ได้รับโบนัสปลายปี ต้องรู้วิธีบริหาร

โดย ฐิติเมธ โภคชัย ฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
3 Min Read
3 ธันวาคม 2564
5.354k views
PF_ได้รับโบนัสปลายปี ต้องรู้วิธีบริหาร_Thumbnail
Highlights

เมื่อรู้ว่าจะได้โบนัส หลายคนอาจเริ่มคิดใช้เงินเพื่อเฉลิมฉลอง เพื่อให้รางวัล ให้ความสุขกับตัวเอง และก็เงินหมดลงอย่างรวดเร็ว โดยที่ไม่ได้วางแผนการใช้จ่าย ดังนั้น เพื่อให้ใช้เงินโบนัสได้อย่างคุ้มค่า ก่อนนำเงินโบนัสไปใช้จ่ายควรวางแผนให้รอบคอบด้วยการประเมินรายได้และค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ล่วงหน้า นำมาหักลบกับเงินโบนัส โดยหากมีเงินเหลือก็ควรนำไปลงทุนต่อเพื่อโอกาสในการสร้างผลตอบแทนในอนาคต หรือเพื่อปลดหนี้และลดเงินต้น

“โบนัส” เปรียบเหมือนเงินรางวัลก้อนใหญ่ ทำให้หลายคนมองว่าโบนัสเป็นลาภลอยคล้ายถูกสลากกินแบ่งรัฐบาล จึงนำไปใช้จ่ายและหมดลงอย่างรวดเร็ว แต่จริง ๆ แล้วโบนัสเป็นผลมาจากความอุตสาหะทำงานมาตลอดทั้งปี โดยนายจ้างจะประเมินผลงานและให้เงินก้อนพิเศษนอกเหนือจากเงินเดือนปกติเพื่อเป็นแรงจูงใจในการทำงาน โบนัสจึงมาจากน้ำพักน้ำแรงของเราเช่นกัน ไม่แตกต่างจากเงินเดือน

 

อย่างไรก็ตาม ถ้าจะนำเงินโบนัสไปใช้จ่ายเพื่อสร้างความสุข ให้รางวัลกับตัวเอง ก็ไม่ได้ผิดอะไรนัก แต่อยากให้พิจารณาวิธีการจัดสรรเงินโบนัส ระหว่างการใช้เงินโบนัสใน “ปัจจุบัน” กับการเผื่อเงินโบนัสไว้ใช้ใน “อนาคต” ซึ่งการจะตอบคำถามนี้ได้ควรเริ่มต้นจากอนาคตในช่วง 1 ปีข้างหน้าว่าจะมีแผนการใช้เงินอย่างไร

 

ดังนั้น ในช่วงปลายปีควรลองสำรวจตัวเองว่าปีถัดไปจะมีโอกาสใช้เงินในเรื่องใดบ้าง เช่น ดาวน์บ้าน โปะหนี้ ซื้อรถ ซื้อโน๊ตบุ๊คเครื่องใหม่ เดินทางท่องเที่ยวต่างจังหวัด หรือเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น และถ้าเป็นไปได้ให้ระบุด้วยว่าจะใช้เงินไปกับเรื่องต่าง ๆ ในเดือนไหน ด้วยเงินจำนวนเท่าไหร่

 

ถัดจากนั้นให้นึกถึงภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น ค่าผ่อนบ้าน ค่าเทอมลูก ค่าเบี้ยประกันชีวิต รวมถึงค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันในแต่ละเดือน พร้อมทั้งระบุจำนวนเงินที่ต้องใช้จ่ายแบบคร่าว ๆ ด้วย นอกจากนี้ ควรประเมินตัวเลขค่าใช้จ่ายด้วยว่าจะเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใดเมื่อมีเรื่องฉุกเฉินหรือมีเรื่องต้องใช้จ่ายเพิ่มเติมในอนาคต ซึ่งจะช่วยให้เห็นภาพการใช้จ่ายได้อย่างชัดเจนขึ้น

 

ต่อมาให้ประเมินรายได้ในปีหน้าว่าแต่ละเดือนจะมีรายได้เท่าไหร่ แล้วนำมาหักลบกับภาระค่าใช้จ่าย ก็จะทำให้ได้รู้ว่าเดือนไหนเงินเหลือหรือเดือนไหนเงินขาดเป็นจำนวนเท่าไหร่ แปลว่าเงินโบนัสที่ได้มานั้น “ต้องเก็บไว้” เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระทางการเงินในอนาคต และเมื่อคำนวณหักลบเรียบร้อย ถ้าเงินโบนัสเหลือก็สามารถนำไปใช้จ่ายในปัจจุบันได้ แต่ถ้าไม่เหลือก็ให้กำลังใจตัวเองว่าปีถัดไปยังมีโอกาส ถ้ามีเงินเหลือแล้วค่อยฉลอง

 

โบนัสเหลือก็ลงทุนได้

หลังจากหักลบค่าใช้จ่ายแล้ว ถ้าเงินโบนัสยังเหลือเป็นจำนวนมากพอสมควรก็ต้องนำไปลงทุนต่อ ซึ่งการเลือกสินทรัพย์ลงทุนนั้น ก็ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์และเป้าหมายการใช้เงิน เช่น หากต้องการนำเงินไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ก็ควรลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ มีสภาพคล่องสูง เช่น เงินฝาก กองทุนรวมตลาดเงิน กองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น เป็นต้น

 

ส่วนผู้ที่มีเป้าหมายระยะเวลาชัดเจนว่าอีก 6 เดือน หรืออีก 1 ปีข้างหน้าจะใช้เงิน ก็อาจเลือกลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ทั่วไปหรือกองทุนรวมผสม เพื่อสร้างโอกาสรับผลตอบแทนเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย

 

ในกรณีผู้ที่มีเงินเหลือและเป็นเงินเย็น และไม่ได้มีเหตุจำเป็นต้องใช้เงินในช่วง 1 – 3 ปีข้างหน้า อาจเลือกลงทุนตามระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ เช่น ถ้ายอมรับความเสี่ยงได้ต่ำก็ควรเลือกลงทุนในกองทุนรวมตลาดเงิน กองทุนรวมตราสารหนี้ ซึ่งกองทุนรวมเหล่านี้ให้ผลตอบแทนไม่สูง แต่ช่วยในการรักษาเงินต้นได้

 

ขณะที่ถ้ายอมรับความเสี่ยงได้ปานกลาง ก็ควรเลือกลงทุนในกองทุนรวมผสมที่มีนโยบายลงทุนทั้งตราสารหนี้และหุ้น เพื่อสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูงขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับความเสี่ยงที่เงินต้นอาจสูญหายได้ด้วยเช่นกัน ส่วนผู้ที่รับความเสี่ยงได้สูง ก็ควรเลือกลงทุนในกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นเพื่อสร้างผลตอบแทนสูง แต่โอกาสที่เงินต้นจะสูญหายย่อมมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งการลงทุนในหุ้นไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นในประเทศเท่านั้น ถ้าประเมินแล้วว่าในช่วง 1 – 3 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป รวมทั้งประเทศในเอเชียจะฟื้นตัวหลังจากวิกฤติ COVID-19 ก็สามารถแบ่งเงินไปลงทุนในต่างประเทศเพื่อสร้างโอกาสเพิ่มผลตอบแทน ขณะเดียวกันยังเป็นการกระจายความเสี่ยงได้อีกด้วย

 

ที่ลืมไม่ได้ สำหรับผู้ที่ต้องการลงทุนระยะยาว ไม่ควรมองข้ามการแบ่งเงินโบนัสที่เหลือจากการหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แล้ว นำมาลงทุนต่อในกองทุนรวม SSF หรือกองทุนรวม RMF เพราะนอกจากจะมีโอกาสได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนระยะยาวแล้ว ยังได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอีกด้วย แต่ต้องศึกษาเงื่อนไขและระยะเวลาการถือครองเพื่อที่จะได้ไม่ทำผิดเงื่อนไขการลงทุนและการลดหย่อนภาษี

 

อย่าลืมใช้หนี้

กรณีมีหนี้สิน ถ้าได้โบนัสมาก็ควรแบ่งเงินไปจ่ายหนี้ ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นเนื่องจากดอกเบี้ยเดินทุกวัน โดยการจะปลดหนี้ให้ได้นั้น ก็ต้องลด “เงินต้น” เพราะที่ผ่านมามีกรณีผู้ที่ขาดวินัยในการจ่ายหนี้ คือ ไม่ได้ให้ความสำคัญต่อการลดเงินต้นให้หมดโดยเร็ว คิดว่าการจ่ายดอกเบี้ยต่อเดือนด้วยจำนวนเงินไม่เท่าไหร่ ดีกว่าการโปะหนี้ซึ่งต้องใช้เงินก้อน

 

ความเชื่อแบบนี้ไม่ต่างอะไรกับการเลี้ยงไข้ไปเรื่อย ๆ ไม่ยอมปลดภาระหนี้เพื่อให้หายไข้ โดยเฉพาะยิ่งถ้าเป็นหนี้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด หรือหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล แล้วผ่อนจ่ายขั้นต่ำก็จะกลายเป็นหนี้ก้อนโตเพราะค้างเงินต้นไว้มาก แปลว่าต้องจ่ายดอกเบี้ยมากตามไปด้วย ผลก็คือ ทำให้เก็บเงินไม่ได้สักที ดังนั้น ควรใช้โอกาสที่ได้รับโบนัสทำการปิดหนี้ให้ได้ทั้งจำนวน หรืออย่างน้อย ๆ ก็จ่ายเพื่อให้เงินต้นลดลงได้มากที่สุด

 

สำหรับผู้ที่มีภาระหนี้จากเงินกู้ซื้อบ้าน แม้จะใช้เงินโบนัสไปโปะหนี้อย่างไร ก็ไม่น่าจะทำให้ภาระหลักแสนหรือหลักล้านบาทหมดลงได้ภายในครั้งเดียว อย่างไรก็ตาม การพยายามลดภาระเงินต้นให้ได้มากที่สุดก็ยังเป็นเรื่องจำเป็น หรือเทคนิคการปิดหนี้บ้านให้หมดเร็วนั้น ไม่จำเป็นต้องรอเงินโบนัสเพียงอย่างเดียว แค่แบ่งเงินในแต่ละเดือนไปเป็นค่าผ่อนบ้านเพิ่มขึ้นอีกเพียงเล็กน้อยก็ทำให้ปลดหนี้ได้เร็วขึ้นเช่นกัน


สำหรับใครที่สนใจ เรียนรู้แนวทางวางแผนการเงินเพื่อเป้าหมายชีวิต และการใช้เครื่องมือทางการเงินต่าง ๆ ในการสำรวจสถานะทางการเงินของตนเอง เพื่อสร้างความมั่งคั่งในอนาคต สามารถเรียนรู้เพิ่มเติม ผ่าน e-Learning หลักสูตร “ชีวิตดี เริ่มต้นที่การวางแผน” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

 

หรือผู้ที่สนใจ เรียนรู้เทคนิคการจัดสรรเงินออมและการลงทุนแบบ DCA เพื่อสร้างวินัยในการออมให้สามารถบรรลุเป้าหมายทางการเงินได้ สามารถเรียนรู้เพิ่มเติม ผ่าน e-Learning หลักสูตร “วางแผนสร้างเงินออมเพื่ออนาคต” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: