ในช่วงที่วัฏจักรเศรษฐกิจและตลาดการเงินกำลังกลับตัว ทุกคนมักอยากจับสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงให้ได้เร็วที่สุด อย่างไรก็ดี ตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญส่วนใหญ่มักไม่ได้มีการรายงานรายวัน นักลงทุนและนักวิเคราะห์จึงจับตาไปที่ตัวแปรตลาดอย่าง “หุ้น” เพื่อประเมินทิศทางเศรษฐกิจ
หุ้นกลุ่มที่มักถูกใช้เป็นตัวแทนของเศรษฐกิจมากที่สุด หนีไม่พ้นภาคการบริโภคหรือ Consumption เพราะการบริโภคเป็นกิจกรรมหลักของเศรษฐกิจทั่วโลก ถ้าการบริโภคฟื้นตัวหรือกลับทิศ ก็มีโอกาสสูงที่จะเห็นเศรษฐกิจและการลงทุนเคลื่อนไหวไปในทางเดียวกัน
สำหรับตลาดการเงิน ภาคการบริโภคจะถูกแบ่งออกเป็นสองประเภทหลัก คือ สินค้าฟุ่มเฟือย (Consumer Discretionary) และ สินค้าประจำ (Consumer Staple) บทความนี้ ขอเริ่มต้นด้วยการแนะนำ Sector Consumer Discretionary หรือสินค้าฟุ่มเฟือยทั่วโลก ที่ผันผวนสูงก่อน เพื่อให้นักลงทุนนึกภาพออก เข้าใจจังหวะ และมองหาโอกาสการลงทุนที่เหมาะสมกับตัวเองได้
เริ่มต้นต้องรู้ก่อนว่าการบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยทั่วโลก มีความคล้ายคลึงกันในเชิงสัญลักษณ์ แต่แตกต่างกันไปตามภูมิภาค
บริษัทในกลุ่มนี้ ไม่ได้ฟุ่มเฟือยหรือเกินจำเป็นไปเสียหมด ความหมายของคำว่า Discretionary แท้จริงหมายถึงสินค้าหรือบริการที่การตัดสินใจซื้อสามารถเลื่อนออกไปได้ หรือมีตัวเลือกที่แตกต่างกันหลายอย่าง ผู้บริโภคจึงต้องตัดสินใจเลือกสินค้าและบริการ
ดัชนี Global Consumer Discretionary ประกอบด้วยกลุ่มบริษัทสินค้าและบริการใหญ่ 5 กลุ่มนำโดย ยานยนต์ ตกแต่งบ้าน กิจกรรมยามว่าง ออนไลน์ชอปปิง และสินค้าหรูหรา
จากข้อมูลของ MSCI ACWI Consumer Discretionary Index ปัจจุบัน สัดส่วนการลงทุนประกอบด้วยหุ้นในสหรัฐฯ ราว 60% ยุโรป 20% และเอเชีย 20% โดยแต่ละประเทศจะมีกลุ่มย่อยที่ต่างกันชัดเจน
ในสหรัฐฯ มีหุ้นขนาดใหญ่อย่าง Amazon.com, Tesla, Starbucks และ Home Depot ในสัดส่วนที่สูง กลุ่มหลักจึงเป็น ออนไลน์ชอปปิง ยานยนต์ และตกแต่งบ้าน เป็นหุ้นสินค้าฟุ่มเฟือยที่ระดับ Valuation แพงกว่าและผันผวนสูงกว่าหุ้นโลก
ด้านยุโรป บริษัทกว่า 60% จะอยู่ในกลุ่มสินค้าหรูหรา ยานยนต์ เช่น LVMH, Richemont, Hermes, Mercedes-Benz Group หรือ Ferrari ธุรกิจฝั่งยุโรปเน้นไปทางสินค้าที่มีคุณค่า ทำให้ความผันผวนของราคาต่ำลง แต่ด้วยความหรูหรา Valuation จึงไม่ได้ถูกกว่าฝั่งสหรัฐฯ มากนัก
ส่วนในฝั่งเอเชียจะประกอบด้วยหุ้นญี่ปุ่นและจีนเป็นหลัก ธุรกิจแบ่งเป็นสามกลุ่มใหญ่ คือ ยานยนต์ ชอปปิง และอิเล็กทรอนิกส์ เช่น Toyota, Honda, Sony, Alibaba และ PDD Holding เป็นภูมิภาคที่สินค้าฟุ่มเฟือยมี Valuation ถูกที่สุด
ประเด็นถัดมา ทิศทางผลตอบแทนของบริษัทกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยใช้เทียบแนวโน้มเศรษฐกิจและวัฏจักรตลาดการเงินได้จริง
เมื่อทำการคำนวณความสัมพันธ์ระหว่างผลตอบแทนเทียบกับปีก่อนหน้าของ ACWI Consumer Discretionary Index กับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของสหรัฐฯ (ISM Manufacturing PMI) จะพบว่าไปในทิศทางเดียวกันและมี R-Square ราว 0.37 เป็นรองเพียงกลุ่มพลังงานและวัสดุอุตสาหกรรม
ส่วนในมุมตลาดการเงิน เมื่อแบ่งทิศทางของตลาดการเงินด้วยแนวโน้มของหุ้นและพันธบัตร (Bond) จะพบว่ากลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย เป็นกลุ่มที่ทำผลงานได้ดีเสมอในช่วงที่หุ้นปรับตัวขึ้น โดยมี Hit Ratio หรือโอกาสทำผลตอบแทนเป็นบวกรายเดือนสูงกว่า 80% ในขณะเดียวกัน ก็ทำผลงานได้ย่ำแย่อย่างคงเส้นคงวา (Hit Ratio ต่ำกว่า 15%) เมื่อตลาดเข้าสู่โหมดปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off หรือ Monetary Tightening)
สรุปได้ว่าการจับทิศทางของ Consumer Discretionary นั้นเป็นหนึ่งในข้อมูลตลาดระยะสั้นที่เป็นประโยชน์ต่อนักลงทุนในเชิงการวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจ
ส่วนในเชิงกลยุทธ์ นักลงทุนสามารถเลือกลงทุนในกลุ่ม Consumer Discretionary ในสัดส่วนสูง (Overweight) ในช่วงตลาดขาขึ้น ในขณะเดียวกันก็สามารถลดสัดส่วนหรือ Short การลงทุนกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยในช่วงตลาดขาลงได้เช่นกัน
ใครที่สนใจลงทุนสินค้าฟุ่มเฟือย แนะนำ 3 ETF ในตลาดสหรัฐฯ ที่มีความโดดเด่นเฉพาะตัวให้ได้รู้จักกันประกอบด้วย XLY, RXI, และ GBUY
Consumer Discretionary Select Sector SPDR ตัวย่อ XLY เป็น ETF ที่เก่าแก่ที่สุดในกลุ่ม ย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 1998 มีขนาดมูลค่าสินทรัพย์ทั้งหมดภายใต้การจัดการ (AUM) ใหญ่ถึง 2.0 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ จุดเด่นสำคัญ คือเป็น ETF ที่ลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ ตามดัชนี จึงมีหุ้นในกลุ่ม Consumer Discretionary ของสหรัฐฯ ทั้งหมด ปัจจุบันมีระดับ P/E ราว 26x สูงกว่าดัชนี S&P 500 ตามลักษณะของบริษัทในกลุ่ม
iShares Global Consumer Discretionary ETF ตัวย่อ RXI ลงทุนตามดัชนี S&P Global 1200 Consumer Discretionary Sector Capped Index เป็นตัวเลือกที่ตรงที่สุดสำหรับนักลงทุนที่ต้องการลงทุนในกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยทั่วโลก RXI ลงทุนในหุ้นกว่า 140 บริษัท เป็น ETF ที่มีทุกบริษัทเด่นที่แนะนำไปข้างต้น ด้วยสัดส่วนหุ้นสหรัฐฯ กับทั่วโลกอยู่ที่ราว 60/40 ระดับ Valuation จึงถูกลงเหลือราว 19x แต่ยังมีแนวโน้มและความผันผวนสอดคล้องกับ XLY
Goldman Sachs Future Consumer Equity ETF ตัวย่อ GBUY เป็นธีมลงทุนสินค้าฟุ่มเฟือยน้องใหม่ที่แตกต่างที่สุด ทำผลงานได้ดีในปีนี้ด้วยการเน้นไปที่บริษัทเกี่ยวกับการบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยสมัยใหม่ สัดส่วนระหว่างสหรัฐฯ กับทั่วโลกอยู่ที่ราว 60/40 เช่นเดียวกับ RXI อย่างไรก็ดี หุ้นไม่ได้มีแค่ Consumer Discretionary แต่ผสมเทคโนโลยี การสื่อสาร เช่น Alphabet, Meta, Apple จึงมีระดับ P/E สูงขึ้นเป็น 31x แลกมาด้วยการเป็นกลุ่มการลงทุนในสินค้าฟุ่มเฟือยที่กระจายตัว ถือได้ในเกือบทุกสภาวะตลาด
ลงทุนหุ้นกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย ที่อยู่ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยุโรป และจีน ผ่านตลาดหุ้นไทย
สำหรับนักลงทุนไทย ที่สนใจลงทุนหุ้นนอก ปัจจุบันสามารถลงทุนได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น ผ่านการลงทุนใน DR และ DRx (Fractional DR) ซึ่งเป็นตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย (SET) โดยผู้ออก DR และ DRx จะเป็นคนไปซื้อหุ้นหรือหน่วยลงทุนต่างประเทศ แล้วนำมาเสนอขายให้กับนักลงทุนไทยในรูปสกุลเงินบาทอีกต่อหนึ่ง ซึ่งผู้ถือ DR และ DRx จะได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เสมือนลงทุนหุ้นหรือหน่วยลงทุนต่างประเทศโดยตรง
ซึ่งช่องทางนี้ถือเป็นการลงทุนในประเทศไทย จึงไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากกำไรที่เกิดจากการลงทุนในต่างประเทศอีกด้วย ปัจจุบันตลาดหุ้นไทย (SET) มี DRx ที่อยู่ในกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย อ้างอิงหุ้นสหรัฐฯ จำนวน 3 ตัว ได้แก่
และมี DR ที่อยู่ในกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย อ้างอิงหุ้นยุโรป และหุ้นจีน ได้แก่
โดยสรุป ผมเชื่อว่า Consumer Discretionary เป็นหนึ่งในธีมลงทุนที่นักลงทุนนึกภาพออกง่ายที่สุด เป็นจุดสนใจของตลาด และความเคลื่อนไหวของหุ้นกลุ่มนี้ชี้ให้เห็นถึงทิศทางเศรษฐกิจอีกด้วย
อย่างไรก็ดี ต้องไม่ลืมว่าการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมจะมีการกระจุกตัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ความเสี่ยงจึงสูงกว่าการลงทุนทั่วไป ผู้ลงทุนควรปรึกษาผู้แนะนำการลงทุน และหาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง
หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน