เทคนิคเลือกกองทุน ThaiESG Fund

โดย ณัฐชาต เมฆมาสิน, CFA, FRM ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด
5 Min Read
3 ตุลาคม 2567
4.376k views
เทคนิคเลือกกองทุน-Thai-ESG-Fund
In Focus

กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืนหรือ ThaiESG Fund มีจุดประสงค์เพื่อให้เกิดการออมเงินในระยะยาวอย่างยั่งยืน โดยมีนโยบายลงทุนในประเทศผ่านสินทรัพย์ เช่น หุ้นหรือตราสารหนี้ ที่มีการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหรือความยั่งยืน และต้องได้รับการรับรอง SET ESG Ratings ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่น้อยกว่า 80% ของทรัพย์สินสุทธิ (NAV) โดยในส่วนของเงื่อนไขเดิมที่ออกมาเมื่อปลายปี 2566 นั้น กำหนดว่าเม็ดเงินที่ลงทุนในกองทุนนี้

ผู้ลงทุนสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมินทั้งปี และวงเงินสูงสุดไม่เกิน 1 แสนบาท และต้องถือครอง 8 ปีขึ้นไป นับจากวันที่ลงทุน อย่างไรก็ดี มีแนวโน้มว่าในปีนี้ ภาครัฐต้องการสร้างแรงจูงใจให้เกิดการออมและการลงทุนผ่านกองทุนนี้มากขึ้น จึงปรับเงื่อนไขกองทุนให้สามารถลงทุนได้สูงสุดไม่เกิน 3 แสนบาท และถือครองอย่างน้อยเพียงแค่ 5 ปีเท่านั้น ดังนั้น ประเมินว่าจะสามารถดึงดูดเม็ดเงินให้เข้าสู่กองทุนนี้มากขึ้นอย่างน้อย 2 เท่าจากเดิมได้ โดยปัจจุบันมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการของกองทุนนี้อยู่ที่ราว 7 พันล้านบาท 

1) ประเภทของกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืนในปัจจุบัน สามารถแบ่งออกเป็น

1.1) สินทรัพย์ที่ลงทุน: โดยปกติแล้ว กองทุนรวม ThaiESG ในไทยมักเลือกลงทุนใน 2 ตราสาร ได้แก่ ตราสารทุน (ส่วนใหญ่) และตราสารหนี้ ทั้งนี้ ในส่วนของกองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้อย่างเดียวนั้น ณ ปัจจุบันมีอยู่เพียงแค่ 1 กองทุนเท่านั้น ได้แก่ กองทุนเปิดเคเคพี พันธบัตรรัฐบาลไทยเพื่อความยั่งยืน หากเป็นนักลงทุนที่ไม่ต้องการแบกรับความเสี่ยงมาก สามารถเลือกลงทุนในกองทุนนี้ได้ สำหรับนักลงทุนที่สามารถรับความเสี่ยงได้มากขึ้น สามารถเลือกลงทุนในกองทุนผสมหรือ กองทุนตราสารทุน ที่จะเปิดโอกาสได้รับผลตอบแทนคาดหวังในระดับสูงขึ้นด้วยเช่นกัน

1.2) Style การลงทุน: โดยปกติมักแยกออกเป็น Active หรือการบริหารกองทุนเชิงรุก กับ Passive หรือการบริหารกองทุนเชิงรับ ทั้งนี้ หากเป็นนักลงทุนที่เชื่อมั่นในการกระจายตัวของหุ้นในดัชนี SETESG ซึ่งมักเป็นดัชนีที่กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืนใช้อ้างอิงส่วนใหญ่ และไม่ต้องการเสียค่าธรรมเนียมส่วนเพิ่ม (ซึ่งอาจมาพร้อมกับผลตอบแทนที่มากกว่าหรือน้อยกว่าดัชนี) สามารถที่จะเลือกลงทุนในกองทุนประเภท Passive fund หรือ Index fund ที่อ้างอิงไปกับดัชนี SETESG ได้ ซึ่งในปัจจุบันมีอยู่ทั้งสิ้น 2 กองทุนด้วยกัน ได้แก่

  • กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ หุ้นไทยยั่งยืนพาสซีฟ
  • กองทุนเปิดอีสท์สปริง SETESG

ทั้งนี้ การดูว่ากองทุนแต่ละกองมีการบริหารแบบเชิงรุกหรือเชิงรับนั้น นักลงทุนสามารถตรวจสอบนโยบายการลงทุนได้จากหนังสือชี้ชวนของกองทุนนั้น ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือชี้ชวนฉบับเต็มหรือหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญ (Fact Sheet) โดยกองทุนทั้ง 2 แบบนั้นมองว่าไม่ได้มีข้อดีหรือข้อเสียเฉพาะตัว ขึ้นอยู่กับลักษณะความพร้อมของผู้ลงทุน ว่าสามารถยอมรับความเสี่ยงที่กองทุนของเราจะปรับตัวแตกต่างจากเกณฑ์มาตรฐานได้มากน้อยแค่ไหนมากกว่า

ในทางกลับกัน หากต้องการแสวงหาผลตอบแทนคาดหวังส่วนเพิ่ม ซึ่งจะมาพร้อมกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกันนั้น นักลงทุนสามารถเลือกลงทุนในกองทุนประเภท Active fund ได้ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 30 กองทุนด้วยกัน

4-ขั้นตอนค้นหากองทุน-Thai-ESG-ง่าย-ๆ-บนเว็บไซต์-SETTRADE 1


1.3) เงินปันผล:
หากเป็นนักลงทุนที่ต้องการกระแสเงินสดรับระหว่างทาง สามารถเลือกลงทุนกองทุน ThaiESG ชนิดที่มีการจ่ายเงินปันผลได้ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ทั้งสิ้นประมาณ 13 กองทุนด้วยกัน

เทคนิคการเลือกกองทุน-แบ่งออกเป็นกี่มิติ 1


2) เทคนิคการเลือกกองทุน แบ่งออกเป็นมิติสำคัญ ได้แก่

2.1) Universe ของการลงทุน: จากการสำรวจของเรา พบว่ากองทุนส่วนใหญ่มักมีนโยบายการลงทุนที่เปิดกว้างไว้ก่อน โดยขอบเขตหลักทรัพย์ที่เลือกลงทุนมักเป็นหุ้นที่มีการจัดอันดับ ESG Rating โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ ทั้งนี้ หากอ้างอิงข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปี 2566 ที่ผ่านมา จะพบว่ามีบริษัทจดทะเบียนที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกและได้รับการประกาศผลประเมินหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings จำนวนทั้งสิ้น 193 บริษัท  (คลิกดูรายชื่อบริษัท)

2.2) Concentration Ratio: หากไม่ต้องการความเสี่ยงในการกระจุกตัวมากเกินไป ประเมินว่าน้ำหนักของหุ้น 5 ตัวแรกในพอร์ตนั้นไม่ควรเกิน 40% ด้วยกัน

2.3) Performance Measurement: การวัดผลตอบแทนเปรียบเทียบกับความเสี่ยง ซึ่งมักใช้อัตราส่วน Sharpe Ratio และ Information Ratio ในการวัดผล โดยปกติแล้ว อัตราส่วนทั้ง 2 ตัวนี้ยิ่งมีค่ามากจะยิ่งดี เนื่องจากแปลว่าผู้จัดการกองทุนสามารถบริหารกองทุนให้ได้อัตราผลตอบแทนที่สูงกว่าพันธบัตรหรือเกณฑ์มาตรฐานได้มาก เมื่อขจัดความเสี่ยงแล้ว ซึ่งอัตราส่วนเหล่านี้ นักลงทุนสามารถตรวจสอบได้จาก Fact Sheet ที่กองทุนแต่ละแห่งรายงานออกมาเป็นประจำทุกเดือน

2.4) ค่าธรรมเนียม: ค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจริงจากกองทุนรวม ไม่ควรเกินระดับ 2% เนื่องจากอัตราผลตอบแทนคาดหวังของตลาดหุ้นไทยอยู่ในระดับต่ำมากอยู่แล้วในช่วงหลัง หากเผชิญกับการเก็บค่าธรรมเนียมที่สูงอีก โอกาสที่กองทุนจะสร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่มหรือ Alpha จะยากตามไปด้วย

 

3) บทสรุปกองทุนไทยเพื่อความยั่งยืนที่น่าสนใจในแต่ละประเภท

3.1) กองทุนตราสารหนี้: มีตัวเลือกเดียว ได้แก่ กองทุนเปิดเคเคพี พันธบัตรรัฐบาลไทยเพื่อความยั่งยืน เหมาะกับนักลงทุนที่ไม่ต้องการแบกรับความเสี่ยงมาก และต้องการคุ้มครองเงินต้นเป็นสำคัญ

3.2) กองทุนตราสารทุนสไตล์ Passive เช่น กองทุนเปิดอีสท์สปริง SETESG จากค่าธรรมเนียมที่ต่ำกว่า กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ หุ้นไทยยั่งยืนพาสซีฟ เหมาะกับนักลงทุนที่ต้องการลงทุนอ้างอิงกับเกณฑ์มาตรฐานเป็นสำคัญ และไม่ต้องการเสียค่าธรรมเนียมส่วนเพิ่ม

3.3) กองทุนตราสารทุนสไตล์ Active เช่น กองทุนเปิดกรุงศรีเอ็นแฮนซ์เซ็ทไทยเพื่อความยั่งยืน เนื่องจาก

  • เป็นกองทุนที่มีประวัติผลการดำเนินงานเทียบความเสี่ยงเป็นอันดับต้น ๆ ของกองทุนประเภทเดียวกัน
  • ค่าธรรมเนียมการจัดการอยู่ในระดับต่ำ (0.7%) เมื่อเทียบกับกองทุน Active fund อื่น ๆ
  • มีการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตได้ดี โดยน้ำหนักการลงทุน 5 ตัวแรกอยู่ที่ 25% และ
  • กองทุนนี้แบ่งออกเป็น 2 ประเภทย่อย ทั้งแบบจ่ายเงินปันผลและไม่จ่ายเงินปันผล จึงสามารถตอบโจทย์นักลงทุนได้ทุกกลุ่ม

 

สุดท้าย มองว่าข้อดีของการมีหลักทรัพย์ที่มี ESG ในพอร์ต เช่น การลงทุนในกองทุน ThaiESG จะเป็นประโยชน์กับผู้ลงทุน เช่น

  • อย่างแรก การลงทุนในกองทุนนี้สามารถนำวงเงินที่ลงทุนไปลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ ซึ่งในปี 2567 นี้ คาดว่าจะมีการปรับเพิ่มวงเงินสูงสุดสำหรับการลดหย่อนภาษีจาก 1 แสนบาทเป็น 3 แสนบาท ช่วยประหยัดภาษีเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
  • บริษัทที่มีการดำเนินงานด้าน ESG ได้ดี หรือมีคะแนน MSCI ESG Score สูง จะมีความสามารถในการทำกำไรได้ดีกว่าบริษัทที่มี MSCI ESG Score ต่ำ หรือทำ ESG ได้ไม่ดี นอกจากนั้น บริษัทที่ทำธุรกิจโดยคำนึงถึงทั้ง E, S, G แบบครอบคลุมทั้ง 3 มิติ จะมีผลตอบแทนที่สูงกว่า เมื่อเทียบกับบริษัทที่คำนึงถึงเรื่อง E หรือ S หรือ G เพียงเรื่องใดเรื่องหนึ่งเท่านั้น
  • การลงทุนในกองทุน ESG ถือเป็นเทรนด์การลงทุนใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมในระดับโลก เนื่องจากนักลงทุนสถาบันรายใหญ่ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นกองทุนบำเหน็จบำนาญ บริษัทประกันภัย บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนต่าง ๆ ได้นำ ESG มาเป็นส่วนหนึ่งในการวิเคราะห์และวางแผนการลงทุน
  • เป็นการลงทุนที่ให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล โดยหลายประเทศเริ่มกำหนดให้ ESG เป็นมาตรฐานและข้อบังคับในการดำเนินงาน อาทิ เรื่องสิ่งแวดล้อมที่กำลังส่งผลกระทบรุนแรง เรื่องสิทธิมนุษยชนที่กลายเป็นข้อกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ และเรื่องจริยธรรมและความโปร่งใสในการทำธุรกิจที่เป็นมาตรฐานที่ยึดถือปฏิบัติกันมานานแล้ว
แท็กที่เกี่ยวข้อง: