อัตราส่วนหมุนเวียนสินค้าคงเหลือ กุญแจสำคัญก่อนตัดสินใจลงทุน

โดย ฐิติเมธ โภคชัย ฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
3 Min Read
23 ตุลาคม 2567
7.026k views
TSI_Article_630_Inv_Thumbnail
Highlights
  • อัตราส่วนหมุนเวียนสินค้าคงเหลือเป็นตัวชี้วัดสำคัญในการประเมินประสิทธิภาพการบริหารสต็อกสินค้าของบริษัท โดยค่าที่สูงมักแสดงถึงความสามารถในการขายสินค้าได้ดี แต่ไม่ได้หมายความว่าดีเสมอไป

  • การพิจารณาอัตราส่วนหมุนเวียนสินค้าคงเหลือที่เหมาะสมควรคำนึงถึงหลายปัจจัย เช่น ประเภทอุตสาหกรรม การเปรียบเทียบกับคู่แข่ง แนวโน้มของบริษัท และกลยุทธ์ทางธุรกิจ

  • อัตราส่วนหมุนเวียนสินค้าคงเหลือที่สูงผิดปกติอาจเป็นสัญญาณของความไม่โปร่งใสในการดำเนินธุรกิจ เช่น การรายงานยอดขายเท็จหรือการบันทึกสินค้าคงเหลือที่ไม่มีอยู่จริง นักลงทุนควรระมัดระวังและตรวจสอบข้อมูลอื่น ๆ ประกอบเสมอ

“สินค้าคงเหลือ” หรือเรียกกันติดปากว่า “สต็อกสินค้า” เป็นอีกหนึ่งจุดสำคัญในงบการเงินที่นักลงทุนไม่ควรมองข้าม  โดยทั่วไปสินค้าคงเหลือมักเติบโตควบคู่กับยอดขาย แต่หากพบว่าสูงผิดปกติโดยไม่สัมพันธ์กับยอดขาย ควรสืบหาสาเหตุ ซึ่งมักเกิดจากการคาดการณ์ยอดขายที่สูงเกินจริง ส่งผลให้สต็อกสินค้ามากเกินความจำเป็น โดยประสิทธิภาพในการบริหารสต็อกวัดได้จาก “อัตราส่วนหมุนเวียนสินค้าคงเหลือ (Inventory Turnover Ratio)”

 

อัตราส่วนหมุนเวียนสินค้าคงเหลือ ใช้วัดความสามารถในการขายสินค้าคงเหลือ โดยวัดจากการเปลี่ยนแปลงสินค้าคงเหลือในช่วงเวลาที่กำหนดเพื่อที่บริษัทจะได้คำนวณว่าต้องใช้เวลากี่วันในการขายสินค้า รวมทั้งช่วยให้บริษัทสามารถตัดสินใจในเรื่องราคา การผลิต การตลาด และการซื้อสินค้าคงคลังในรอบต่อไปได้ดีขึ้น
TSI_Article_630_Inv_Inventory Turnovers Ratio
  • อัตราส่วนหมุนเวียนสินค้าคงเหลือ มีค่าสูง หมายความว่า มีความสามารถในการขายสินค้าคงเหลือสูงหรือมีสินค้าคงเหลือน้อย
  • อัตราส่วนหมุนเวียนสินค้าคงเหลือ มีค่าน้อยหมายความว่า มีความสามารถในการขายสินค้าคงเหลือต่ำหรือมีสินค้าคงเหลือจำนวนมาก

 

ยิ่งมีค่าที่สูง ยิ่งดี

ถึงแม้ตามสูตรการคำนวณอัตราส่วนหมุนเวียนสินค้าคงเหลือ “ยิ่งสูง ยิ่งดี” แต่อาจไม่จำเป็นเสมอไป โดยข้อมูลจาก บล.บัวหลวง อธิบายว่า โดยปกติแล้วอุตสาหกรรมที่สินค้ามีต้นทุนและราคาของสินค้าค่อนข้างต่ำ จะมีค่าอัตราส่วนหมุนเวียนสินค้าคงเหลือที่ค่อนข้างสูง เพราะมีการผลิตสินค้าออกมาในปริมาณมาก

 

อย่างไรก็ตาม การมีอัตราส่วนหมุนเวียนสินค้าคงเหลือที่สูงก็ไม่ใช่เรื่องดีเสมอไป เพราะการมีสต็อกสินค้าเหลือจำนวนมาก อาจส่งผลดีกว่าในบางสถานการณ์ เช่น เมื่อบริษัทคาดการณ์ว่าจะเกิดสภาวะขาดแคลนสินค้า การมีสินค้าคงเหลือจำนวนมากก็สามารถช่วยให้บริษัทอยู่รอดต่อไปได้

 

“โดยปกติแล้วอุตสาหกรรมที่สินค้ามีต้นทุนและราคาของสินค้าค่อนข้างสูง จะมีอัตราส่วนหมุนเวียนสินค้าคงเหลือ ที่ค่อนข้างต่ำ เพราะด้วยราคาสินค้าที่สูง ส่งผลให้ลูกค้ามักจะใช้เวลาในการตัดสินใจในการซื้อ ทำให้อาจจะมีสินค้าคงเหลือเป็นจำนวนมาก”

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อบริษัทสต็อกสินค้าจำนวนมาก ปัญหาที่ตามมา คือ ระยะเวลาขายสินค้าจะต้องยาวนานขึ้น และส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ เช่น หากสินค้าล้าสมัยก็ต้องลดราคา ซึ่งทำให้อัตรากำไรขั้นต้นลดลง หรือต้องตั้งสำรองขาดทุนจากการตีราคาสินค้าคงเหลือก็จะเป็นรายจ่ายในต้นทุนขาย ทำให้อัตรากำไรขั้นต้นลดลงเช่นกัน

 

สำหรับการพิจารณาว่าอัตราส่วนหมุนเวียนสินค้าคงเหลือที่เหมาะสมควรอยู่ระดับใดนั้น ไม่มีคำตอบตายตัว เนื่องจากขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ซึ่งมีแนวทางในการพิจารณา ดังนี้

  • พิจารณาตามประเภทอุตสาหกรรม แต่ละอุตสาหกรรมมีลักษณะเฉพาะที่ส่งผลต่ออัตราส่วนหมุนเวียนสินค้าคงเหลือ เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ต มักมีอัตราสูง (15 - 20 เท่าต่อปี) เนื่องจากขายสินค้าที่เน่าเสียง่าย ร้านขายรถยนต์ มักมีอัตราต่ำกว่า (4 - 6 เท่าต่อปี) เพราะสินค้ามีมูลค่าสูงและหมุนเวียนช้ากว่า หรือร้านเสื้อผ้าแฟชั่น อาจมีอัตราปานกลาง (8 - 12 เท่าต่อปี) เนื่องจากต้องปรับเปลี่ยนตามฤดูกาล
  • เปรียบเทียบกับคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกัน การดูค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมและเปรียบเทียบกับบริษัทในอุตสาหกรรมเดียวกันจะช่วยให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น
  • พิจารณาแนวโน้มของบริษัท ดูว่าอัตราส่วนมีการพัฒนาขึ้นหรือลดลงเมื่อเทียบกับอดีตของบริษัท
  • มีความสมดุลระหว่างประสิทธิภาพและความพร้อมของสินค้า หากอัตราส่วนสูงเกินไปอาจหมายถึงสินค้าขาดสต็อกบ่อย ขณะที่อัตราที่ต่ำเกินไปอาจบ่งชี้ถึงสินค้าค้างสต็อกมากเกินไป
  • พิจารณาร่วมกับอัตราส่วนอื่น ๆ เช่น อัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin) หรือระยะเวลาขายสินค้าเฉลี่ย (Days Sales of Inventory)
  • คำนึงถึงกลยุทธ์ทางธุรกิจ บางบริษัทอาจเลือกเก็บสต็อกมากเพื่อรองรับการเติบโตหรือเพื่อป้องกันการขาดแคลนวัตถุดิบ

 

“ระวัง” สต็อกสินค้าสูง

อย่างไรก็ตาม หากบริษัทมีสต็อกสินค้าสูง อาจมาจากความไม่โปร่งใสของการดำเนินธุรกิจ คือ ไม่มีสต็อกสินค้า (สต็อกสินค้าเทียม) แต่เป็นเพียงตัวเลขในงบการเงิน สำหรับกรณีศึกษาที่แปลกที่สุด คือ บริษัท เอส.อี.ซี. ออโต้เซลส์ แอนด์ เซอร์วิส (SECC) ทำธุรกิจขายรถหรู

 

โดยสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้เข้าทำการตรวจสอบการดำเนินงานของบริษัท SECC พบว่าวันที่ 15 ธันวาคม 2551 มีรถยนต์คงเหลืออยู่ในบัญชีสินค้าคงเหลือจำนวน 501 คัน รวมมูลค่า 1,425,777,958.53 บาท แต่ปรากฏว่ารถยนต์จำนวน 493 คัน มูลค่าประมาณ 1,409 ล้านบาท ไม่สามารถระบุได้ว่าอยู่ที่ใด และน่าเชื่อว่าไม่มีอยู่จริง พูดง่าย ๆ บริษัทสั่งซื้อสินค้ารถยนต์ที่ไม่มีจริง และจัดให้มีการบันทึกบัญชีซื้อรถยนต์ที่ไม่มีอยู่จริง ทำให้ยอดสต็อกสินค้าเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และเมื่อแยกตามอายุรถยนต์ มีรถที่อายุยาวในสัดส่วนมากขึ้น ทำให้ต้องตั้งสำรองขาดทุน

 

สำหรับอัตราส่วนการหมุนเวียนสินค้าคงเหลือสูง (เช่น 200 เท่า / 400 เท่าต่อปี) ถือว่าสูงมากผิดปกติ และอาจบ่งชี้ถึงสถานการณ์หลายอย่าง

  • ประสิทธิภาพสูงมาก อาจหมายถึงบริษัทมีการจัดการสินค้าคงคลังที่มีประสิทธิภาพสูงมาก สามารถขายและเติมเต็มสินค้าได้อย่างรวดเร็ว
  • สินค้าที่เน่าเสียง่ายหรือมีอายุสั้นมาก อาจเป็นธุรกิจที่ขายสินค้าที่ต้องหมุนเวียนเร็วมาก เช่น อาหารสด หรือดอกไม้
  • การขาดแคลนสินค้า อัตราส่วนที่สูงเกินไปอาจบ่งชี้ว่าบริษัทมักจะขาดสต็อกสินค้า ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อความพึงพอใจของลูกค้าและยอดขาย
  • การใช้ระบบการผลิตแบบทันเวลาพอดี อาจเป็นเพราะบริษัทใช้ระบบการผลิตแบบทันเวลามีประสิทธิภาพ ทำให้มีสินค้าคงคลังน้อยมาก
  • ข้อผิดพลาดในการคำนวณหรือการรายงาน ในบางกรณี อัตราส่วนที่สูงผิดปกติอาจเกิดจากข้อผิดพลาดในการคำนวณหรือการรายงานข้อมูลทางการเงิน
  • ธุรกิจบริการหรือการผลิตตามคำสั่งซื้อ บางธุรกิจอาจไม่มีสินค้าคงเหลือหรือมีน้อยมาก เช่น ธุรกิจบริการหรือการผลิตตามคำสั่งซื้อ อาจทำให้อัตราส่วนนี้สูงผิดปกติ

 

ดังนั้น อัตราส่วนหมุนเวียนสินค้าคงเหลือที่สูงผิดปกติ อาจเป็นสัญญาณของการรายงานทางการเงินที่ไม่ถูกต้อง โดยบริษัทอาจรายงานยอดขายสูงเกินจริงหรือสินค้าคงเหลือต่ำเกินจริง ซึ่งทั้งสองกรณีส่งผลให้อัตราส่วนนี้สูงขึ้นอย่างผิดปกติ นักลงทุนควรระมัดระวังและตรวจสอบข้อมูลอื่น ๆ ประกอบเสมอเมื่อพบความผิดปกติเช่นนี้

 

หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน

สำหรับนักลงทุนมือใหม่หรือผู้ที่สนใจ เรียนรู้องค์ประกอบต่าง ๆ ของงบการเงิน และเทคนิคการอ่านงบการเงินแบบง่าย เพื่อประเมินศักยภาพของกิจการประกอบการตัดสินใจลงทุน ผ่าน e-Learning หลักสูตร “Financial Statement Analysis” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่
แท็กที่เกี่ยวข้อง:

e-Learning น่าเรียน