กองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง มีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจและสะท้อนถึงพัฒนาการของตลาดทุนไทย โดยกองทุนนี้ถือกำเนิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2546 ตามมติคณะรัฐมนตรี เป็นกองทุนรวมปิดขนาดมูลค่า 100,000 ล้านบาท โดยเป็นการออกกองทุนมาเพื่อการบริหารหลักทรัพย์ของรัฐให้เกิดประโยชน์สูงสุด มุ่งเน้นการสร้างผลตอบแทนที่ยั่งยืนและมั่นคงในระยะยาว ด้วยการเลือกลงทุนในธุรกิจที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศและต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐ และยังมีเป้าหมายในการพัฒนาตลาดทุนไทยและเพิ่มทางเลือกในการออมและการลงทุนให้แก่ประชาชนทั่วไป
ในปี 2556 กองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง ได้มีการเปลี่ยนแปลง โดยบริษัทจัดการได้รับซื้อคืนหน่วยลงทุนประเภท ก. ทั้งหมด และแปรสภาพจากกองทุนปิดเป็นกองทุนเปิด เหลือเพียงผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. ซึ่งประกอบด้วยกระทรวงการคลังและนักลงทุนภาครัฐ และล่าสุด (6 กันยายน 2567) มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม (NAV) 353,596 ล้านบาท
จากการเติบโตที่น่าประทับใจในช่วงกว่าสองทศวรรษที่ผ่านมา รัฐบาลกำลังเปิดโอกาสให้นักลงทุนทั่วไปได้เข้ามามีส่วนร่วมอีกครั้ง ด้วยการเสนอขายหน่วยลงทุนประเภท ก. มูลค่ารวมระหว่าง 100,000 – 150,000 ล้านบาท นับเป็นโอกาสสำคัญสำหรับประชาชนที่สนใจลงทุนในกองทุนที่มีประวัติการดำเนินงานยาวนานและมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย โดยเปิดให้นักลงทุนทั่วไปในประเทศจองซื้อได้ตั้งแต่วันที่ 16 - 20 กันยายนนี้ ที่ราคาหน่วยละ 10 บาท เริ่มต้นที่ 1,000 หน่วย หรือเท่ากับ 10,000 บาท (เพิ่มทีละ 1,000 บาท) ด้วยวิธี Small Lot First เพื่อกระจายหน่วยลงทุนอย่างเท่าเทียม (ทราบผลการจัดสรรหน่วยลงทุนวันที่ 23 กันยายน 2567)
นับจากปี 2557 – 2566 กองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง ได้รับเงินปันผลจากหลักทรัพย์ที่ลงทุนอย่างสม่ำเสมอเฉลี่ยปีละ 12,278 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเงินปันผลรับต่อมูลค่าทรัพย์สินสุทธิเฉลี่ย 3.75% ซึ่งเพียงพอที่จะจ่ายผลตอบแทนขั้นต่ำต่อปีแก่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. นอกจากนี้ กองทุนยังมีฐานะทางการเงินที่มั่นคง โดย ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2567 มีกำไรสะสม ประมาณ 142,739 ล้านบาท
โครงสร้างและการจัดการกองทุน กองทุนวายุภักษ์ หนึ่ง เป็นกองทุนรวมผสม โดยลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายประเภท
โดยข้อมูล ณ วันที่ 6 สิงหาคม 2567 สัดส่วนการลงทุนหลักของกองทุนวายุภักษ์ประกอบด้วย
|
สำหรับเงินที่ได้จากการเสนอขายหน่วยลงทุนประเภท ก. ส่วนใหญ่จะนำไปลงทุนในตลาดหุ้นไทย โดยผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุนของกองทุนแต่ละปี จะจ่ายให้ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. ในรูปแบบเงินปันผลตามผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจริงของกองทุนในอัตราไม่ต่ำกว่า 3% ต่อปี แต่ไม่เกินกว่า 9% ต่อปี
โดยผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. จะได้รับเงินปันผลอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง คำนวณจากมูลค่าที่ตราไว้ (Par) ของหน่วยลงทุนประเภท ก. ที่ 10 บาทต่อหน่วย ซึ่งไม่ใช่การรับประกันหรือค้ำประกันผลตอบแทน แต่เป็นกลไกคุ้มครองผลตอบแทนของกองทุนฯ ทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. จะได้รับเงินปันผลก่อนผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. จากนั้นผลตอบแทนส่วนที่เหลือจะเป็นของหน่วยลงทุนประเภท ข.
ทั้งนี้ ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. มีสิทธิได้รับคืนเงินลงทุนตามแนวทางการชำระคืนเงินลงทุนแบบ Waterfall ซึ่งผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. จะได้รับคืนเงินลงทุนก่อนผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. ที่มูลค่าเงินลงทุนเริ่มต้นที่ 10 บาทต่อหน่วย
อย่างไรก็ตาม กลไกดังกล่าวไม่ใช่การรับประกันหรือค้ำประกันว่า ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. จะได้รับเงินลงทุนเท่ากับมูลค่าเงินลงทุนเริ่มต้น โดยในกรณีที่ NAV รวมของกองทุนฯ ณ วันครบกำหนดระยะเวลาการลงทุนเบื้องต้น (10 ปี) ต่ำกว่ามูลค่าเงินลงทุนเริ่มต้นของหน่วยลงทุนประเภท ก. ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. อาจได้รับคืนเงินลงทุนน้อยกว่ามูลค่าเงินลงทุนเริ่มต้นได้
ทั้งนี้ เมื่อครบระยะเวลาการลงทุนเบื้องต้น 10 ปี หากกองทุนจะระดมทุนต่อ จะให้สิทธิผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. ขยายระยะเวลาการลงทุน หรือขายคืนหน่วยลงทุน (Redeem) ตามแนวทางที่กำหนด อย่างไรก็ตาม หากกองทุนไม่ประสงค์จะระดมทุนต่อ บริษัทจัดการจะรับซื้อคืนหรือไถ่ถอนหน่วยลงทุนประเภท ก. ทั้งหมดโดยอัตโนมัติ
ผลตอบแทนและความเสี่ยง
|
จากกลไกการจ่ายผลตอบแทน (เงินปันผล) กองทุนวายุภักษ์ หนึ่ง หน่วยลงทุนประเภท ก. จะจ่ายผลตอบแทนขั้นต่ำ 3% ต่อปี (ของ NAV 10 บาท หมายความว่าจะได้รับผลตอบแทนขั้นต่ำ 0.30 บาทต่อปี) โดยจ่ายอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง (กลางปี และปลายปี) ดังนั้น ในช่วงกลางปี ผู้ถือหน่วยลงทุนจะได้รับผลตอบแทนขั้นต่ำ 0.15% หรือ 0.15 บาท และปลายปีขั้นต่ำอีกจำนวน 0.15% หรือ 0.15 บาท
อย่างไรก็ตาม หากปีนั้น กองทุนสร้างผลตอบแทนได้ดี ก็ทำให้ NAV เพิ่มขึ้น (มากกว่า 10 บาท) เช่น NAV เพิ่มขึ้นเป็น 10.5 บาท (เพิ่มขึ้น 5%) ผู้ถือหน่วยก็จะได้รับผลตอบแทนรอบปลายปี 0.35% หรือ 0.35 บาท หมายความว่า เมื่อรวมกับผลตอบแทนรอบกลางปีที่ได้รับไปแล้ว 0.15% ทั้งปีก็จะได้รับผลตอบแทน 0.50 บาท หรือเทียบเท่า 5%
สำหรับในปีที่กองทุนมีผลการดำเนินงานติดลบจากการลงทุน เช่น ติดลบ 10% แต่เนื่องจากกลไกการจ่ายผลตอบแทนที่กำหนดขั้นต่ำ 3% ต่อปี ดังนั้น ผู้ถือหน่วยก็จะยังได้รับผลตอบแทนในรอบปลายปีอีก 0.15% หรือ 0.15 บาท พูดง่าย ๆ หากถือหน่วยลงทุนกองทุนดังกล่าว ก็จะได้รับผลตอบแทนขั้นต่ำ 3% ต่อปี เป็นระยะยาว 10 ปีตามอายุกองทุน
กลยุทธ์การลงทุนที่เหมาะสม
นักลงทุนระยะยาว
เหตุผล กองทุนวายุภักษ์มีระยะเวลาลงทุน 10 ปี ซึ่งเหมาะกับการลงทุนระยะยาว นอกจากนี้ยังมีการจ่ายเงินปันผลในอัตราที่คาดการณ์ได้ แม้ว่าตลาดจะมีความผันผวนในระยะสั้น
นักลงทุนที่ต้องการกระจายความเสี่ยง
เหตุผล กองทุนวายุภักษ์มีนโยบายลงทุนในหลักทรัพย์หลากหลายประเภท เช่น หุ้น พันธบัตร และสินทรัพย์อื่น ๆ ทำให้เกิดการกระจายความเสี่ยงโดยอัตโนมัติ
นักลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนที่มั่นคง
เหตุผล กองทุนวายุภักษ์มีนโยบายจ่ายเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง โดยมีอัตราผลตอบแทนขั้นต่ำที่ 3% และไม่เกิน 9% ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราคงที่ตลอดระยะเวลาการลงทุน 10 ปี
นักลงทุนที่มีความรู้และประสบการณ์
เหตุผล หน่วยลงทุนของกองทุนวายุภักษ์สามารถซื้อขายในตลาดหุ้นไทยได้ ทำให้นักลงทุนที่มีความรู้และประสบการณ์สามารถติดตามและปรับกลยุทธ์การลงทุนได้อย่างคล่องตัว ตามสภาวะตลาดที่เปลี่ยนแปลง
นักลงทุนที่ต้องการการจัดการโดยมืออาชีพ
เหตุผล กองทุนวายุภักษ์มีทีมผู้จัดการกองทุนที่มีความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการสินทรัพย์ โดยใช้กลยุทธ์การลงทุนแบบ Active Management ที่มุ่งหวังให้ผลประกอบการสูงกว่าดัชนีชี้วัด ทำให้นักลงทุนไม่จำเป็นต้องบริหารจัดการการลงทุนด้วยตัวเอง
หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน