เมื่อพิจารณางบการเงินของบริษัท นักลงทุนพยายามทำความเข้าใจถึงสุขภาพทางการเงินของบริษัท แต่บางครั้งอาจมีความซับซ้อน ดังนั้น ก่อนตัดสินใจลงทุนจึงต้องเพิ่มความระมัดระวัง พิจารณาข้อมูลอย่างละเอียด รวมถึงตั้งคำถามที่ถูกต้องเกี่ยวกับสถานะการเงิน หนี้สิน และวิธีการที่บริษัทกำลังสร้างรายได้หรือใช้จ่ายเงินเพื่อพิจารณาว่ามีความผิดปกติหรือไม่ สำหรับ 8 คำเตือนในงบการเงินมีดังนี้
1. การเติบโตของรายได้ที่ไม่สม่ำเสมอ
หากตัวเลขยอดขายของบริษัทขึ้น ๆ ลง ๆ ก็ไม่สามารถคาดการณ์อนาคตได้ โดยปัญหาอาจเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย เช่น การบริหารจัดการที่ไม่ดี หรือการวางกลยุทธ์ทางการตลาดผิดพลาด เป็นต้น ดังนั้น หากรายได้ไม่สม่ำเสมอผิดปกติ ควรตั้งข้อสังเกตและพิจารณาปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนี้อย่างละเอียด แต่ก็จะมีบางธุรกิจที่รายได้ไม่สม่ำเสมอเป็นธรรมชาติ อาทิ ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่รายได้มาตามการโอนโครงการ และรับเหมาที่รายได้มาตามงานที่รับมา เป็นต้น
โดยนักลงทุนควรพิจารณาอัตราการเติบโตของรายได้ย้อนหลัง 3 - 5 ปี หากพบความผันผวนสูง เช่น ปี 2563 รายได้เติบโต 20% ปี 2564 ลดลง 15% ปี 2565 เติบโต 30% ปี 2566 ลดลง 15% อาจเป็นสัญญาณเตือนให้ตรวจสอบเพิ่มเติม
2. ค่าใช้จ่ายหรือรายได้ผิดปกติจำนวนมาก
บางครั้งบริษัทอาจระบุว่ามีค่าใช้จ่ายหรือรายได้พิเศษที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย หากเกิดขึ้นบ่อย ๆ นักลงทุนควรตั้งคำถามว่าบริษัทกำลังซ่อนปัญหาที่ผิดปกติหรือจงใจทำให้รายได้ให้สูงขึ้นหรือไม่ โดยควรพิจารณาหมายเหตุประกอบงบการเงินอย่างละเอียด เพื่อทำความเข้าใจที่มาของรายการพิเศษ
3. หนี้สินมากเกินไป
เมื่อบริษัทมีหนี้สินสูงกว่ารายได้อย่างมาก ถือเป็นความเสี่ยง เพราะหนี้สินสูง หมายถึง ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นเรื่องท้าทายหากบริษัทไม่สามารถสร้างรายได้เพียงพอ ส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้และฐานะทางการเงินในอนาคต โดยนักลงทุนควรพิจารณาสองส่วน คือ
4. ค่าความนิยมหรือสินทรัพย์ไม่มีตัวตนจำนวนมาก
ค่าความนิยมมาจากการซื้อกิจการในมูลค่าที่สูงกว่ามูลค่าทางบัญชี เงินที่จ่ายแพงอาจมาจากสิ่งต่าง ๆ เช่น ชื่อเสียงหรือแบรนด์ของบริษัท, ความสัมพันธ์กับลูกค้า, วัฒนธรรมองค์กร และความได้เปรียบทางการแข่งขัน ส่วนสินทรัพย์ไม่มีตัวตน คือ สิ่งที่ไม่สามารถจับต้องได้ เช่น สิทธิบัตร, ลิขสิทธิ์, เครื่องหมายการค้า, ซอฟต์แวร์ เป็นต้น หากสิ่งเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญของมูลค่าบริษัท ก็มีโอกาสประเมินผิดพลาดว่ามูลค่าที่แท้จริงอยู่ระดับใด จึงอาจทำให้เกิดการประเมินมูลค่าของบริษัทสูงเกินไป โดยนักลงทุนพิจารณาสัดส่วนค่าความนิยมต่อสินทรัพย์รวม (Goodwill to Total Assets Ratio) หากสัดส่วนสูงเกิน 20% ควรพิจารณาอย่างระมัดระวัง เพราะอาจเสี่ยงต่อการด้อยค่าในอนาคตหากผลประกอบการไม่เป็นไปตามคาด
5. กระแสเงินสดจากการดำเนินงานลดลง
กระแสเงินสดจะแสดงเงินสดที่ไหลเข้าและออกจากการดำเนินธุรกิจ ซึ่งเงินสดส่วนนี้ควรเป็น “บวก” หมายความว่า กิจการสามารถดำเนินธุรกิจและสร้างหรือเก็บเงินสดได้ แต่หากเงินสดลดลงติดลบ แสดงว่ามีรายจ่ายที่เป็นเงินสดในการดำเนินงาน เช่น ค่าวัตถุดิบหรือค่าจ้างพนักงาน มากกว่าเงินสดที่ได้รับจากการขายสินค้าหรือบริการในช่วงเวลานั้น โดยนักลงทุนสามารถพิจารณาอัตราส่วนกระแสเงินสดจากการดำเนินงานต่อกำไรสุทธิ (Operating Cash Flow to Net Income Ratio) ซึ่งควรมีค่ามากกว่า 1 แปลว่าบริษัทสร้างเงินสดได้มากกว่ากำไร หากต่ำกว่า 1 อย่างมีนัยสำคัญ อาจบ่งชี้ถึงปัญหาในการแปลงกำไรเป็นเงินสด หรือมีรายการที่ไม่เกี่ยวกับเงินสดจำนวนมาก
6. สินค้าคงคลังมากเกินไป
หากบริษัทมีสินค้าเพิ่มขึ้นในอัตราที่เร็วกว่าต้นทุนขาย อาจหมายความว่าผู้คนไม่ต้องการสินค้าหรือบริษัททำการผลิตสินค้ามากเกินไป ซึ่งการเก็บรักษาสินค้าจะมีค่าใช้จ่าย ดังนั้น สินค้าคงคลังที่มากเกินไปอาจทำให้กำไรขั้นต้นปรับลดลง จากการต้องขายสินค้าลดราคา หรือการตั้งสำรองการขาดทุนจากมูลค่าสินค้าคงเหลือ โดยพิจารณาอัตราส่วนระยะเวลาขายสินค้าเฉลี่ย (Average Inventory Period) แสดงระยะเวลาที่สินค้าคงเหลือเข้าบริษัทจนถึงวันที่ขายได้ หากอัตราส่วนอยู่ในระดับสูงขึ้นอาจบ่งชี้ถึงสินค้าคงคลังที่มากเกินไป
7. ลูกหนี้การค้าจำนวนมาก
หากบริษัทกำลังรอรับเงินจากลูกค้า โดยพิจารณาระยะเวลาเก็บหนี้เฉลี่ย (Average Collection Period) โดยแสดงจำนวนวันเฉลี่ยที่บริษัทใช้ในการเก็บเงินจากลูกหนี้ หากลูกหนี้การค้าเพิ่มขึ้นผิดปกติ แปลว่า บริษัทกำลังมีปัญหาในการรับชำระเงิน เช่น บริษัทมีระยะเวลาเก็บหนี้เฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 45 วันเป็น 90 วันในปี 2566 เนื่องจากการให้เครดิตแก่ลูกค้านานขึ้นเพื่อกระตุ้นยอดขาย อาจส่งผลให้บริษัทเกิดปัญหาด้านสภาพคล่อง หรือในบางกรณีบริษัทอาจสร้างรายได้เทียม ก็เป็นได้
8. เงินทุนหมุนเวียนมากเกินไป
หากบริษัทมีเงินทุนหมุนเวียนมากเกินไปก็ไม่ดี สะท้อนว่าบริษัทไม่มีการนำเงินไปลงทุนต่อยอด ขยายกิจการเพิ่มเติม ทำให้เหลือเงินทุนหมุนเวียนจำนวนมาก หรืออีกนัยหนึ่งกำลังสะท้อนว่าธุรกิจเติบโตเต็มที่แล้ว ไม่สามารถขยายตัวต่อไปได้อีก ในทางกลับกัน หากบริษัทมีเงินทุนหมุนเวียนน้อยเกินไปก็ไม่ดีเช่นกัน เนื่องจากเสี่ยงต่อการขาดสภาพคล่องได้ง่าย ถ้าหากมีลูกหนี้การค้าที่ไม่สามารถชำระเงินได้ จะทำให้บริษัทขาดสภาพคล่อง
การทำความเข้าใจสัญญาณเตือนในงบการเงินมีความสำคัญสำหรับนักลงทุนผู้ที่ต้องการตรวจสอบสุขภาพทางการเงินของบริษัท ถึงแม้ว่าสัญญาณดังกล่าวไม่ได้หมายความว่าบริษัทกำลังมีปัญหา แต่ทำให้เกิดการเพิ่มความระมัดระวังและนำไปสู่การพิจารณาเรื่องราวทางการเงินของบริษัทอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น
หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน