หุ้นเทคฯ ยังมีโอกาสอยู่ไหม เมื่อขนาดเริ่มใหญ่คับตลาด

โดย ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจและลงทุนต่างประเทศ
3 Min Read
7 มิถุนายน 2567
4.79k views
TSI_Article_595_Inv_Thumbnail
Highlights
  • หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีมีสัดส่วน Market Cap. ใหญ่ที่สุดในรอบหลายสิบปี ทำให้นักลงทุนตั้งคำถามเกี่ยวกับความสมเหตุสมผลและการเลือกลงทุน

  • หุ้นเทคโนโลยีแบ่งเป็น 3 กลุ่มสำคัญ ได้แก่ Semiconductor, Hardware และ Software โดยแต่ละกลุ่มมีจุดเด่นและความเสี่ยงที่แตกต่างกัน

  • กลุ่ม Semiconductors มีความสามารถในการทำกำไรสูง ส่วนกลุ่ม Software มีการเติบโตสูง ขณะที่กลุ่ม Hardware มีการเติบโตช้าแต่มีความเสถียรในการจ่ายปันผล

  • นักลงทุนสามารถลงทุนหุ้นเทคฯ ที่อยู่ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยุโรป และจีน ผ่าน DR และ DRx ซึ่งวันนี้มีให้ซื้อขายในตลาดหุ้นไทยแล้ว เช่น หุ้น NVIDIA, ASML, XIAOMI เป็นต้น

ในช่วงที่ธีมการเติบโตของเศรษฐกิจถูกชี้นำโดยเทคโนโลยี หุ้นที่เกี่ยวข้องก็ปรับตัวสูงขึ้นจนมีสัดส่วน Market Cap. เมื่อเทียบกับตลาด ใหญ่ที่สุดในรอบหลายสิบปี ทำให้นักลงทุนหลายท่านเริ่มตั้งคำถามว่า การลงทุนในกลุ่มเทคโนโลยี มีเหตุผลอยู่ไหม? แพงไปหรือไม่? หรือควรเลือกลงทุนอย่างไร?

 

สำหรับตลาดการเงิน ภาคเทคโนโลยี (Information Technology) ในปัจจุบัน สามารถแบ่งได้ 3 กลุ่มสำคัญที่ต้องรู้จัก ประกอบด้วย Semiconductor, Hardware และ Software ซึ่งทั้งหมดไม่ได้แพง แต่ก็ไม่ได้เติบโตสูงตลอดเวลา นักลงทุนสามารถทำความเข้าใจและเลือกลงทุนได้

 

กลุ่มแรก จับต้องได้แต่มักไม่ต้องจับ คือ Semiconductor เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนเทคโนโลยี

 

ปัจจุบัน Semiconductor มีขนาด Market Cap. รวมใหญ่ที่สุดในกลุ่มย่อยของภาคเทคโนโลยี กลุ่มนี้ประกอบด้วยบริษัทผู้ผลิต Memory, Core Processors, Graphic Chips, Logic Controllers นักลงทุนมักเรียกรวมว่า Chips ซึ่งทั้งหมดเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของสินค้า Electronics และบริการทางเทคโนโลยีที่เราใช้กันอยู่

 

ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ 85% จะอยู่ในสหรัฐฯ โดยมีบริษัทหลักอย่าง NVIDIA, Broadcom, AMD, Intel และ Taiwan Semiconductor (TSMC)

 

จุดแข็งของ Semiconductor สำหรับการลงทุนคือ ความสามารถในการทำกำไรที่สูงที่สุด แม้ช่วงนี้ Semiconductor บางบริษัทอาจมีราคาสูงผิดปกติไปบ้าง

 

แต่ในมุมการประกอบธุรกิจ Chip Makers ควรเป็นกลุ่มที่ Valuation ถูกกว่า Tech อื่น ด้วยความที่สินค้ามีความเป็นกึ่งโภคภัณฑ์ ความเสี่ยงสำคัญของกลุ่มนี้คือ คาดเดารายได้ยาก เพราะจะมีหลากหลายปัจจัย เช่น ความต้องการซื้อ ความต้องการขาย (Demand & Supply) หรือการเมือง (Politics) เข้ามาเกี่ยวข้องอยู่ตลอดเวลา

 

กลุ่มที่สอง เทคโนโลยีที่จับต้องไม่ได้ แต่ใช้บริการทุกวันอย่าง Software and Services เป็น Tech ที่เติบโตสูงและมักแพงที่สุด

 

ธุรกิจ Software เป็นธุรกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา สินค้าที่ตอบโจทย์เดียวกัน อาจมีความแตกต่างกันมาก ทำให้การแข่งขันในธุรกิจสูง ในอดีต ช่วงเริ่มต้นธุรกิจ บริษัท Software มักเน้นการเติบโตด้านยอดขายก่อนกำไร จึงมักเป็นกลุ่ม Tech ที่ผันผวนสูงและคาดเดากำไรได้ยากที่สุด

 

แต่ในปัจจุบัน กลุ่ม Software นำโดยบริษัทใหญ่ที่มีขนาดส่วนแบ่งการตลาดสูงมาก เช่น Microsoft, Salesforce, Adobe, SAP, Oracle และ IBM เปลี่ยนโมเดลธุรกิจเป็นการให้บริการเป็นหลัก จึงทำให้ Software กลายเป็นกลุ่ม Tech ที่คาดเดาผลประกอบการได้ง่ายขึ้น เมื่อบวกกับความสามารถในการกำหนดราคาสินค้าและบริการ กำไรจึงแข็งแกร่ง และมักเป็นกลุ่มที่ซื้อขายในระดับ Valuation ที่แพงเมื่อเทียบกับกลุ่ม Tech ด้วยกัน

 

กลุ่มสุดท้าย Hardware เทคโนโลยีที่จับต้องได้ กำไรน้อยกว่า เติบโตช้ากว่า แต่คืนกำไรให้นักลงทุนมากกว่า

 

เทคโนโลยีกลุ่มที่สามคือ Hardware ประกอบด้วยผู้ผลิตและจัดจำหน่าย Mobile Devises, Laptops, PC และอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีอื่น ๆ โดยบริษัท Hardware จะกระจายตัวอยู่ทั่วโลก เช่น Apple, Dell, Cannon, Lenovo และ Samsung Electronics

 

ถ้าเปรียบเทียบกับกลุ่มเทคโนโลยีด้วยกัน Hardware เป็นเทคโนโลยีกึ่งกลาง สินค้าและบริการมีความคล้ายกันบ้างแต่ไม่ถึงกับเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ เพราะมีความแตกต่างกันตามลักษณะของแบรนด์

 

ส่วนในด้านการรับรู้ของตลาด Hardware เป็นกลุ่มที่มีความใกล้เคียงกับสินค้าฟุ่มเฟือย (Consumer Discretionary) มากที่สุด แม้การเติบโตอาจไม่ได้สูงเมื่อเปรียบเทียบในกลุ่ม Tech ด้วยกัน แต่ Hardware จะมีความสัมพันธ์กับวัฏจักรเศรษฐกิจและวัฏจักรธุรกิจสูง เมื่อไหร่ที่เศรษฐกิจดีก็จะเติบโตอย่างรวดเร็วไปด้วย

 

ผลประกอบการมักเชื่อมโยงกับ Market Share ที่ความผันผวนต่ำ การลงทุนมีระยะเวลาที่ชัดเจน จึงมักมีเงินเหลือมาจ่ายปันผล หรือซื้อหุ้นคืนให้กับนักลงทุนได้บ่อยครั้งกว่า

 

เมื่อเข้าใจส่วนประกอบของกลุ่มเทคโนโลยีแล้ว ก็มาถึงคำถามสำคัญว่า ภาค Technology ใหญ่เกินไปแล้วหรือไม่?

 

เทียบกับอดีตความใหญ่ของกลุ่ม Tech ถือเป็นประเด็นที่ต้องเฝ้าระวัง ควรลดความเสี่ยงด้วยการกระจายการลงทุน อย่างน้อยเป็นบริษัทที่อยู่นอกสหรัฐอเมริกา

 

ย้อนอดีตกลับไป 200 ปี เคยมีภาคธุรกิจที่มีสัดส่วนต่อตลาด ใหญ่กว่ากลุ่ม Tech ปัจจุบันแค่สามภาคธุรกิจและสามช่วงระยะเวลา คือ Finance & Real Estate ช่วงปี 1825 ที่มีสัดส่วน 90% ต่อจากนั้นคือ Transportation ช่วงปี 1875 สัดส่วน 70% และใกล้ที่สุดคือ Energy & Materials ปี 1950 สัดส่วน 40%

 

แม้การกระจุกตัวอาจอธิบายได้ด้วยกำไรที่เติบโตดีกว่าตลาด แต่ไม่มีครั้งไหนในประวัติศาสตร์ที่ภาคธุรกิจใดจะสามารถรักษาผลตอบแทนเหนือกว่าตลาดได้ตลอดไป

 

สำหรับกลุ่ม Tech แม้จะไม่มีคู่แข่งช่วงนี้ แต่นักลงทุนสามารถกระจายแบบ Equal Weight หรือย้ายไปสู่กลุ่มเทคโนโลยีที่อยู่นอกสหรัฐอเมริกา ที่มีขนาด Market Cap. ต่ำกว่า หรือถ้าต้องการลดความเสี่ยง ก็สามารถเน้นไปที่กลุ่ม Hardware เป็นหลักได้

 

อีกประเด็นคือ Tech ใหญ่ เช่น Magnificent Seven กำลังส่งสัญญาณว่าหุ้นเทคโนโลยีในปัจจุบันอาจไม่ใช่อนาคตทั้งหมด

 

แม้ Magnificent Seven จะไม่ใช้หุ้นเทคโนโลยีทั้งหมด แต่ก็มี Microsoft, Apple, NVIDIA เป็นหุ้นหลัก เช่นเดียวกับช่วงฟองสบู่ในหุ้นเทค (Tech Bubble) ปี 2000 ที่ประกอบด้วย Microsoft, Cisco, Intel, Oracle หรือช่วง Nifty 50 ปี 1973 IBM, Kodak, Xerox ความคล้ายกันคือ สัดส่วนต่อตลาดหุ้นที่สูง และมี Valuation ที่แพงขึ้นอย่างผิดปกติเป็นเหตุผลหลัก

 

หลังจากนั้นเห็นได้ชัดว่ามีเพียง Microsoft เท่านั้นที่ยืนระยะได้ในอีก 2 ทศวรรษ แต่นอกนั้นแม้จะเป็นหุ้น Big Tech ใหญ่แห่งยุค ก็ไม่ได้การันตีว่าจะเป็นอนาคตเสมอไป สำหรับการลงทุน จึงไม่ควรมองแค่ว่าเป็นหุ้นเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ที่เรารู้จัก แต่ต้องถามให้ลึกถึงโครงสร้างของธุรกิจ ลักษณะของการทำกำไร และ Valuation ด้วย

 

ลงทุนหุ้นเทคโนโลยีระดับโลก ผ่านตลาดหุ้นไทย

สำหรับนักลงทุนไทย ที่สนใจลงทุนหุ้นนอก ปัจจุบันสามารถลงทุนได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น ผ่านการลงทุนใน DR และ DRx (Fractional DR) ซึ่งเป็นตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย (SET) โดยผู้ออก DR และ DRx จะเป็นคนไปซื้อหุ้นหรือหน่วยลงทุนต่างประเทศ แล้วนำมาเสนอขายให้กับนักลงทุนไทยในรูปสกุลเงินบาทอีกต่อหนึ่ง ซึ่งผู้ถือ DR และ DRx จะได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เสมือนลงทุนหุ้นหรือหน่วยลงทุนต่างประเทศโดยตรง

 

ช่องทาง DR และ DRx ถือเป็นการลงทุนในประเทศไทย จึงไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากกำไรที่เกิดจากการลงทุนในต่างประเทศอีกด้วย ปัจจุบันตลาดหุ้นไทย (SET) มี DRx ที่อยู่ในกลุ่มเทคโนโลยีระดับโลกที่น่าสนใจ 3 ตัว ได้แก่

 

  1. NVDA80X อ้างอิงหุ้นบริษัท NVIDIA Corporation (NVDA) บริษัทในกลุ่ม Semiconductor มุ่งเน้นในการออกแบบและผลิตชิปกราฟิกสำหรับคอมพิวเตอร์ ชิปเซ็ต และซอฟต์แวร์มัลติมีเดีย มี Jensen Huang เป็นผู้ร่วมก่อตั้งและประธานบริษัท

 

  1. MSFT80X อ้างอิงหุ้นบริษัท Microsoft Corporation (MSFT) บริษัทในกลุ่ม Software ชั้นนำ ผลิตภัณฑ์หลักของบริษัทประกอบด้วยระบบปฏิบัติการ Windows เบราว์เซอร์ และชุดซอฟต์แวร์ Microsoft Office นอกจากนี้ยังมีบริการคลาวด์ แพลตฟอร์มเกม และอุปกรณ์ Surface

 

  1. AAPL80X อ้างอิงหุ้นบริษัท Apple Inc. (AAPL) บริษัทในกลุ่ม Hardware ที่ได้รับการยอมรับและความนิยมทั่วโลก ผลิตคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล สมาร์ตโฟน แท็บเล็ต และซอฟต์แวร์ ที่เรารู้จักดีอย่าง Mac, iPhone, iPad นอกจากนี้ยังมีบริการอื่น ๆ เช่น iCloud เป็นต้น

 

และมี DR ที่อยู่ในกลุ่มเทคโนโลยีที่น่าสนใจ ได้แก่

 

  1. BIDU80 อ้างอิงหุ้นบริษัท Baidu Inc (9888.HK) บริษัทในกลุ่ม Software ชั้นนำของจีน เป็นแพลตฟอร์มการค้นหา และเป็นผู้นำด้าน AI ในปัจจุบันสินค้าและบริการหลักของบริษัทประกอบด้วย Baidu App, Baidu Search, Baidu Feed, Haokan, Quanmin และบริการด้าน AI Cloud และ Intelligent Driving

 

  1. XIAOMI80 อ้างอิงหุ้นบริษัท Xiaomi Corporation (1810.HK) ผู้นำกลุ่ม Hardware ของจีน มีผลิตภัณฑ์สมาร์ตโฟนและฮาร์ดแวร์อัจฉริยะ เชื่อมต่อผ่านแพลตฟอร์ม IoT สินค้าหลักของ Xiaomi ได้แก่ Mi Phones, Redmi Phones, Mi TV นอกจากนี้ Xiaomi ยังมีผลิตภัณฑ์อื่น ๆ มากกว่า 150 รายการ รวมถึงบริการ Cloud Storage และบริการออนไลน์

 

  1. ASML01 อ้างอิงหุ้นบริษัท ASML Holding (ASML) บริษัท Semiconductor ระดับโลกและเป็นผู้ให้บริการโซลูชันการผลิตวงจรเต็มรูปแบบ ASML มีความสำคัญในการผลิต Micro Chips ขนาดเล็ก ประสิทธิภาพสูง ทำงานเร็ว และประหยัดพลังงาน

 

ในมุมมองของผม การลงทุนในกลุ่มเทคฯ ยังคงสำคัญ และเมื่อการลงทุนกระจุกตัว นักลงทุนก็ควรกระจายการลงทุนไปใน Semiconductor, Software และ Hardware ทั้งในและนอกสหรัฐฯ ครับ

 

อย่างไรก็ดี ต้องไม่ลืมว่าการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมจะมีการกระจุกตัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ความเสี่ยงจึงสูงกว่าการลงทุนทั่วไป ผู้ลงทุนควรปรึกษาผู้แนะนำการลงทุน และหาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง

 

หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน


สำหรับนักลงทุนมือใหม่และผู้ที่สนใจ เรียนรู้ภาพรวมและเครื่องมือที่ใช้ในการวิเคราะห์อุตสาหกรรม เพื่อค้นหาหุ้นดีในอุตสาหกรรมที่โดดเด่น น่าลงทุน สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “Sector Analysis” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่
แท็กที่เกี่ยวข้อง: