หลายคนคงเคยสงสัยว่า ระหว่างการใช้วิธีลงทุนแบบถัวเฉลี่ยต้นทุน (Dollar Cost Averaging: DCA) กับลงทุนแบบครั้งเดียว (Lump Sum) แบบไหนจะดีต่อใจ เหมาะสมกับตัวเรามากกว่ากัน ซึ่งคำตอบก็ยังเหมือนเดิม นั่นคือ จะลงทุนวิธีไหนก็ได้แค่ขอให้มีวินัย เข้าอกเข้าใจเรื่องความเสี่ยงและผลตอบแทน เหมาะสมกับสไตล์การลงทุนตัวเอง เท่านี้ก็จะประสบความสำเร็จมากกว่าล้มเหลวแน่นอน
แล้วตัวเราเหมาะกับวิธีไหน...ลองมาดูกัน?
ลงทุนสม่ำเสมอแบบ DCA
แนวคิดพื้นฐานของ “วิธีการลงทุนแบบถัวเฉลี่ยต้นทุน หรือ DCA” คือ การลงทุนแบบสม่ำเสมอด้วย “จำนวนเงินที่เท่าๆ กัน” โดยกำหนด “ความถี่” เช่น ทุกสัปดาห์ ทุกเดือน และ “ระยะเวลา” ที่ต้องการลงทุนว่า กี่เดือน กี่ปี
วิธีนี้จะเหมาะกับนักลงทุนมือใหม่ มนุษย์เงินเดือน เพราะรูปแบบการลงทุนจะใช้เงินไม่มาก “เดือนละพันบาทก็ลงทุนได้” อีกทั้งยังเหมาะกับการลงทุนที่มีเป้าหมายเพื่อเก็บเงินไว้ใช้หลังวัยเกษียณ ซึ่งการลงทุนแบบนี้จะทำให้ได้ราคาต้นทุนของหลักทรัพย์แบบถัวเฉลี่ย จึงมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว “แม้ว่าจะไม่ได้กำไรสูงสุด แต่ก็ไม่มีทางขาดทุนแบบกู่ไม่กลับ”
ตัวอย่างเช่น ลงทุนกองทุนรวมแบบ DCA เดือนละ 2,000 บาท เป็นระยะเวลา 12 เดือน จะได้จำนวนหน่วยลงทุนในแต่ละเดือนไม่เท่ากันตามราคาหน่วยลงทุนที่เปลี่ยนแปลงไป เมื่อลงทุนครบ 12 เดือน จะมีหน่วยลงทุนทั้งหมด 2,526 หน่วย มีราคาเฉลี่ยหน่วยละ 9.50 บาท ถ้าราคา NAV ณ สิ้นวันทำการสุดท้ายของเดือน ธ.ค. เท่ากับ 10.50 บาท ก็เท่ากับว่า จะได้รับผลตอบแทน 10.51%
ข้อดีของการลงทุนแบบ DCA
ลงทุนเงินก้อนครั้งเดียวแบบ Lump Sum
แนวคิดพื้นฐานของ “วิธีการลงทุนแบบครั้งเดียวด้วยเงินก้อน หรือ Lump Sum” คือ การใช้เงินจำนวนหนึ่งเพื่อลงทุนในจังหวะเวลาที่ประเมินแล้วว่าเหมาะสม (Market Timing) และมีความมั่นใจว่าในอนาคตราคาสินทรัพย์ที่ลงทุนจะปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ดังนั้น คนที่เหมาะสมกับวิธีการลงทุนแบบนี้จะต้องเป็นนักลงทุนที่สามารถวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานและภาวะเศรษฐกิจได้ดี มีความรู้เรื่องการวิเคราะห์ทางเทคนิค มีเงินก้อนและรอคอยเวลาที่เหมาะสมในการลงทุนได้ เพราะถ้าหากจับจังหวะลงทุนผิดก็อาจสร้างผลขาดทุนเป็นจำนวนมาก
ตัวอย่างเช่น ลงทุนกองทุนรวม โดยใช้เงินลงทุน 24,000 บาท หากจับจังหวะ “ถูก” นำเงินก้อนทั้งหมดเข้าซื้อตอนเดือน เม.ย. โดยมีราคา NAV ณ สิ้นวัน 8 บาท จะได้จำนวนหน่วยลงทุน 3,000 หน่วย (24,000 บาท / 8 บาท) ถ้าราคา NAV ณ สิ้นวันทำการสุดท้ายของเดือน ธ.ค. เท่ากับ 10.50 บาท ก็เท่ากับว่า จะได้รับผลตอบแทนถึง 31.25%
แต่กลับกันหากเราจับจังหวะลงทุน “ผิด” นำเงินก้อนทั้งหมดเข้าซื้อตอนเดือน พ.ย. โดยมีราคา NAV ณ สิ้นวัน 11 บาท จะได้จำนวนหน่วยลงทุน 2,181 หน่วย (24,000 บาท / 11 บาท) ถ้าเดือนธ.ค. ราคา NAV ณ สิ้นวันทำการสุดท้ายของปีเท่ากับ 10.50 บาท จะขาดทุน -4.58%
ข้อดีของการลงทุนแบบ Lump Sum
ในโลกความเป็นจริง การลงทุนมีทั้งขาขึ้น ขาลง และความผันผวน ที่สำคัญไม่มีใครสามารถประเมินได้อย่างแม่นยำ 100% ว่าตลาดจะเป็นอย่างไร ดังนั้น หากเราศึกษาแล้วรู้ว่าวิธีการลงทุนแบบไหนเหมาะกับตัวของเราเอง ก็อย่าลืม... หาความรู้เติมความมั่นใจก่อนการลงทุน และเริ่มต้นลงทุนอย่างมีวินัย เพียงแค่นี้ไม่ว่าจะถัวเฉลี่ยหรือลงทุนทีเดียวก็จะสร้างผลตอบแทนให้ชื่นใจได้แน่นอน
สำหรับใครที่สนใจอยากเรียนรู้เทคนิคลงทุนสม่ำเสมอแบบ DCA ในหุ้นดี กองทุนเด่น เพื่อสร้างอิสรภาพทางการเงินในระยะยาว สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “วางแผนลงทุนสม่ำเสมอด้วยหุ้นและกองทุน” ฟรี!!! >> คลิกที่นี่