เทคนิคสแกนหาความอยู่รอดของกิจการ

โดย ภัทรธร ช่อวิชิต AISA นักลงทุนเน้นคุณค่า
4 Min Read
23 กันยายน 2567
2.639k views
TSI_Article_621_Inv_Thumbnail
Highlights
  • อัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้เป็นเครื่องมือสำคัญที่ผู้ให้กู้และนักลงทุนใช้ประเมินสุขภาพทางการเงินของบริษัท โดยเฉพาะความสามารถในการชำระหนี้ระยะยาว ซึ่งสามารถบ่งบอกถึงความเสี่ยงทางการเงินและความมั่นคงของบริษัทได้

  • อัตราส่วนสำคัญที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย EBIT Interest Coverage, D/E Ratio, Fixed Charge Coverage Ratio (FCCR), Cash Flow to Total Debt, Debt to Capital และ Debt To Assets Ratio โดยแต่ละอัตราส่วนแสดงเกี่ยวกับความสามารถในการจัดการหนี้และสุขภาพทางการเงินของบริษัทในด้านต่าง ๆ

  • การวิเคราะห์อัตราส่วนเหล่านี้ควรเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมและดูแนวโน้มในอนาคตควบคู่ไปกับปัจจัยอื่น ๆ เช่น โมเดลธุรกิจและกลยุทธ์การดำเนินงาน เพื่อให้ได้การประเมินที่ครอบคลุมและนำไปสู่การตัดสินใจลงทุนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

อัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้เป็นตัวชี้วัดสำคัญที่ผู้ให้กู้ใช้วัดความสามารถของบริษัทในการชำระหนี้ระยะยาว โดยผู้ให้กู้พิจารณาอัตราส่วนนี้เพื่อประเมินเสถียรภาพทางการเงินของบริษัท เป็นการวัดสุขภาพทางการเงินของบริษัท เนื่องจากแสดงให้เห็นว่ากระแสเงินสดของบริษัทเพียงพอที่จะชำระหนี้สินระยะยาวหรือไม่ หากอัตราส่วนนี้ไม่น่าพอใจอาจบ่งชี้ถึงความเป็นไปได้ที่บริษัทจะไม่สามารถปฏิบัติตามภาระผูกพันทางการเงินได้

 

เช่นเดียวกัน อัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้เป็นเครื่องมือสำคัญที่นักลงทุนใช้ประเมินสุขภาพทางการเงินของบริษัท โดยเฉพาะความสามารถในการชำระหนี้ระยะยาว เช่น กำลังพิจารณาซื้อหุ้น ก็ต้องการรู้ว่าบริษัทมีความมั่นคงทางการเงินแค่ไหน โดยอัตราส่วนนี้ช่วยนักลงทุนในหลายด้าน ได้แก่

  • ประเมินความเสี่ยง อัตราส่วนที่ไม่ดี อาจหมายถึงบริษัทมีความเสี่ยงสูงที่จะไม่สามารถชำระหนี้ได้ในอนาคต ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาทางการเงินหรือล้มละลาย
  • เปรียบเทียบบริษัท นักลงทุนสามารถใช้อัตราส่วนนี้เปรียบเทียบบริษัทในอุตสาหกรรมเดียวกัน เพื่อหาตัวเลือกการลงทุนที่ดีที่สุด
  • คาดการณ์อนาคต อัตราส่วนที่ดีบ่งบอกถึงความสามารถของบริษัทในการลงทุนเพื่อการเติบโตในอนาคต
  • ประเมินผลตอบแทน บริษัทที่มีอัตราส่วนดีมักมีโอกาสจ่ายเงินปันผลดีตามไปด้วย

 

1. EBIT Interest Coverage (อัตราส่วนความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ยจาก EBIT)

EBIT Interest Coverage หรือ Interest Coverage Ratio ใช้วัดความสามารถของบริษัทในการจ่ายดอกเบี้ยจากกำไรที่บริษัทสร้างได้ โดย EBIT ย่อมาจาก Earnings Before Interest and Taxes หรือกำไรก่อนดอกเบี้ยและภาษี

 

สูตร EBIT Interest Coverage = EBIT / ดอกเบี้ยจ่าย

 

อัตราส่วนนี้บอกว่า บริษัทมีกำไรมากพอที่จะครอบคลุมค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยได้กี่เท่า โดยยิ่งค่าสูง ยิ่งแสดงว่าบริษัทมีความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ยได้สูงตามไปด้วย

EBIT Interest Coverage มากกว่า 1 หมายความว่า มีกำไรมากกว่าดอกเบี้ยจ่าย

EBIT Interest Coverage น้อยกว่า 1 หมายความว่า มีกำไรน้อยกว่าดอกเบี้ยจ่าย

 

ตัวอย่าง

บริษัท XYZ มีกำไรก่อนดอกเบี้ยและภาษี 1,000,000 บาท มีดอกเบี้ยจ่าย 200,000 บาท

EBIT Interest Coverage = 1,000,000 / 200,000 = 5 เท่า

 

หมายความว่าบริษัท XYZ มีกำไรมากกว่าดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย 5 เท่า โดยทั่วไปอัตราส่วนที่มากกว่า 1.5 เท่า ถือว่าปลอดภัย แต่ยิ่งสูงยิ่งดี ในกรณีนี้ 5 เท่า ถือว่าดีมาก แสดงว่าบริษัทมีความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ยสูง และมีความเสี่ยงต่ำที่จะผิดนัดชำระหนี้

 

2. D/E Ratio (อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น)

D/E Ratio ใช้ประเมินความสามารถของบริษัทในการปฏิบัติตามภาระผูกพันทางการเงิน แสดงให้เห็นถึงสุขภาพทางการเงินโดยรวมของบริษัท ซึ่งเป็นตัวเลขที่บอกว่าบริษัทใช้เงินกู้มากแค่ไหนเมื่อเทียบกับเงินทุนของตัวเอง “ยิ่งค่านี้ต่ำ ก็ยิ่งแสดงว่าบริษัทพึ่งพาเงินกู้น้อย” หมายถึงความเสี่ยงทางการเงินที่ต่ำลงด้วย หากอัตราส่วนนี้สูง แสดงว่าบริษัทกำลังใช้เงินกู้ที่มีความเสี่ยงในการระดมทุนมากขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่การล้มละลายได้หากหนี้สินสูงเกินไป ซึ่งอัตราส่วนที่สูงจะเตือนนักลงทุนว่าบริษัทหรือหุ้นมีความเสี่ยงสูง

 

โดยปกติแล้ว D/E Ratio ของบริษัททั่วไปจะอยู่ที่ประมาณ 1 - 2 เท่า แต่จะมีบางอุตสาหกรรม เช่น ธนาคาร ประกัน อาจมี D/E Ratio ที่สูงกว่าปกติ เพราะอาจมีหนี้สินในส่วนของเงินฝาก ดังนั้น นักลงทุนควรเปรียบเทียบกับบริษัทในอุตสาหกรรมเดียวกัน

 

สูตร D/E Ratio = หนี้สินรวม / ส่วนของผู้ถือหุ้น

 

ตัวอย่าง

บริษัท ABC ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยี เพิ่งเข้าตลาดหุ้นได้ 2 ปี จากงบการเงินล่าสุด พบว่ามีหนี้สินรวม 500 ล้านบาท

ส่วนของผู้ถือหุ้น 250 ล้านบาท

 

D/E Ratio = 500 ล้านบาท / 250 ล้านบาท = 2 เท่า

 

การวิเคราะห์

  • D/E Ratio ของบริษัท ABC หมายความว่า มีหนี้สิน 2 บาท ต่อทุก ๆ 1 บาทของส่วนผู้ถือหุ้น
  • D/E Ratio อาจดูสูงเกินไป แต่สำหรับบริษัทเทคโนโลยีที่เพิ่งเริ่มต้น ถือว่าปกติ เพราะกำลังลงทุนสูงในช่วงแรก
  • ควรเปรียบเทียบกับ D/E Ratio ค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม และติดตามแนวโน้มในอนาคต
  • หากบริษัทสามารถสร้างรายได้และกำไรที่แข็งแกร่ง D/E Ratio นี้จะลดลงในอนาคต เมื่อบริษัทเริ่มชำระหนี้คืนและสะสมกำไรได้ต่อเนื่อง
  • D/E Ratio สูง ไม่ได้หมายความว่าแย่เสมอไป บางครั้งการกู้ยืมอาจช่วยให้บริษัทเติบโตเร็วขึ้น แต่ก็มาพร้อมความเสี่ยงที่สูงขึ้นเช่นกัน

 

3. Fixed Charge Coverage Ratio: FCCR (อัตราส่วนความสามารถในการจ่ายภาระผูกพันคงที่)

อัตราส่วนนี้ใช้กำหนดว่าบริษัทมีกระแสเงินสดเพียงพอที่จะครอบคลุมค่าใช้จ่ายคงที่ แสดงให้เห็นถึงความสามารถของบริษัทในการชำระภาระผูกพันทางการเงินที่เกิดขึ้นเป็นประจำเมื่อครบกำหนด เช่น ดอกเบี้ยจ่าย การชำระหนี้ที่กำหนด ค่าเช่า โดยหากบริษัทไม่สามารถปฏิบัติตามภาระผูกพันทางการเงินได้ อาจหมายถึงการประสบปัญหาทางการเงิน หากไม่ได้รับการแก้ไข อาจมีความสามารถในการชำระหนี้ (สภาพคล่อง) ได้เพียงระยะเวลาจำกัดเท่านั้น

 

สูตร FCCR = ((EBIT + ค่าใช้จ่ายคงที่) / (ดอกเบี้ยจ่าย + ค่าใช้จ่ายคงที่ + การชำระคืนเงินต้นที่ครบกำหนด) / (1 - อัตราภาษี))

 

FCCR มากกว่า 1 เท่า เช่น 2 เท่า หมายความว่าบริษัทสามารถจ่ายภาระผูกพันคงที่ได้ 2 เท่า

FCCR เท่ากับ 1 หมายความว่าบริษัทสามารถจ่ายภาระผูกพันคงที่ประจำปีได้พอดี

FCCR น้อยกว่า 1 เท่า หมายความว่าบริษัทมีกำไรไม่เพียงพอที่จะครอบคลุมภาระผูกพันคงที่

 

ดังนั้น ยิ่งค่า FCCR สูง ยิ่งดี เพราะสะท้อนว่าบริษัทดำเนินงานแล้วมีรายได้และกระแสเงินสดที่เพียงพอในการชำระภาระผูกพันที่เกิดขึ้นเป็นประจำ หรือนักลงทุนมักใช้ประเมินความเพียงพอของกระแสเงินสดของบริษัทในการจัดการกับภาระหนี้สินที่เกิดขึ้นเป็นประจำและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานปกติ

 

ตัวอย่าง

บริษัท A และ B อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน

  • บริษัท A มี FCCR = 2.5 เท่า
  • บริษัท B มี FCCR = 0.8 เท่า

 

การวิเคราะห์

  • บริษัท A มีความสามารถในการชำระภาระผูกพันคงที่ได้ดีกว่า โดยมีกำไรเพียงพอที่จะจ่ายภาระผูกพันได้ถึง 2.5 เท่า
  • บริษัท B อาจกำลังเผชิญความเสี่ยงทางการเงิน เนื่องจากมีกำไรไม่เพียงพอที่จะครอบคลุมภาระผูกพันคงที่

 

4. Cash Flow to Total Debt (อัตราส่วนกระแสเงินสดต่อหนี้สินรวม)

เป็นอัตราส่วนทางการเงินเพื่อแสดงให้เห็นว่าบริษัทสามารถสร้างเงินสดจากการดำเนินงานเพียงพอที่จะชำระหนี้สินทั้งหมดหรือไม่ อัตราส่วนนี้มีความสำคัญ ดังนี้

  • แสดงความสามารถในการชำระหนี้ ยิ่งอัตราส่วนสูง ยิ่งแสดงว่าบริษัทมีความสามารถในการชำระหนี้สูง
  • บ่งชี้คุณภาพของกำไร เงินสดไม่สามารถตกแต่งตัวเลขได้ง่ายเหมือนกำไรทางบัญชี จึงสะท้อนสุขภาพทางการเงินที่แท้จริงได้ดี
  • ประเมินความยืดหยุ่นทางการเงิน อัตราส่วนที่สูง แสดงว่าบริษัทมีเงินสดเหลือสำหรับการลงทุนหรือจ่ายเงินปันผล

 

สูตร Cash Flow to Total Debt = กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน / หนี้สินรวม

 

ตัวอย่าง

บริษัท XYZ มีกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน 500 ล้านบาท หนี้สินรวม 2,000 ล้านบาท

 

Cash Flow to Total Debt = 500 / 2,000 = 0.25 หรือ 25%

 

อัตราส่วน 0.25 หมายความว่า ในปีที่ผ่านมา บริษัท XYZ สามารถสร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงานเท่ากับ 25% ของหนี้สินรวม สมมติว่าบริษัทสามารถรักษาระดับกระแสเงินสดนี้ได้ และไม่มีการก่อหนี้เพิ่ม จะใช้เวลาประมาณ 4 ปี (1 / 0.25) ในการชำระหนี้ทั้งหมด โดยใช้เฉพาะเงินสดจากการดำเนินงาน

 

5. Debt to Capital (อัตราส่วนหนี้สินต่อเงินทุน)

ตัวชี้วัดทางการเงินที่ใช้ในการประเมินโครงสร้างเงินทุนของบริษัท โดยเฉพาะในการวัดความเสี่ยงทางการเงินจากการใช้หนี้สินในการดำเนินธุรกิจเมื่อเทียบกับเงินทุนทั้งหมด พูดง่าย ๆ บริษัทพึ่งพาเงินกู้มากแค่ไหนในการดำเนินธุรกิจ

 

สูตร Debt to Capital = หนี้สินที่มีดอกเบี้ย / (หนี้สินที่มีดอกเบี้ย + ส่วนของผู้ถือหุ้น)

 

อัตราส่วนที่สูง แสดงว่าบริษัทมีการใช้หนี้มากกว่าทุน อาจทำให้บริษัทมีความเสี่ยงสูงในการชำระหนี้ในอนาคต

อัตราส่วนที่ต่ำ แสดงว่าบริษัทมีความเสี่ยงทางการเงินต่ำ เนื่องจากมีทุนมากกว่าหนี้สิน

 

ตัวอย่าง

บริษัท A มีหนี้สินที่มีดอกเบี้ย 500 ล้านบาท โดยส่วนของผู้ถือหุ้นเท่ากับ 1,500 ล้านบาท

 

Debt to Capital = 500 / (500 + 1,500) = 0.25 หรือ 25%

 

หมายความว่า 25% ของเงินทุนทั้งหมดของบริษัทมาจากหนี้สินที่มีดอกเบี้ย ส่วนที่เหลือ 75% มาจากส่วนของผู้ถือหุ้น ในกรณีนี้สะท้อนว่าบริษัทมีโครงสร้างเงินทุนที่ค่อนข้างอนุรักษนิยม โดยพึ่งพาเงินทุนจากผู้ถือหุ้นเป็นหลัก ซึ่งอาจบ่งชี้ถึงความเสี่ยงทางการเงินที่ต่ำ แต่ก็อาจหมายถึงโอกาสในการเติบโตที่จำกัดเช่นกัน ดังนั้น อัตราส่วนที่สูงขึ้นไม่ได้เป็นเรื่องเชิงลบเสมอไป หากใช้เงินกู้อย่างถูกต้อง อาจนำไปสู่ผลตอบแทนที่สูงขึ้นสำหรับผู้ถือหุ้นได้

 

6. Debt To Assets Ratio (อัตราส่วนหนี้สินต่อสินทรัพย์)

เป็นอัตราส่วนทางการเงินที่ช่วยบอกว่าบริษัทมีหนี้แค่ไหนเมื่อเทียบกับสินทรัพย์ทั้งหมดของบริษัท สามารถสะท้อนถึงความมั่นคงทางการเงินของบริษัท โดยเจ้าหนี้มักใช้อัตราส่วนนี้ในการพิจารณาจำนวนหนี้สินรวมของบริษัท ความสามารถในการชำระหนี้ และความสามารถในการขอสินเชื่อใหม่ ส่วนนักลงทุนใช้เพื่อประเมินความแข็งแกร่งทางการเงิน ความสามารถในการปฏิบัติตามภาระผูกพันทั้งในปัจจุบันและอนาคต

 

สูตร Debt To Assets Ratio = หนี้สินรวม / สินทรัพย์รวม

อัตราส่วนมากกว่า 1 แสดงว่า หนี้สินมากกว่าสินทรัพย์ หรือพึ่งพาการกู้ยืมมากในการดำเนินธุรกิจ บริษัทอาจมีความเสี่ยงทางการเงินที่สูงขึ้น

อัตราส่วนเท่ากับ 1 แสดงว่า ไม่มีหนี้สิน

อัตราส่วนน้อยกว่า 1 แสดงว่า หนี้สินต่ำ บริษัทมีสินทรัพย์เพียงพอที่จะชำระหนี้ทั้งหมด

 

ตัวอย่าง

บริษัท B มีสินทรัพย์รวม 10,000,000 บาท หนี้สินรวม 6,000,000 บาท

Debt To Assets Ratio: 6,000,000 / 10,000,000 = 0.6 เท่า หรือ 60%

 

การวิเคราะห์

  • อัตราส่วน 0.6 เท่า หมายความว่าบริษัทมีสัดส่วนหนี้สินรวม 60% เมื่อเทียบกับสินทรัพย์รวม ซึ่งอาจถือว่าค่อนข้างสูง เพราะสะท้อนถึงการพึ่งพาการกู้ยืมมากในการดำเนินธุรกิจ
  • มองในแง่บวก อาจหมายถึงบริษัทกำลังขยายกิจการ เช่น เปิดสาขาใหม่
  • ในแง่ลบ อาจเพิ่มความเสี่ยงทางการเงิน โดยเฉพาะหากธุรกิจไม่เป็นไปตามแผน

 

สำหรับบริษัทที่มีอัตราส่วนหนี้สินต่อสินทรัพย์ต่ำ เช่น 0.29 เท่า (บริษัทมีสัดส่วนหนี้สินรวม 29% เมื่อเทียบกับสินทรัพย์รวม) สะท้อนถึงมีความมั่นคงทางการเงินสูง มีกระแสเงินสดสูง หรือไม่จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนมากในการดำเนินธุรกิจ อย่างไรก็ตาม นักลงทุนอาจศึกษาข้อมูลให้ละเอียด เพราะอัตราส่วนต่ำอาจไม่ดีเสมอไป เช่น อาจมีอัตราผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้น (ROE) ต่ำเกินไป หรือบริษัทมีกระแสเงินสดมากแต่ไม่ได้นำไปขยายธุรกิจ ก็อาจทำให้ธุรกิจเติบโตในระดับต่ำ

 

อัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้ เป็นเครื่องมือสำคัญในการวัดสุขภาพทางการเงินของบริษัท แสดงถึงความสามารถในการชำระหนี้ระยะยาว ช่วยนักลงทุนประเมินความเสี่ยงและความมั่นคงของกิจการ อย่างไรก็ตาม การพิจารณาเพียงตัวเลขเดียวไม่เพียงพอ ดังนั้น การเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมเดียวกันมีความสำคัญ เนื่องจากแต่ละอุตสาหกรรมมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ ควรศึกษาข้อมูลอื่น ๆ ประกอบ เช่น แนวโน้มของอัตราส่วน โมเดลธุรกิจ ปัจจัยภายนอก และกลยุทธ์ของบริษัท โดยการวิเคราะห์อย่างรอบด้านจะช่วยให้เข้าใจสถานะทางการเงินของบริษัทได้อย่างแท้จริง และนำไปสู่การตัดสินใจลงทุนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน

สำหรับนักลงทุนมือใหม่หรือผู้ที่สนใจ เรียนรู้องค์ประกอบต่าง ๆ ของงบการเงิน และเทคนิคการอ่านงบการเงินแบบง่าย เพื่อประเมินศักยภาพของกิจการประกอบการตัดสินใจลงทุน ผ่าน e-Learning หลักสูตร “Financial Statement Analysis” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่
แท็กที่เกี่ยวข้อง: