หลังจากนักลงทุนรอคอยและคาดหวังมาตลอดทั้งปีว่าธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (เฟด) จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรือไม่ เมื่อวันศุกร์ที่ 23 สิงหาคม ที่ผ่านมา นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด กล่าวในที่ประชุมประจำปีของธนาคารกลางสหรัฐฯ ว่า “ถึงเวลาแล้วที่เฟดจะปรับอัตราดอกเบี้ยลง โดยทิศทางที่จะมุ่งไปสู่การดำเนินการดังกล่าวมีความชัดเจน ส่วนช่วงเวลาและขนาดของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนั้น จะขึ้นอยู่กับข้อมูลที่เฟดได้รับในวันข้างหน้า รวมทั้งแนวโน้มของพัฒนาการทางเศรษฐกิจ และความสมดุลของความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ” ก็มั่นใจได้ว่าเฟดจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งต่อไปในเดือนกันยายนนี้
ถึงแม้ว่านักลงทุนยังมีคำถามเกี่ยวกับแนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยจากนี้ไป เช่น การลดอัตราดอกเบี้ยครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นเร็วแค่ไหน อัตราดอกเบี้ยจะลดลงต่ำสุดเท่าไร การลดอัตราดอกเบี้ยจะเกิดขึ้นท่ามกลางการชะลอตัวของเศรษฐกิจแบบ Soft Landing หรือไม่
แต่ข่าวดี คือ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยในอดีตมักเป็นประโยชน์ต่อการลงทุนหลากหลายประเภท สำหรับนักลงทุนที่ต้องการจัดพอร์ตลงทุนด้วยการเพิ่มสัดส่วนหุ้นเพื่อรับมือกับการลดอัตราดอกเบี้ย คงกำลังศึกษาข้อมูลและติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด เพราะอัตราดอกเบี้ยและตลาดหุ้นมักมีความสัมพันธ์แบบผกผัน โดยเมื่ออัตราดอกเบี้ยปรับเพิ่มขึ้น ราคาหุ้นมักจะลดลง และพันธบัตรจะกลายเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจมากขึ้น ในทางกลับกัน เมื่ออัตราดอกเบี้ยปรับลดลง ราคาหุ้นมักจะปรับตัวเพิ่มขึ้น
เหตุใดอัตราดอกเบี้ยจึงสำคัญ
อัตราดอกเบี้ยมีผลโดยตรงต่อต้นทุนการกู้ยืม เมื่ออัตราดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้น บริษัทต่าง ๆ ต้องเผชิญกับต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้น อาจนำไปสู่การลดการลงทุนหรือขยายธุรกิจ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเติบโต รวมถึงกระแสเงินสด และอาจกดดันให้ราคาหุ้นลดลง แต่สำหรับนักลงทุน อัตราดอกเบี้ยที่ปรับสูงขึ้นมักเป็นสัญญาณของการเปลี่ยนไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ปลอดภัยและสร้างรายได้ เช่น พันธบัตรรัฐบาล ซึ่งอาจให้ผลตอบแทนที่น่าสนใจกว่าเมื่อเทียบกับหุ้นที่มีความเสี่ยงสูงกว่า
หมายความว่า อัตราดอกเบี้ย เป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญในการลงทุนของบริษัท เพราะบริษัทส่วนใหญ่มีทางเลือกหลักในการระดมทุนเพื่อการลงทุน คือ การระดมทุนจากผู้ถือหุ้นและการกู้ยืมจากแหล่งเงินทุนภายนอก เช่น ธนาคารหรือการออกหุ้นกู้ หากบริษัทเลือกการกู้ยืม อัตราดอกเบี้ยจะกลายเป็นต้นทุนทางการเงิน
เมื่ออัตราดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้น ภาระทางการเงินของบริษัทก็เพิ่มขึ้น บริษัทจำเป็นต้องนำส่วนหนึ่งของกำไรมาชำระอัตราดอกเบี้ยที่ปรับสูงขึ้น ส่งผลให้อัตรากำไรลดลง ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อราคาหุ้น ตรงกันข้ามเมื่ออัตราดอกเบี้ยเริ่มปรับลดลง บริษัทอาจใช้โอกาสนี้ในการกู้ยืมเพื่อขยายกิจการ เนื่องจากต้นทุนอัตราดอกเบี้ยปรับลดลง ทำให้การชำระคืนทั้งดอกเบี้ยและเงินต้นเป็นไปได้อย่างคล่องตัว ส่งผลให้เกิดการขยายตัวทางธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้ง อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงยังส่งเสริมการใช้จ่ายของผู้บริโภค เนื่องจากผู้คนสามารถหาแหล่งเงินทุนสำหรับการซื้อสินค้าราคาสูง เช่น บ้านและรถยนต์ได้ง่ายขึ้น ซึ่งการเพิ่มขึ้นของกิจกรรมทางธุรกิจและการบริโภคมักส่งผลให้ราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้น
ถึงแม้ว่าโดยทั่วไปแล้วการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยจะใช้เวลาประมาณ 6-12 เดือน จึงจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง แต่ตลาดหุ้นมักตอบสนองอย่างรวดเร็วกว่า ทำให้นักลงทุนมักจะปรับกลยุทธ์ลงทุนตามความคาดหวังของตัวเองเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคาดการณ์การดำเนินการของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC)
หากมองย้อนไปในอดีตในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว พบว่าเฟดมักจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นกิจกรรมทางการเงิน อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงโดยทั่วไปถือเป็นตัวเร่งการเติบโต ทำให้การกู้ยืมมีราคาลดลงสำหรับผู้บริโภคและธุรกิจ ซึ่งการใช้จ่ายของผู้บริโภคคิดเป็น 2 ใน 3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) ดังนั้น การกู้ยืมที่เพิ่มขึ้นอาจนำไปสู่กำไรของบริษัทที่สูงขึ้น การเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งขึ้น และราคาหุ้นที่ปรับตัวสูงขึ้น
ธุรกิจที่ได้รับประโยชน์ในช่วงอัตราดอกเบี้ยต่ำ
ธุรกิจที่ได้รับประโยชน์เป็นพิเศษจากอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลง คือ บริษัทที่จ่ายเงินปันผล รวมถึงทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) บริษัทขนาดใหญ่ที่มีกระแสเงินสดมั่นคงและงบดุลที่แข็งแกร่ง ก็จะสามารถระดมทุนได้ง่ายและมีอัตราหนี้สินต่อทุนที่ต่ำลง ซึ่งช่วยเพิ่มศักยภาพในการทำกำไรในอนาคตและส่งผลเชิงบวกต่อการประเมินมูลค่าหุ้นที่มีโอกาสปรับสูงขึ้น
อีกทั้ง ธุรกิจที่มีความผันผวนตามวัฏจักรเศรษฐกิจ เช่น สินค้าฟุ่มเฟือย อุตสาหกรรมต่าง ๆ มักมีผลประกอบการดีเมื่ออัตราดอกเบี้ยปรับลดลง เพราะช่วยลดต้นทุนการกู้ยืม ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อบริษัทที่ใช้เงินทุนสูงและกำลังอยู่ในช่วงเติบโต
REITs
ในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายมีแนวโน้มลดลง กอง REITs มักได้รับความสนใจจากนักลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากลักษณะการดำเนินธุรกิจที่มุ่งเน้นการปล่อยเช่า ทำให้แหล่งรายได้หลักมาจากค่าเช่า ซึ่งจะถูกนำมาจัดสรรเป็นผลตอบแทนให้แก่นักลงทุนในรูปแบบของเงินปันผล โดยนักลงทุนจะได้รับการจัดสรรผลตอบแทนในรูปแบบเงินปันผลไม่ต่ำกว่า 90% ของกำไรสุทธิ โดยทั่วไปมีการจ่ายเงินปันผลเป็นรายไตรมาส หากกองทุนมีกำไรสุทธิ 100 บาท จะต้องนำมาจัดสรรเป็นเงินปันผลให้แก่นักลงทุนไม่น้อยกว่า 90 บาท ทำให้กอง REITs เป็นทางเลือกการลงทุนที่น่าสนใจในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากนักลงทุนยังคงได้รับผลตอบแทนในรูปแบบเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอ
สินค้าฟุ่มเฟือย
ธุรกิจสินค้าฟุ่มเฟือยมักมีผลประกอบการดีในช่วงอัตราดอกเบี้ยปรับลง เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงจะช่วยลดต้นทุนการกู้ยืม ทำให้ผู้บริโภคกู้เงินได้สะดวกขึ้นเพื่อนำไปใช้จ่าย เช่น ซื้อรถยนต์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และการเดินทางท่องเที่ยว ทำให้ธุรกิจสินค้าฟุ่มเฟือยมักจะมีผลประกอบการดีกว่าตลาดโดยรวม
เทคโนโลยี
ธุรกิจเทคโนโลยีมักเติบโตในสภาพแวดล้อมที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากช่วยลดต้นทุนเงินทุน ทำให้บริษัทที่มุ่งเน้นการเติบโตสามารถลงทุนในการวิจัย พัฒนา และขยายกิจการได้มากขึ้น ทำให้มีโอกาสเติบโตทั้งรายได้และกำไรในอนาคต
การเงิน
ภาคธุรกิจการเงินมักมีผลประกอบการดีเมื่ออัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงจะกระตุ้นกิจกรรมการกู้ยืม ซึ่งสามารถเพิ่มกำไรให้กับธนาคารและสถาบันการเงิน เมื่อการกู้ยืมมีความน่าสนใจมากขึ้น ความต้องการสินเชื่อจะเพิ่มขึ้น ส่งผลให้รายได้ที่เป็นดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ซึ่งในอดีต หุ้นกลุ่มการเงินมักมีผลประกอบการดีในช่วงอัตราดอกเบี้ยปรับลง สังเกตจากการประเมินมูลค่าหุ้นมีความน่าสนใจมากขึ้นเมื่อค่า P/E Ratio ปรับลดลง ทำให้ดึงดูดนักลงทุนเข้ามาลงทุนมากขึ้นตามไปด้วย
สาธารณูปโภค
ธุรกิจสาธารณูปโภคจะมีผลประกอบการที่ดีในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยปรับลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัว เนื่องจากบริการสาธารณูปโภคเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิต ทำให้ธุรกิจสาธารณูปโภคมีรายได้ที่มั่นคงและคาดการณ์ได้ นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงยังช่วยลดต้นทุนเงินทุน ซึ่งมักมีหนี้สินระดับสูงเพื่อใช้ในการสนับสนุนโครงการโครงสร้างพื้นฐาน ความมั่นคงทางการเงินและความต้องการที่สม่ำเสมอ จึงเป็นธุรกิจที่น่าสนใจในช่วงที่เศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนและอัตราดอกเบี้ยต่ำ
หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน
สำหรับใครที่สนใจ เรียนรู้พื้นฐานการวิเคราะห์ภาพรวมเศรษฐกิจแบบง่าย ๆ เพื่อจับทิศทางการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ และค้นหาหุ้นเด็ดในแต่ละช่วงเวลา สามารถเรียนรู้ได้ผ่าน e-Learning หลักสูตร “Macro Analysis” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่
หรือเรียนรู้ธรรมชาติของตลาดหุ้น รวมไปถึงปัจจัยที่ส่งผลให้ราคาหุ้นขึ้นและลง เพื่อก้าวสู่สนามลงทุนจริงได้อย่างมั่นใจ สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “Market & Factors” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่