การจัดสรรสินทรัพย์ให้พอใช้ในวัยเกษียณ

โดย เจษฎา เจริญสันติพงศ์ Assistant Manager Branch Banking Client Marketing บลจ.ธนชาต
2 Min Read
24 กุมภาพันธ์ 2565
5.148k views
PF_การจัดสรรสินทรัพย์ ให้พอใช้ในวัยเกษียณ_Thumbnail
Highlights
  • การรักษาเงินออมเพื่อให้พอใช้ไปตลอดชีวิตเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของคนวัยเกษียณ การจัดสรรสินทรัพย์จึงเป็นสิ่งจำเป็น เพราะเป็นการกระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์ประเภทต่าง ๆ โดยที่การกระจายการลงทุนนั้น สัดส่วนการลงทุน ระดับความเสี่ยง และผลตอบแทนที่คาดหวัง ต้องสอดคล้องกับเป้าหมายการลงทุน

  • การจัดสรรสินทรัพย์สำหรับคนวัยเกษียณ ต้องไม่ทำให้เงินมีความเสี่ยงมากเกินไป เพราะไม่มีสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่งตอบโจทย์ทั้งความเสี่ยงและผลตอบแทนได้ตลอดเวลา จึงควรแบ่งสัดส่วนในแต่ละสินทรัพย์ให้ดี

นักลงทุนคงคุ้นเคยกับการจัดสรรสินทรัพย์ (Asset Allocation) เพราะเป็นวิธีหนึ่งที่สามารถช่วยให้บรรลุเป้าหมายทางการเงินตามที่วางแผนไว้ โดยระหว่างทางอาจมีการปรับเปลี่ยนเป้าหมายเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การลงทุน หรืออาจปรับเป็นเป้าหมายพิเศษเพื่อช่วยให้บรรลุเป้าหมายได้เร็วยิ่งขึ้น  

ไม่เพียงแต่วัยทำงานเท่านั้นที่ต้องจัดสรรสินทรัพย์ ผู้ที่เข้าสู่วัยเกษียณก็ต้องจัดสรรสินทรัพย์ด้วยเช่นกัน แต่ก็มักมีคำถามว่า สัดส่วนที่เหมาะสมควรจะเป็นเท่าไร เนื่องจากวัยเกษียณบางคนอาจยังรับความเสี่ยงได้สูง ยังสามารถมีหุ้นไทย หุ้นต่างประเทศในสัดส่วนสูง ๆ ได้หรือไม่ หรือควรมีสินทรัพย์เสี่ยงต่ำในสัดส่วนที่สูง

 

สำหรับการจัดสรรสินทรัพย์หรือการแบ่งสัดส่วนสินทรัพย์ที่เหมาะสมของพอร์ตลงทุนวัยเกษียณ แบ่งเป็น 2 ส่วน ดังนี้

 

1. ขั้นพื้นฐาน

ารที่จะวางแผนการเงินเพื่อเกษียณอายุ สิ่งแรกที่จำเป็นต้องคำนึงถึงหรือเริ่มต้นพิจารณา คือ ค่าใช้จ่ายพื้นฐาน โดยเริ่มจากการจดบันทึกรายจ่ายในแต่ละงวด (รายวัน รายสัปดาห์ หรือรายเดือน) เช่น ค่าอาหาร ค่ารักษาพยาบาล ค่าประกัน ค่าเสื้อผ้า เงินบริจาค หรือภาษี เป็นต้น

 

การจดบันทึกจะช่วยให้เห็นพฤติกรรมการใช้จ่ายและสามารถประมาณการการใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ที่สำคัญข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์สำหรับการวางแผนการเงินในการช่วยประมาณการค่าใช้จ่ายตลอดการมีชีวิต รวมถึงทดสอบขีดจำกัดและความสามารถของพอร์ตลงทุนว่าจะสามารถรองรับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้มากน้อยเพียงใด โดยสามารถใช้กฎ 4% ในการจัดพอร์ตลงทุนเพื่อวัยเกษียณ ซึ่งกฎนี้เป็นแนวทางให้คนวัยเกษียณตั้งค่าสำหรับการถอนเงินประจำปีออกมาใช้ได้ 4% ของมูลค่าพอร์ตลงทุนโดยรวม แล้วปรับจำนวนเงินที่ถอนในแต่ละปีตามการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตาม หากปีใดที่ผลตอบแทนจากการลงทุนลดลงก็ควรลดจำนวนการถอนเงินออกมาใช้จ่าย เช่น 3% หรือ 3.5% เป็นต้น นอกจากนี้ วัยเกษียณควรจัดสรรเงินเพิ่มเติมบางส่วนเพื่อสำหรับค่าใช้จ่ายที่คาดไม่ถึง เช่น การเจ็บป่วยที่ต้องรักษาพยาบาลเป็นเวลานาน การเกิดวิกฤติเศรษฐกิจหลายปีติดต่อกัน เป็นต้น

 

2. จัดสรรสินทรัพย์ลงทุน

การคิดคำนวณเกี่ยวกับการจัดสรรสินทรัพย์สำหรับวัยเกษียณ หากเป็นคนที่รับความเสี่ยงได้ต่ำ ควรเน้นการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง โดยเน้นสัดส่วนเงินฝาก (40%) ตราสารหนี้ (45%) ที่เหลือก็ลงทุนในหุ้น (15%) หากรับความเสี่ยงได้ปานกลาง ควรลงทุนในสินทรัพย์ที่มั่นคง สามารถสร้างรายได้ได้สม่ำเสมอ ด้วยการเน้นเงินฝาก (30%) ตราสารหนี้ (50%) ที่เหลือก็ลงทุนในหุ้น (20%) และหากรับความเสี่ยงได้สูง ควรลงทุนในสินทรัพย์ที่มั่นคง สร้างรายได้สม่ำเสมอ และเพิ่มค่าเงินออมในระยะยาว โดยการเน้นเงินฝาก (20%) ตราสารหนี้ (45%) ที่เหลือก็ลงทุนในหุ้น (35%) เป็นต้น

 

จากตัวอย่างการจัดสรรสินทรัพย์ลงทุน ผู้ที่อยู่ในวัยเกษียณต้องนำไปประยุกต์ให้สอดคล้องกับความเสี่ยงที่ตัวเองยอมรับได้ และออกแบบพอร์ตลงทุนให้สอดคล้องกับความเสี่ยงนั้น นอกจากนี้ ยังต้องคำนึงถึงผลตอบแทนที่คาดหวังว่าจะได้มากน้อยเพียงใด เพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่คิดไว้หรือไม่ ควรปรับเพิ่มหรือลดการลงทุนในสินทรัพย์ใดบ้างหรือไม่ เพื่อให้ได้ผลตอบแทนตามเป้าหมายที่ต้องการ เพราะบางครั้งคำว่า “ปลอดภัยไว้ก่อน” สำหรับคนที่เกษียณแล้ว อาจไม่ได้หมายความว่าให้ลงทุนเฉพาะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย แต่เป็นการลงทุนที่เผื่อว่าอายุจะยืนยาวกว่าที่ต้องการ ดังนั้น ยิ่งคาดว่าจะอายุยืนยิ่งต้องกล้าลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงในสัดส่วนที่มากขึ้น


สำหรับใครที่สนใจ เรียนรู้เทคนิคและวิธีการบริหารจัดการเงินหลังเกษียณ เพื่อเตรียมพร้อมก้าวสู่ชีวิตหลังเกษียณอย่างมีความสุข สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “วางแผนการเงินหลังเกษียณ สไตล์วัยเก๋า” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

 

หรือสนใจเรียนรู้วิธีการสร้างและบริหารพอร์ตหุ้นอย่างมืออาชีพ พร้อมเจาะลึกเทคนิคจัดทำแผนการลงทุนทั้งระยะสั้นและระยาว เพื่อสร้างพอร์ตลงทุนให้เติบโตอย่างยั่งยืน สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร Portfolio Strategy ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่ 

แท็กที่เกี่ยวข้อง: