารหนี้ประเภท High Yield Bond กลับสร้างผลงานที่ดี เพราะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวทำให้ความเสี่ยงด้านการผิดนัดชำระหนี้ลดลง เนื่องจากแนวโน้มผลประกอบการฟื้นตัว ส่งผลให้นักลงทุนโยกเงินเข้าไปลงทุนในตราสารหนี้ประเภทดังกล่าวที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าตราสารหนี้ระดับลงทุน (Investment Grade)

 

2. ประเมินภาพรวมของกองทุนรวมตราสารหนี้โลกในไตรมาส 1 ปี 2565

ในภาพรวมของกองทุนรวมตราสารหนี้โลกไตรมาส 1 ปี 2565 ยังคงมีความผันผวน ประกอบกับ Bond Yield ที่ปรับสูงขึ้นทำให้กองทุนรวมตราสารหนี้มีโอกาสขาดทุนในช่วงระยะสั้น อย่างไรก็ดี กองทุนรวมตราสารหนี้ต่างประเทศจะมีการใช้อนุพันธ์เข้ามาช่วยบริหารความเสี่ยงและเพิ่มประสิทธิภาพให้กับพอร์ตลงทุน จึงช่วยลดการขาดทุนและในบางครั้งยังสามารถหาผลตอบแทนส่วนเพิ่มได้อีกด้วย

 

สำหรับตัวแปรสำคัญที่มีผลต่อผลการดำเนินงานของกองทุนรวมตราสารหนี้ คือ ทิศทางอัตราเงินเฟ้อ หากอัตราเงินเฟ้อส่งสัญญาณชะลอลงจะทำให้นักลงทุนผ่อนคลายความกังวลว่าธนาคารกลางจะต้องเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดตราสารหนี้โลก ตรงกันข้ามหากอัตราเงินเฟ้อยังคงยืนอยู่ในระดับสูงหรือปรับเพิ่มขึ้นก็จะเป็นปัจจัยเชิงลบต่อกองทุนรวมตราสารหนี้ เนื่องจากพันธบัตรรัฐบาลหรือตราสารหนี้เป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยคงที่หรือส่วนลดตราสารแก่นักลงทุนที่ถือครองตราสารจนครบกำหนด ดังนั้น เมื่ออัตราเงินเฟ้อเริ่มปรับขึ้นและส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยมีทิศทางที่จะปรับตัวสูงขึ้น ราคาของพันธบัตรรัฐบาลก็จะปรับตัวลดลง

 

3. เลือกลงทุนกองทุนรวมตราสารหนี้โลกในไตรมาส 1 ปี 2565 อย่างไร

นักลงทุนควรเลือกกองทุนรวมตราสารหนี้ที่มีการกระจายการลงทุนไปในประเทศต่าง ๆ และกระจายการลงทุนไปในหลากหลายอุตสาหกรรม เนื่องจากในปีนี้การขยายตัวของเศรษฐกิจในแต่ละประเทศจะมีความแตกต่างกัน โดยประเทศที่มีการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ในปีที่ผ่านมา และมีเศรษฐกิจที่เติบโตโดดเด่นในปีนี้ เช่น ประเทศในกลุ่มอาเซียน ญี่ปุ่น เป็นต้น ขณะที่สหรัฐอเมริกา ยุโรป และจีน มีแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง

 

นอกจากนี้ ในช่วงที่อัตราเงินเฟ้อปรับขึ้น และ Bond Yield ของตราสารหนี้เพิ่มขึ้น จะส่งผลต่ออุตสาหกรรมที่แตกต่างกัน โดยอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มของผลประกอบการที่ดีขึ้นจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้น เช่น กลุ่มพลังงานและโภคภัณฑ์ ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้างและวัสดุก่อสร้าง จะได้ประโยชน์จากการลงทุนที่กลับมาเพิ่มขึ้นทั้งจากภาครัฐและเอกชน ส่วนกลุ่มธุรกิจการบริโภคจะได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของตลาดค้าปลีก ตลาดรถยนต์ และท่องเที่ยว เป็นต้น

 

ดังนั้น กองทุนรวมตราสารหนี้ที่มีการกระจายการลงทุนไปยังหลายประเทศและหลากอุตสาหกรรม จะสามารถเพิ่มโอกาสการลงทุนในจังหวะของเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมที่แตกต่างกัน และยังเป็นการกระจายความเสี่ยงในการลงทุนที่ดีอีกด้วย

 

4. หากสภาพคล่องส่วนเกินปรับลดลง จะส่งผลให้ Bond Yield ปรับเพิ่มขึ้นแค่ไหน

สภาพคล่องส่วนเกินในตลาดจะเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ Bond Yield ไม่ขยับขึ้นเร็วจนเกินไป โดยเฉพาะ Bond Yield ในตลาดสหรัฐฯ ซึ่งมีอิทธิพลต่อ Bond Yield ตลาดอื่น ๆ ทั่วโลก และจากตัวเลข Fed Overnight Reverse Repo ณ สิ้นปี 2564 พบว่าสภาพคล่องในตลาดการเงินสหรัฐฯ มีอยู่สูงมากถึงระดับ 1.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สะท้อนว่าสภาพคล่องของสถาบันการเงินสหรัฐอเมริกาที่นำมาพักไว้ในบัญชีของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เนื่องจากไม่มีตัวเลือกการลงทุนอื่นในตลาดที่น่าสนใจ โดยเมื่อเม็ดเงินเหล่านี้กลับเข้ามาในตลาดจะทำให้แรงซื้อที่เข้ามาเป็นปัจจัยกดดันไม่ให้ Bond Yield ปรับเพิ่มขึ้นมาก

 

ในอีกด้านหนึ่ง ด้วยรัฐบาลสหรัฐอเมริกามีภาระหนี้ที่สูงมาก เพราะในช่วงการระบาดของ COVID-19 ได้ใช้เงินจำนวนมากในการพยุงเศรษฐกิจ ทำให้หนี้รัฐบาลสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 23.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ณ ปลายปี 2562 มาอยู่ที่ 28.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ณ ไตรมาส 3 ปี 2564 ดังนั้น หาก Fed ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วเกินไปก็จะกระทบต่อเสถียรภาพทางการคลังของประเทศ เพราะทำให้ภาระดอกเบี้ยจ่ายเพิ่มขึ้นมาก จึงประเมินว่า Fed จะยังคงไม่ปล่อยให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดสูงมากเกินไป หรืออีกนัยหนึ่ง คือ อัตราดอกเบี้ยอาจจะไม่กลับไปสู่ระดับปกติเหมือนช่วงก่อนเกิดการระบาดของ COVID-19

 

5. กองทุนรวมตราสารหนี้โลกประเภทไหนที่น่าจะให้ผลตอบแทนที่ดีในไตรมาส 1 ปี 2565

กลุ่มตราสารหนี้ที่น่าสนใจและเป็นโอกาสเลือกลงทุน คือ กลุ่มที่เป็นตราสารหนี้ด้อยสิทธิ (Subordinated Debt) เพราะให้ Bond Yield ที่สูงกว่าตราสารหนี้ประเภทไม่ด้อยสิทธิ (Senior Debt) แต่นักลงทุนต้องเลือกลงทุนในตราสารหนี้ของบริษัทที่มีฐานะการเงินแข็งแกร่ง ซึ่งจะลดความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ได้

 

นอกจากนี้ ควรเลือกลงทุนกลุ่มตราสารหนี้กึ่งหนี้กึ่งทุน (Capital Securities) ที่สถาบันการเงินเป็นผู้ออก เช่น ตราสารหนี้ประเภท AT1 (Additional Tier 1) เพราะให้ Bond Yield ที่สูง มีโอกาสขาดทุนน้อย โดยในช่วงปี 2553 - 2563 ตราสารหนี้กลุ่มนี้ขาดทุนเพียง 1 ปี (ขาดทุน 3.6%) เท่านั้น ขณะที่มีถึง 5 ปีที่ให้ผลตอบแทนเกิน 9% โดยผลตอบแทนสูงสุดที่ได้ต่อปี คือ 20.5%

 

ตราสารหนี้ที่น่าสนใจอีกกลุ่ม คือ ตราสารหนี้ในเอเชียกลุ่มประเภท High Yield Bond เพราะให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับความเสี่ยง โดยเฉพาะตราสารหนี้กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ในจีน ที่ราคาในปัจจุบันสะท้อนโอกาสการผิดนัดชำระหนี้ (Implied Default) ที่สูงเกินไป เมื่อเทียบกับในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจในอดีต เช่น วิกฤติดอทคอมปี 2545 และวิกฤติซับไพร์มในช่วงปี 2551 เป็นต้น

 

6. กองทุนรวมตราสารหนี้โลกในประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศเกิดใหม่ มีความแตกต่างกันอย่างไร และควรให้น้ำหนักการลงทุนอย่างไร

กองทุนรวมตราสารหนี้โลกในประเทศพัฒนาแล้วมีความแตกต่างกับตราสารหนี้ประเทศเกิดใหม่ โดยนักลงทุนโลกมักจะมองตลาดเกิดใหม่มีความเสี่ยงสูง และเมื่ออัตราดอกเบี้ยกำลังเป็นขาขึ้นก็จะมองว่าตราสารหนี้กลุ่มนี้มีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้น ทำให้ตราสารหนี้ประเทศตลาดเกิดใหม่มักมีผลงานที่ต่ำกว่าตราสารหนี้ประเทศตลาดพัฒนาแล้ว รวมถึง เมื่อนักลงทุนเกิดความกังวลในประเด็นต่าง ๆ และต้องการลดความเสี่ยงในการลงทุนจึงทำให้เงินไหลออกระดับสูงเป็นครั้งคราว

 

อย่างไรก็ดี ตราสารหนี้ประเทศตลาดเกิดใหม่มักจะให้ Bond Yield ที่สูงกว่าตราสารหนี้ประเทศพัฒนาแล้ว ทำให้เมื่อส่วนต่างของ Bond Yield ระหว่างตลาดประเทศพัฒนาแล้วและประเทศเกิดใหม่เพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับสูงและคุ้มค่ากับความเสี่ยง เม็ดเงินก็จะไหลกลับเข้ามาลงทุนในตราสารหนี้ประเทศเกิดใหม่อีกครั้ง ส่งผลให้ค่าเงินของประเทศเกิดใหม่แข็งค่าขึ้นในช่วงระยะสั้น ทำให้นักลงทุนได้กำไรทั้งจากราคาตราสารหนี้ที่เพิ่มขึ้นและกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นปัจจัยที่สร้างความผันผวนให้กับตลาดเป็นระยะ ๆ

 

หากนักลงทุนสนใจลงทุนกองทุนรวมตราสารหนี้โลก ควรลดน้ำหนักการลงทุน (Underweight) กลุ่มพันธบัตรรัฐบาลประเทศพัฒนาแล้ว แต่ให้คงน้ำหนักการลงทุน (Neutral) กับกลุ่มตราสารหนี้เอกชนในประเทศพัฒนาแล้ว และให้เพิ่มน้ำหนักการลงทุน (Overweight) กลุ่มตราสารหนี้ประเทศเกิดใหม่ ทั้งนี้ ตราสารหนี้ภาคเอกชนจะต้องเลือกลงทุนในตราสารหนี้ของบริษัทที่มีพื้นฐานดีหรือมีแนวโน้มธุรกิจที่ดี

 

7. กองทุนรวมตราสารหนี้ประเภทไหน จะทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงในปีนี้เป็นบวก

อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real Yield) ของตราสารหนี้ คือ อัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ลบกับอัตราเงินเฟ้อ โดยเมื่ออัตราผลตอบแทนต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อ จะทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงติดลบ ซึ่งประเทศส่วนใหญ่โดยเฉพาะกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วในช่วงปลายปี 2564 ล้วนมีอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงติดลบ ยกเว้นกลุ่มตราสารหนี้ประเภท High Yield Bond ขณะที่ในเอเชียยังคงให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงเป็นบวก เพราะอัตราเงินเฟ้อยังไม่ได้ปรับขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งนับว่าเป็นโอกาสการลงทุนที่ดี แต่นักลงทุนต้องเลือกลงทุนในตราสารหนี้ของบริษัทที่ฐานะการเงินมีแนวโน้มดีหรือมีโอกาสได้รับการปรับเพิ่มอันดับเครดิต

 

8. ไตรมาส 1 ควรจัดพอร์ตลงทุนกองทุนรวมตราสารหนี้โลกอย่างไร

สำหรับไตรมาส 1 ปี 2565 พอร์ตลงทุนโดยรวมควรให้น้ำหนักสินทรัพย์ตราสารหนี้ 78%, หุ้น 15%, และถือเงินสด 7%

 

ในส่วนของพอร์ตลงทุนตราสารหนี้ (78%) ให้น้ำหนักลงทุนตราสารหนี้ประเทศพัฒนาแล้วในสัดส่วน 57% (พันธบัตรรัฐบาล 17% และหุ้นกู้เอกชน 40%) ที่เหลือ 21% ให้น้ำหนักลงทุนตราสารหนี้ประเทศเกิดใหม่ ส่วนน้ำหนักลงทุนในหุ้น (15%) นักลงทุนสามารถเลือกหุ้นพื้นฐานดีและจ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ ซึ่งจะทำให้พอร์ตลงทุนโดยรวมมีผลตอบแทนเข้ามาต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การให้น้ำหนักลงทุนควรขึ้นอยู่กับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของนักลงทุนแต่ละคน หากรับความเสี่ยงได้สูงขึ้นก็สามารถเพิ่มน้ำหนักลงทุนในหุ้นหรือสินทรัพย์ทางเลือกได้

 

หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน


สำหรับนักลงทุนและผู้ที่สนใจ เรียนรู้พื้นฐานการวิเคราะห์ภาพรวมเศรษฐกิจมหภาค การวิเคราะห์ GDP รวมไปถึงการใช้นโยบายการเงินและนโยบายการคลังของภาครัฐ เพื่อให้สามารถวิเคราะห์และจับทิศทางการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมที่จะได้ประโยชน์จากภาวะเศรษฐกิจนั้น ๆ ได้ และค้นหาหุ้นเด็ดในแต่ละช่วงเวลา สามารถเรียนรู้เพิ่มเติม ผ่าน e-Learning หลักสูตร Macro Analysis” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: