หุ้น Turnaround คือ หุ้นที่ผลประกอบการอยู่ในช่วงของการชะลอตัว หรือบางบริษัทถึงขั้นขาดทุน จากแรงกดดันของภาวะเศรษฐกิจ และภาวะอุตสาหกรรมที่ชะลอตัวอย่างหนัก ซึ่งอาจเป็นเพราะวัฏจักรของเศรษฐกิจหรือธุรกิจที่อยู่ในช่วงปลายของ S-Curve และกำลังลงทุนเพื่อค้นหา New S-Curve มายกระดับการเติบโตในอนาคต จึงทำให้ผลประกอบการทั้งกระแสเงินสดและกำไรสุทธิ ถูกกดดันจากการลงทุนก้อนใหญ่
นอกจากนี้ ยังอาจเกิดขึ้นจากผลของการลงทุนในอดีต แล้วไม่ประสบความสำเร็จ จึงต้องมีการตั้งด้อยค่าเงินลงทุนหรือบันทึกผลขาดทุนจากเงินลงทุน จนไปหักล้างผลประกอบการของธุรกิจหลัก และฉุดให้ผลประกอบการโดยรวมทรุดตัวลงหรือพลิกเป็นขาดทุน
อย่างไรก็ตาม เมื่อผ่านพ้นช่วงขาลงของวัฏจักรธุรกิจแล้ว หรือมีการตั้งสำรองเงินลงทุนเรียบร้อยแล้ว ผลประกอบการก็จะกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง ซึ่งการฟื้นตัวที่พลิกจากฐานที่ต่ำ หรือพลิกจากขาดทุนเป็นกำไร ถือเป็นจังหวะเริ่มต้นการ Turnaround ของผลประกอบการ และถ้านักลงทุนมั่นใจว่าผลประกอบการจะ Turnaround แน่ ๆ ราคาหุ้นอาจเร่งตัวขึ้นมาก่อนที่จะรายงานผลประกอบการออกมาเป็นกำไร เพราะราคาหุ้นสะท้อนคาดการณ์ผลการดำเนินงานในอนาคตเสมอ จึงทำให้นักลงทุนยอมซื้อหุ้นที่ระดับ P/E Ratio สูงในช่วงแรก โดยคาดหวังว่าผลประกอบการจะเร่งตัวขึ้นมา และทำให้ P/E Ratio ลดลงในอนาคต
โดยหุ้นวัฏจักรที่กำไรผันผวน ตามทิศทางการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ อาจไม่เข้าข่ายการเป็นหุ้น Turnaround เพราะผลประกอบการผันผวนตามปัจจัยฤดูกาลหรือวัฏจักรเป็นปกติอยู่แล้ว ซึ่งทำให้ผลประกอบการรายไตรมาส มีโอกาสพลิกเป็นกำไรและขาดทุนได้ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น หุ้นที่เข้าข่ายเป็นหุ้น Turnaround อย่างแท้จริง ต้องเป็นหุ้นที่ผลประกอบการสามารถพลิกกลับมาทำกำไรได้อย่างยั่งยืน หรือสามารถเติบโตไปกับ New-S Curve ที่ช่วยยกระดับการเติบโตให้กลับมาเร่งตัวขึ้นได้อีกครั้ง
การจับสัญญาณหุ้น Turnaround
ประเด็นที่น่าสนใจคือ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าผลประกอบการของบริษัทกำลัง Turnaround ปัจจัยสำคัญคือ ผลประกอบการต้องพลิกจากขาดทุนเป็นกำไร และต้องมีความต่อเนื่องอย่างน้อย 2 ไตรมาสติดต่อกัน โดยปัจจัยที่ต้องติดตามคือ ภาวะอุตสาหกรรมเอื้อต่อการ Turnaround หรือไม่ เช่น อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ อยู่ในวัฏจักรขาลงในปี 2566-2567 จากการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีเครื่องยนต์สันดาปไปเป็นยานยนต์ไฟฟ้า
ซึ่งถ้านักลงทุนคาดการณ์ว่าผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ที่เข้ามาลงทุนสร้างโรงงานในประเทศไทย จะจัดซื้อชิ้นส่วนจากผู้ผลิตในประเทศ และมั่นใจว่าผลประกอบการจะกลับมาเร่งตัวขึ้นในปี 2568 จากฐานที่ต่ำในปี 2567 ราคาหุ้นกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ อาจเร่งตัวขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2567 จากแรงซื้อเพื่อเก็งกำไรในฐานะหุ้น Turnaround
หรือตัวอย่างของกลุ่มไฟแนนซ์ ที่ถูกกดดันจากทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2565 และถูกบันทึกผลขาดทุนจากการยึดรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในช่วง 1H/2567 ทำให้ผลประกอบการชะลอตัวต่อเนื่องในช่วงดังกล่าว แต่เมื่อทิศทางดอกเบี้ยทั่วโลกเข้าสู่วัฏจักรขาลง และเศรษฐกิจในประเทศเริ่มฟื้นตัว จากมาตรการกระตุ้นการบริโภคของรัฐบาล ทำให้นักลงทุนคาดว่าการตั้งสำรองหลังจากนี้จะลดลง ราคาหุ้นกลุ่มไฟแนนซ์ก็พร้อมใจกันฟื้นตัวหลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ เริ่มลดดอกเบี้ย ทั้งที่ผลประกอบการในช่วง 2H/2567 อาจยังไม่ฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญ
เพราะฉะนั้น ในแง่ของการจับสัญญาณการฟื้นตัวของหุ้น Turnaround นักลงทุนที่สนใจลงทุนหุ้นกลุ่มนี้ ต้องติดตามภาวะอุตสาหกรรมอย่างใกล้ชิด ถ้าหากเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างอุตสาหกรรม ที่เป็นบวกต่อผลประกอบการ คือ ส่งผลให้รายได้เพิ่มขึ้น หรือส่งผลให้ต้นทุนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการ Turnaround ได้ นอกจากนี้ ยังต้องประเมินความต่อเนื่องของการ Turnaround ด้วยว่า เป็นการ Turnaround เพียงช่วงสั้น ๆ หรือ Turnaround เพื่อเปลี่ยนวัฏจักรธุรกิจเป็น New S-Curve ถ้าเป็นกรณีหลัง จะทำให้ราคาหุ้นฟื้นตัวได้อย่างมีนัยสำคัญ เพราะนอกจากนักลงทุนจะให้น้ำหนักกับผลประกอบการที่ฟื้นตัวเร็วแล้ว ยังประเมินไปล่วงหน้าถึงอัตราการเติบโตที่สูง จากการเข้าสู่ช่วงเริ่มต้นของวัฏจักรการเติบโตใน New S-Curve ด้วย
อย่างไรก็ตาม การลงทุนในหุ้น Turnaround แม้มีโอกาสได้ผลตอบแทนสูง เพราะเป็นการเข้าลงทุนในจุดเริ่มต้นของวัฏจักรขาขึ้นรอบใหม่ แต่ก็มีความเสี่ยงสูงเช่นกัน เนื่องจากผลประกอบการของบริษัทที่กำลัง Turnaround จะยังไม่สม่ำเสมอในช่วงแรก ถ้าสภาพแวดล้อมด้านเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย เช่น เศรษฐกิจสหรัฐฯ จีน และยุโรปทรุดตัวลงเร็ว หรือมีโรคระบาดกลับมารบกวนเศรษฐกิจและสังคมอีกรอบ หรือเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัวจากปัญหาการเมือง อาจทำให้ผลประกอบการพลิกกลับไปทรุดตัวลง หรือถึงขั้นกลับมาขาดทุนอย่างหนักอีกครั้งได้ การลงทุนในหุ้นลักษณะนี้ จึงเหมาะกับสไตล์ของนักลงทุน ที่เข้าใจในธุรกิจของบริษัทที่กำลัง Turnaround อย่างแท้จริง และมีเวลาติดตามข้อมูลข่าวสารที่จะกระทบผลประกอบการของบริษัทนั้นอย่างใกล้ชิด
5 ตัวชี้วัดหลักที่บ่งบอกว่าบริษัทกำลังจะพลิกฟื้น
1. การเปลี่ยนแปลงในทีมผู้บริหารมักเกิดขึ้นในช่วงที่ผลประกอบการชะลอตัว หรืออยู่ในช่วงที่พนักงาน คู่ค้า และผู้มีส่วนได้เสียกับบริษัท ขาดความเชื่อมั่นในการบริหารงานของทีมผู้บริหารชุดเดิมอย่างหนัก จึงต้องมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหาร หรือกลุ่มผู้ถือหุ้นชุดใหม่ ซึ่งถ้ากลุ่มใหม่นี้ เป็นกลุ่มที่เคยประสบความสำเร็จสำหรับการฟื้นฟูกิจการในอดีต จะยิ่งได้รับความน่าเชื่อถือจากนักลงทุนมากเป็นพิเศษ
บางบริษัทที่ชื่อเดิมมีความเสียหายมาก เช่น มีประเด็นด้านบรรษัทภิบาลที่เป็นลบ หรือไม่ได้มีความเสี่ยงด้านบรรษัทภิบาล แต่มีการควบรวมกิจการกับบริษัทอื่น ก็อาจถึงขั้นเปลี่ยนชื่อบริษัทพร้อมกับทีมผู้บริหารชุดใหม่ไปในคราวเดียวกัน เพื่อส่งสัญญาณถึงการเปลี่ยนแปลงและฟื้นฟูภาพลักษณ์องค์กรให้ดีขึ้น ก่อนที่จะเข้าสู่ช่วงของการฟื้นฟูกิจการในลำดับถัดไป
โดยถ้าหากกลุ่มผู้ถือหุ้นหรือผู้บริหารชุดใหม่ได้รับการยอมรับจากนักลงทุนเป็นอย่างมาก ราคาหุ้นอาจเร่งตัวขึ้นก่อนที่ผลประกอบการจะมีการฟื้นตัว หรือปรับตัวขึ้นตามข้อมูลข่าวสาร (Story) โดยที่ปัจจัยพื้นฐานยังไม่รองรับ ซึ่งถือเป็นจุดที่มีความเสี่ยงสำหรับนักลงทุนมือใหม่ที่จะเข้าไปลงทุน เพราะอาจเผชิญกับความผันผวนของราคาหุ้นที่อยู่ในระดับสูง จากแรงซื้อขายเก็งกำไรตามกระแสข่าว หรือการประกาศผลประกอบการ ที่อาจเป็นได้ทั้งกำไรหรือขาดทุน จากผลของการปรับโครงสร้างองค์กร ก่อนที่ราคาหุ้นจะกลับมาเคลื่อนไหวตามปัจจัยพื้นฐานเมื่อสามารถฟื้นฟูกิจการได้สำเร็จแล้ว
2. การปรับโครงสร้างทางการเงิน
สำหรับบริษัทที่ผลประกอบการทรุดตัวลง จนไม่สามารถจ่ายชำระคืนหนี้ได้ตามปกติ อาจต้องขอผ่อนผันการจ่ายชำระคืนหนี้สถาบันการเงินหรือให้กับผู้ถือหุ้นกู้ หรืออาจถึงขั้นขอปรับโครงสร้างหนี้จากสถาบันการเงิน และผู้ถือหุ้นกู้ ซึ่งถ้าดำเนินการได้สำเร็จ ผลประกอบการก็มีโอกาสกลับมาฟื้นตัวได้ จากภาระดอกเบี้ยจ่ายที่ลดลง
แต่ถ้าไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะเคยขอปรับโครงสร้างทางการเงินมาแล้วหลายครั้ง บริษัทอาจพิจารณาทางเลือกในการเพิ่มทุนเพื่อนำเงินไปลดภาระหนี้และเสริมสภาพคล่อง ซึ่งผลจากการเพิ่มทุน ทั้งในรูปแบบการขายให้กับนักลงทุนทั่วไป (Right Offering : RO) หรือนักลงทุนแบบเฉพาะเจาะจง (Private Placement : PP) จะทำให้จำนวนหุ้นเพิ่มขึ้น และส่งผลต่อเนื่องให้กำไรต่อหุ้นลดลง ซึ่งถ้าหากนักลงทุนมั่นใจว่าผลประกอบการจะกลับมา Turnaround จากภาระหนี้ที่ลดลง หรือจากการเข้ามาของกลุ่มทุนรายใหม่ ที่จะนำธุรกิจอื่นเข้ามาช่วยเพิ่มรายได้และกำไรให้กับบริษัท
การทรุดตัวลงของราคาหุ้นในช่วงที่มีการเพิ่มทุน อาจเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการเข้าลงทุนของนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูง เพื่อคาดหวังการฟื้นตัวของราคาหุ้น ตามการฟื้นตัวของผลประกอบการที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
3. การปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจ
การปรับเปลี่ยนโมเดลทางธุรกิจ ไปยังธุรกิจที่มีศักยภาพการเติบโตสูง เพื่อชดเชยธุรกิจเดิมที่กำลังชะลอตัวลง ส่วนใหญ่จะมีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจเดิม เพื่อลดความเสี่ยงในช่วงเปลี่ยนผ่านธุรกิจ หากบริษัทสามารถปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจได้สำเร็จ จะทำให้ผลประกอบการโดยรวมที่ชะลอตัวลงในช่วงก่อนหน้า สามารถฟื้นตัวกลับขึ้นไปได้อีกครั้ง และทำให้การเติบโตหลังจากนี้ อิงกับการเติบโตของธุรกิจใหม่เป็นหลัก
อาทิ บริษัทที่ผลิตพลาสติกสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ กำลังเปลี่ยนผ่านไปผลิตพลาสติกที่ใช้กับอุปกรณ์ทางการแพทย์ ซึ่งถ้าหากดำเนินการได้สำเร็จ จะทำให้การเติบโตของผลประกอบการหลังจากนี้ เปลี่ยนจากการอิงอุตสาหกรรมยานยนต์ที่กำลังชะลอตัว ไปอิงอุตสาหกรรมการแพทย์ที่มีการเติบโตอย่างยั่งยืนแทน และอาจทำให้นักลงทุนปรับเพิ่มมูลที่เหมาะสม จากการอิง PER Multiplier ของกลุ่มการแพทย์ที่อยู่ในระดับสูง แทนกลุ่มยานยนต์ที่อยู่ในระดับต่ำ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงในลักษณะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย แต่ถ้าหากเกิดขึ้น จะทำให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นแรง เพราะจะได้แรงหนุนทั้งผลประกอบการที่ฟื้นตัว และ Valuation ที่สูงขึ้นจากการเปลี่ยนกลุ่มอุตสาหกรรม
นอกจากนี้ การปรับโมเดลธุรกิจ ยังอาจมาจากการตัดขายธุรกิจที่ไม่ทำกำไรออกไป เพื่อไม่ให้มาถ่วงผลประกอบการโดยภาพรวม ส่งผลให้กำไรจากการดำเนินงานและกำไรสุทธิสามารถกลับมาเร่งตัวขึ้นได้ดีอีกครั้ง ซึ่งการดำเนินธุรกิจที่โฟกัสกับธุรกิจที่ทำกำไรได้ดีอยู่แล้ว อาจส่งผลดีต่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว มากกว่าที่จะกระจายการลงทุนไปในธุรกิจที่ไม่มีความถนัด
หลายบริษัทที่ขายธุรกิจขาดทุนออกไป เช่น TU ขาย Red Lobster ราคาหุ้นตอบรับเชิงบวกอย่างมีนัยสำคัญในวันที่บริษัทแจ้งข่าวไปยังตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งนักลงทุนสามารถสอบถามมุมมองของผู้บริหารและจังหวะเวลาในการตัดขายธุรกิจที่ไม่ทำกำไรออกไป ได้จากการให้ข้อมูลผลการดำเนินงานรายไตรมาสในงาน Opportunity Day
4. การพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่
ผลประกอบการที่ชะลอตัวในช่วงที่ผ่านมา อาจเป็นเพราะผลิตภัณฑ์เดิมตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้น้อยลง ซึ่งการกระตุ้นยอดขายให้ฟื้นตัว สามารถทำได้โดยการนำผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่เดิมไปเจาะตลาดใหม่ หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อจำหน่ายในตลาดเดิมและตลาดใหม่ หรือนำไปเจาะตลาดใหม่ที่มีการแข่งขันหรือใช้นวัตกรรมสูง ซึ่งถ้าหากได้รับการตอบสนองเป็นอย่างดีจากลูกค้า อาจหนุนให้ผลประกอบการกลับมาเร่งตัวขึ้นอีกครั้ง
ในส่วนของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่หลายบริษัทให้ความสำคัญและอาจเป็น New S-Curve คือ ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับ ESG คือ การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและสังคม ซึ่งถือเป็นแนวทางพัฒนาผลิตภัณฑ์ในรูปแบบหนึ่ง ที่ช่วยยกระดับการให้ความสำคัญด้าน ESG และการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับกิจการได้
5. การปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน
การปรับปรุงประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ส่วนใหญ่ทำไปเพื่อหวังลดต้นทุนและหนุนให้ผลประกอบการกลับมาเร่งตัวขึ้น ซึ่งถือเป็นแนวทางหนึ่งในการเพิ่มผลกำไรและมูลค่ากิจการได้ในช่วงสั้น ๆ เพราะการลดต้นทุนสามารถดำเนินการได้ถึงจุด ๆ หนึ่งเท่านั้น และมักต้องแลกมาด้วยประสิทธิภาพในการทำงานบางส่วนที่ด้อยลง เว้นแต่ว่าจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน โดยใช้เทคโนโลยี หรือ AI เข้ามาช่วย ซึ่งถ้าเป็นแนวทางนี้ บริษัทอาจต้องลงทุนพัฒนาระบบก่อนในช่วงแรก ส่งผลให้ผลประกอบการโดยภาพรวมอ่อนแอลง ก่อนจะกลับมาเร่งตัวขึ้นอีกครั้ง เมื่อการทำงานในระบบใหม่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
นอกจากนี้ หลายบริษัทขนาดใหญ่ ยังเลือกปรับโครงสร้างองค์กรให้เป็น Holding Company เพื่อลดภาระทางการเงินให้กับบริษัทแม่ และต้องการให้บริษัทลูกแสดงศักยภาพในการเติบโตได้อย่างเต็มที่ หรือวัด KPI ของบริษัทได้อย่างชัดเจน ซึ่งถือเป็นแนวทางหนึ่งในการวัดผลและยกระดับประสิทธิภาพในการดำเนินงานให้กับบริษัทลูก โดยถ้าหากมูลค่ากิจการของบริษัทลูกปรับตัวขึ้นได้ ย่อมทำให้มูลค่ากิจการของบริษัทแม่ที่เป็น Holding Company ปรับตัวขึ้นตามไปด้วยเช่นเดียวกัน
ความเสี่ยงสำหรับการลงทุนหุ้น Turnaround
สำหรับนักลงทุนที่อยากลงทุนในหุ้นประเภทนี้ ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าเป็นการลงทุนในช่วงที่ผลประกอบการย่ำแย่ ในระดับที่งบการเงินอาจถึงขั้นขาดทุนอย่างหนัก ไม่ใช่กำไรสุทธิชะลอตัวแค่ระดับ 10-30% แล้วฟื้นกลับขึ้นมาใหม่ ถ้ากล่าวให้ง่ายขึ้นคือ เป็นการลงทุนในช่วงที่ปัจจัยพื้นฐานไม่รองรับ จึงถือเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงมาก เพราะถ้าหากผลประกอบการไม่สามารถฟื้นตัวกลับขึ้นมาได้ อาจต้องเข้าไปอยู่ในแผนฟื้นฟู และถ้าหากดำเนินการไม่สำเร็จ อาจถึงขั้นถูก Delist ออกจากตลาดหุ้นไทยได้
เพราะฉะนั้น แนวทางการลงทุนในหุ้น Turnaround จึงเหมาะกับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูงเท่านั้น โดยสำหรับนักลงทุนที่ยังไม่มีความชำนาญ อาจพิจารณาเข้าลงทุนในช่วงที่มั่นใจว่าผลประกอบการฟื้นตัวแล้ว แม้จะเป็นช่วงที่ราคาหุ้นสูงกว่าจุดเริ่มต้นของการ Turnaround ซึ่งทำให้คาดหวัง Upside ได้น้อยลง แต่เป็นช่วงที่มีความเสี่ยงในการลงทุน หรือ Downside ของราคาหุ้นจำกัดกว่าช่วงเริ่มต้น เพราะมีผลประกอบการที่ทยอยฟื้นตัวคอยรองรับการเคลื่อนไหวของราคาหุ้น หรือเป็นการลงทุนในช่วงที่มีปัจจัยพื้นฐานรองรับนั่นเอง
หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน