จับทิศทาง เศรษฐกิจ และการลงทุน กับความร้อนแรง ของตลาดหุ้นไทย ปี 2568

โดย SET
5 Min Read
31 ตุลาคม 2567
9.684k views
banner-iaa-hot-issue-2024-q3-1
In Focus

นโยบายจากภาครัฐฯ ที่น่าจับตา หรืออุตสาหกรรมไหนที่ได้รับประโยชน์ ตามมุมมองของผู้เชี่ยวชาญทั้ง 2 ท่านได้มีการสรุปเนื้อหาการวิเคราะห์ ไว้ให้กับนักลงทุนทุกท่านได้ติดตามกันแล้ว

         การมาถึงของรัฐบาลชุดใหม่ นำโดยคุณแพทองธาร ชินวัตร ที่ได้เริ่มปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี มาตั้งแต่วันที่ 7 กันยายน 2567  โดยมีไฮไลต์สำคัญก็คือ การกำหนด “นโยบายในแต่ละภาคส่วน” ที่จะส่งผลต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจ และตัวเลขของตลาดการลงทุน ที่จะสะท้อนถึงวิสัยทัศน์ และทิศทางการบริหารประเทศนับต่อไปจากนี้อีกด้วย

         เมื่อสุญญากาศทางการเมืองลดลง SET Thailand และสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) จึงได้เชิญผู้เชี่ยวชาญ อย่างคุณกิจพณ ไพรไพศาลกิจ รองกรรมการผู้จัดการและนักกลยุทธ์ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และคุณวีระวัฒน์ วิโรจน์โภคา ผู้อำนวยการอาวุโส และนักกลยุทธ์ บลป.เอฟเอสเอส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด มาร่วมวิเคราะห์แนวโน้มของตลาดหุ้นไทย ในหัวข้อ

“โอกาสเติบโตของตลาดทุนจากนโยบายรัฐบาลชุดใหม่ในไตรมาส 4 และปี 68 ”

แล้วจะมีนโยบายอะไรจากภาครัฐฯ ที่น่าจับตา หรืออุตสาหกรรมไหนที่ได้รับประโยชน์ ตามมุมมองของผู้เชี่ยวชาญทั้ง 2 ท่าน วันนี้ SET Thailand ได้มีการสรุปเนื้อหาการวิเคราะห์ ไว้ให้กับนักลงทุนทุกท่านได้ติดตามกันแล้ว

ติดตาม Live Session “โอกาสเติบโตของตลาดทุนจากนโยบายรัฐบาลชุดใหม่ในไตรมาส 4 และปี 68” เพิ่มเติมได้ที่ : https://www.youtube.com/watch?v=Omz1QFh5F5M

iaa-hot-issue-2024-q3-2

นโยบายภาครัฐฯ ที่น่าจับตา

         หากดูที่ภาพรวมของนโยบายจากภาครัฐฯ โดยเฉพาะในเรื่องของนโยบายที่เร่งด่วนจำนวน 10 นโยบาย จะพบว่า “7 จาก 10 คือ นโยบายทางด้านเศรษฐกิจ” ซึ่งถือเป็นบทพิสูจน์ว่า รัฐบาลชุดนี้ ให้ความสำคัญกับเรื่องเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นอย่างมาก

         นั่นจึงทำให้ในตอนนี้ รัฐบาลชุดปัจจุบัน ที่นำโดยคุณแพทองธาร ได้มีการเริ่มนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจบางส่วนไปแล้ว และมีแผนงานที่กำลังจะเริ่มดำเนินการในอนาคตอันใกล้ ซึ่งประกอบไปด้วย

  1.  กองทุนรวม VAYU1 และ ThaiESG 

         จากการศึกษาการจำลอง Regression (การวิเคราะห์การถดถอย) หากเปรียบเทียบ NAV ของกองทุน LTF เมื่อเทียบกับดัชนี SET จะพบว่า ทุกครั้งที่มีเม็ดเงิน 1 หมื่นล้านบาทเข้าสู่ตลาด จะช่วยส่งผลบวกต่อดัชนี SET ให้เพิ่มขึ้นได้ราว 25-27 จุด

และด้วยนโยบายของกองทุนรวม ThaiESG ที่มีการปรับเปลี่ยนเกณฑ์ใหม่ ให้มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น รวมทั้งการมาของกองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง ก็สามารถสร้างความคึกคักให้กับตลาดการลงทุนและอาจจะช่วยเพิ่มเม็ดเงินให้ไหลเข้าสู่ตลาดได้เช่นกัน

  1. การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 

         แม้ในแง่ของต้นทุนในการทำธุรกิจ รวมทั้งผู้ประกอบการ อาจจะได้รับผลกระทบขึ้นบ้างในช่วงแรก แต่แน่นอนว่าการขึ้นค่าแรงนั้น จะช่วยให้กลุ่มแรงงาน ซึ่งถือเป็นกลุ่มสำคัญในภาคการบริโภค มีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้น จนกล้าที่จะใช้จ่ายมากขึ้นตามไปด้วย

  1. การพักหนี้ 

         การพักหนี้ ถือเป็นนโยบายที่มีการดำเนินงานเป็น 3 ระยะ โดยการดำเนินงานระยะที่ 1 นั้นได้สิ้นสุดลงไปแล้ว ซึ่งสามารถช่วยลูกหนี้ในประเทศไปได้ถึง 1.75 ล้านราย และคิดเป็นเงินรวมกันกว่า 2.4 แสนล้านบาท ซึ่งในปัจจุบัน ทางครม. ชุดนี้ก็ได้มีการต่ออายุโครงการระยะที่ 2 ต่อเนื่องไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

         โดยนโยบายนี้ ถือเป็นการดำเนินงานที่สอดคล้องกันระหว่างรัฐบาลที่มุ่งเป้าไปที่ธนาคารที่ทางภาครัฐฯ สามารถกำกับดูแลได้โดยตรง เช่น การขอให้ ธ.ก.ส. ช่วยทำการพักหนี้ให้เกษตรกร กับทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มีการดำเนินนโยบายนี้เอาไว้อยู่แล้ว ผ่านการมุ่งเป้าไปที่ธนาคารพาณิชย์ ให้มีการช่วยขยายเวลาชำระลูกหนี้บัตรเครดิต ที่ 8% หรือการรวมหนี้สินเชื่อต่าง ๆ เข้าด้วยกัน เป็นต้น

         ซึ่งทั้งหมดจะช่วยให้ลูกหนี้ในทุก ๆ ภาคส่วน มีความสามารถในการชำระหนี้ในระบบได้มากยิ่งขึ้น และมีกำลังซื้อสินค้าประเภทต่าง ๆ ได้มากขึ้นด้วยเช่นกัน

  1. โครงการ Entertainment Complex ♠️

         แม้จะมีเสียงคัดค้านโครงการนี้จากประชาชนอยู่ไม่น้อย แต่ต้องยอมรับว่าโครงการนี้ เป็นโครงการที่นักลงทุนต่างชาติ ให้ความสนใจค่อนข้างสูง อีกทั้งได้รับการสนับสนุนจากทั้งฝั่งรัฐบาล และฝ่ายค้าน ทำให้มั่นใจได้ในระดับหนึ่งว่าโครงการนี้น่าจะมีโอกาสเกิดขึ้นสูง

         โดยหากโครงการ Entertainment Complex สามารถเกิดขึ้นได้จริง จะถือเป็นการช่วยต่อยอดจุดแข็งของประเทศไทย ที่มีรายได้จากการท่องเที่ยว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ให้มีช่องทางรายได้เพิ่มขึ้นจากแหล่งท่องเที่ยวแบบ Man-made Creation เพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดการใช้จ่ายหมุนเวียนภายในประเทศทั้งในด้านค้าปลีก การบิน และการก่อสร้างเป็นหลัก

      5. Digital Wallet 

         แม้ว่าการเริ่มแจกจ่ายเงินสด ให้กับกลุ่มเปราะบางในระยะแรก อาจยังไม่สามารถตอบโจทย์การกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่ แต่ก็ต้องยอมรับว่านโยบายนี้ สามารถช่วยให้กลุ่มผู้มีรายได้น้อย และกลุ่มเปราะบาง มีความสามารถในการชำระหนี้ได้เพิ่มมากขึ้น และสามารถนำเงินที่เหลือไปต่อยอดกับการใช้ทำธุรกิจเพิ่มเติมได้

  1. การจัดการพลังงานในระยะยาว ⚡

          ในระยะกลางถึงระยะยาว ประเทศไทยอาจได้รับประโยชน์ในเรื่องของพลังงาน จากการที่ต่างชาติให้ความสนใจเข้ามาตั้ง Data Center รวมถึงนโยบายการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโดยตรง (Direct PPA) ซึ่งจะส่งผลบวกต่อต้นทุนค่าไฟฟ้า ที่มีโอกาสถูกลง รวมถึงภาพใหญ่ของวงการพลังงานที่อาจเป็นบวก เช่น ในด้านคาร์บอนเครดิต หากว่าการประมูลงานโรงไฟฟ้าใหม่ ๆ มีการเน้นไปที่พลังงานสะอาดเป็นหลัก

          ส่วนในช่วงระยะสั้น ภาคส่วนพลังงานในประเทศไทยอาจมีปัจจัยกดดันจากเรื่องการตรึงราคาพลังงาน รวมถึงการปรับโครงสร้างราคาน้ำมัน และระบบตั๋วร่วมสำหรับขนส่งสาธารณะ ที่อาจเกิดขึ้นจริงได้ยาก

  1. การนำเศรษฐกิจนอกระบบ เข้าสู่ระบบภาษี 

          ข้อมูลจาก World Bank ระบุว่า เศรษฐกิจนอกระบบของไทย มีขนาดคิดเป็น 48% ของ GDP ซึ่งสูงสุดเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย ถ้าหากมีการนำเข้าสู่ระบบภาษีในประเทศได้ จะส่งผลให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นได้อีกมาก

          ซึ่งเบื้องต้น ทางภาครัฐฯ อาจมีการดึงกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าที่ทำธุรกิจ แล้วไม่ได้เสียภาษี หรือเสียภาษีน้อยกว่าที่กำหนดเข้ามาก่อน โดยอาจสร้างแรงจูงใจในการเข้าระบบภาษี เพื่อแลกกับการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และสวัสดิการต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น

  1. โครงการ Land Bridge 🌉

          โครงการขนาดใหญ่ที่จะมีส่วนช่วยในการผลักดันเศรษฐกิจภาคใต้ อย่างไรก็ตามจากผลการศึกษาของหน่วยงานต่างๆ อาจพบว่าการคุ้มทุนไม่ง่ายนัก โดยเฉพาะหากเที่ยบความคุ้มค่ากับการขนส่งในเส้นทางปกติผ่านช่องแคบมะละกา แต่หากบริหาร โดยเน้นการเป็นส่วนหนึ่งของท่าเรือภูมิภาค ที่บริหารร่วมกับท่าเรือหลักอื่นๆในภูมิภาค อาจทำให้โครงการมีความเป็นไปได้

  1. ยกระดับการเกษตรด้วยเทคโนโลยี 

          ปัญหาหลักของภาคเกษตรไทยในเวลานี้ คงหนีไม่พ้นเรื่องของผลิตภาพที่ตกต่ำ, ช่องว่างของรายได้ที่ห่างจากภาคอื่น ๆ รวมถึง อายุเฉลี่ยของประชากรในภาคการเกษตรที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี  “การพัฒนาเทคโนโลยี” มาใช้ในภาคส่วนนี้ไปพร้อมกับการพัฒนาทักษะแรงงาน  จึงกลายเป็นโจทย์ภาคบังคับที่ต้องนำมาปฏิบัติไปโดยปริยาย

          แต่อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ของภาคการเกษตรอาจดีขึ้นในช่วงปีหน้า หากว่าสถานการณ์น้ำท่วมในช่วงนี้ไม่บานปลายออกไป และทางรัฐบาลสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว

iaa-hot-issue-2024-q3-3-2

อุตสาหกรรมไหน ได้ประโยชน์ ?

  1. กลุ่มธนาคาร และการเงิน 

          กลุ่มธนาคาร และการเงิน ถือเป็นกลุ่มที่มีโอกาสได้รับประโยชน์โดยตรงจากหลากหลายนโยบายภาครัฐฯ ที่ส่งผลให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีความสามารถในการชำระหนี้ได้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับธุรกิจในกลุ่มนี้ รวมถึงมีโอกาสสร้าง Loan Growth และได้รับการลงทุนจากทางภาครัฐฯ และเอกชน เพิ่มมากขึ้นในช่วงปีถัด ๆ ไป

  1. กลุ่มการค้าปลีก 

          แม้ว่าอาจจะต้องมีค่าใช้จ่ายในด้านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในระยะสั้น แต่การที่กลุ่มผู้บริโภคในหลาย ๆ ภาคส่วนมีหนี้ลดลง ส่งผลให้มีกำลังซื้อที่เพิ่มมากขึ้น ก็อาจช่วยให้กลุ่มค้าปลีกได้รับอานิสงส์ ในการใช้จ่ายจากผู้บริโภคเพิ่มขึ้นได้ด้วยเช่นกัน

  1. กลุ่มการท่องเที่ยว 

          ภาคการท่องเที่ยว หนึ่งในจุดแข็งสำคัญของประเทศไทย ที่ถือเป็นกลุ่มที่ฟื้นตัวได้ดีที่สุดในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งทางรัฐบาล ก็มีแผนเสริมจุดแข็งในระยะกลาง ด้วยการสร้าง Man-made Creation อย่าง “Entertainment Complex” อีกทั้งยังอาจได้รับแรงหนุนมากขึ้นจากนโยบายฟรีวีซ่า หรือการออก Road Show การท่องเที่ยว ที่กำลังจะมีเพิ่มมากขึ้นในช่วงหลังจากปีนี้เป็นต้นไป

  1. กลุ่มการเกษตร และอาหาร

          ภาคเกษตร ถือเป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่มีโอกาสได้รับประโยชน์จากปัจจัยสำคัญ อย่างเรื่องของการกระตุ้นเศรษฐกิจ และนโยบายการช่วยลดค่าใช้จ่ายของเกษตรกร จากรัฐบาล รวมถึงผลิตภาพสินค้าเกษตร ที่มีแนวโน้มที่จะดีขึ้นในช่วงปีหน้านั้น ก็อาจจะช่วยให้กลุ่มเกษตรกรมีกำลังซื้อ และมีโอกาสในการชำระหนี้เพิ่มขึ้น รวมถึงยังมีโอกาสได้รับประโยชน์จากรายได้เกษตรกร (Farm Income) ที่สูงขึ้นด้วยเช่นกัน

  1. กลุ่มการรับเหมา และการสื่อสาร 

          แม้ว่า 2 กลุ่มนี้จะดูมีความแตกต่างกันอยู่ แต่อาจได้รับประโยชน์ในรูปแบบเดียวกัน จากนโยบายการใช้งบประมาณของภาครัฐฯ ในปี 2568 อีกทั้งราคาของหุ้นขนาดเล็กจากอุตสาหกรรมเหล่านี้ ที่ปรับตัวลงเยอะในช่วง 8-9 ปีที่ผ่านมา ก็อาจส่งผลให้ช่วงนี้เป็นโอกาสดีในการเข้าซื้อ ก่อนที่จะกลับตัวเป็นขาขึ้นได้ในอนาคต 

  1. กลุ่มพลังงาน ⚡

          เป็นอีกหนึ่งภาคส่วน ที่มีโอกาสได้รับประโยชน์ในช่วงระยะกลาง ถึงระยะยาว จากการประมูลสัมปทานในพื้นที่ทับซ้อน รวมถึงเทรนด์ของเรื่องพลังงานสะอาด และการที่ต่างชาติให้ความสนใจเข้ามาตั้ง Data Center ในประเทศมากยิ่งขึ้นในอนาคต

          อย่างไรก็ตาม กลุ่มพลังงานถือเป็นกลุ่มที่มีความท้าทายมากที่สุดในบรรดาทุกกลุ่มที่กล่าวมา อันเนื่องมาจากสาเหตุของปัจจัยกดดันในระยะสั้น ทั้งในเรื่องของราคาค่าไฟ และค่าน้ำมัน ที่ภาครัฐฯ พยายามตรึงราคาให้ต่ำเอาไว้ ซึ่งสวนทางกับราคาในตลาดโลก ที่ทยอยเพิ่มสูงขึ้นในช่วงนี้

iaa-hot-issue-2024-q3-4

ปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อตลาดหุ้นไทย

          แม้ว่านักลงทุนต่างชาติจะทยอยขายหุ้นไทย ในช่วงตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา แต่ด้วยภาพการเมืองในประเทศที่มีความชัดเจนยิ่งขึ้น ในยุคของ ครม. คุณแพทองธาร รวมทั้งเรื่องงบประมาณปี 2568 และการกำหนดทิศทางเศรษฐกิจที่มีความชัดเจนมากขึ้น เมื่อมีการมาผนวกกับแนวโน้มกำไรของบริษัทจดทะเบียนที่มีทิศทางขาขึ้น จึงทำให้คาดการณ์ได้ว่า นักลงทุนต่างชาติ มีแนวโน้มที่จะกลับมาซื้อหุ้นไทยมากขึ้นเช่นกัน

          โดยสถิติในช่วงเดือน สิงหาคม - กันยายน 2567 ได้ระบุไว้ว่า นักลงทุนต่างชาติ ได้มีการเข้าซื้อหุ้นไทยเป็นจำนวนราว 3 หมื่นล้านบาทเลยทีเดียว

          อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นไทยยังมีโอกาสได้รับประโยชน์จากเทรนด์อื่น ๆ ที่มีโอกาสเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาอันใกล้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น

  • เทรนด์ดอกเบี้ยขาลง 

          หากตรวจสอบสถิติย้อนหลังของดัชนี SET และ Fund Flow ในช่วงที่เป็นยุคดอกเบี้ยขาลง จะพบว่าทั้ง 2 ส่วนนี้ มักให้การตอบรับในเชิงบวก หากไม่มีการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยหลังจากการลดดอกเบี้ยตามมา โดยถ้าหากเทียบในช่วงที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ลดดอกเบี้ยครั้งแรก จะพบว่า 6-12 เดือนถัดมา ดัชนี SET จะให้ผลตอบแทนในเชิงบวกโดยเฉลี่ยที่ 10%

          และยิ่งถ้าหากเทียบกับการลดดอกเบี้ย ที่ประกาศโดย คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ก็จะพบอีกว่า ในช่วง 6-12 เดือนถัดมา ดัชนี SET จะให้ผลตอบแทนในเชิงบวกโดยเฉลี่ยที่ 20% - 25% รวมถึง Fund Flow จากต่างประเทศ ก็จะมีการไหลเข้าสู่ตลาดหุ้นไทยเกือบทุกครั้ง ในช่วง 6-12 เดือนหลังการลดดอกเบี้ย ในจำนวนโดยเฉลี่ยกว่า 3-6 หมื่นล้านบาท

  • ค่าเงินบาท ที่มีแนวโน้มค่อย ๆ แข็งค่าขึ้น 

          หากสำรวจไปที่ส่วนต่างดอกเบี้ยนโยบายในอดีตจะพบว่า โดยปกติส่วนต่างดอกเบี้ยนโยบายของประเทศไทย มักจะสูงกว่าสหรัฐฯ อยู่แล้ว เนื่องจากอันดับเครดิตของประเทศไทยที่ต่ำกว่า จึงทำให้ดอกเบี้ยของไทยเรานั้น จำเป็นต้องสูงกว่า

          แต่ในบางช่วงเวลาเองที่ดอกเบี้ยส่วนต่างของสหรัฐฯ นั้นสูงกว่าหลาย ๆ ประเทศ รวมถึงประเทศไทยเช่นกัน ซึ่งครั้งนั้นเกิดขึ้นในช่วงระหว่างปี 2543-2545 และส่งผลให้สหรัฐฯ จำเป็นต้องลดดอกเบี้ย จนทำให้ประเทศที่อันดับเครดิตต่ำกว่า กลับมามีอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าสหรัฐฯ

          โดยในช่วงดังกล่าว (2543-2545) หากตรวจสอบทิศทางการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท จะพบว่าการเคลื่อนไหวสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ระยะ คือ

ระยะที่ 1 : “การขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย จนส่วนต่างสูง” ส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนต่อเนื่อง

ระยะที่ 2 : “การลดดอกเบี้ยนโยบาย จนส่วนต่างลดลง” ส่งผลให้ค่าเงินบาทเสถียรมากขึ้น และจะค่อย ๆ แข็งค่าต่อเนื่อง

ระยะที่ 3 : “ดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ ต่ำลงกว่าไทย” ส่งผลให้ค่าเงินบาทกลับสู่ภาวะปกติ ที่แข็งค่ามากขึ้น

          และถ้าหากว่านำสถานการณ์ปัจจุบันของเศรษฐกิจไทยในช่วงเวลานี้ มาวิเคราะห์ก็จะพบว่า ไทยเรานั้น กำลังอยู่ในช่วงต้นของระยะที่ 2 ที่แม้ว่าจะมีความผันผวนในด้านของค่าเงินอยู่ แต่ค่าเงินบาทเองก็ยังมีแนวโน้มที่จะค่อย ๆ แข็งค่าขึ้น ซึ่งก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ต่างชาติขายหุ้นแบบช่วงก่อนหน้าน้อยลง และ Fund Flow อาจกลับเข้าสู่ตลาดหุ้นไทยมากยิ่งขึ้นได้เช่นกัน

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

e-Learning น่าเรียน