Healthcare นักลงทุนส่วนใหญ่มักนึกถึงบริษัทยาขนาดใหญ่ที่มีความมั่นคงแต่มีการเติบโตช้า ทำให้นักลงทุนมักเหมารวมหุ้นกลุ่ม Healthcare เป็นหุ้นกลุ่ม Defensive ที่ไม่ได้คาดหวังผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูงและเป็นเพียงแค่หลุมหลบภัยในช่วงที่ตลาดหุ้นผันผวนเท่านั้น แต่แท้จริงแล้ว มีหุ้นกลุ่มหนึ่งในอุตสาหกรรม Healthcare ที่มีแนวโน้มการเติบโตสูงและสามารถสร้างผลตอบแทนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ได้สูงถึง 10% โดยเฉลี่ยต่อปี นั่นก็คือ หุ้นกลุ่ม Biotechnology
ปัจจุบันทั่วโลกกำลังเผชิญหน้ากับสังคมสูงวัย ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ ผู้ผลิตยา เครื่องมือการแพทย์ การบริการทางการแพทย์ การใส่ใจสุขภาพ ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเนื่องจากวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ได้พัฒนาและก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวกับการแพทย์มีความสำคัญตามไปด้วย หนึ่งในนั้นคือ เทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) เช่น การผลิตวัคซีนและยารักษาโรค การผลิต Antibody เพื่อตรวจวินิจฉัยและเยียวยารักษาโรค และการพัฒนาเทคโนโลยีด้าน DNA เพื่อตรวจสอบความผิดปกติของโรคทางพันธุกรรม รวมถึงการคิดค้นวัคซีนและยารักษาโรคอุบัติใหม่ที่มีความรุนแรง ซับซ้อน และหายาก
จากความสำคัญดังกล่าวประกอบกับกระแสความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพ ทำให้หุ้นกลุ่มดังกล่าวถูกจับตาในฐานะความหวังของนักลงทุน เช่น องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) กลับมาอนุมัติยาสูงสุดในรอบ 5 ปี โดยในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา จำนวนยาที่ได้รับอนุมัติจาก FDA เพิ่มขึ้นถึง 100% ซึ่งปี 2566 ปีเดียวได้อนุมัติยาสูงสุดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (55 รายการ) และมากที่สุดเป็นอันดับ 2 นับตั้งแต่ปี 2544 (เป็นรองแค่ในปี 2561) และสัดส่วนยาที่ถูกอนุมัติที่เป็นยากลุ่ม Biological มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
จากจำนวนยาที่ได้รับการอนุมัติจาก FDA เพิ่มขึ้น ส่งผลเชิงบวกต่อธุรกิจ Biotech โดยพบว่ารายได้ของบริษัท Biotech 10 ปีย้อนหลัง มีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 13% ต่อปี สอดคล้องกับจำนวนการอนุมัติยาในกลุ่ม Biologics License Applications (BLA) ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
โดยกลุ่มยาที่มีนวัตกรรม Biotechnology เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน เช่น GLP-1 ซึ่งเป็นยาที่รักษาโรคเบาหวานและโรคอ้วน มียอดขายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2559 ยารักษาโรคเบาหวานและโรคอ้วนมียอดขาย 4,902 ล้านดอลลาร์และ 234 ล้านดอลลาร์ ตามลำดับ และจบปี 2566 ทำยอดขายได้ 30,332 ล้านดอลลาร์และ 6,043 ล้านดอลลาร์ ตามลำดับ
โดยยา GLP-1 ที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย คือ ยาของบริษัท Eli Lilly ที่ได้รับการอนุมัติจาก FDA เมื่อปี 2565 และผ่านการอนุมัติกระบวนการรักษาเมื่อเดือนเดือนพฤศจิกายนปี 2566 ส่งผลให้ราคาหุ้น Eli Lilly (LLY) ให้ผลตอบแทนสูงถึง 60% ซึ่งยอดขายและรายได้ของกลุ่มยาดังกล่าว สอดคล้องกับข้อมูลจากสมาพันธ์เบาหวานนานาชาติที่เผยแพร่รายงาน IDF Diabetes Atlas ในปี 2564 พบว่าทั่วโลกมีผู้ป่วยโรคเบาหวานมากถึง 537 ล้านคน โดยราว 90% เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และเกือบครึ่งหนึ่งยังไม่ได้รับการวินิจฉัย และคาดว่าภายในปี 2573 จะเพิ่มขึ้นเป็น 643 ล้านคน และภายในปี 2580 จะเพิ่มมากขึ้นถึง 783 ล้านคน ดังนั้น เมื่อจำนวนผู้ป่วยโรคเบาหวานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้กลุ่มบริษัทที่ผลิตยากลุ่มนี้มีแนวโน้มที่รายได้จะเติบโตตามผู้ป่วยที่เพิ่มสูงขึ้นเช่นเดียวกัน
โดยความสามารถในการแข่งขันของบริษัทกลุ่ม Biotech มักจะอยู่ที่สิทธิบัตร ซึ่งเป็นปัจจัยที่ช่วยกีดกันการลอกเลียนแบบจากคู่แข่งและทำให้มีอำนาจในการตั้งราคาสินค้าในระดับสูง (Pricing Power) ได้เป็นเวลายาวนานถึง 10 – 20 ปี ทำให้มีความสามารถในการทำกำไรที่สูง สะท้อนผ่านอัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin) โดยเฉลี่ยที่สูงถึง 70 - 80% และมีความผันผวนของผลประกอบการที่ต่ำ ไม่แปรผันตามภาวะเศรษฐกิจ
นอกจากจำนวนยาใหม่ ๆ จำนวนมากที่จะได้รับอนุมัติจาก FDA ที่ส่งผลต่อการเติบโตของธุรกิจ Biotech แล้วแนวโน้มการควบรวมกิจการ (M&A) ของกลุ่มเริ่มกลับมาฟื้นตัวในปี 2566 และมีการคาดการณ์จาก PwC ว่าจะยังคงเพิ่มขึ้นถึง 20% ในปี 2567 สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญนอกเหนือจากยอดขายและผลกำไรที่จะผลักดันให้ราคาหุ้นกลุ่มธุรกิจดังกล่าวปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่น
ด้าน Bloomberg Intelligence รายงานว่า การควบรวมกิจการภายในธุรกิจ Healthcare กำลังมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นแตะระดับ 141 ดีล นับเป็นระดับที่สูงสุดในรอบ 4 ปีนับตั้งแต่เกิดวิกฤติ COVID-19 เนื่องมาจากบริษัทยาขนาดใหญ่กำลังประสบปัญหาสิทธิบัตรยามากกว่า 170 ชนิดที่กำลังจะหมดอายุในช่วงปี 2566 – 2573 ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 3 ของยอดขายในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ส่งผลให้บริษัทยาขนาดใหญ่ต้องเร่งหาช่องทางในการเติบโตใหม่ ทั้งในรูปแบบ Organic growth ด้วยการเร่งคิดค้นและพัฒนายาตัวใหม่ออกสู่ตลาด และในรูปแบบ Inorganic growth ด้วยการเข้าซื้อกิจการบริษัท Biotech ขนาดกลางและเล็กอื่น ๆ ที่มีการผลิตคิดค้นนวัตกรรมเป็นของตัวเอง
จุดที่น่าสนใจ คือ บริษัทยายักษ์ใหญ่มักจะเสนอซื้อกิจการ Biotech ในราคาที่แพงกว่าราคาตลาด (Premium) เป็นอย่างมาก เช่น 50 - 100% ทำให้เมื่อมีการประกาศการซื้อกิจการขึ้น ราคาหุ้น Biotech ที่ถูกเข้าซื้อกิจการ มักมีราคาพุ่งทะยานขึ้นอย่างรวดเร็ว ใกล้เคียงกับส่วนต่างราคา (Premium) ที่มีการตกลงซื้อขายกัน
ปัจจุบัน กลุ่ม Biotechnology กลับมาซื้อขายในระดับราคา Discount จากดัชนีหุ้นโลกราว 8% ซึ่งธรรมชาติของราคาหุ้นกลุ่ม Biotechnology จะมีวัฏจักรซื้อขายในราคา Premium เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นโลก ขณะเดียวกัน Valuation ในหลาย Sector ที่ตึงตัวอย่างเช่นกลุ่ม Technology อาจทำให้เกิด Sector Rotation มายังกลุ่ม Biotechnology มากขึ้นได้
ดังนั้น กลุ่ม Biotechnology จึงเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่มีความน่าสนใจในการลงทุน เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่มีความผันผวนขึ้นกับวัฏจักรเศรษฐกิจค่อนข้างต่ำ เป็นกลุ่มที่มีอำนาจในการกำหนดราคาได้สูง จึงทำให้มีรายได้ที่ชัดเจน มีเสถียรภาพรักษากำไรได้ในทุกสภาวะ และยังมีนวัตกรรมใหม่ ๆ โดยการใช้เทคโนโลยี AI มาช่วยคิดค้นยาได้มากขึ้น สำหรับการเติบโตในระยะยาว ในขณะที่ภาวะหุ้นในหลายประเทศอยู่ในโซนราคาแพง จึงเป็นโอกาส ทั้งการกระจายความเสี่ยง ลดความผันผวนของพอร์ตและสร้างผลตอบแทนให้เพิ่มสูงขึ้นได้