เทคนิคป้องกันความเสี่ยงด้วยสัญญา Futures ที่นักลงทุนควรรู้

โดย กรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการอาวุโส หัวหน้าสายงานวิจัย บล.กรุงศรี
4 Min Read
13 พฤศจิกายน 2567
2.199k views
TSI_Article_633_Inv_Thumbnail
Highlights
  • สัญญาฟิวเจอร์ส (Futures) เป็นเครื่องมือสำคัญในตลาดการเงินที่ช่วยนักลงทุนในการเก็งกำไรหรือป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาสินทรัพย์

  • การประเมินและบริหารความเสี่ยงของพอร์ตลงทุนเป็นสิ่งสำคัญ นักลงทุนจึงควรทำความเข้าใจความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจกระทบต่อพอร์ตลงทุน เช่น ความเสี่ยงจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ อัตราดอกเบี้ย ผลประกอบการ และภาวะเศรษฐกิจ

  • การใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงด้วยสัญญาฟิวเจอร์ส เพื่อให้พอร์ตลงทุนสามารถรักษาผลตอบแทนและมั่นคงในระยะยาว นักลงทุนควรติดตามสภาวะตลาดและปรับกลยุทธ์ให้เหมาะสมกับสภาวะปัจจุบันและเป้าหมายการลงทุน

ในตลาดการเงินที่ซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา นักลงทุนต้องเผชิญกับความผันผวนของราคาสินทรัพย์ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อมูลค่าพอร์ตลงทุน การใช้สัญญาฟิวเจอร์ส (Futures) หรือ สัญญาซื้อขายล่วงหน้า เป็นตัวเลือกหนึ่งที่ใช้ในการป้องกันหรือลดความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ บทความนี้จะให้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับสัญญาฟิวเจอร์ส กลยุทธ์การใช้งานเพื่อป้องกันหรือลดความเสี่ยง (Hedging) การใช้ค่าความสัมพันธ์ทางสถิติเพื่อช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารความเสี่ยง การจัดการหลักประกัน และการติดตามปรับปรุงกลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนให้พอร์ตลงทุนระยะยาวเป็นไปตามเป้าหมาย เนื่องจากนักลงทุนจะต้องเผชิญความเสี่ยงหรือความผันผวนระยะสั้นเสมอ

 

1. เข้าใจพื้นฐานของสัญญาฟิวเจอร์ส (Futures Contracts)

สัญญาฟิวเจอร์สเป็นข้อตกลงระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายในการส่งมอบสินทรัพย์และชำระเงินกันในอนาคต ตามราคาที่กำหนดไว้แล้วล่วงหน้า ณ ปัจจุบันตอนที่ทำสัญญา โดยสัญญานี้มีบทบาทสำคัญในตลาดการเงิน เนื่องจากเป็นตัวช่วยให้นักลงทุนสามารถทำการเก็งกำไรหรือป้องกันความเสี่ยงจากการเคลื่อนไหวของราคาในอนาคตได้ตามที่ต้องการ

 

คู่สัญญาที่ทำให้เกิดสัญญาฟิวเจอร์สมี 2 ฝ่าย ได้แก่ ผู้ที่สัญญาว่าจะซื้อในอนาคต หรือผู้ที่มีสถานะ Long Futures และผู้ที่สัญญาว่าจะขายในอนาคต หรือผู้ที่มีสัญญา Short Futures โดยทั้ง 2 ฝ่ายไม่จำเป็นต้องถือสัญญาจนครบอายุสามารถปิดสถานะก่อนได้ ด้วยการเปิดสถานะฝั่งตรงข้ามในจำนวนที่เท่ากัน

 

องค์ประกอบหลักของสัญญาฟิวเจอร์ส ได้แก่

  • สินค้าอ้างอิง (Underlying) สินทรัพย์ที่ถูกระบุไว้ในสัญญาฟิวเจอร์ส ว่าจะทำการซื้อหรือขายกันในอนาคต สำหรับตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือ TFEX สินค้าอ้างอิงที่มีความสำคัญและเป็นที่นิยม ได้แก่ ดัชนีราคาหลักทรัพย์ (SET50 Index Futures), หลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ (Single Stock Futures), ทองคำ (Gold Online Futures, Gold Futures) และอัตราแลกเปลี่ยน (USD Futures, EURUSD Futures, USDJPY Futures)

 

  • ขนาดสัญญา (Contract Size) จำนวนสินทรัพย์ที่ถูกระบุไว้ว่าจะซื้อขายในธุรกรรมฟิวเจอร์ส เช่น สัญญาฟิวเจอร์สของ USDTHB หรือ USD Futures มีขนาดสัญญาเป็น 1,000 USD ต่อ 1 สัญญา ขนาดสัญญาเป็นสิ่งที่นักลงทุนควรทราบ เพื่อใช้ในการป้องกันความเสี่ยง และการเก็งกำไร

 

  • วันซื้อขายวันสุดท้าย (Last Trading Day) วันสุดท้ายที่สัญญา Futures จะทำการซื้อขายได้ในตลาด TFEX ซึ่งจะเป็นคนละวันกับวันส่งมอบ นักลงทุนควรทราบวันซื้อขายวันสุดท้ายของสัญญาเพื่อวางแผนในการซื้อขายสัญญาฟิวเจอร์ส

 

  • การชำระราคา (Settlement Type) การชำระราคาโดยทั่วไปทำได้ 2 ลักษณะ คือ ชำระราคาด้วยการส่งมอบสินทรัพย์อ้างอิงจริง (Physical Settlement) หรือการชำระราคาด้วยเงินสด (Cash Settlement) สำหรับสัญญาฟิวเจอร์สในตลาด TFEX ส่วนใหญ่เป็นการชำระราคาด้วยเงินสด

 

สัญญาฟิวเจอร์สในตลาด TFEX ถือเป็นเครื่องมือที่มีความยืดหยุ่นสูงและสภาพคล่องสูง สามารถใช้ได้ทั้งในการเก็งกำไรจากการเปลี่ยนแปลงของราคาสินทรัพย์และป้องกันความเสี่ยงจากการลดลงของราคาสินทรัพย์ที่ถือครอง

 

2. ระบุและประเมินความเสี่ยงของพอร์ตลงทุน

การเข้าใจความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับพอร์ตลงทุน เป็นขั้นตอนแรกในการป้องกันความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ ความเสี่ยงสำคัญ ๆ ที่มักทำให้ราคาของสินทรัพย์ที่เราลงทุนมีการปรับตัวขึ้นลงผันผวน เช่น

  • ความเสี่ยงจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ หุ้นบางตัวมีความผันผวนสอดคล้องไปกับสินค้าโภคภัณฑ์บางชนิด ซึ่งอาจจะเป็นต้นทุนของสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ของสินค้าจากบริษัทนั้น ๆ ความผันผวนจากสินค้าโภคภัณฑ์จึงทำให้เกิดความเสี่ยงได้ทั้งขึ้นและลงแก่ราคาหุ้น

 

  • ความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ย เป็นปัจจัยความเสี่ยงที่กระทบต่อภาพรวมของหลายสินทรัพย์ การเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยมักมีผลต่อการประเมินมูลค่าหุ้น และทิศทางราคาตราสารหนี้ รวมถึงสินทรัพย์ที่มีความเกี่ยวข้องอื่น ๆ เช่น กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น

 

  • ความเสี่ยงจากการรายงานผลประกอบการ เป็นความเสี่ยงเฉพาะตัวของบริษัท โดยตลาดมักรับรู้รายงานผลประกอบการเปรียบเทียบกับตัวเลขที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ หากผลประกอบการออกมาต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์มักทำให้ราคาหุ้นปรับตัวลงได้

 

  • ความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจ เป็นความเสี่ยงที่มักกระทบต่อสินทรัพย์ที่ดำเนินธุรกิจ หรือมีความเกี่ยวข้องในประเทศนั้น ๆ อาจกระทบในองค์รวม หรือกระทบเฉพาะภาคธุรกิจ เช่น ตัวเลขค้าปลีกที่ลดลง มักส่งผลกระทบเชิงลบต่อราคาหุ้นในกลุ่มการบริโภค เป็นต้น

 

เมื่อระบุความเสี่ยงที่สำคัญต่อสินทรัพย์ลงทุนได้แล้ว การประเมินขนาดของความเสี่ยงสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การใช้วิธี Value at Risk (VAR) หรือ การใช้แนวรับ/แนวต้านของราคาเป็นจุดกำหนดความเสี่ยง เป็นต้น

 

3. กลยุทธ์การใช้ Futures ในการบริหารความเสี่ยง (Hedging)
การใช้สัญญาฟิวเจอร์สในการบริหารความเสี่ยงสามารถทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และเป้าหมายการลงทุน โดยสามารถแบ่งเป็นกรณีหลัก ๆ ได้แก่ การลดความเสี่ยงลงบางส่วน และการปิดความเสี่ยงทั้งหมด โดยนักลงทุนนิยมใช้ Hedge Ratio เป็นตัวกำหนดเพื่อหาขนาดสัญญา (Contract Size) ที่จะใช้ในการบริหารความเสี่ยง สามารถคำนวณได้ ดังนี้
Hedge Ratio

อัตราส่วนถัวความเสี่ยง (Hedge Ratio) คือจำนวนสัญญาฟิวเจอร์สที่ต้องใช้เพื่อบริหารความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาสินทรัพย์อ้างอิง ซึ่งมี 2 วิธีคิด ดังนี้

 

วิธีที่ 1: Hedge Ratio แบบ 1:1 ใช้ในกรณีที่สินทรัพย์ที่ต้องการบริหารความเสี่ยงกับสินทรัพย์อ้างอิงของฟิวเจอร์สที่ใช้บริหารความเสี่ยง เป็นสินทรัพย์เดียวกัน หรือมีค่าสหสัมพันธ์ระหว่างราคาสินทรัพย์อ้างอิง (Correlation) และฟิวเจอร์ส เท่ากับ 1 หรือสมมติว่าราคาของสินทรัพย์ที่ต้องการบริหารความเสี่ยง และสัญญาฟิวเจอร์สเคลื่อนไหวไปพร้อม ๆ กัน

 

วิธีที่ 2: Beta Hedge หรือ Minimum Variance Hedge Ratio คือการหา Hedge Ratio ในกรณีที่ความสัมพันธ์ของราคาของสินทรัพย์ที่ต้องการบริหารความเสี่ยง และฟิวเจอร์สที่จะใช้บริหารความเสี่ยงไม่ได้เคลื่อนไหวไปพร้อม ๆ กัน มักเกิดกับกรณีที่สินทรัพย์อ้างอิงเป็นคนละสินทรัพย์กับสินทรัพย์ที่ต้องการป้องกันความเสี่ยง สามารถคำนวณได้ด้วย

Beta Hedge

ตัวอย่างเช่น

ต้องการป้องกันความเสี่ยงจากหุ้น PTT จำนวน 10,000 หุ้นในพอร์ตลงทุน สามารถใช้สัญญา Futures ในตลาด TFEX เพื่อป้องกันความเสี่ยงได้ 2 วิธี

 

  1. ใช้ Single Stock Futures ของหุ้น PTT ในการบริหารความเสี่ยง กรณีนี้ Hedge Ratio เท่ากับ 1 นักลงทุนจะทำการ Short PTT Futures จำนวน 10 สัญญา (สัญญาละ 1,000 หุ้น) ในการป้องกันความเสี่ยง
  2. ใช้ SET50 Index Futures ในการบริหารความเสี่ยง สมมติ ค่า Beta ระหว่างหุ้น PTT และ SET50 Index Futures เท่ากับ 0.5 หรือ Hedge Ratio เท่ากับ 0.5 นักลงทุนจะทำการ Short SET50 Index Futures จำนวน 5 สัญญา ในการป้องกันความเสี่ยงจากหุ้น PTT จำนวน 10,000 หุ้น

 

4. จัดการ Margin Requirements และความเสี่ยงจากการถูก Margin Call

เมื่อทำการซื้อขายสัญญาฟิวเจอร์ส นักลงทุนต้องวางเงินประกันหรือ Margin ส่วนหนึ่งไว้เป็นหลักประกัน สำหรับตลาด TFEX สำนักหักบัญชี หรือ TCH จะเป็นคนกำหนดอัตราหลักประกันของสัญญา Futures ต่าง ๆ ให้กับโบรกเกอร์สมาชิกใช้อ้างอิง การเคลื่อนไหวของสัญญา Futures จะทำให้ Margin เพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ โดยกรณีที่ Margin ลดลงถึงระดับหนึ่ง อาจทำให้เกิดความเสี่ยงที่นักลงทุนจะถูก Margin Call ได้ ดังนั้นควร

  • ติดตามการประกาศอัตราหลักประกัน Margin จากโบรกเกอร์ เนื่องจากมักมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ และเพื่อเตรียมตัวให้พร้อม ในกรณีที่ต้องมีการปรับสถานะเพิ่ม/ลด สัญญาฟิวเจอร์ส

 

  • ติดตามระดับ Margin ของตนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้แน่ใจว่ามีเงินประกันเพียงพอที่จะรักษาสถานะสัญญาฟิวเจอร์สไว้ได้

 

  • วางแผนบริหารจัดการเงินประกัน โดยการเพิ่มเงินทุนเมื่อสถานการณ์ตลาดเปลี่ยนแปลง หรือใช้ Dynamic Margin Management เพื่อปรับระดับเงินประกันตามความผันผวนของตลาด

 

การจัดการเงินประกันที่ดีจะช่วยให้นักลงทุนสามารถหลีกเลี่ยงการปิดสถานะที่ไม่ต้องการได้ และช่วยรักษาการลงทุนในระยะยาวให้มีความมั่นคง

 

5. ติดตามและปรับกลยุทธ์อย่างต่อเนื่อง

การป้องกันความเสี่ยงด้วยฟิวเจอร์สไม่ใช่กระบวนการที่หยุดนิ่ง แต่ต้องมีการติดตามและปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง โดยนักลงทุนควรตรวจสอบ

  • ภาวะตลาดและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ เพื่อให้แน่ใจว่ากลยุทธ์การป้องกันความเสี่ยงยังใช้ได้ดีกับสินทรัพย์เหล่านั้น

 

  • ในกรณีของ Beta Hedge ความสัมพันธ์ระหว่างราคาสินทรัพย์และสัญญา Futures อาจเปลี่ยนแปลงไปเมื่อเวลาผ่านไป ทำให้ความสามารถในการป้องกันความเสี่ยงที่นักลงทุนทำไว้ตอนแรกมีแนวโน้มลดลง จึงต้องมีการปรับปรุงการคำนวณและสถานะอย่างสม่ำเสมอ

 

สรุป

การใช้สัญญาฟิวเจอร์สบริหารความเสี่ยงในการลงทุน เป็นเครื่องมือที่สำคัญสำหรับนักลงทุนเพื่อรักษาความมั่นคงและลดความเสี่ยงของพอร์ตลงทุนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม จากภาวะตลาดหรือราคาสินทรัพย์ที่มีความผันผวน การเข้าใจพื้นฐานของฟิวเจอร์ส การประเมินและจัดการความเสี่ยง การเลือกใช้กลยุทธ์ที่เหมาะสม และการติดตามปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นกระบวนการสำคัญในการบริหารความเสี่ยง ที่จะช่วยให้พอร์ตการลงทุนเดินหน้าไปสู่เป้าหมายทางการลงทุนได้อย่างมั่นคง

 

หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน


สำหรับใครที่สนใจ เรียนรู้พื้นฐานการเทรดอนุพันธ์ประเภทต่าง ๆ ทั้งฟิวเจอร์ส (Futures) และออปชัน (Options) เพื่อสร้างผลตอบแทนและป้องกันความเสี่ยงจากการลงทุน ทั้งในภาวะตลาดขาขึ้นและขาลง สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “เทรดอนุพันธ์ฉบับมือใหม่” ฟรี!!! >> คลิกที่นี่
แท็กที่เกี่ยวข้อง:

e-Learning น่าเรียน