นับถอยหลังดอกเบี้ยลง เตรียมพร้อมสร้างผลตอบแทน

โดย พงษ์ธร ถาวรธนากุล, CFA ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Lief Capital Asset Management
3 Min Read
11 กันยายน 2567
1.589k views
TSI_Article_618_Inv_Thumbnail
Highlights
  • บทความนี้วิเคราะห์ผลกระทบของการลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดต่อตลาดหุ้นและเศรษฐกิจโลก โดยย้อนดูข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์ตั้งแต่ปี 1972 และพบว่าหลังเฟดลดดอกเบี้ยครั้งแรก ตลาดหุ้นมีโอกาสปรับตัวขึ้นได้ แต่หากเศรษฐกิจถดถอย ตลาดหุ้นอาจปรับตัวลง

  • กลุ่มหุ้นที่น่าจับตามองในช่วงที่เฟดลดอัตราดอกเบี้ย เช่น หุ้นขนาดเล็ก หุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ และหุ้นเทคโนโลยี

  • ประเทศในตลาดเกิดใหม่มักได้รับผลดีจากการลดอัตราดอกเบี้ยของเฟด เนื่องจากมีเม็ดเงินไหลเข้าสู่ตลาด ส่งผลให้ค่าเงินแข็งค่าและต้นทุนการกู้ยืมถูกลง

ในช่วงนี้นักลงทุนทั่วโลกกำลังจับตามองไปที่การตัดสินใจลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (เฟด) ภายหลังจาก ธนาคารกลางในหลายประเทศสำคัญ ได้เริ่มผ่อนคลายนโยบายการเงิน จึงมีความเป็นไปได้ที่เฟดจะตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้

 

อย่างไรก็ตาม คำถามที่ตามมา คือ นักลงทุนควรคาดหวังอะไรได้บ้างหลังการลดอัตราดอกเบี้ย? โดยเฉพาะในช่วงที่หุ้นยังคงทำจุดสูงสุดใหม่อยู่ตลอดเวลา โดยจากงานวิจัยเชิงสถิตย้อนหลังตั้งแต่ปี 1972 ซึ่งมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจำนวน 12 ครั้ง พบว่าภายหลังจากเฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกแล้วเศรษฐกิจขยายตัว ตลาดหุ้นอาจมีผันผวนบ้างแต่ไม่เกิน 30 วัน โดยผลตอบแทนก็จะกลับมาบวก แต่หากปรับลดอัตราดอกเบี้ยแล้วเกิดเศรษฐกิจถดถอย ตลาดหุ้นอาจจะปรับตัวลงและต้องรอถึง 150 วัน (5 เดือน) กว่าตลาดจะฟื้นกลับมาได้

Graph showing the recovery time of the stock market after the US Federal Reserve cuts interest rates.

หากพิจารณาข้อมูลหลังปี 1990 เป็นต้นมา พบว่าหุ้นกลุ่มเติบโตและหุ้นขนาดเล็กจะเป็นผู้ชนะ โดยให้ผลตอบแทนที่ดีสุดในบรรดาหุ้นกลุ่มอื่น ๆ

Graph showing the movement of the Nasdaq, S&P 500, and Russell 2000 stock indices over 3 months, 6 months, and 1 year following a US Federal Reserve interest rate cut.

หมายเหตุ : การเลือกใช้ข้อมูลการวิเคราะห์ตั้งแต่ปี 1990 เป็นต้นมา จะมีความน่าเชื่อถือสูงกว่าการใช้ข้อมูลระยะยาวกว่านั้น เพราะเฟดเพิ่งจะมาเริ่มใช้มาตรการปรับขึ้นและลดอัตราดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือในการควบคุมความร้อนแรงของเศรษฐกิจ (เงินเฟ้อ) ตั้งแต่ปี 1989 เป็นต้นมา โดยก่อนหน้านี้ ใช้การควบคุมเป็นอัตราดอกเบี้ยระหว่างธนาคาร หรือวิธีอื่น ๆ   

 

คำถามหลังจากเฟดรับลดอัตราดอกเบี้ย

  • เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาจะเป็นอย่างไร จากการประเมิน พบว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง โดยไตรมาส 2 ปี 2024 ขยายตัว 2.8% และมีแนวโน้มจะเป็นบวกไปจนถึงปีหน้า
  • ตลาดหุ้นจะลดลงหนักแค่ไหน หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวต่อได้ ตลาดหุ้นอาจมีโอกาสปรับตัวลงเพียงเล็กน้อย แต่หากปรับลดอัตราดอกเบี้ยแล้วเศรษฐกิจถดถอย จะเห็นตลาดหุ้นปรับลดลงลึกพอสมควร และหากเชื่อประโยคที่ว่า “ท่ามกลางวิกฤติ ย่อมมีโอกาส” ก็เป็นจังหวะที่ดีในการลงทุนสำหรับนักลงทุนที่ต้องการหาจังหวะเข้าซื้อหรือมีสไตล์การลงทุนระยะยาว
  • หุ้นกลุ่มไหนได้ประโยชน์ หุ้นที่ได้ประโยชน์จากการปรับลดอัตราดอกเบี้ย เช่น หุ้นขนาดกลาง ขนาดเล็ก หุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ หรือหุ้นที่ได้รับประโยชน์จากการนำเทคโนโลยี AI เข้ามาดำเนินธุรกิจ หุ้นโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาด และหุ้นที่ประกาศผลการดำเนินงานแข็งแกร่ง มีกำไรและกระแสเงินสดที่สดใส
  • หากกังวลตลาดหุ้นปรับฐาน ควรลงทุนสินทรัพย์อะไร ควรแบ่งเงินไปลงทุนตราสารหนี้ที่มีอายุระยะสั้น มีอันดับเครดิตระดับลงทุนได้ (Investment Grade) ซึ่งระหว่างการถือครองก็ให้ติดตามสถานการณ์ตลาดหุ้นว่าเริ่มมีการปรับฐานจนถึงจุดน่าซื้อหรือไม่ ไม่เช่นนั้นอาจพลาดการเติบโตในเศรษฐกิจรอบหน้าได้

 

โอกาสการลงทุนในตลาดเกิดใหม่

ตลาดเกิดใหม่มักได้รับอานิสงส์จากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟด ด้วยเหตุผลหลายประการ

  • การไหลเข้าของเงินทุน เมื่ออัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ลดต่ำลง นักลงทุนมักมองหาผลตอบแทนที่สูงกว่า ส่งผลให้เม็ดเงินไหลเข้าสู่ตลาดเกิดใหม่ที่มักให้ผลตอบแทนสูงกว่า
  • ค่าเงินแข็งค่า การไหลเข้าของเงินทุนมักทำให้ค่าเงินของประเทศในตลาดเกิดใหม่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งอาจเพิ่มผลตอบแทนให้กับนักลงทุนต่างชาติ
  • ต้นทุนการกู้ยืมลดลง ประเทศในตลาดเกิดใหม่หลายแห่งมีหนี้เป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้น เมื่ออัตราดอกเบี้ยปรับลดลง ภาระหนี้ก็ลดลงตามไปด้วย ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวม
  • การเติบโตทางเศรษฐกิจ ตลาดเกิดใหม่มักมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงกว่าประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะในช่วงที่สภาพคล่องในตลาดการเงินโลกสูง

 

กลยุทธ์การลงทุนในตลาดเกิดใหม่

  • กองทุนรวมตลาดเกิดใหม่ เป็นวิธีที่ง่ายและกระจายความเสี่ยงได้ดี โดยกองทุนจะลงทุนในหุ้นหรือตราสารหนี้ของประเทศในตลาดเกิดใหม่หลายประเทศ
  • การลงทุนโดยตรงในหุ้นรายตัว หุ้นบางตัวในตลาดเกิดใหม่อาจมีศักยภาพการเติบโตสูงกว่าหุ้นในตลาดที่พัฒนาแล้ว แต่ต้องตรวจสอบสุขภาพทางการเงิน อัตราส่วนทางการเงินสำคัญ และแนวโน้มการเติบโตให้รอบคอบ
  • ตราสารหนี้ตลาดเกิดใหม่ ให้ผลตอบแทนสูงกว่าตราสารหนี้ในประเทศพัฒนาแล้ว แต่ก็มาพร้อมความเสี่ยงด้านเครดิตและอัตราแลกเปลี่ยนที่สูงขึ้น

 

การลงทุนในช่วงที่เฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย นักลงทุนควรจัดสรรพอร์ตลงทุนด้วยความระมัดระวัง โดยควรพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ อย่างรอบด้าน ทั้งสภาวะเศรษฐกิจมหภาค ความผันผวนของตลาดการเงิน และความเสี่ยงเฉพาะของแต่ละสินทรัพย์ การกระจายการลงทุนในหลากหลายประเภทสินทรัพย์และภูมิภาค ยังคงเป็นกลยุทธ์สำคัญในการบริหารความเสี่ยง นอกจากนี้ ควรประเมินสถานะทางการเงินตัวเอง เป้าหมายการลงทุน และระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ก่อนตัดสินใจปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การลงทุน

 

หมายเหตุ : บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และมิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน


สำหรับใครที่สนใจ เรียนรู้พื้นฐานการวิเคราะห์ภาพรวมเศรษฐกิจแบบง่ายๆ เพื่อจับทิศทางการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ และค้นหาหุ้นเด็ดในแต่ละช่วงเวลา สามารถเรียนรู้ได้ผ่าน e-Learning หลักสูตร “Macro Analysis” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่
แท็กที่เกี่ยวข้อง: