ตลาดการเงินพัฒนาอยู่ตลอดและโอกาสของนักลงทุนก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดผลิตภัณฑ์ของตลาดการเงินไทยที่ได้รับความสนใจอย่างมาก เพราะเปิดโอกาสให้นักลงทุนไทยได้ลงทุนหุ้นต่างประเทศโดยไม่ต้องกังวลเรื่องภาษีและสกุลเงินที่ซื้อขาย นั่นคือ Depository Receipt หรือ DR
อย่างไรก็ดี หลายท่านที่ลองซื้อขาย DR มักมีคำถามว่าราคาของ DR ไม่ได้เคลื่อนไหวตามสินทรัพย์อ้างอิงหรือ Underlying ทันทีอย่างที่คาดหวัง
จนนักลงทุนหลายท่านตั้งคำถามว่า DR คุ้มค่าความเสี่ยงที่จะลงทุนหรือศึกษาเพิ่มเติมแค่ไหน และถ้าอยากลงทุนผลิตภัณฑ์นี้ควรวางกลยุทธ์ลงทุนอย่างไร
ในมุมมองของผม ก่อนที่จะลงทุน DR นักลงทุนควรทำความเข้าใจกับลักษณะของ Underlying ที่แตกต่างกัน 3 แบบหลักก่อน
แบบที่หนึ่ง Underlying เป็นสินทรัพย์ที่ซื้อขายในเวลาเอเชีย ราคาตลาดและสกุลเงินปลายทางในช่วงเวลาซื้อขายไม่ผันผวนมาก การเปลี่ยนแปลงจะมีความใกล้เคียงกันสูง
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เช่น BABA80 หรือ DR บริษัท Alibaba Group Holding Ltd (9988 HK) หุ้นเทคโนโลยีจีนขวัญใจคนไทย ในตลาดหุ้นฮ่องกง (HK) เป็น DR ที่มีความเคลื่อนไหวใกล้เคียงกับ Underlying สูงระดับ R square 0.9
เหตุผลหลัก มาจากการที่ Underlying ซื้อขายในเวลาเอเชียเช่นเดียวกับตลาดหุ้นไทย ทำให้บริหารจัดการไม่ยาก นอกจากนี้ หุ้น Alibaba ที่ตลาดหุ้นฮ่องกงก็มีสภาพคล่องสูง มีการซื้อขายระหว่างวันมาก ความผันผวน (Volatility) 30-40% มีความสัมพันธ์กับอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินดอลลาร์ฮ่องกง (HKD) กับเงินบาทไทย (THB) เป็นลบทำให้ความผันผวนลดลงอีกเล็กน้อย ทั้งหมดทำให้การเคลื่อนไหวของ DR BABA80 มีความใกล้เคียงกับ Underlying 9988 สูง
แบบที่สอง Underlying ซื้อขายเหลื่อมเวลาเอเชียและสกุลเงินหลักไม่ได้มีความสัมพันธ์มาก การเปลี่ยนแปลงก็จะห่างออก
ตัวอย่างในกรณีนี้ เช่น ASML01 หรือ DR บริษัท ASML Holding NV (ASML NA) หุ้นในธุรกิจ Semiconductor ชั้นนำของโลก ซื้อขายในตลาดหุ้นยูโรเน็กซต์ อัมสเตอร์ดัม (Euronext Amsterdam)
ความเคลื่อนไหวอาจมีเหลื่อมกันบ้างในกรณีที่ตลาดหุ้นไทยปิดทำการก่อน ทำให้ DR ในไทยไม่มีการซื้อขาย ขณะที่ตลาดหุ้นยุโรปอาจมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมนอกเหนือจากช่วงเวลาเปิดทำการ
นอกจากนี้ ประเด็นด้านอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินยูโร (EUR) กับเงินบาทไทย (THB) ก็มีความสัมพันธ์เชิงลบกับ Underlying ที่น้อยกว่าฝั่งเอเชีย ทำให้โดยรวม DR ในกลุ่มนี้มักมีความเคลื่อนไหวใกล้เคียงกับ Underlying น้อยกว่า เช่น การเปลี่ยนแปลงรายวันของ DR ASML01 กับหุ้น ASML ลดลงมาอยู่ที่ระดับ R square 0.8
แบบที่สาม Underlying จริงซื้อขายในเวลาทำการของตลาดหุ้นสหรัฐฯ สภาพคล่อง (Liquidity) ของสองตลาดจะทำให้เกิดความแตกต่างมากขึ้นไปอีก
ในปัจจุบันมีเพียง NDX01 หรือ DR บน ChinaAMC NASDAQ 100 (3086 HK) เท่านั้นที่เข้ารูปแบบนี้
มองเบื้องต้นอาจเห็นว่า Underlying ซื้อขายในตลาดหุ้นฮ่องกงเหมือนหุ้นทั่วไป แต่ Underlying จริงเป็นการซื้อหุ้นในฝั่งตลาดสหรัฐฯ ที่ไม่ได้เปิดทำการซื้อขายในช่วงเวลาเอเชีย ทำให้นักลงทุนทั้งไทยและฮ่องกงต่างก็ซื้อขายด้วยข่าวในมุมของตัวเอง
เห็นได้จากความเคลื่อนไหวของ NDX01 เมื่อเทียบกับ ETF NASDAQ 100 ที่ตลาดหุ้นฮ่องกงอย่าง 3086 HK หลังจากที่ปรับผลกระทบของค่าเงินแล้ว มี R square เพียงราว 0.7 ขณะเดียวกัน 3086 HK ก็มีความสัมพันธ์กับ NASDAQ 100 ที่สหรัฐฯ ระดับ R square เพียง 0.7 เช่นกัน
หมายความว่าความสัมพันธ์ของ NDX01 กับ Underlying ที่นักลงทุนคาดหวังอย่างดัชนี NASDAQ 100 อาจไม่ได้ใกล้เคียงกันเหมือนอย่างที่นักลงทุนคิด
รู้อย่างนี้แล้ว DR ยังน่าสนใจไหม และควรวางกลยุทธ์ลงทุนอย่างไร
ผมมองว่าแม้ DR จะไม่เหมือน Underlying 100% ไม่ง่ายสำหรับการซื้อขายระยะสั้น แต่สำหรับการลงทุนระยะยาว DR ยังคงเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันกับสินทรัพย์อ้างอิงที่ไม่มีในประเทศไทย ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้ได้หลายรูปแบบ
กลยุทธ์ 1 ลงทุนหุ้นไทย เพิ่ม Global Growth Exposure
สำหรับนักลงทุนที่ลงทุนหุ้นไทยอยู่แล้ว ผมเชื่อว่า DR เข้ามาตอบโจทย์ในด้านการลงทุนในหุ้นเทคโนโลยีและหุ้นเติบโตทั่วโลก ผมเลือก 5 DR เด่นลงทุนในสัดส่วนเท่ากันประกอบด้วย NDX01, ASML01, SONY80, XIAOMI80 และ VENTURE19 ทั้งหมดมีความสัมพันธ์กับธุรกิจเทคโนโลยี กระจายการลงทุนทั่วโลก และทั้งหมดมีความสัมพันธ์ (Correlation) กับตลาดหุ้นไทย (SET) เพียง 0.2-0.3
กลยุทธ์ 2 อยู่ไทย แต่ลงทุนต่างประเทศ
ผมมองไปที่ ETF ตลาดต่างประเทศที่สามารถช่วยให้นักลงทุนไทย กระจายการลงทุนไปทั่วโลกได้ ในปัจจุบันนอกจาก NDX01 แล้ว ก็มี DR ที่น่าสนใจ ได้แก่ HKTECH13 หุ้นเทคโนโลยีผู้นำของจีน / E1VFVN30 หุ้นใหญ่ในเวียดนาม / JAPAN13 หุ้นผู้นำเศรษฐกิจญี่ปุ่นใน MSCI Japan และล่าสุดหุ้นอินเดียสาย Climate Transition กับ INDIAESG19
กลยุทธ์ 3 ลุ้นไปกับหุ้น Upside สูงทั่วโลก
ไม่ว่าจะเป็นหุ้นไทยหรือหุ้นนอก ก็เหมือนกันตรงที่มี Target Price และ Upside ผมเลือก 4 DR จัดเป็นพอร์ต The Highest Upside จากค่าเฉลี่ยราคาเป้าหมายของนักวิเคราะห์ใน Bloomberg และควบคุมการกระจาย ให้มีสัดส่วนของประเทศใดประเทศหนึ่งไม่เกิน 40%, Sector ไม่เกิน 20% และทุก DR ต้องมี Upside มากกว่าตลาดหุ้นไทยในปัจจุบันจะได้พอร์ตที่ประกอบด้วย PINGAN80, ASML01, TOYOTA80 และ NETEASE80 ทั้งหมดมี Upside ที่สูงในกรอบ 30-60% ในอีก 12 เดือนข้างหน้า
ผมเชื่อว่าตลาด DR กำลังเริ่มต้นและกำลังพัฒนาต่อไปอีกมาก ความแตกต่างของ DR กับ Underlying เป็น Feature ไม่ใช่ Bug ของผลิตภัณฑ์ทางการเงินนี้ ในอนาคตจะเป็นหนึ่งเครื่องมือทางการลงทุนที่ตอบโจทย์นักลงทุนไทยให้สามารถบริหารการลงทุนได้ได้ดียิ่งขึ้นอย่างแน่นอนครับ
หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน