อัตราผลตอบแทนจากส่วนของผู้ถือหุ้น (Return on Equity : ROE) เป็นอัตราส่วนทางการเงินที่บอกว่าส่วนของผู้ถือหุ้นที่ลงทุนไป 100 บาท ให้ผลตอบแทนกลับมาเท่าไร “ค่ายิ่งเยอะ ยิ่งดี” เพราะผู้ถือหุ้นจะได้ผลตอบแทนกลับมาเยอะเท่านั้น แต่ความลับของ ROE มีมากกว่านั้น
หุ้น ROE สูงและสม่ำเสมอ มูลค่าหุ้นสูงไปด้วย
นักลงทุนชื่นชอบหุ้นที่ ROE สูงและสม่ำเสมอ เพราะหุ้นประเภทนี้มักจะมีมูลค่าหุ้นสูง มี P/E Ratio และ P/BV Ratio สูงกว่าเมื่อเทียบกับคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกัน เนื่องจากสะท้อนภาพการเติบโตระยะยาวที่ดี และหุ้นที่มีการเติบโตระยะยาวสม่ำเสมอจะทำให้มูลค่าของกิจการสูงไปด้วย โดยมีที่มาจากหลักการเงิน ดังนี้
จากการประเมินมูลค่าหุ้นด้วยการคิดลดเงินปันผล
ราคา (P) = เงินปันผล (D) / ผลตอบแทนที่ต้องการ (K) – การเติบโต (G)
ให้ผลตอบแทนที่ต้องการคงที่ บริษัทที่ ROE สูง ๆ และสม่ำเสมอ ถ้ามีกระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงานที่ดี มีค่าเป็นบวก จะจ่ายปันผลดี เงินปันผลสูง ทำให้มูลค่าหุ้นสูงตามไปด้วย
สำหรับการเติบโต ในสูตรจะเป็นการเติบโตระยะยาว ในเชิงทฤษฎีจะเติบโตแบบรักษาโครงสร้างเงินทุนให้คงที่ หรือ Sustainable Growth (G) = ROE x (1-อัตราปันผลจ่ายต่อกำไร (b)) ความหมายคือ เป็นการเติบโตแบบสิ้นปีมีกำไร หักปันผลจ่ายไป ส่วนที่เหลือคือ เงินทุนที่เพิ่มขึ้น จากนั้นนำเงินที่เพิ่มขึ้นไปลงทุนต่อ ได้ผลตอบแทนเท่ากับผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) เมื่อจับ ROE กับส่วนของทุนที่เพิ่มขึ้น จะได้กำไรที่เพิ่มขึ้น
“จะเห็นได้ว่าบริษัทที่มี ROE สูงและสม่ำเสมอจะมีมูลค่าสูง เนื่องจากสามารถจ่ายปันผลได้ดีและมีการเติบโตในระยะยาวที่ดีกว่าเมื่อเทียบกับบริษัทที่มี ROE ต่ำกว่า”
การแยกองค์ประกอบ ROE ด้วย Dupont Analysis
เพื่อให้วิเคราะห์ ROE ได้ชัดเจนมากขึ้น สามารถใช้การวิเคราะห์แบบ DuPont Analysis ด้วยการแยกองค์ประกอบของ ROE เป็น 3 ส่วน ทำให้นักลงทุนสามารถวิเคราะห์ได้ง่ายขึ้น ดังนี้
ROE = กำไร / ทุน
ROE = (กำไร/รายได้) x (รายได้/สินทรัพย์) x (สินทรัพย์/ทุน)
ROE = (กำไร/รายได้) x (รายได้/สินทรัพย์) x (หนี้/ทุน + 1)
ROE = อัตรากำไรสุทธิ x อัตราหมุนเวียนทรัพย์สิน x (อัตราส่วนหนี้ต่อทุน + 1)
ROE = ROA x (อัตราส่วนหนี้ต่อทุน + 1)
จะเห็นว่าบริษัทที่บริหารจัดการจนมี ROE สูงและสม่ำเสมอได้ ต้องทำ 3 เรื่อง
ความสัมพันธ์ระหว่าง ROA และ ROE
หากพิจารณาจากสมการจะเห็นว่า ROE = ROA x (D/E +1) ซึ่งมองได้อีกมุมว่า ROE มาจากสองส่วน คือ ROA ผลตอบแทนจากการนำสินทรัพย์ไปสร้างกำไร และส่วนขยายกำไรจากอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน “ยิ่งบริษัทที่หนี้สินเยอะ ผลตอบแทนต่อทุนยิ่งเยอะ”
หากคัดกรองหุ้นจาก ROA สูง ๆ และหนี้สินต่อทุนต่ำ ๆ จะได้หุ้นที่มีเครื่องจักรสร้างกำไรดีและหนี้สินไม่สูงมากนัก แต่หากคัดกรองจาก ROE อาจได้หุ้นที่ ROE สูง เพราะหนี้สินสูง “อาจทำให้เพิ่มความเสี่ยงจากการลงทุนได้”
เริ่มที่ผลตอบแทนหุ้น XYZ พบว่า ROE งวด 3 เดือนปี 2567 อยู่ที่ 18.55% มีทิศทางเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แสดงว่าสามารถทำผลตอบแทนให้ผู้ถือหุ้นได้ดีขึ้น ส่วน ROA งวด 3 เดือนปี 2567 ทำได้ที่ระดับ 5% มีทิศทางเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แสดงว่าสินทรัพย์ของบริษัทสร้างกำไรกลับมาได้ดีขึ้น
นักลงทุนสามารถแยกองค์ประกอบของ ROE ตาม DuPont Analysis จะได้เป็น 3 กลุ่ม
การวิเคราะห์ ROE โดยแยกองค์ประกอบตาม DuPont Analysis ทำให้นักลงทุนสามารถวิเคราะห์หุ้นได้ชัดเจนและเห็นภาพรวมมากขึ้นว่าผลตอบแทน ROE มาจากที่ไหนทั้งโครงสร้างเงินทุน การนำสินทรัพย์ไปสร้างรายได้ และการทำกำไร อีกทั้ง ROE ยังมีความสัมพันธ์กับการเติบโตระยะยาวและมูลค่าหุ้นอีกด้วย
นักลงทุนอาจเคยสงสัยว่าทำไมบางบริษัทถึงทำกำไรได้ดีกว่าคู่แข่ง คำตอบอยู่ที่การวิเคราะห์แบบ DuPont Analysis เป็นเครื่องมือทางการเงินที่ช่วยให้เข้าใจว่าบริษัททำเงินได้อย่างไร โดยใช้ ROE เป็นตัวชี้วัดหลัก เพื่อเปรียบเทียบบริษัทในอุตสาหกรรมเดียวกัน ดูแนวโน้มการเติบโตของบริษัท และหาจุดแข็งและจุดอ่อนในการดำเนินงาน หมายความว่าการวิเคราะห์แบบ DuPont Analysis ช่วยให้ตัดสินใจลงทุนได้ถูกต้องแม่นยำมากขึ้น
หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน