Checklist PVD ต้นปีต้องดูอะไร

โดย อุมาพันธุ์ เจริญยิ่ง, CFP® รองกรรมการผู้จัดการ บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต
2 Min Read
10 กุมภาพันธ์ 2565
4.669k views
PF_Checklist PVD ต้นปีต้องดูอะไร_Thumbnail
Highlights

แม้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะเป็นกองทุนที่ส่งเสริมให้ลงทุนในระยะยาวเพื่อการเกษียณ ซึ่งสามารถช่วยถัวเฉลี่ยความเสี่ยงจากการลงทุนได้ แต่ก็ไม่ควรปล่อยปละละเลยเงินลงทุน ควรติดตามข้อมูลข่าวสารและตรวจสอบยอดรวมของเงินออมอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เงินออมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีโอกาสเติบโตตามเป้าหมายที่วางไว้

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund : PVD) ถือเป็นเครื่องมือการออมที่สำคัญเพื่อรองรับการเกษียณของมนุษย์เงินเดือน โดยเป็นการออมภาคสมัครใจที่บริษัทหรือนายจ้างมีการจัดตั้งกองทุนนี้เพื่อเป็นสวัสดิการให้กับพนักงาน แปลว่าหากใครเป็นสมาชิกกองทุนนี้ถือว่าโชคดี เพราะนอกจากจะได้ออมเงินสม่ำเสมอทุกเดือนแล้ว เงินออมก้อนนี้ยังสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ อีกทั้งมีเงินออมของนายจ้างสมทบให้แก่สมาชิกทุกเดือนอีกด้วย

 

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะเป็นการออมเงินระยะยาว และมีผู้จัดการกองทุนจากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) คอยดูแลเงินของสมาชิกตลอดเวลา แต่ในฐานะเจ้าของเงินก็ต้องคอยสอดส่องดูแลเงินของตัวเองอย่างสม่ำเสมอด้วยเช่นกัน สำหรับเคล็ดลับในการติดตามเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพว่ายังมีโอกาสเติบโตแค่ไหนนั้น
มี 3 Checklists ดังนี้

1. ติดตามยอดรวมเงินออมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

การดูยอดรวมเงินออม ณ สิ้นปี เปรียบเหมือนกับการติดตามผลการดำเนินงานประจำปี เพื่อดูว่ายอดรวมจำนวนเงินออมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพใกล้เป้าหมายเกษียณหรือไม่ เช่น ตั้งเป้าว่าจะมีเงินออมเพื่อการเกษียณในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ  5 ล้านบาท ในขณะที่สิ้นปีที่ผ่านมามีจำนวนเงินออมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 3 ล้านบาท แสดงว่าต้องออมให้ได้อีก 2 ล้านบาท ภายใต้อายุงานที่เหลืออยู่

 

ไม่ว่าเงินออมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะใกล้หรือยังห่างจากเป้าหมาย เวลาติดตามยอดรวมอย่าลืมว่าเงินออมในกองทุนนี้จะประกอบด้วยเงิน 4 ส่วน ส่วนแรก คือ เงินสะสมของลูกจ้าง (ตัวเราเอง) ส่วนที่สอง คือ ผลประโยชน์ของเงินสะสม (ผลตอบแทนจากการลงทุนของเงินส่วนแรก) ส่วนที่สาม คือ เงินสมทบของนายจ้าง และส่วนสุดท้าย คือ ผลประโยชน์ของเงินสมทบ (ผลตอบแทนจากการลงทุนของเงินส่วนที่สาม) ดังนั้น เงินออมในแต่ละปีจะงอกเงยแค่ไหน ปัจจัยหลัก ๆ คือ จำนวนเงินที่ใส่เข้าไปในกองทุนกับผลตอบแทนจากการลงทุน

 

2. เลือกออมเพิ่ม ผ่านการเพิ่มอัตราเงินสะสม

ถ้าอยากให้เงินออมงอกเงย “ยิ่งเริ่มเร็ว ยิ่งออมเยอะ ยิ่งดี” โดยอัตราเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ตามกฎหมายกำหนดให้อยู่ในช่วง 2 - 15% ของเงินเดือน ซึ่งในอดีตมีข้อจำกัดว่าต้องออมได้ไม่เกินอัตราเงินสมทบของนายจ้าง แต่ปัจจุบันกฏเกณฑ์นี้ได้ยกเลิกแล้ว แปลว่าลูกจ้างสามารถเลือกออมได้สูงสุดถึง 15% ของเงินเดือน ถ้ายอดรวมเงินออมในรอบปีที่ผ่านมายังไม่เติบโตทันใจ ข้อนี้จะเป็นตัวช่วยว่าปีนี้จะเพิ่มอัตราเงินสะสมดีหรือไม่ เช่น เลือกออมเพิ่มจนถึงขั้นสูงสุด 15% ของเงินเดือน ซึ่งถือเป็นการออมก่อนใช้ เพราะเมื่อเงินเดือนออกนายจ้างจะหักเงินสะสมส่งเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพทุกเดือน นอกจากจะสร้างวินัยในการออม ยังถือเป็นการลงทุนแบบถัวเฉลี่ยต้นทุนหรือ DCA อีกด้วย

 

3. ปรับนโยบายการลงทุน เพื่อโอกาสสร้างอัตราผลตอบแทน

โดยส่วนใหญ่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะมีนโยบายการลงทุนให้เลือกตามระดับความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนยอมรับได้ และมีนโยบายการลงทุนที่ปรับตามอายุของผู้ลงทุนที่เรียกว่า Life Path คือ เมื่ออายุเพิ่มขึ้น สัดส่วนลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงก็จะลดลง ดังนั้น เมื่อติดตามเงินลงทุนแล้ว พบว่าเงินออมเงินลงทุนในกองทุนนี้ปรับลดลงหรือไม่เติบโต ควรต้องกลับไปดูว่านโยบายการลงทุนที่เลือกเอาไว้ในปีที่ผ่านมา เหมาะกับระดับความเสี่ยงของตัวเองและเหมาะกับทิศทางแนวโน้มเศรษฐกิจในปัจจุบันหรือไม่

 

ถ้าอยู่ในวัยใกล้เกษียณ การปรับนโยบายการลงทุนโดยลดสินทรัพย์เสี่ยงลง เช่น หุ้น อสังหาริมทรัพย์ หรือทองคำ ถือเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องทำ เนื่องจากสินทรัพย์กลุ่มนี้มีความผันผวนสูง เพราะถ้าปีที่ต้องเกษียณและมีผลขาดทุนก็ไม่เหลือเวลาให้ออมและลงทุนเพิ่มได้ ในทางกลับกันถ้าอายุน้อยยังเหลือเวลาออมและลงทุนอีกหลายปี ระยะเวลาก็เป็นตัวช่วยในการลดความผันผวนลงได้ เพราะในปีที่ขาดทุนก็ยังไม่จำเป็นต้องขายสินทรัพย์ที่ขาดทุนออกมา เนื่องจากยังเหลือเวลาให้เก็บออมเพิ่มอีกหลายปี

 

ที่สำคัญ อย่าลืมกลับไปดูว่านายจ้างเปิดให้มีการปรับอัตราเงินสะสมหรือไม่และปรับนโยบายการลงทุนได้กี่ครั้งต่อปี (อย่างน้อย ๆ ต้องเปิดให้ปรับนโยบายได้ปีละหนึ่งครั้ง ขึ้นอยู่กับข้อบังคับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของแต่ละบริษัท) เพื่อจะได้เตรียมวางแผนการออมและเลือกลงทุนเพื่อให้เงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเติบโตตามเป้าหมายเกษียณที่ได้วางแผนเอาไว้


สำหรับใครที่สนใจ เรียนรู้เทคนิคการเพิ่มเงินออม และวิธีการสะสมความมั่งคั่งในระยะยาวเพื่อเป้าหมายเกษียณ สไตล์มนุษย์เงินเดือน สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “วางแผนเกษียณ สไตล์มนุษย์เงินเดือน” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: