จัดพอร์ตกองทุนรวมตามเทรนด์โลก

โดย กัลยวีร์ โรจน์สุขพัฒนา CFP® นักวางแผนการเงิน สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
3 Min Read
21 กุมภาพันธ์ 2565
2.312k views
Inv_จัดพอร์ตกองทุนรวมตามเทรนด์โลก_Thumbnail
Highlights
  • ท่ามกลางแรงกดดันเงินเฟ้อที่เร่งสูงขึ้นได้สร้างความผันผวนต่อตลาดเงินและตลาดทุน โดยยังคงต้องจับตามองนโยบายการเงินของธนาคารกลางประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯ เพราะจะส่งผลต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุน

  • การลงทุนในตลาดที่มีความผันผวน นักลงทุนควรให้ความสำคัญกับการกระจายการลงทุนไปในภูมิภาคต่าง ๆ และการจัดสรรเงินลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายประเภท เพื่อลดความเสี่ยงจากการลงทุน

  • การลงทุนในกองทุนรวมถือเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะมีนโยบายการลงทุนที่หลากหลาย โดยสามารถเลือกลงทุนในกองทุนรวมที่ลงทุนตามทิศทางกระแสหลักของโลก เพราะมีโอกาสเติบโตสูงและมีโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ดี

ภาพรวมการลงทุนในปี 2564 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยยังคงได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 รวมถึงนโยบายเศรษฐกิจ การเงิน จากประเทศมหาอำนาจที่ยังไม่มีความแน่ชัด อย่างไรก็ตาม โลกของการลงทุนก็ไม่ได้หยุดชะงัก สะท้อนได้จากตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวขึ้นอย่างโดดเด่นในปีที่ผ่านมารวมถึงตลาดหุ้นไทย

 

แม้การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 สายพันธุ์โอมิครอนในช่วงปลายปีที่ผ่านมาจะส่งผลให้นักลงทุนทั่วโลกกลับมากังวลอีกครั้ง แต่ข้อมูลจากงานวิจัยหลายแห่งพบว่า สายพันธุ์นี้มีความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์เดลต้า จึงไม่ได้ส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจมากนัก

 

สถานการณ์การลงทุนในปีเสือ

แม้ว่านักลงทุนจะคลายความกังวลต่อการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน แต่แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นอาจส่งผลให้ธนาคารกลางในหลายประเทศ โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (Fed) จะใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นและอาจตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วกว่าที่คาด

 

การประชุม FOMC เมื่อวันที่ 25 – 26 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา Fed ยังคงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0 - 0.25% และได้ส่งสัญญาณอาจเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้ อีกทั้ง ยังเห็นพ้องต้องกันในการเดินหน้าลดการถือครองสินทรัพย์ครั้งใหญ่ ด้วยการจำกัดตัวเลขเงินต้นของพันธบัตรที่กำลังจะหมดอายุและจะต่ออายุในแต่ละเดือน รวมถึงยังคงแผนการปรับลดวงเงิน QE ตามเดิม คือที่จำนวน 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยจะสิ้นสุดลงในเดือนมีนาคม 2565 พร้อมกับจะเริ่มต้นปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในกรอบเวลาดังกล่าว อย่างไรก็ตาม การประชุมครั้งนี้ ไม่ได้ระบุว่าจะเริ่มปรับลดขนาดงบดุลที่ขยับขึ้นไปเกือบ 9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อไหร่ แต่คาดว่าจะเริ่มลดขนาดงบดุล ภายหลังจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปแล้ว

 

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวย่อมส่งผลต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนของต่างชาติและเกิดความผันผวนในตลาดทุนและตลาดการเงินโลก แต่ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อจะไม่อยู่ในระดับสูงเป็นเวลานาน โดยเชื่อว่า Fed จะดำเนินนโยบายอย่างระมัดระวัง และคาดว่าธนาคารกลางประเทศอื่น ๆ รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) น่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับเดิมต่อไปอีก 1 ปี เพื่อประคับประคองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

 

มีคำถามตามมาว่า ในปีนี้นักลงทุนควรให้ความสำคัญกับอะไรเป็นอันดับต้น ๆ คำตอบคงหนีไม่พ้นเรื่องการกระจายความเสี่ยงในการลงทุน (Diversification) ในหลายภูมิภาค และที่ลืมไม่ได้ คือ การจัดสรรเงินลงทุน (Asset Allocation) หรือการลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายประเภท เช่น หุ้น ตราสารหนี้ อสังหาริมทรัพย์ ทองคำ หรือสินทรัพย์ทางเลือกอื่น ๆ เป็นต้น

 

อย่างไรก็ตาม หากนักลงทุนที่ยังไม่ชำนาญในการคัดเลือกสินทรัพย์เป็นรายตัว การลงทุนผ่านกองทุนรวม ถือเป็นตัวเลือกในการลงทุนที่ดี เพราะมีนโยบายการลงทุนให้เลือกหลากหลายทั้งในและต่างประเทศ โดยสามารถเลือกลงทุนให้สอดคล้องไปกับกระแสหลักของโลกได้

 

โอกาสลงทุนตามเทรนด์โลก

การลงทุนในกลุ่มธุรกิจที่เชื่อว่าจะมีการเติบโตสูงตามทิศทางกระแสหลักของโลก (Megatrend) เป็นคำฮิตติดหูที่มีการพูดถึงจากนักลงทุน เพราะหากเลือกลงทุนให้สอดคล้องกับกระแสหลักของโลกย่อมมีโอกาสสร้างผลตอบแทนได้ในระดับที่น่าประทับใจ โดยปีนี้หากสนใจลงทุนในกองทุนรวมก็สามารถเลือกกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนตามกระแสหลักของโลก ดังนี้

 

กองทุนรวม ESG

ปัจจุบันทั่วโลกตื่นตัวกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แม้แต่หน่วยงานภาครัฐก็เริ่มตระหนักในประเด็นนี้ หนึ่งในตัวอย่างที่ชัดเจน คือ การจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูเศรษฐกิจจำนวน 7.5 แสนล้านยูโร ของสหภาพยุโรป เพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ด้วยการเน้นลงทุนในธุรกิจที่มีความยั่งยืน  

 

ข้อมูลจาก Morningstar พบว่าในสหรัฐอเมริกา กองทุนรวมประเภท ESG ไม่ว่าจะเป็นหุ้น ตราสารหนี้ และสินทรัพย์ทางเลือก มีเงินลงทุนไหลเข้ามาลงทุนในกองทุนรวมประเภทนี้ประมาณ 71,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และข้อมูลจาก Dow Jones Sustainability World Index (DJSI) ซึ่งเป็นดัชนีด้านความยั่งยืนระดับโลก พบว่า ผลตอบแทนรวมสะสมย้อนหลัง 3 ปี (ตั้งแต่วันที่ 28 มกราคม 2562 – 28 มกราคม 2565) ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยที่ 14.04% ต่อปี ขณะที่ผลตอบแทนรวมสะสมย้อนหลัง 5 ปี (ตั้งแต่วันที่ 28 มกราคม 2560 - 28 มกราคม 2565) ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 10.84% ต่อปี ดังนั้น การลงทุนที่เน้นความยั่งยืนอาจนำมาซึ่งโอกาสในการรับผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย

 

กองทุนรวมกลุ่มธุรกิจ Healthcare

กลุ่มธุรกิจด้านสุขภาพ (Healthcare) ไม่ได้มีแค่ธุรกิจโรงพยาบาลเท่านั้น แต่มีธุรกิจอื่นอีกมากมาย เช่น ผลิตและจำหน่ายยา บริษัทที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีและเครื่องมือทางการแพทย์ บริการทางการแพทย์ เป็นต้น แต่จากการที่วิทยาการทางการแพทย์ และเทคโนโลยีมีความก้าวหน้ามากขึ้น ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Healthcare มีความหลากหลายขึ้น นักลงทุนสามารถเลือกลงทุนในธุรกิจที่มีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้น เช่น Digital Health, Biotechnology เป็นต้น

 

นอกจากนี้ โครงสร้างประชากรโลกเป็นสังคมผู้สูงอายุมากขึ้นและมีแนวโน้มอายุยืนยาวขึ้น ความจำเป็นในการพึ่งพาบริการและนวัตกรรมทางการแพทย์จึงมีมากขึ้น ทำให้ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามไปด้วยโดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้ว ดังนั้น กองทุนรวมกลุ่มธุรกิจ Healthcare จึงมีโอกาสเติบโตต่อเนื่อง

 

กองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในประเทศที่พัฒนาแล้ว

จากการที่ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (Fed) จะดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้น จึงประเมินว่าเศรษฐกิจประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ญี่ปุ่นและยุโรป มีโอกาสฟื้นตัวหลัง Fed ดำเนินนโยบายดังกล่าว ขณะเดียวกันยังมีเม็ดเงินส่วนเพิ่มจากการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ทำให้สินทรัพย์การลงทุนโดยเฉพาะตลาดหุ้นมีโอกาสปรับขึ้นได้ต่อเนื่อง ดังนั้น กองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ญี่ปุ่นและยุโรป ยังมีโอกาสสร้างผลตอบแทนได้ในปีนี้

 

คำแนะนำในการจัดพอร์ตลงทุน

  1. ลดน้ำหนักการลงทุน (Underweight) ในตราสารหนี้ หากนักลงทุนรับความเสี่ยงได้ต่ำ สามารถเลือกลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น เพราะอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Bond Yield) มีแนวโน้มขยับขึ้นตามการเร่งปรับนโยบายการเงินของ Fed ที่เข้มงวดมากขึ้น
  2. เพิ่มการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง โดยเลือกหุ้นที่มีคุณภาพ (Quality) หุ้นปลอดภัย (Defensive) รวมถึงการลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาด (Private Assets)
  3. สินทรัพย์ดิจิทัล หากนักลงทุนสนใจก็สามารถลงทุนได้แต่ไม่ควรเกิน 5 - 10% ของพอร์ตลงทุน และควรทำการปรับสมดุลของสัดส่วนน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์แต่ละประเภทที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม (Rebalance) เพื่อลดความผันผวนของพอร์ตลงทุนและสะท้อนความเสี่ยงของตัวเอง
  4. ควรถือครองเงินสด เช่น 10 – 15% เนื่องจากตลาดยังมีความผันผวนสูงอยู่

 

สำหรับการลงทุนในปีนี้ ตลาดหุ้นยังคงเป็นทางเลือกที่ให้ผลตอบแทนที่ดี ดังนั้น นักลงทุนควรมีหุ้นหรือกองทุนรวมหุ้นติดไว้ในพอร์ตลงทุนตลอดเวลา แต่ควรคัดเลือกและกระจายการลงทุนไปในต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว รวมถึงกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่าง ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยง เช่น ตราสารหนี้ อสังหาริมทรัพย์ ที่สำคัญเมื่อลงทุนแล้วต้องติดตามข้อมูล ข่าวสาร ด้านการลงทุนอยู่เสมอ และไม่ลืมที่จะปรับสมดุลของสัดส่วนการลงทุนในแต่ละสินทรัพย์ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมให้กลับมาอยู่ในสัดส่วนตามแผนการลงทุน

 

หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน


สำหรับนักลงทุนและผู้ที่สนใจ เรียนรู้เทคนิคการเลือกกองทุนรวม พร้อมสร้างและบริหารพอร์ตกองทุนรวมด้วยตนเอง สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “ห้องเรียนกองทุนรวม The Series” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

 

หรือนักลงทุนที่สนใจเรียนรู้หลักการวิเคราะห์ผลตอบแทนของพอร์ตลงทุน และแนวทางการปรับพอร์ตลงทุนให้เหมาะกับตนเองและสถานการณ์ สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร Portfolio Rebalancing” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง: