ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรมหลายประเภทที่เติบโตอย่างรวดเร็วและได้รับการยอมรับในระดับสากล ไม่เพียงแต่อุตสาหกรรมดั้งเดิม เช่น ยานยนต์ ท่องเที่ยว และอาหาร แต่ยังรวมถึงอุตสาหกรรมเกิดใหม่ เช่น พลังงานทดแทน การแพทย์ และ ดิจิทัล ที่จะมีบทบาทสำคัญในอนาคต นอกจากนี้ หลายบริษัทชั้นนำของไทยยังประสบความสำเร็จในการขยายธุรกิจสู่ตลาดโลก แสดงถึงศักยภาพในการแข่งขันในเวทีนานาชาติ
ทั้งนี้ มีหลายอุตสาหกรรมที่มีความสามารถในการแข่งขันสูงและส่งเสริมให้บริษัทไทยเติบโตในตลาดโลก ดึงเม็ดเงินจากต่างชาติเข้าสู่ประเทศไทยได้มากมาย เช่น
อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร
ประเทศไทยมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ นอกจากนี้ ยังมีมาตรฐานการผลิตที่สูงและเทคโนโลยีการแปรรูปที่ทันสมัย ส่งผลให้สินค้าเกษตรและอาหารของไทยเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก การตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ช่วยเพิ่มศักยภาพในการส่งออกอย่างมาก ประเทศไทยจึงเป็นผู้ส่งออกอาหารและเครื่องดื่มรายใหญ่ของโลก จนมีชื่อเสียงในฐานะ “ครัวของโลก” โดยมีบริษัทไทยอย่าง TU (หนึ่งในผู้ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแปรรูปที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋อง) และ CPF (หนึ่งในผู้ผลิตอาหารครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดในโลก) เป็นผู้นำในตลาดอาหารทะเลและอาหารสัตว์ระดับโลก
อุตสาหกรรมพลังงานและปิโตรเคมี
ประเทศไทยมีความพร้อมด้านทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ ทำให้มีความพร้อมด้านวัตถุดิบของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และมีเครือข่ายการผลิตที่ครบวงจร ตั้งแต่การกลั่นน้ำมันจนถึงการผลิตผลิตภัณฑ์ขั้นปลาย และมีการลงทุนในเทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยมีบริษัทซึ่งขยายการลงทุนในหลากหลายธุรกิจด้านพลังงานและปิโตรเคมีไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เช่น IVL (หนึ่งในผู้ผลิต PET ที่ใหญ่ที่สุดในโลก) และ BANPU (ผู้ส่งออกถ่านหินรายใหญ่ของอินโดนีเซีย และออสเตรเลีย รวมทั้งขยายการลงทุนในกิจการก๊าซธรรมชาติในสหรัฐอเมริกา)
นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีนโยบายสนับสนุนการลงทุนในพลังงานทดแทนและการขยายธุรกิจสู่ต่างประเทศ ส่งผลให้ หลายบริษัทมีการขยายการลงทุนด้านพลังงานทดแทนไปยังต่างประเทศ เช่น BGRIM (ขยายธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ไปยังประเทศเวียดนามและมาเลเซีย และพัฒนาฟาร์มกังหันลมนอกชายฝั่งขนาดใหญ่ในประเทศเกาหลีใต้) EGCO (ธุรกิจโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศฟิลิปปินส์ ฟาร์มกังหันลมนอกชายฝั่งในไต้หวัน และธุรกิจพลังงานทดแทนในสหรัฐอเมริกา) GPSC (ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศอินเดีย) GULF (ฟาร์มกังหันลมนอกชายฝั่งในทวีปยุโรป และโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติในโอมาน และสหรัฐอเมริกา)
ประเทศไทยยังมีโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งรองรับโอกาสทางธุรกิจในอนาคต เช่น ระบบสายส่งไฟฟ้าที่เชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้สามารถส่งไฟฟ้าจากการผลิตในประเทศไทย (ซึ่งมีอุปทานสูง) หรือประเทศลาว (ซึ่งมีความสามารถในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ) ไปยังประเทศอื่นผ่านระบบสายส่งของประเทศไทยได้
อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์
ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตสำคัญในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ในภูมิภาค ด้วยการสนับสนุนจากรัฐบาล แรงงานที่มีทักษะ และระบบซัปพลายเชนที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็น “Detroit of Asia” โดยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนและอันดับที่ 11 ของโลกในแง่ปริมาณการผลิต โดยมีบริษัทต่างชาติชั้นนำมากมายที่เข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย นอกจากนี้ การเติบโตของการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ทำให้ไทยมีบทบาทสำคัญทั้งในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ ปัจจัยดังกล่าวช่วยหนุนการเติบโตของบริษัทในซัปพลายเชนอย่าง AH DELTA HANA และ KCE รวมถึงการเติบโตของผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมอย่าง AMATA และ WHA
อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ
ไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลกด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่สวยงามและวัฒนธรรมที่หลากหลาย มาตรฐานการบริการที่สูง ทำให้ไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่นิยม โดยในปี 2019 ประเทศไทยต้อนรับนักท่องเที่ยวเกือบ 40 ล้านคน (แม้จะลดลงในช่วงการระบาดของ COVID-19 แต่คาดว่าในปี 2024 จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาประมาณ 35-37 ล้านคน)
MINT เป็นหนึ่งในบริษัทไทยที่เติบโตในอุตสาหกรรมการบริการและการโรงแรมอย่างต่อเนื่องในหลากหลายประเทศทั่วโลก และดำเนินธุรกิจร้านอาหารในหลายภูมิภาค นอกจากนี้ บริษัทได้เข้าซื้อกิจการ NH Hotel Group ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มโรงแรมที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป
การที่ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่นิยมของต่างชาติ ยังช่วยส่งเสริมบริการการแพทย์แบบท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical Tourism) ให้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องโดยมีปัจจัยที่ส่งเสริมการเติบโตจากคุณภาพการแพทย์และความชำนาญพิเศษ รวมถึงค่าบริการทางการแพทย์ที่คุ้มค่า ปัจจัยดังกล่าวช่วยส่งเสริมการขยายตัวของรายได้จากการให้บริการผู้ป่วยชาวต่างชาติของโรงพยาบาลเอกชนอย่าง BH
กรณีศึกษา กลยุทธ์เบื้องหลังความสำเร็จในการขยายธุรกิจสู่ต่างประเทศ
การขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ ช่วยลดข้อจำกัด ทำให้ผลประกอบการบริษัทสามารถเติบโตได้โดนไม่ต้องต้องพึ่งพิงเพียงการเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม การขยายตัวสู่ต่างประเทศก็ยังมาพร้อมกับความท้าทาย ทั้งในด้านความผันผวนของเศรษฐกิจและการปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยในบทความนี้เรายกสาม บจ. อย่าง TU MINT และ GULF มาเป็นกรณีศึกษา
Thai Union Group (TU)—เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเสริมความแข็งแกร่งให้แก่ซัพพลายเชน
Thai Union Group (TU) ถือเป็นหนึ่งในบริษัทชั้นนำด้านธุรกิจอาหารทะเลของประเทศไทยที่สามารถเติบโตจนกลายเป็นบริษัทระดับโลกได้อย่างโดดเด่น โดยเริ่มขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศครั้งแรก ในช่วงปี 1997-2006 ผ่านการเข้าซื้อกิจการในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้แก่ Chicken of the Sea (แบรนด์ปลาทูน่ากระป๋องที่มีส่วนแบ่งเป็นอันดับ 3 ของประเทศสหรัฐอเมริกา) และ Empress International Ltd. (ผู้นำเข้าและกระจายสินค้าอาหารทะเลแช่แข็ง)
ต่อมาในปี 2008-2009 ได้เข้าถือหุ้นใหญ่ในบริษัท Yueh Chyang Canned Food ผู้ผลิตและส่งออกอาหารทะเลกระป๋องในเวียดนาม และเข้าลงทุนใน Avanti Feeds
ระหว่างปี 2010-2014 บริษัทขยายตลาดสู่ยุโรปด้วยการเข้าซื้อ MW Brands ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์อาหารทะเลชั้นนำอย่าง John West และยังเข้าซื้อ MerAlliance ผู้ผลิตแซลมอนรมควันอันดับ 4 ของยุโรป และ King Oscar AS ในประเทศนอร์เวย์ ซึ่งเป็นแบรนด์ปลาซาร์ดีนระดับพรีเมียม
ในช่วงปี 2016-2021 บริษัทได้ขยายกิจการเพิ่มเติม เช่น การเข้าซื้อ Rügen Fisch, Avanti Frozen Food, Red Lobster, TUMD Luxembourg, นอกจากนี้ ยังได้ก่อตั้งกองทุนร่วมลงทุนเพื่อส่งเสริมนวัตกรรมด้านโปรตีนทางเลือกและสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีอาหาร
จะเห็นได้ว่า TU มุ่งเน้นการขยายธุรกิจตลอดทั้งซัพพลายเชน ซึ่งหนุนทั้งการเข้าสู่ตลาดใหม่ การเพิ่มส่วนแบ่งการตลาด การเข้าถึงซัพพลายเชน และการลดต้นทุน โดยมุ่งเน้นการเข้าซื้อกิจการที่บริษัทมีความเข้าใจและความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว นอกจากนี้ TU ยังเปิดโอกาสให้บริษัทเข้าสู่ธุรกิจใหม่ เช่น โปรตีนจากพืช เพื่อเตรียมรับมือต่อความต้องการที่เปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม TU ก็ต้องเผชิญความท้าทายในหลายกิจการที่มีการเข้าลงทุน โดยเฉพาะการพลิกฟื้นกิจการ Red Lobster ซึ่งเป็นแบรนด์ร้านอาหาร และมีความแตกต่างจากธุรกิจหลักของ TU อย่างมาก
Minor International (MINT)—ความสำเร็จเกิดจากการสร้างแบรนด์หลังการเข้าซื้อกิจการ
มีจุดเริ่มต้นจากธุรกิจร้านอาหารและโรงแรมในประเทศไทย แต่ได้ขยายธุรกิจสู่ระดับโลกอย่างรวดเร็ว ผ่านการเข้าซื้อกิจการและการสร้างแบรนด์ โดยปัจจุบัน MINT เป็นเจ้าของและดำเนินธุรกิจร้านอาหารกว่า 2,645 แห่ง และโรงแรมกว่า 532 แห่งใน 63 ประเทศ และตั้งเป้าขยายธุรกิจร้านอาหารสู่ 3,700 แห่ง และโรงแรม 780 แห่งภายใน 3 ปี
ในภาคธุรกิจอาหาร MINT ได้ซื้อแฟรนไชส์ที่มีชื่อเสียงหลายแบรนด์ เช่น Swensen’s, Sizzler, Burger King, Dairy Queen อีกทั้งยังสร้างแบรนด์ที่มีชื่อเสียงอย่าง The Pizza Company และขยายธุรกิจไปในหลายประเทศ โดยเฉพาะในทวีปเอเชีย ทั้งนี้ MINT ได้มีการสร้างเมนูใหม่ที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมและความชื่นชอบของผู้บริโภคในท้องถิ่น และปรับรสชาติให้แตกต่างจากแบรนด์พิซซ่าระดับโลกอื่นๆ โดยเน้นการปรับให้เหมาะกับผู้บริโภคในเอเชีย
ในภาคธุรกิจโรงแรม MINT สร้างแบรนด์ Anantara ในปี 2001 โดย MINT วางตำแหน่งแบรนด์ให้เป็นโรงแรมและรีสอร์ตหรูที่เน้นประสบการณ์ทางวัฒนธรรมและการพักผ่อนในสไตล์ท้องถิ่น ต่อมา MINT ได้ดำเนินการขยายธุรกิจผ่านการเข้าซื้อกิจการโรงแรมที่มีชื่อเสียงต่างๆ เช่น Tivoli Hotels & Resorts และ NH Hotel Group ในยุโรป
หลังจากเข้าซื้อ MINT ได้ทำการรีแบรนด์โรงแรม NH บางส่วนให้เป็นแบรนด์ในเครือของ Anantara และ AVANI เพื่อสร้างความสอดคล้องในกลุ่มโรงแรมหรูของบริษัท ขณะเดียวกันก็รักษาแบรนด์ NH ไว้เพื่อเจาะตลาดโรงแรมระดับกลางในยุโรป
การขยายธุรกิจต่างประเทศของ MINT ไม่เพียงแค่มุ่งเน้นการเข้าซื้อแบรนด์ที่มีชื่อเสียงเพื่อช่วยให้ MINT สามารถเติบโตอย่างรวดเร็วและสร้างเครือข่ายธุรกิจทั่วโลก แต่ MINT ยังมุ่งเน้นการพัฒนาและการแบรนด์หลังการเข้าซื้อกิจการ โดยปรับกลยุทธ์การตลาดและการบริการให้เข้ากับวัฒนธรรมและความต้องการของลูกค้าในแต่ละภูมิภาค สร้างประสบการณ์ที่แตกต่างและสอดคล้องกับท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม MINT ก็ต้องเผชิญความท้าทายจากวิกฤต COVID-19 รวมทั้งการเผชิญแรงกดดันจากปัญหาเศรษฐกิจในประเทศจีน
Gulf Energy Development (GULF)—เลือกการลงทุนที่เสริมโอกาสในอนาคต ในจังหวะเวลาที่ถูกต้อง
GULF เริ่มต้นจากธุรกิจพลังงานในประเทศไทยเป็นหลัก และขยายธุรกิจสู่ต่างประเทศในหลายภูมิภาค โดยเริ่มต้นจาก การเข้าลงทุนในโครงการพลังงานลมและแสงอาทิตย์ในเวียดนามเพื่อเป็นก้าวแรกสู่การพัฒนาโครงการใหญ่ๆ ในอนาคต (เช่นโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ และธุรกิจพลังงานอื่นๆ) และ การพัฒนาโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติขนาดเล็กในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษของโอมาน เนื่องจากมองเห็นโอกาสในการขยายตัวของดีมานด์ไฟฟ้าภาคอุตสาหกรรมในอนาคต
ต่อมาหลังจากวิกฤติ COVID-19 ส่งผลกระทบต่อราคาสินทรัพย์ต่างๆ ทั่วโลก GULF ได้ทำเข้าลงทุนในโครงการพลังงานใหญ่ๆ ในต่างประเทศ เช่น ฟาร์มกังหันลมนอกชายฝั่งในประเทศเยอรมนี โครงการโรงไฟฟ้าก๊าซในสหรัฐอเมริกา และในปัจจุบัน GULF อยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการฟาร์มกังหันลมขนาดใหญ่ในสหราชอาณาจักร
GULF เข้าซื้อกิจการโดยเลือกสินทรัพย์ที่มีโอกาสสร้างธุรกิจอื่นเพิ่มเติมในอนาคตได้ เป็นธุรกิจที่อยู่ในกระแส และเลือกจังหวะเวลาในการลงทุนที่เหมาะสม ซึ่งส่งผลให้มีอำนาจในการต่อรองราคา GULF ยังอาศัยการสร้างพันธมิตรกับบริษัทต่างชาติในแต่ละประเทศที่เข้าไปลงทุน เพื่อลดความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรและเทคโนโลยีที่ทันสมัย และช่วยให้ GULF สามารถปรับตัวให้เข้ากับกฎระเบียบในแต่ละประเทศได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ GULF เองก็ต้องเผชิญความท้าทายด้านกฏระเบียบในการดำเนินงานโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนในประเทศเวียดนาม และเผชิญความผันผวนของผลประกอบการมากขึ้นจากมาตรฐานการบันทึกบัญชีของสหรัฐอเมริกาที่แตกต่างจากประเทศไทย
โอกาสและความท้าทาย เมื่อบริษัทจดทะเบียนมีการขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศ
การขยายการลงทุนไปต่างประเทศเป็นโอกาสที่บริษัทจดทะเบียนสามารถเพิ่มรายได้และขยายฐานลูกค้า แต่ต้องเผชิญกับความท้าทาย เช่น การปรับตัวกับวัฒนธรรมท้องถิ่น กฎระเบียบที่แตกต่าง และการเผชิญกับคู่แข่งท้องถิ่นที่มีความเข้าใจตลาดดีกว่า ซึ่งอาจทำให้การเข้าสู่ตลาดใหม่เป็นเรื่องยาก นักลงทุนจึงควรพิจารณาถึงปัจจัยต่างๆ เมื่อ บจ. ขยายการลงทุนไปต่างประเทศ เช่น
การขยายธุรกิจสู่อุตสาหกรรมที่อยู่ในกระแส มีแนวโน้มเติบโตดีอาจส่งผลบวกในระยะยาว และอาจส่งให้เกิดแรงเก็งกำไร หนุนให้ราคาหุ้นของบริษัทปรับตัวขึ้น เมื่อมีการประกาศข่าวการลงทุนใหม่ๆ แต่ในขณะเดียวกัน การเลือกลงทุนในสิ่งที่บริษัทไม่มีความชำนาญ หรือไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการในปัจจุบัน ก็อาจเพิ่มความเสี่ยง ดังนั้น นักลงทุนจึงควรพิจารณาถึงปัจจัยต่างๆ เช่น
แม้จะเป็นกิจการที่ดี แต่การเข้าซื้อในราคาที่สูงเกินไปก็อาจส่งผลลบต่อแนวโน้มผลประกอบการของบริษัทในระยะยาวได้เช่นกัน โดยนักลงทุนอาจวิเคราะห์ว่าราคาเข้าซื้อกิจการมีความเหมาะสมหรือไม่จาก
นักลงทุนต้องพิจารณาถึงความเสี่ยงต่างๆ ที่บริษัทต้องเผชิญ เมื่อมีการขยายไปต่างประเทศ รวมถึงวิธีจัดการความเสี่ยงของบริษัท เช่น