ข้อคิดสำหรับ Dividend Lover นอกเหนือจาก อัตราส่วนทางการเงิน

โดย เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม กรรมการบริหาร บล.เอเซีย พลัส
5 Min Read
19 พฤศจิกายน 2567
1.693k views
Dividend Lover_2
In Focus

มหัศจรรย์ แห่ง ผลตอบแทนจากเงินปันผล (Dividend Yield) หากพิจารณาไปที่ผลตอบแทนของตลาดหุ้นไทย ผ่าน SET Index ในช่วงปี 10 ปีที่ผ่านมา คือ 2557 - 2566 พบว่า SET Index ติดลบ 5.5% แต่อย่างไรก็ตาม หากไปดูผ่าน SET TRI ในช่วงเวลาเดียวกันกลับมีผลตอบแทนสูงถึง 24.6% และยิ่งไปกว่านั้นหากเรารวบรวมเฉพาะผลตอบแทนจากเงินปันผลสะสม ของทุกบริษัทใน SET Index พบว่ามีตัวเลขสูงถึง 31.8% ซึ่งเท่ากับว่าหากนักลงทุนเก็บเงินปันผลสะสมในช่วง 10 ปีดังกล่าว ผลตอบแทนยังเป็นบวกอยู่อย่างน่าพอใจ

Dividend Lover_01

ที่มา: SET, สายงานวิจัย บล. เอเซีย พลัส

Dividend Lover_02

ที่มา: SET, สายงานวิจัย บล. เอเซีย พลัส

 และหากไปพิจารณาในหลักการเดียวกัน แต่เปลี่ยนตัวแปรจาก SET Index เป็น SET HD พบว่า ยิ่งให้ผลชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีก โดยพบว่าผลตอบแทนจากเงินปันผลสะสมของหุ้นใน SET HD ช่วง 10 ปี คือ 2557 – 2566 พบว่าสูงถึง 47.2% แม้ผลตอบแทนจาก SETHD จะติดลบ แต่เมื่อบวกกลับจากเงินปันผลรับสะสมในช่วง 10 ปี ก็ยังสามารถทำกำไรได้อย่างน่าพอใจเช่นกัน ตัวเลขที่ปรากฎออกมา สะท้อนให้เห็นถึงความมหัศจรรย์ ของการสร้างผลตอบแทนจากเงินปันผล

Dividend Yield ของตลาดหุ้นไทย

Dividend Lover_03

ที่มา: SET, สายงานวิจัย บล. เอเซีย พลัส

อีกตัวเลขหนึ่งที่น่าสนใจคือ Dividend Yield ของตลาดหุ้นไทยในช่วงเวลาปัจจุบัน พบว่าให้ Dividend Yield เฉลี่ย สูงถึง 3.42% (ดูภาพด้านบน) ซึ่งถือเป็นระดับที่น่าสนใจสำหรับการลงทุน กล่าวคือสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน + อัตราเงินเฟ้อในปัจจุบัน ทั้งนี้นอกจากหุ้นปันผล จะเป็นทางเลือกที่สร้างผลตอบแทนได้ดีแล้ว หุ้นปันผลยังมีคุณสมบัติที่ดีอีกหลายประการที่เอื้อประโยชน์ต่อนักลงทุนเช่น

  • เป็นหุ้นที่สามารถสร้างกระแสเงินสดอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง โดยนักลงทุนสามารถเลือกหุ้นที่มีความถี่ในการแจกเงินปันผลได้ตามต้องการ โดยมีให้เลือกทั้งหุ้นที่จ่ายเงินปันผลปีละ 1 ครั้ง, จ่ายปีละ 2 ครั้ง, จ่ายรายไตรมาส (4 ครั้งต่อปี) หรือแม้กะทั่งทุก 2 เดือน (6 ครั้งต่อปี)
  • ในการเข้าลงทุนในหุ้นปันผล นักลงทุนสามารถกำหนดจุดเข้าลงทุน โดยกำหนดเป็น Dividend Yield เป้าหมายได้ เช่น หุ้น A จ่ายเงินปันผล 1 บาท/ หุ้น/ ปี หากนักลงทุนต้องการได้รับ Dividend Yield 10% ต่อปี ก็กำหนดจุดเข้าลงทุนไว้ที่ราคาหุ้น 10 บาท หรือ หากต้องการ Dividend Yield 5% ก็กำหนดจุดเข้าลงทุนไว้ที่ราคาหุ้น 20 บาท เป็นต้น
  • หุ้นปันผลมีคุณสมบัติบางประการที่สามารถทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันเงินเฟ้อได้ โดยในแง่มุมแรก เป็นตามที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า Dividend Yield เฉลี่ยของตลาดหุ้นบ้านเรา ปัจจุบันสูงกว่า เงินฝากประจำ 12 เดือน + อัตราเงินเฟ้อ ส่วนในอีกแง่มุมหนึ่ง หลายบริษัทสามารถทำกำไรเติบโตได้ในอัตราที่สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งก็หมายความว่าเงินปันผลที่ได้รับตามกำไรที่เพิ่มขึ้น ก็น่าจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่าเงินเฟ้อเช่นกัน (บนสมมุติฐานว่า อัตราการจ่ายเงินปันผล หรือ Dividend Payout Ratio คงที่)

อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจลงทุนในหุ้นที่มีผลตอบแทนจากเงินปันผลสูง คงไม่ได้มีเกณฑ์การตัดสินใจเพียงแค่ปลายทางคือ เห็นว่าตัวเลข Dividend Yield ล่าสุดอยูที่ระดับสูงเพียงอย่างเดียว ยังต้องดูองค์ประกอบอื่นๆ อีกหลายแง่มุม

ดูโหงวเฮ้งหุ้นปันผล

การลงทุนในหุ้นปันผล โดยหลักการแล้วถือเป็นการลงทุนระยะยาว ซึ่งตลอดระยะเวลาการถือครองหุ้น ต้องมีหลักประกันให้เราเชื่อได้ว่า บริษัทจะสามารถจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นอย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญเมื่อต้องการจะขายออก มูลค่าหุ้นก็ไม่ควรลดต่ำลง หรือดีไปกว่านั้นต้องเพิ่มขึ้น เพื่อที่จะได้มาซึ่งหุ้นปันผลที่มีคุณสมบัติดังกล่าว จำเป็นต้องมีแนวทางการคัดกรองที่รอบครอบ ซึ่งในที่นี้เราจะมาพิจารณาถึงคุณสมบัติทางปัจจัยพื้นฐาน นอกเหนือจากการวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงินที่เราคุ้นเคยกันมาอย่างดีแล้ว ทั้งนี้องค์ประกอบสำคัญที่ควรพิจารณา ได้แก่

  • ต้องไม่อยู่ในอุตสาหกรรมที่ Sun Set หรือ อุตสาหกรรมที่กำลังอยู่ในขาลง ซึ่งมีข้อสังเกตุบางประการของอุตสาหกรรมที่อาจเข้าข่าย Sun set เช่น
    • ไม่เห็นการลงทุนใหม่ๆ ต่อเนื่องมาหลายปี ถ้าจะมีการลงทุนส่วนใหญ่ก็เป็นแค่ ซ่อมบำรุง ซึ่งใช้เม็ดเงินลงทุนไม่มาก
    • อัตราการใช้กำลังการผลิตลดต่ำลงเรื่อยๆ
    • การแข่งขันรุนแรง จนลูกค้าอยู่ในสถานะที่สามารถกำหนดราคาขายได้
    • มีสินค้าทดแทนใหม่ๆ เกิดขึ้นมา
    • สินค้าประเภทเดียวกัน แต่การนำเข้าสินค้าค้ามาขาย มีราคาที่ถูกกว่า
  • ต้องมีความสามารถที่จะจ่ายเงินปันผล และมีความตั้งใจที่จะจ่ายด้วย การที่บริษัทจะจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นได้อย่างสม่ำเสมอ ต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญอย่างน้อย 2 เรื่องหลัก ได้แก่
    • ความสามารถที่จะจ่ายเงินปันผล ซึ่งหากพิจารณาเงี่อนไขที่จะจ่ายได้ทางกฎหมายก็คือ ต้องมีกำไรสะสม (งบเดี่ยว) และ กระแสเงินสดที่เพียงพอ (ดูจากเงินสดในงบแสดงฐานะการเงิน และ งบกระแสเงินสด) นอกจากนี้หากพิจารณาโครงสร้างการเงิน ก็ไม่ควรมีภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่การที่จะจ่ายต่อเนื่องได้ บริษัทก็ต้องสามารถทำกำไรได้ต่อเนื่องเช่นกัน
    • ความตั้งใจที่จะจ่ายเงินปันผล ดูแล้วเหมือนจะเป็นเรื่องนามธรรม แต่ก็สามารถติดตามได้จากพฤติกรรมการจ่าย เช่น การกำหนดนโยบายการจ่ายปันผล ไม่น้อยกว่า 40% ของกำไร หรือไม่เกิน 40% ของกำไร ซึ่งในมุมนี้ การใช้คำว่า ไม่น้อยกว่า 40% น่าจะแสดงความตั้งใจจ่ายได้ดีกว่า หรืออาจดูจากประวัติการจ่ายเงินปันผล ซึ่งบางบริษัท เราเห็นแนวทางชัดเจนว่า จะไม่จ่ายเงินปันผล (บาท/หุ้น) ลดลงจากปีก่อนหน้า (ทรงตัว หรือเพิ่มขึ้นทุกปี) แม้กระทั่งบางปีอาจมีผลกำไรที่ลดลง ลักษณะอย่างนี้ก็แสดงความตั้งใจจ่ายเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีบางสภาวะที่ดูเหมือนเป็นความตั้งจ่ายที่ถูกบังคับด้วยกฎเกณฑ์ เช่น กรณีของ REIT ที่ถูกกำหนดให้จ่ายเงินปันผล 90% ของกำไร
  • การกระจายตัวของผู้ถือหุ้น ถือเป็นข้อสังเกตุที่สำคัญอีกข้อหนึ่ง จากประสบการณ์ของผู้เขียนพบว่า บริษัทที่มีโครงสร้างผู้ถือหุ้นกระจุกตัว เช่น 70% ของหุ้นถือโดย 2 – 3 ครอบครัว หรือ ครอบครัวเดียว โครงสร้างการถือหุ้นลักษณะนี้มักจะมีความตั้งใจจ่ายเงินปันผลที่สูงกว่า บริษัททีโครงสร้างการถือหุ้นกระจายตัว ไม่มีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่ชัดเจน
  • ระยะทางพิสูจน์ม้า ของดีจริง ต้องจ่ายได้แม้ในวิกฤติ คุณสมบัติที่สำคัญประการหนึ่งของหุ้นปันผลชั้นดี คือการที่สามารถจ่ายเงินปันผลได้ต่อเนื่อง แม้สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมจะเปลี่ยนไป ดังนั้นในการพิจารณาประวัติการจ่ายเงินปันผลนอกจากต้องดูย้อนกลับไปหลายปีแล้ว ยังควรต้องดูพฤติกรรมการจ่ายในช่วงที่เกิดวิกฤติต่างๆด้วย อย่างเช่นวิกฤติรอบล่าสุดกรณีการระบาดของ Covid-19 นักลงทุน ควรต้องดูทั้ง การจ่ายเงินปันผลก่อนที่ Covid-19 จะระบาด ต่อมาดูในช่วงที่เกิดการระบาด และ หลังจากที่เกิดการระบาด หากยังสามารถจ่ายเงินปันผลได้ดี แม้จะลดลงบ้างในช่วงเวลาสั้นๆ ก็ถือได้ว่าเป็นหุ้นปันผลที่มีความแข็งแกร่ง และพอวางใจได้ ในตารางด้านล่าง ได้นำเสนอหุ้นที่มีประวัติการจ่ายเงินปันผลต่อเนื่องมา 20 ปี หรือตั้งแต่เข้าจดทะเบียนในตลาด ขณะที่ปัจจุบันให้ Dividend Yield สูงกว่า 5% ทั้งนี้ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เราผ่านทั้ง วิกฤติ Subprime, น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 และ Covid 19 ซึ่งก็ยังสามารถจ่ายการเงินปันผลได้

 หุ้นปันผลสูงใน SET HG ที่จ่ายปันผลต่อเนื่อง 20 ปี หรือตั้งแต่เข้าตลาดฯ

Dividend Lover_04
หมายเหตุ1 : DPS อิงตามงวดงบการเงิน
หมายเหตุ2 : TISCO เข้าตลาดฯมาไม่ถึง 20 ปี
ข้อมูล ณ 22 ส.ค. 67
ที่มา: SET , สายงานวิจัย บล. เอเซีย พลัส

จากแนวทางการดูโหงวเฮ้งหุ้นปันผล (ที่นอกเหนือจากดูอัตราส่วนทางการเงิน) ที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่าการเลือกหุ้นปันผล ไม่ใช่จบแค่ว่า เห็น Dividend Yield ในปีล่าสุด หรือ ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา สูง ก็ตัดสินใจเข้าลงทุน ทั้งนี้ยังต้องพิจารณากันอีกหลายแง่มุมดังกล่าวมาข้างต้น นอกจากนี้ในบางกรณี พบว่า Dividend Yield ที่สูง เกิดจากราคาหุ้นที่ปรับลดลงตามภาวะตลาด โดยที่การทำกำไรของบริษัทไม่ได้เพิ่ม หรือบางช่วงเวลาลดลงด้วยซ้ำ นอกจากนี้อีกองค์ประกอบหนึ่งที่ต้องให้ความสำคัญ ก็คือสภาพคล่องในการซื้อขายของหุ้น หากไปเลือกหุ้นที่มีสภาพคล่องในการซื้อขายต่ำ ในเวลาที่ต้องการขายหุ้นนำเงินออกมา ก็อาจเกิดปัญหาได้เช่นกัน ซึ่งการแก้ปัญหากรณีนี้คงต้องเลือกหุ้นที่มี Market Cap ใหญ่ระดับหนึ่ง อาจเกิน 1 หมื่นล้านบาท และมีหุ้น Free Float สูงกว่าเกณฑ์ที่ ตลาดหลักทรัพย์กำหนดไว้

Dividend Lover_Info1

มุมมองในเชิงกลยุทธ์ ลงทุนหุ้นปันผล

คำกล่าวที่ว่าในช่วงที่ตลาดหุ้นไม่ดี หรือเกิดวิกฤติขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นหุ้นอะไร แม้กระทั่งหุ้นปันผลก็ไม่อาจรอดพ้นจากแรงกดดันที่จะทำให้ราคาหุ้นปรับลดลง เช่นกัน อันนี้ก็ถือเป็นเรื่องจริง เพราะเวลาที่เราอยู่บนเรือแล้วเกิด เรือล่มขึ้นมาคงไม่มีใครไม่เปียกน้อยหรืออยู่ในภาวะเสี่ยงภัย แต่ก็ต้องยอมรับว่าผลกระทบของแต่ละคนคงไม่เหมือนกัน โดยคนที่ว่ายน้ำเก่ง หรือ สวมเสื้อชูชีพ ผลกระทบหรืออันตรายที่จะตกถึงตัวก็คงไม่มาก เสมือนกับคนที่ถือหุ้นปันผล แม้ราคาหุ้นจะต้องปรับลดลงในช่วงวิกฤติ แต่ Dividend Stock ที่แข็งแรงก็ยังส่งมอบกระแสเงินสดกลับมาให้ผู้ถือหุ้นได้ใช้สอย แต่ในช่วงเวลาที่ตลาดหุ้นฟื้นตัว ราคาหุ้นปันผลก็สามารถกลับมา Perform ได้ไม่แพ้หุ้นอื่นๆ

คุณสมบัติประการหนึ่งของ Dividend Stock ชั้นดีที่จ่ายเงินปันผลต่อเนื่อง ผู้เขียนมองว่าส่วนหนึ่งมีลักษณะคล้ายๆ กับมีตราสารประเภท Fix Income แฝงอยู่ ซึ่งโดยธรรมชาติของ Fix Income  ของราคาตราสาร มักจะโดดเด่นในช่วงที่ทิศทางดอกเบี้ยอยู่ในขาลง ดังนั้น Timing ที่ดีสำหรับการซื้อ - ขาย Dividend Stock คือ ซื้อในช่วงที่อัตราดอกเบี้ย Peak และคาดหมายว่าจะลดลง และขายในช่วงเวลาที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ Bottom และถูกคาดหมายว่ามีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น

ธุรกิจทุกประเภทโดยธรรมชาติแล้วล้วนมีวัฎจักรเป็นของตัวเอง เริ่มจากสร้างฐานธุรกิจ สู่ช่วงการเติบโต กลายเป็นธุรกิจที่อิ่มตัว และหากไม่มีการพัฒนาการสร้าง New S Curve ใหม่ๆ ก็จะเข้าสู่ช่วงวัฎจักรขาลง สำหรับการเลือกลงทุนในหุ้น นักลงทุนอาจเริ่มเข้าลงทุนตั้งแต่ช่วงเวลาผ่านการสร้างฐานธุรกิจ และเข้าสู่ช่วง Growth ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว Dividend Yield อาจไม่สูง แต่มีโอกาสที่จะสร้างผลตอบแทนจาก Capital Gain ที่ดี และเมื่อเวลาผ่านไปเมื่ออัตราการเติบโตเริ่มลดลง ก็จะเข้าสู่โหมดของการเป็นหุ้นปันผล ซึ่งทั้งนี้จะเป็น Dividend Stock ที่สมบูรณ์แบบได้ ควรต้องเห็นอัตราการจ่ายเงินปันผลที่สูงขึ้น (Dividend Payout Ratio) อย่างไรก็ตามหากเปลี่ยนแปลงเป็น Dividend Stock ไม่สำเร็จ บริษัทก็จะอยู่ในภาวะที่ขาดเสน่ห์ และเข้าสู่วัฎจักรขาลง จากที่กล่าวมาข้างต้น ต้องการชี้ให้เห็นว่า จุดเริ่มต้นในการลงทุนบางครั้งเราเริ่มลงทุนตั้งแต่บริษัทเป็น Growth Stock แต่สุดท้ายกลับกลายเป็น Dividend Stock ได้เช่นกัน

การถือหุ้น Dividend Stock เพื่อการลงทุนระยะยาว ในบางช่วงเวลาที่ราคาหุ้นปรับตัวลดลง ควรทำอย่างไร? เรื่องนี้เป็นคำถาม Classic ที่พบอยู่เป็นประจำ ในหลักการแล้วควรตรวจสอบในประเด็นต่อไปนี้

  • ปัจจัยพื้นฐานของบริษัทเปลี่ยนแปลงหรือไม่ โดยพิจารณาจากผลประกอบการ และ ฐานะการเงิน โดยหากไม่เปลี่ยนแปลงในทางลบ แต่ราคาหุ้นลดลง ให้ถือเป็นโอกาสในการสะสมหุ้นเพิ่ม ในทางตรงข้ามหากปัจจัยพื้นฐานเปลี่ยนไปในทางที่แย่ลง อาจพิจารณาขายออก แล้วเปลี่ยนตัวลงทุน
  • โครงสร้างพอร์ตของนักลงทุน มีหุ้นบริษัทนี้ อยู่มากน้อยแค่ไหน หากมีอยู่ยังไม่มาก และมีอยู่ไม่ถึงเป้าหมายที่อยากจะถือ กรณีนี้สามารถลงทุนเพิ่มได้ (ต้องผ่านเกณฑ์ในข้อแรกที่ต้องพิจารณาปัจจัยพื้นฐานแล้ว) แต่หากมีมากพอแล้ว ควรถือเท่าที่มี
  • สภาพคล่องในการซื้อขายของหุ้นเปลี่ยนไปหรือไม่ โดยหากมีสภาพคล่องในการซื้อขายน้อยลง อาจต้องพิจารณาว่า หากนักลงทุนต้องการขายหุ้นออก สามารถดำเนินการได้โดยไม่ทำให้ราคาหุ้นปรับตัวลดลงไปอีก กล่าวคือจำนวนหุ้นที่ถือต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับสภาพคล่องในการซื้อขายของหุ้น

กอง REIT ก็เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่ดีสำหรับการลงทุนใน Dividend Stock เนื่องจากหลายกองฯ สามารถสร้าง Dividend Yield ในระดับสูง (มากกว่า 5% เทียบกับค่าเฉลี่ยของตลาดที่ 3.42%) และ ส่วนใหญ่จ่ายเงินปันผลเป็นรายไตรมาส ทั้งนี้กลไกของ REIT เป็นการระดมเงินทุนมาจากผู้ถือกองทรัสต์ แล้วนำเงินมาลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน (Investment Property) โดยอาจเป็นการเข้าถือครองกรรมสิทธิ์ หรือ สิทธิการเช่า โดยกองทรัสต์ก็จะได้รับรายได้จากการนำอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน ไปหาประโยชน์ซึ่งโดยหลักการเป็นค่าเช่า หัวใจหลักในการคัดกรอง REIT เพื่อการลงทุน คือการต้องวิเคราะห์ที่ตัว Investment Property ที่เป็นตัวสร้างรายได้ โดยควรเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่สามารถสร้างรายได้สม่ำเสมอ โดยควรเป็น REIT ที่มีขนาดใหญ่พอควร เช่น Market Cap เกิน 5 พันล้านบาท โดยราคาที่เข้าซื้อ ไม่ควรสูงกว่า NAV (Net Asset Value) และเป็นราคาที่คำนวนกลับมาเป็น Dividend Yield ตามเป้าหมายที่ต้องการ

Dividend Lover_Info2
แท็กที่เกี่ยวข้อง:

e-Learning น่าเรียน