Uptick Rule: เรื่องควรรู้ก่อน Short Sell

โดย ฐิติเมธ โภคชัย ฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
2 Min Read
9 กรกฎาคม 2567
2.219k views
TSI_Article_602_Inv_Thumbnail
Highlights
  • ตลาดหลักทรัพย์ฯ นำมาตรการ Uptick Rule มาใช้เพื่อป้องกันการปั่นราคาหุ้นและลดความผันผวนของตลาด โดยกำหนดให้ขายชอร์ตในราคาที่สูงกว่าราคาซื้อขายครั้งสุดท้าย

  • มาตรการนี้ช่วยป้องกันการขายชอร์ตที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งอาจทำให้ราคาหุ้นลดลงอย่างผิดปกติและสร้างความเสียหายแก่นักลงทุน

  • จากข้อมูลในอดีต ช่วงที่มีการใช้มาตรการ Uptick Rule พบว่ามูลค่าการขายชอร์ตในตลาดลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งมาตรการนี้จะช่วยให้ตลาดมีเสถียรภาพ ลดความผันผวน และเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน

ในโลกของการลงทุน โอกาสทำกำไรและขาดทุนอาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แม้ว่าการได้กำไรหรือขาดทุนจะเป็นเรื่องธรรมชาติของการลงทุน แต่หากราคาหุ้นเคลื่อนไหวผิดปกติ และส่งผลกระทบต่อนักลงทุนหรืออาจทำให้นักลงทุนได้รับความเสียหาย

 

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้เพิ่มมาตรการดูแลการซื้อขาย โดยเฉพาะการขายชอร์ต (Short Sell) เพื่อสร้างความโปร่งใสและช่วยลดความผันผวนของตลาด เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของนักลงทุนทุกราย ด้วยการนำมาตรการ Uptick Rule มาใช้อีกครั้งเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ที่ผ่านมา หลังจากเคยใช้เป็นมาตรการชั่วคราวช่วงเกิดการแพร่ระบาด COVID-19 ซึ่งมาตรการนี้เป็นที่รู้จักกันดีว่าจะช่วยป้องกันการ “ปั่นราคาหุ้น” โดยนักลงทุนที่ขายชอร์ต ที่พยายามกดราคาหุ้นเป้าหมายลง เพื่อกระตุ้นให้นักลงทุนรายอื่น ๆ ตื่นตระหนกและเทขายหุ้นตาม หมายความว่า มาตรการ Uptick Rule ถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันไม่ให้การขายชอร์ตจำนวนมาก ดันราคาหุ้นเป้าหมายลงอย่างผิดปกติ เพื่อให้ผู้ขายชอร์ตได้กำไรอย่างไม่เป็นธรรม ที่สำคัญเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน สร้างความมั่นคงให้ตลาดโดยรวม

 

ข้อมูลจาก บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ กล่าวว่าจากข้อมูลในอดีตปี 2563 ซึ่งตลาดหุ้นไทยต้องเผชิญความผันผวนอย่างมากจากความกังวลสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ อนุมัติให้มีการปรับปรุงเกณฑ์ราคาขายชอร์ต (Short Sell) ด้วยการออกมาตรการ Uptick Rule ตั้งแต่การซื้อขายภาคบ่ายของวันที่ 13 มีนาคม – 30 มีนาคม ปี 2563 จากนั้นพบว่า ตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม – 30 มีนาคม ปี 2563 มูลค่า Short Sell ของตลาดลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

 

เกณฑ์ Uptick ทำงานอย่างไร

ปกติการขายชอร์ตหุ้นภายใต้เกณฑ์กำกับในแต่ละประเทศนั้น จะมีเกณฑ์เรื่องของราคาหุ้นที่ส่งคำสั่งขายชอร์ตหุ้นไว้เพื่อป้องกันผลกระทบกับราคาหุ้น สำหรับประเทศไทย ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนดให้ขายชอร์ตได้แค่ราคาล่าสุด หรือเรียกว่า Zero-Plus Tick Rule  

Table showing examples of short sale pricing criteria under the Zero-Plus Tick Rule.

จากตัวอย่าง ราคาล่าสุดของหุ้น XYZ ฝั่งซื้อ (Bid) อยู่ที่ 20 บาท ดังนั้น หากต้องการ Short Sell ก็สามารถทำได้ที่ราคา 20 บาทได้ทันที

 

อย่างไรก็ตาม เพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาด ป้องกันการปั่นราคาหุ้น ส่งเสริมความเชื่อมั่นของนักลงทุน โดยปกป้องผู้ถือหุ้นระยะยาวที่อาจตกเป็นเป้าหมายของผู้ขายชอร์ตที่ต้องการลดราคาลงมาเพื่อทำกำไรอย่างรวดเร็ว จึงเพิ่มมาตรการจาก Zero-Plus Tick Rule เป็น Uptick Rule โดยให้ขายชอร์ตได้ในราคาที่สูงกว่าราคาซื้อขายครั้งสุดท้าย
Table showing examples of short sale pricing criteria under the Uptick Rule.

จากตัวอย่าง ผู้ที่จะขาย (Bid) Short Sell ต้องขายเหนือกว่าราคาล่าสุด 1 ช่อง ดังนั้น หุ้น XYZ ราคาล่าสุด 20 บาท ผู้ที่ต้องการ Short Sell จะต้องส่งคำสั่งได้ที่ราคา 20.25 บาท

 

มาตรการ Uptick Rule เข้ามาแทนเกณฑ์ Zero-Plus Tick Rule นักวิเคราะห์ บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ มองว่าทำให้ธุรกรรม Short Sell ทำได้ยากขึ้นในช่วงตลาดขาลง ซึ่งเป็นช่วงที่ตลาดจะมีแรงขายมากกว่าแรงซื้อ ทำให้มีโอกาสยากขึ้นที่ธุรกรรมซื้อ (Bid) จะขึ้นไปแตะราคาเสนอขาย (Offer) ที่เกิดจากการทำ Short Sell ที่ราคาสูงกว่าราคาตลาดครั้งล่าสุด 1 ช่อง จึงช่วยลดความผันผวนของการปรับตัวลงของราคาหุ้นและนักลงทุนมีความเชื่อมั่นต่อตลาดเพิ่มขึ้น

 

หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน


แท็กที่เกี่ยวข้อง: