7 หุ้นเติบโต ท่ามกลางตลาดผันผวน

โดย ฐิติเมธ โภคชัย ฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
3 Min Read
20 สิงหาคม 2567
11.272k views
TSI_Article_611_Inv_Thumbnail
Highlights
  • การลงทุนในหุ้นเติบโตสามารถให้ผลตอบแทนที่ดี แต่มีความผันผวนและความเสี่ยงสูง จึงควรศึกษาแนวโน้มเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมและบริษัทอย่างละเอียด รวมถึงประเมินกลยุทธ์ธุรกิจ

  • ควรพิจารณาความสามารถในการเติบโตของบริษัทในอนาคต โดยดูคุณภาพของธุรกิจ ความแข็งแกร่งของแบรนด์ อัตราการเติบโตทางการเงิน และราคาหุ้นที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้ซื้อหุ้นในราคาที่แพงเกินไป

  • จังหวะที่ดีในการเข้าซื้อหุ้นเติบโต เช่น เมื่อตลาดมีปัญหาชั่วคราว แต่บริษัทมีพื้นฐานแข็งแรง หรือเมื่อบริษัทประกาศผลประกอบการที่ดี ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพการเติบโตในอนาคต

ในโลกของการลงทุน มีเส้นทางมากมายให้นักลงทุนเลือกเดิน แต่มีเส้นทางหนึ่งที่มักดึงดูดสายตานักลงทุนทั่วโลก คือ การลงทุนในหุ้นเติบโต (Growth Stocks) เพราะเชื่อว่ามีศักยภาพในการเติบโตอย่างก้าวกระโดด สร้างผลตอบแทนที่ดีและรวดเร็ว

 

อย่างไรก็ตาม อย่าเพิ่งรีบร้อนกระโดดเข้าไปลงทุน เพราะโลกของหุ้นเติบโตไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป  แต่เต็มไปด้วยความท้าทาย ความผันผวน และความเสี่ยงที่อาจทำให้ได้รับบาดเจ็บได้ตลอดเวลา ซึ่งการลงทุนในหุ้นเติบโตเปรียบเสมือนการนั่งรถไฟเหาะ อาจจะน่าหวาดเสียวและทำให้หัวใจเต้นแรง แต่ก็ให้ความรู้สึกตื่นเต้น ดังนั้น ก่อนจะเริ่มลงทุนหุ้นเติบโต ควรทำความรู้จักให้ลึกซึ้ง ตั้งแต่หุ้นเติบโตคืออะไร มีข้อดีข้อเสียอย่างไร จะลงทุนอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ เพราะหากเตรียมตัวให้พร้อมก็เพิ่มโอกาสเข้าใกล้ความสำเร็จได้ระดับหนึ่ง

 

หุ้นเติบโต หมายถึง หุ้นที่มีการเติบโตอย่างโดดเด่นและรวดเร็วกว่าหุ้นตัวอื่น ๆ โดยครอบคลุมตั้งแต่การเติบโตของสินทรัพย์ รายได้ และกำไรของบริษัท โดยอาจทำได้ผ่านการสร้างตลาดใหม่ เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ เพิ่มส่วนแบ่งการตลาด ขยายสาขาสู่ทำเลใหม่ หรือซื้อกิจการเพื่อเสริมธุรกิจหลัก และอาจเป็นบริษัทขนาดใหญ่หรือขนาดเล็กก็ได้ ดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมใดก็ได้

 

อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจเหล่านี้จะต้องการเงินทุน ซึ่งอาจมาจากการดำเนินงานปกติ การระดมทุนผ่านเครื่องมือทางการเงินต่าง ๆ หรือการกู้ยืม ดังนั้น บริษัทเติบโตที่มีแผนการลงทุนที่น่าสนใจมักสามารถสร้างผลตอบแทนให้ผู้ถือหุ้นได้ดีกว่าด้วยการลงทุนขยายกิจการ แทนที่จะจ่ายเงินปันผล หมายความว่านักลงทุนในหุ้นเติบโตต้องยอมรับกลยุทธ์นี้ โดยคาดหวังว่าจะได้รับผลตอบแทนในรูปของกำไรจากส่วนต่างราคาที่สูงในอนาคต แต่หากการเติบโตไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง นักลงทุนอาจขาดความเชื่อมั่นและราคาหุ้นอาจปรับลดลง

 

สำหรับการค้นหาหุ้นเติบโตที่ดี ต้องมองให้ไกล เข้าใจให้ลึก โดยเคล็ดลับสำคัญ คือ การมองภาพใหญ่ของเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ด้วยการถามตัวเองว่าอีก 5 – 10 ปีข้างหน้า ธุรกิจแบบไหนจะเป็นดาวรุ่งและเติบโต ด้วยการเริ่มพิจารณา 3 ปัจจัยหลัก

 

1. คุณภาพของธุรกิจ มองหาบริษัทที่แข็งแกร่ง ช่วยให้แข่งขันได้เหนือกว่าคู่แข่งและเติบโตได้ยาวนาน
  • แบรนด์ดัง ลูกค้ารักและภักดี
  • สินค้าไม่ตกเทรนด์ง่าย ๆ
  • มีข้อได้เปรียบด้านต้นทุน
  • มีสิทธิบัตรหรือสัมปทานพิเศษ
  • ผู้บริหารเก่งและมีบรรษัทภิบาล

 

2. อัตราการเติบโต ดูว่าธุรกิจกำลังขยายตัวได้ดีแค่ไหน
  • รายได้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ หรือไม่
  • กำไรเติบโตเพิ่มขึ้นหรือไม่ (เช่น EPS Growth, Net Profit Margin, ROA, ROE)

  

3. ราคาที่เหมาะสม อย่าซื้อแพงเกินไป
  • แม้จะเป็นบริษัทคุณภาพเยี่ยมและกำลังเติบโตเร็ว แต่หากซื้อในราคาที่แพง ก็อาจไม่ใช่การลงทุนที่ดี โดยสามารถใช้วิธีหาอัตราส่วน PEG เพื่อประเมินมูลค่าเบื้องต้นได้ ด้วยการนำค่า P/E Ratio ของหุ้นหารกับอัตราการเติบโตเฉลี่ยในระยะยาวในช่วง 3 – 5 ปีข้างหน้า หาก PEG มากกว่า 1 หมายความว่า ราคาหุ้นค่อนข้างแพง แต่หาก PEG น้อยกว่า 1 หมายความว่า ราคาหุ้นค่อนข้างถูก

เรื่องควรรู้ก่อนลงทุนหุ้นเติบโต

ศึกษาแนวโน้มอุตสาหกรรม

  • สังเกตการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค
  • มองหาอุตสาหกรรมที่มีโอกาสเติบโตสูงในอนาคต

 

วิเคราะห์ความได้เปรียบในการแข่งขัน

  • ประเมินส่วนแบ่งการตลาดและการเติบโตของส่วนแบ่งการตลาด
  • พิจารณาความสามารถในการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ของบริษัท

 

ประเมินคุณภาพของผู้บริหาร

  • ศึกษาประวัติและวิสัยทัศน์ของผู้บริหาร
  • ดูความสามารถในการปรับตัวและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาด
  • ประเมินความโปร่งใสในการสื่อสารกับนักลงทุน

 

วิเคราะห์งบการเงิน

  • ดูอัตราการเติบโตของรายได้และกำไรย้อนหลัง 3 – 5 ปี
  • ประเมินความสามารถในการทำกำไร
  • วิเคราะห์กระแสเงินสดอิสระ (Free Cash Flow)

 

ประเมินความเสี่ยง

  • พิจารณาความผันผวนของราคาหุ้น (Beta)
  • ประเมินความเสี่ยงจากการแข่งขันและการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี
  • ดูภาระหนี้สินและความสามารถในการชำระหนี้

 

ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด

  • อัปเดตข่าวเกี่ยวกับบริษัทและอุตสาหกรรมอย่างสม่ำเสมอ
  • ติดตามรายงานผลประกอบการรายไตรมาส
  • สังเกตการเปลี่ยนแปลงของนโยบายรัฐที่อาจส่งผลต่อธุรกิจ

 

ใช้เครื่องมือทางเทคนิคประกอบการตัดสินใจ

  • ศึกษาแนวโน้มราคาและปริมาณการซื้อขาย
  • ใช้ตัวชี้วัดทางเทคนิค เช่น RSI, MACD เพื่อหาจังหวะเข้าซื้อ

 

มีความอดทนและมุมมองระยะยาว

  • เตรียมใจรับความผันผวนในระยะสั้น
  • ให้เวลากับการเติบโตของบริษัท ไม่รีบขายทำกำไรเร็วเกินไป
  • ทบทวนและปรับพอร์ตลงทุนเป็นระยะ

สำหรับจังหวะที่เหมาะสมในการเข้าซื้อหุ้นเติบโต มีดังนี้ 


เมื่อตลาดกำลังตกใจ แต่บริษัทยังแข็งแรง

เมื่อตลาดหุ้นผันผวนหรือมีข่าวร้ายระยะสั้น แต่พื้นฐานของบริษัทยังแข็งแกร่ง จะเป็นจังหวะที่ดีในการเข้าซื้อหุ้นเติบโตในราคาที่น่าสนใจ

 

หลังประกาศผลประกอบการที่ดีเกินคาด

เมื่อบริษัทประกาศผลประกอบการที่ดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ อาจเป็นสัญญาณว่าบริษัทกำลังเติบโตเร็วกว่าที่ตลาดคิด อาจเป็นจังหวะดีที่จะเข้าซื้อก่อนที่ราคาจะปรับตัวสูงขึ้นตามผลประกอบการ

 

เมื่อบริษัทเปิดตัวนวัตกรรมใหม่

เมื่อบริษัทเปิดตัวผลิตภัณฑ์หรือบริการที่มีศักยภาพสูง แต่ตลาดยังไม่ตื่นเต้นมากนัก อาจเป็นโอกาสที่ดี หากเชื่อในวิสัยทัศน์ของบริษัทและเห็นศักยภาพของนวัตกรรมนั้น

 

ช่วงที่บริษัทกำลังขยายตลาด

เมื่อบริษัทประกาศแผนขยายตลาดหรือเข้าสู่ตลาดใหม่ อาจเป็นจังหวะที่ดีในการเข้าซื้อ ก่อนที่การขยายตัวจะส่งผลให้ราคาหุ้นจะปรับสูงขึ้น

 

หลังการแก้ไขปัญหาสำคัญ

ทุกบริษัทย่อมเจอปัญหา แต่บริษัทที่แก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ บริษัทที่น่าจับตามอง เมื่อบริษัทสามารถจัดการกับความท้าทายสำคัญได้ เช่น ปรับปรุงระบบการผลิต หรือแก้ไขปัญหาคุณภาพสินค้า อาจเป็นจังหวะที่ดีในการเข้าซื้อ เพราะแสดงถึงความสามารถในการปรับตัวและพัฒนาของบริษัท

 

อย่าลืมว่า ไม่มีจังหวะไหนที่สมบูรณ์แบบ 100% การลงทุนมีความเสี่ยงเสมอ แต่ถ้าศึกษาข้อมูลละเอียด รู้จักบริหารความเสี่ยง มีความอดทน ก็มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการลงทุนหุ้นเติบโตได้แน่นอน

Table illustrating 7 growth stocks to watch, highlighting key financial metrics and trends for potential investors.

เงื่อนไขการจัดอันดับ

  1. รายได้รวมเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตลอด 3 ปี (2564 – 2566)
  2. กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตลอด 3 ปี (2564 – 2566)
  3. PEG Ratio อยู่ระหว่าง 0 – 1 เท่า
  4. เงินสุทธิจากกิจกรรมลงทุน ติดลบ
  5. เงินสดสุทธิจากกิจกรรมดำเนินงาน เป็นบวก

 

หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน


สำหรับนักลงทุนมือใหม่และผู้ที่สนใจ เรียนรู้เทคนิคการคัดกรองหุ้นด้วยการใช้งานเครื่องมือ Settrade Stock Screening เพื่อให้ได้หุ้นดี โดนใจ โดยไม่ต้องใช้เวลาค้นหานาน สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “Stock Screening” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่
แท็กที่เกี่ยวข้อง: