9 หุ้น สภาพคล่องทางการเงินแจ่ม

โดย ฐิติเมธ โภคชัย ฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
3 Min Read
3 กรกฎาคม 2567
5.331k views
TSI_Article_599_Inv_Thumbnail
Highlights
  • ในภาวะเศรษฐกิจไม่แน่นอน หากบริษัทเก็บเงินสดไว้ในมือเพื่อรักษาสภาพคล่องทางการเงิน จะช่วยป้องกันการเกิดปัญหาทางการเงินหากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน เช่น วิกฤติเศรษฐกิจ เป็นต้น

  • นักลงทุนควรมองหาหุ้นที่มีเงินสดเยอะและหนี้สินต่ำ เนื่องจากบริษัทเหล่านี้สามารถรับมือกับภาวะเศรษฐกิจผันผวนได้ดีกว่าบริษัทที่มีหนี้สินสูงและกระแสเงินสดน้อย

  • วงจรเงินสด (Cash Cycle) เป็นตัวบ่งชี้สำคัญในการวัดประสิทธิภาพการจัดการกระแสเงินสดของบริษัท ซึ่งวงจรเงินสดที่สั้นหรือติดลบสะท้อนถึงการบริหารจัดการที่ดี ช่วยให้บริษัทมีสภาพคล่อง และสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างราบรื่น

ในภาวะที่เศรษฐกิจโดยรวมยังไม่น่าไว้วางใจ ทำให้การดำเนินธุรกิจภาคเอกชนต้องตั้งอยู่ในความไม่ประมาท และแน่นอนทำให้ผู้ประกอบการเลือกที่จะเก็บเงินสดเอาไว้ติดตัว พูดง่าย ๆ บริษัทเลือกที่จะมีสภาพคล่องทางการเงินในระดับที่รู้สึกว่าอุ่นใจ เพราะหากเกิดอะไรขึ้นมาโดยไม่คาดฝันจะไม่ต้องเดือดร้อนไปหยิบยืม ร้ายไปกว่านั้นหากยืมเงินไม่ได้อาจจะต้องปิดกิจการ

 

ว่ากันว่าหุ้นที่ถูกจับตามองมากที่สุดกับภาวะเศรษฐกิจผันผวน หนีไม่พ้นหุ้นที่มีกระแสเงินสดเยอะ หนี้สินต่ำหรือไม่มีหนี้สิน พูดง่าย ๆ มีสภาพคล่องทางการเงินแข็งแกร่ง ตรงกันข้ามหุ้นที่มีหนี้สินเต็มบริษัท เงินสดในมือน้อย อาจจะต้องพบกับแรงกดดันกับความอยู่รอดหากเกิดวิกฤติ ซึ่งผู้บริหารทุกบริษัทตระหนักดีว่าการเตรียมเงินสดไว้ในมือเป็นเรื่องสำคัญ

 

ดังนั้น ในภาวะเช่นนี้ สภาพคล่องทางการเงิน คือ หัวใจของการอยู่รอดของธุรกิจ เพราะหาก “เงินสดขาดมือ” และบริษัทมีภาระต้องจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้หรือมีภาระคืนเงินกู้ภายในระยะเวลาที่กำหนด อาจนำไปสู่การถูกฟ้องล้มละลายได้

Table of Nine Stocks with High Financial Liquidity.

เงื่อนไขการจัดอันดับ

  1. วงจรเงินสด ณ วันที่ 24 มิถุนายน 2567
  2. วงจรเงินสดติดลบ 5 ปีต่อเนื่อง (ปี 2562 – 2566)
  3. กำไรสุทธิเป็นบวก (ไม่ขาดทุน) 5 ปีต่อเนื่อง (ปี 2562 – 2566)
  4. กำไรสุทธิไตรมาส 1 ปี 2567 เป็นบวก
  5. D/E Ratio ไตรมาส 1 ปี 2567 ต่ำกว่า 1 เท่า
  6. ROE Ratio ไตรมาส 1 ปี 2567 มากกว่า 5%

 

วิธีหนึ่งที่ได้รับความนิยมจากนักลงทุนในการดูว่าบริษัทไหนมีสภาพคล่องทางการเงินที่ไว้วางใจได้ คือ วงจรเงินสด (Cash Cycle) โดยผลลัพธ์ที่ออกมา “ยิ่งน้อยหรือติดลบ ยิ่งดี” เพราะสะท้อนถึงการมีประสิทธิภาพในการสร้างยอดขายและสามารถเรียกเก็บเงินสดจากลูกหนี้การค้าได้ ก่อนที่จะต้องจ่ายเงินสดนั้นออกไปให้กับเจ้าหนี้การค้าหรือนำไปจ่ายหนี้ ทำให้มีเงินสดมาใช้หมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจได้อย่างเพียงพอ เช่น การลงทุน การจ่ายเงินปันผล การจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ เป็นต้น

 

“วงจรเงินสด” มีความสำคัญเพราะสามารถบ่งบอกถึงการบริหารจัดการเรื่องกระแสเงินสด ถ้าผู้บริหารจัดการดี จะทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องกระแสเงินสดขาดมือ การหมุนเงินก็คล่อง มีเงินชำระหนี้ได้สบาย ๆ โดยวงจรเงินสดสามารถดูได้จากการขายสินค้าและสินค้าค้างสต็อก

สูตรคำนวณวงจรเงินสด

วงจรเงินสด = ระยะเวลาขายสินค้า + ระยะเวลาเก็บหนี้ - ระยะเวลาจ่ายหนี้

 

สำหรับบริษัทที่อาจมีปัญหาเรื่องกระแสเงินสด คือ ถึงแม้ขายสินค้าได้ แต่เก็บเงินไม่ได้ บริษัทก็จะต้องหากระแสเงินสดจากทางอื่น เพื่อมาใช้ในการดำเนินงาน เช่น พึ่งพาเงินกู้ หรือเพิ่มทุน เป็นต้น สังเกตจากวงจรเงินสด “มีค่าเป็นบวก” แสดงว่าสามารถขายสินค้าและเก็บหนี้ได้ช้ากว่าการจ่ายหนี้ ทำให้มีการเงินที่ติด ๆ ขัด ๆ หรือมีสภาพคล่องต่ำ

 

ตัวอย่าง

  • บริษัท ACB มีระยะเวลาขายสินค้า 20 วัน มีระยะเวลาเก็บหนี้ 5 วัน และมีระยะเวลาจ่ายหนี้ 50 วัน ดังนั้น วงจรเงินสดของบริษัท ABC จึงเท่ากับ 20 + 5 – 50 = -25 วัน แสดงว่า บริษัท ABC มีวงจรเงินสดที่ดี ไม่มีความจำเป็นต้องกู้เงินมาเพื่อเพิ่มสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ เพราะสามารถขายสินค้าได้ในระยะเวลาไม่นาน คือ 20 วัน จึงไม่มีปัญหาด้านการสต๊อกสินค้า ที่สำคัญยังได้รับเงินสดจากการขายสินค้าภายในเวลา 5 วัน จึงสามารถนำเงินสดมาใช้หมุนเวียนก่อนจ่ายเจ้าหนี้ (เครดิตเจ้าหนี้ 50 วัน) ได้ถึง 25 วัน
  • บริษัท XYZ มีระยะเวลาขายสินค้า 20 วัน มีระยะเวลาเก็บหนี้ 20 วัน และมีระยะเวลาจ่ายหนี้ 0 วัน ดังนั้น วงจรเงินสดของบริษัท XYZ จึงเท่ากับ 20 + 20 – 0 = 40 วัน แสดงว่า บริษัท XYZ มีวงจรเงินสดไม่ดี หากบริษัทไม่มีระบบบริหารจัดการที่ดีอาจเกิดปัญหาขาดเงินสดหมุนเวียน เนื่องจากต้องจ่ายเงินสดทันทีเมื่อซื้อสินค้า (เครดิตเจ้าหนี้ 0 วัน) แต่บริษัทจำเป็นต้องรอไปอีก 40 วัน จึงจะได้รับเงินสดจากการขายสินค้า

 

ดังนั้น ก่อนตัดสินใจลงทุนควรพิจารณาหุ้นที่มีวงจรเงินสดติดลบเพื่อเพิ่มความปลอดภัยมากขึ้น นอกจากนี้ จากการที่บริษัทเหล่านี้มีกระแสเงินสดแข็งแรงทำให้มีความสามารถในการจ่ายเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งไม่น่าแปลกใจหากหุ้นที่มีกระแสเงินสดเยอะ ๆ มีการจ่ายเงินปันผลอย่างต่อเนื่องด้วย

ความสำคัญของวงจรเงินสด

  • สภาพคล่องทางการเงิน วงจรเงินสดติดลบแสดงถึงความสามารถในการบริหารสภาพคล่องที่ดี บริษัทสามารถนำเงินมาใช้หมุนเวียนได้เร็วขึ้น ลดความเสี่ยงในการขาดสภาพคล่อง
  • ประสิทธิภาพการดำเนินงาน วงจรเงินสดสะท้อนถึงประสิทธิภาพในการบริหารสินค้าคงคลัง การเรียกเก็บเงินจากลูกหนี้ และการจัดการเจ้าหนี้ ซึ่งเป็นตัวชี้วัดสำคัญของการดำเนินธุรกิจ
  • ความสามารถในการทำกำไร การบริหารวงจรเงินสดที่ดีช่วยลดต้นทุนทางการเงิน เพิ่มโอกาสในการทำกำไร และสร้างมูลค่าให้กับธุรกิจ
  • การวางแผนทางการเงิน การเข้าใจวงจรเงินสด ทำให้วางแผนทางการเงินได้มีประสิทธิภาพ บริษัทสามารถคาดการณ์ความต้องการเงินทุนหมุนเวียนได้ดียิ่งขึ้น
  • การเติบโตของธุรกิจ วงจรเงินสดที่มีประสิทธิภาพ ช่วยให้บริษัทมีเงินทุนเพียงพอสำหรับการขยายกิจการ ลงทุนในโครงการใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์


ดังนั้น จึงไม่แปลกใจว่านักลงทุนมักจะมองหุ้นที่มีสุขภาพทางการเงินแข็งแรง โดยให้ความสำคัญกับบริษัทที่มีเงินสดในมือสูง มีกระแสเงินสดต่อเนื่อง สามารถจ่ายหนี้ได้อย่างมั่นคง และสามารถจ่ายเงินปันผลในอัตราสูงต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การดูวงจรเงินสด เป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นในบางประเด็นเท่านั้น การวิเคราะห์เพื่อลงทุนยังมีอีกหลายประเด็นที่นักลงทุนต้องวิเคราะห์รายละเอียดอื่น ๆ เช่น ผลประกอบการ อัตราส่วนทางการเงิน และแนวโน้มของอุตสาหกรรมของบริษัทต่อไปด้วยว่าน่าสนใจและควรลงทุนหรือไม่

 

หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน


สำหรับใครที่สนใจ เรียนรู้วิธีการดูว่ากิจการนั้น จะไปรอดหรือไม่ ...ต้องดูที่งบกระแสเงินสด โดยเรียนรู้โครงสร้างและเทคนิคในการวิเคราะห์งบกระแสเงินสด ผ่านกรณีศึกษาต่าง ๆ เพื่อตรวจสอบการได้มาและใช้ไปของเงินสด รวมถึงสภาพคล่องทางการเงินของกิจการ เพื่อเพิ่มโอกาสค้นหาหุ้นพื้นฐานดี น่าลงทุน สามารถเรียนรู้ผ่าน e-Learning หลักสูตร “Statement of Cash Flows” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่
แท็กที่เกี่ยวข้อง: