การลงทุนแบบ Active ได้ผลจริงหรือไม่ ?

โดย พงษ์ธร ถาวรธนากุล, CFA ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Lief Capital Asset Management
3 Min Read
11 มิถุนายน 2567
2.315k views
TSI_Article_596_Inv_Thumbnail
Highlights
  • การลงทุนแบบ Active เพื่อสร้างผลตอบแทนในภาวะตลาดผันผวน จากสถิติพบว่าผลตอบแทนไม่ได้สูงกว่าดัชนีอ้างอิงอย่างมีนัยสำคัญ โดยผลตอบแทนส่วนใหญ่มาจากการจัดสรรสินทรัพย์มากกว่าการจับจังหวะตลาดหรือเลือกหุ้นเฉพาะกลุ่ม

  • การลงทุนแบบ Passive ให้ผลตอบแทนที่มั่นคงกว่า โดยข้อมูลจาก Fidelity ชี้ว่าการลงทุนแบบถือยาวในดัชนี S&P 500 ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 12.4% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าและมั่นคงกว่าการจับจังหวะตลาดที่อาจพลาดวันสำคัญ ทำให้ผลตอบแทนลดลงอย่างมาก

หลายครั้งที่นักลงทุนมองหาคำแนะนำหรืออ่านบทวิเคราะห์การลงทุนก็จะเจอคำว่า “ถึงเวลาที่ต้องลงทุนแบบ Active Investment” หรือ “ตลาดผันผวนแบบนี้ต้องเลือกลงทุนเป็นรายตัว” เมื่อฟังแล้วก็ดูน่าสนใจ โดยเฉพาะผู้ที่ชอบความตื่นเต้น มีความมั่นใจ เน้นสร้างผลตอบแทนมากกว่าความปลอดภัย โดยอาศัยจังหวะซื้อขายทำกำไรหรือเลือกลงทุนเฉพาะบางกลุ่มอุตสาหกรรม ในภาวะการลงทุนที่ราคามีความผันผวนมากกว่าปกติ

 

สำหรับผลตอบแทนจากการลงทุนแบบ Active ตามหลักการเบื้องต้นมาจาก 2 ส่วน

  • เข้าลงทุนถูกจังหวะ (Market Timing) การจับจังหวะซื้อขาย เกิดขึ้นจากความผันผวนของราคาตลาด (Volatility) อาจทำได้สองแบบ เช่น เลือกซื้อหุ้นรายตัวถูกจังหวะ (ราคากำลังจะปรับขึ้น) หรือลงทุนในกองทุนรวมหุ้น หรือกองทุน ETFs ที่อ้างอิงกับดัชนีหุ้นในจังหวะที่ดัชนีที่อ้างอิงกำลังเป็นขาขึ้น
  • เลือกซื้อถูกตัว (Stock Selection) การเลือกลงทุนเฉพาะหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น หุ้นกลุ่มโรงพยาบาล โดยลงทุนหุ้นหลายตัว ทำให้ได้ราคาหุ้นที่มีการกระจายตัว (Dispersion) จึงทำให้ได้ราคาที่มีมูลค่าหุ้น (Valuation) ที่ต่างกัน

 

ลงทุนแบบ Active ให้ผลตอบแทนที่ดีจริงหรือไม่ ?

Vanguard บริษัทจัดการลงทุนได้ทำการพิสูจน์ข้อเท็จจริงทางสถิติจากอุตสาหกรรมกองทุน ด้วยการนำผลตอบแทนรายเดือนของกองทุนที่อยู่ในกลุ่ม Active Management ทั้งหมดในสหรัฐอเมริกา เปรียบเทียบผลตอบแทนของกองทุนรวมกับดัชนีชี้วัด (Benchmark) ของกองทุนนั้น และดูว่าปัจจัยตลาดผันผวน (Volatility) และราคาหุ้นมีการกระจายตัว (Dispersion) มีความสัมพันธ์ต่อผลตอบแทนที่สูงขึ้นหรือไม่

 

สมมติฐาน คือ หากปัจจัยทั้งสอง (ตลาดผันผวนและราคาหุ้นกระจายตัว) ที่ทำให้เกิดผลตอบแทนจากการลงทุน (Active Return) จริง ผลตอบแทนของกองทุนรวมควรจะสูงกว่าเกณฑ์วัดผลในช่วงเวลาดังกล่าวด้วย

Table Showing Returns Under Volatile Market Conditions and Stock Price Dispersion.

จากตาราง พบว่าถึงแม้ในช่วงตลาดมีความผันผวนน้อยไปหามากเพียงใดและราคาหุ้นมีการกระจายตัว ก็ไม่ทำให้ผลตอบแทนของกองทุนประเภท Active Fund สูงกว่าดัชนีอ้างอิงอย่างมีนัยสำคัญ ที่สำคัญผลตอบแทนไม่เป็นที่น่าประทับใจด้วย และจากการพิสูจน์ดังกล่าวสามารถตั้งข้อสังเกตได้ ดังนี้

  • หากทั้งตลาดผันผวน (Volatility) และราคาหุ้นกระจายตัว (Dispersion) เกิดพร้อมกัน จะทำให้ผลตอบแทนของกองทุนรวมมีความผันผวนสูงขึ้น ทำให้ผลตอบแทนปรับลดลงและต่ำกว่า Benchmark
  • การพิสูจน์รอบนี้สอดคล้องกับหลักการจัดพอร์ตลงทุนที่บอกว่าผลตอบแทนที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่กว่า 92% มาจากการจัดสรรสินทรัพย์ (Asset Allocation) ส่วนผลตอบแทนที่ได้จากการจับจังหวะมีเพียง 2% และได้จากการลงทุนในหุ้นบางกลุ่มอุตสาหกรรม 6%

 

ดังนั้น หากนักลงทุนสนใจเลือกลงทุนแบบ Active นอกจากจะพิจารณาภาวะตลาดหรือราคาหุ้น ก็ต้องหาปัจจัยสนับสนุนอื่น ๆ ประกอบการตัดสินใจด้วย เช่น การติดตามงบการเงินอย่างต่อเนื่อง การวิเคราะห์และมองภาพแนวโน้มระยะยาวให้แม่นยำ เป็นต้น

 

ถ้าไม่ลงทุนแบบ Active หรือยังไม่พร้อม มีทางเลือกที่ดีพอหรือไม่ ?

Fidelity บริษัทจัดการลงทุน ทำข้อมูลการถือลงทุนในดัชนี S&P 500 ตั้งแต่ปี 1980 – 2022 พบว่าหากลงทุนและถือไว้โดยที่ไม่ขายเลยตลอดช่วงเวลาดังกล่าว (Buy & Hold) จากเงินลงทุน 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ จะเพิ่มเป็น 1,082,309 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 107 เด้ง คิดเป็นผลตอบแทนเฉลี่ย 12.4% ต่อปี

 

อย่างไรก็ตาม หากนักลงทุนเลือกจับจังหวะลงทุน (ซื้อ ๆ ขาย ๆ) หรือลดพอร์ตลงทุนบ้าง แล้วพลาดวันที่ผลตอบแทนตลาดหุ้นดีที่สุดไปเพียง 5 วัน พบว่าเงินลงทุน 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มเป็น 671,051 ดอลลาร์สหรัฐ หรือหากพลาดวันที่ผลตอบแทนตลาดหุ้นดีที่สุดไป 50 วัน เงินลงทุน 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มเพียง 76,104 ดอลลาร์สหรัฐ (ดูกราฟด้านล่างประกอบ)

Graph Showing Hypothetical Growth of 10,000 USD Invested in the S & P 500 Index from 1 January 1980 to 31 December 2022.

จากการพิสูจน์ทั้งสองกรณี อาจกล่าวได้ว่าการลงทุนแบบเชิงรับ (Passive Investment) ซึ่งเน้นการลงทุนระยะยาว กระจายความเสี่ยงที่เหมาะสม มีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่คุ้มค่า คุ้มเวลามากกว่า ดังนั้น หากนักลงทุนประเมินตัวเองและพบว่ายังไม่พร้อมที่จะลงทุนแบบ Active ลองเปิดใจด้วยการเริ่มต้นลงทุนแบบเชิงรับก่อน เพราะถึงแม้การลงทุนแบบ Active อาจให้ผลตอบแทนที่ดีได้ในบางกรณี แต่หากต้องการได้ผลตอบแทนสม่ำเสมอ การเลือกลงทุนแบบ Passive ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ

 

หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน


สำหรับใครที่สนใจ เรียนรู้สไตล์การลงทุนแบบต่าง ๆ รวมไปถึงสไตล์หุ้นแต่ละประเภท เพื่อคัดเลือกหุ้นและวางกลยุทธ์การลงทุนให้เหมาะกับตนเอง สามารถเรียนรู้ได้ที่ e-Learning หลักสูตร “Investment Styles” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่
แท็กที่เกี่ยวข้อง: