กลุ่มธนาคารยังน่าสนใจไหม ในภาวะดอกเบี้ยขาลง?

โดย ธนวัฒน์ รื่นบันเทิง หัวหน้านักวิเคราะห์หลักทรัพย์ผู้ลงทุนสถาบัน บล.ทิสโก้
3 Min Read
17 พฤษภาคม 2567
4.661k views
TSI_Article_587_Inv_Thumbnail
Highlights
  • นักลงทุนเริ่มกลับมาสนใจหุ้นกลุ่มธนาคารอีกครั้ง หลังกำไรในไตรมาส 1/2567 ฟื้นตัวดี เพิ่มขึ้น 25% จากไตรมาสก่อนหน้า โดยแม้กำไรจะฟื้นตัว แต่ยังมีความเสี่ยงที่นักลงทุนต้องติดตาม เช่น ดอกเบี้ยขาลงและต้นทุนทางการเงินที่ปรับเพิ่มขึ้น ปัญหาหนี้เสีย เป็นต้น

  • การลงทุนในหุ้นปันผลจะช่วยลดความเสี่ยงในภาวะที่ตลาดผันผวน หุ้นกลุ่มธนาคารหลายตัวให้ผลตอบแทนเป็นเงินปันผลระดับสูง ที่น่าสนใจ อาทิ SCB และ TTB

กลุ่มธนาคารรายงานผลกำไรไตรมาส 1 ปี 2567 ฟื้นตัวได้ค่อนข้างดี โดยกำไรของธนาคารขนาดใหญ่ 7 แห่ง (ประกอบด้วย BAY, BBL, KBANK, KKP, KTB, SCB, TTB) ทำกำไรรวมกันได้ 6.1 หมื่นล้านบาท ฟื้นตัวถึง 25% จากไตรมาสก่อนหน้า กำไรที่ขยายตัวขึ้น เริ่มทำให้นักลงทุนกลับมาสนใจหุ้นกลุ่มธนาคารอีกครั้ง หลังจากตอนต้นปี 2566 ตลาดกังวลว่าปัจจัยลบ อาทิ ดอกเบี้ยขาลง และมาตรการช่วยเหลือของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่หมดอายุลง จะกดดันผลกำไรของกลุ่มในปีนี้

 

อย่างไรก็ตาม แม้กำไรจะฟื้นตัวขึ้น ความเสี่ยงหลายอย่างในกลุ่มธนาคารยังคงอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สามปัจจัยดังต่อไปนี้

 

ปัจจัยแรก คือ ดอกเบี้ยขาลงและต้นทุนทางการเงินที่ปรับเพิ่มขึ้น กดดันส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (Net Interest Margin: NIM) แม้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งล่าสุด (ณ วันที่ 10 เมษายน 2567)

 

อย่างไรก็ดี ตลาดบางส่วนยังคงเชื่อว่า กนง. อาจจะตัดสินใจลดดอกเบี้ยลงสักหนึ่งครั้งในช่วงที่เหลือของปีนี้ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจยังคงอ่อนแอ ทั้งจากปัจจัยภายใน เช่น รายจ่ายภาครัฐต่ำ ซึ่งเกิดจากความล่าช้าของงบประมาณแผ่นดินปี 2567 รวมถึงการบริโภคในประเทศที่อ่อนแอลง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากหนี้ครัวเรือนที่สูง ทำให้เจ้าหนี้โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ระมัดระวังในการปล่อยกู้ และปัจจัยภายนอก อาทิ ส่งออกยังติดลบต่อเนื่องตามเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอลง และสินค้าของประเทศไทยบางชนิดสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน หาก กนง. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง กลุ่มธนาคารต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามมา ส่งผลกระทบต่อ NIM และกำไรของกลุ่มในท้ายที่สุด

 

นอกจากนี้ ต่อให้ กนง. ไม่ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง NIM ก็มีแนวโน้มปรับลดลงอยู่ดี เนื่องจากในปัจจุบัน ยังมีเงินฝากประจำราว 2 ล้านล้านบาท ที่ยังได้รับอัตราดอกเบี้ยเก่าก่อนที่ กนง. จะจบรอบการขึ้นดอกเบี้ย พอเงินฝากประจำก้อนนี้หมดอายุลง ผู้ฝากเงินปกติก็จะฝากเงินต่อและจะได้รับอัตราดอกเบี้ยใหม่ที่สูงกว่าเดิม ดังนั้น ต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายของธนาคารก็จะเพิ่มขึ้น ดังนั้น NIM ของกลุ่มน่าจะปรับลดลงอย่างช้า ๆ ตลอดทั้งปี และอาจจะกดดันให้กำไรปรับลดลงในระยะต่อไป

 

ปัจจัยที่สอง คือ ปัญหาหนี้เสียในระบบที่ส่งผลกระทบต่อการตั้งสำรองของกลุ่มแบงก์ แม้การตั้งสำรองกลุ่มในไตรมาสที่ 1 ปี 2567 จะลดลงจากไตรมาสที่ 4 ปี 2566 แต่เหตุผลหลักเกิดจากปัจจัยพิเศษ คือ การตั้งสำรองของบริษัทอิตาเลียนไทย ที่เกิดขึ้นในไตรมาสก่อนหน้า และไตรมาสนี้ไม่มีปัจจัยพิเศษอื่น ๆ อีก อย่างไรก็ดี หนี้เสียในระบบโดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้ารายย่อยและ SME ยังปรับเพิ่มขึ้น อันเป็นผลต่อเนื่องมาจากเศรษฐกิจที่อ่อนแอลง ประกอบกับมาตรการช่วยเหลือของธปท.ที่หมดอายุ (เช่น การจ่ายขั้นต่ำของบัตรเครดิตปรับขึ้นจาก 5% เป็น 8%) แม้กลุ่มธนาคารยังตั้งสำรองไปบ้างแล้วในช่วงที่ผ่านมา แต่หากหนี้เสียยังเร่งขึ้นต่อเนื่อง การตั้งสำรองของกลุ่มอาจจะยังอยู่ในระดับสูงต่อไป

 

นอกจากนี้ อาจจะยังวางใจไม่ได้ว่าจะไม่มีบริษัทขนาดใหญ่มีความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้เหมือนที่เกิดขึ้นกับกรณีบริษัทอิตาเลียนไทยอีก หันไปดูในอุตสาหกรรมผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ก็ยังเห็นผู้ประกอบการบางรายยังมีฐานะการเงินที่ค่อนข้างตึงตัว และหากมีบริษัทใหญ่ ๆ ล้มลงอีก ก็คงกระทบต่อการตั้งสำรองของกลุ่มแบงก์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

ปัจจัยสุดท้าย ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานโดยเฉพาะทางด้านไอที กำไรที่ฟื้นตัวขึ้นในไตรมาสนี้หลัก ๆ เกิดจากค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่ปรับลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยด้านฤดูกาล (ปกติค่าใช้จ่ายประจำปีก้อนใหญ่มักตกลงในไตรมาสที่ 4)

 

อย่างไรก็ตาม หากลงไปดูในรายละเอียดจะพบว่า ค่าใช้จ่ายอาจจะปรับลดลงอีกได้ไม่มากนัก อาทิ ในไตรมาสนี้ กลุ่มธนาคารพยายามควบคุมค่าใช้จ่ายพนักงานอย่างเต็มกำลัง แต่ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ยังปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 ปีก่อน สะท้อนว่า การควบคุมเป็นแค่การจำกัดจำนวนพนักงานใหม่และชะลอการปรับเงินเดือนประจำปีเท่านั้น ไม่สามารถลดจำนวนพนักงานหรือลดเงินเดือนพนักงานอย่างมีนัยสำคัญได้ และที่สำคัญที่สุด คือ ค่าใช้จ่ายด้านไอที

 

ปัจจุบันการทำธุรกรรมของธนาคารผ่านระบบอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มากขึ้น ทำให้กลุ่มธนาคารต้องลงทุนอย่างมากเพื่อให้รองรับธุรกรรมที่เพิ่มขึ้นสูงมากในแต่ละวัน ปัจจุบันเงินลงทุนในส่วนนี้ของทั้งกลุ่มสูงถึง 4.6 หมื่นล้านบาท ในปีที่แล้ว หรือคิดเป็นราว 10% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ถึงแม้จะสูง แต่คงไม่สามารถปรับลดลงได้ และอาจจะกดดันกำไรขั้นสุดท้ายในภาวะที่รายได้ของกลุ่มชะลอตัว

 

จากทั้งสามปัจจัยข้างต้น กำไรของกลุ่มแบงก์อาจจะยังโดนกดดันอยู่ในปีนี้ และอาจทำให้กำไรของกลุ่มอาจจะแค่ทรงตัวจากปีก่อนหน้าเท่านั้น เวลากำไรของบริษัทใด ๆ ก็ตามไม่ได้เติบโตขึ้น ราคาหุ้นก็จะมักสะท้อนไปในทางเดียวกัน คืออาจจะไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นมากนัก

 

อย่างไรก็ดี แม้ภาพรวมของกลุ่มจะยังดูมีความไม่แน่นอนในปีนี้ แต่ไม่ได้หมายความว่า หุ้นกลุ่มธนาคารจะดูไม่ได้น่าสนใจไปทั้งหมด แม้ราคาหุ้นอาจจะปรับเพิ่มขึ้นได้ไม่มาก แต่หุ้นของกลุ่มธนาคารหลายตัวยังให้ผลตอบแทนเป็นเงินปันผลในระดับที่ถือว่าสูง การลงทุนในหุ้นปันผลยิ่งน่าสนใจมากขึ้นในภาวะตลาดที่ผันผวนในปัจจุบัน เพราะตลาดที่ปรับลดลง ทำให้เราสามารถซื้อหุ้นที่ถูกลงได้ และทำให้ผลตอบแทนปันผลของเราสูงขึ้นด้วย หุ้นธนาคารทุกตัวให้ปันผลทุกปีอยู่แล้ว นักลงทุนอาจจะต้องติดตามดูในแต่ละช่วงเวลาว่าราคาหุ้นลงมามากพอหรือยัง เมื่อเทียบกับปันผลที่คาดว่าจะได้รับ

 

แนะนำหุ้นปันผลกลุ่มธนาคาร

ณ เวลาที่เขียนบทความนี้ หุ้น SCB กับ TTB มีแนวโน้มที่จะให้ผลตอบแทนปันผลที่น่าสนใจ โดยปีที่ผ่านมา SCB จ่ายปันผลออกจากกำไรสุทธิสูงมากที่ระดับ 80% (อาทิ ทำกำไรได้ 100 บาท จ่ายปันผลให้ผู้ถือหุ้น 80 บาท) และผู้บริหารก็ยืนยันที่จะพยายามรักษาระดับนี้ให้ได้ในปีต่อ ๆ ไป ขณะที่ผลการดำเนินงานของกลุ่มยังมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง จากธุรกิจธนาคารที่ยังทำกำไรได้ดี แม้ธุรกิจอื่น ๆ อาทิ บัตรเครดิต (CardX) หรือสินเชื่อรถแลกเงิน (AutoX) อาจจะยังมีความผันผวนอยู่บ้าง แต่เนื่องจากสัดส่วนที่เล็ก ไม่น่าจะกระทบกำไรโดยรวมของกลุ่ม

 

สำหรับ TTB นั้น การควบรวมธนาคารธนชาติเข้ามาในปี 2562 เริ่มออกดอกออกผล และล่าสุด TTB ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีรวมถึง 1.5 หมื่นล้านบาท ทำให้ธนาคารไม่ต้องจ่ายภาษีบรรษัทในอีก 4 ปีข้างหน้า ส่งผลให้กำไรมีแนวโน้มจะเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้ง TTB ค่อนข้างระมัดระวังในการปล่อยกู้ในช่วงที่ผ่านมา และจะนำสิทธิประโยชน์ทางภาษีบางส่วนไปช่วยเสริมสร้างงบดุลของธนาคารให้แข็งแกร่งขึ้น สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้กำไรเติบโตอย่างมีนัยสำคัญและมีแนวโน้มจะจ่ายปันผลได้มากกว่าที่เห็นในปัจจุบัน

 

นอกจากหุ้นสองตัวนี้แล้ว หุ้นธนาคารอื่น ๆ อาจจะต้องรอจังหวะที่ราคาหุ้นปรับลดลงมา หรือผู้บริหารมีการเปลี่ยนกลยุทธ์ในการจัดการเงินกองทุนของตัวเอง ซึ่งในภาวะปัจจุบันอาจจะยังไม่เห็นโอกาสมากนัก แต่อยากให้นักลงทุนคอยติดตาม หากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปในอนาคต

 

หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน


สำหรับนักลงทุนมือใหม่และผู้ที่สนใจ เรียนรู้ภาพรวมและเครื่องมือที่ใช้ในการวิเคราะห์อุตสาหกรรม เพื่อค้นหาหุ้นดีในอุตสาหกรรมที่โดดเด่น น่าลงทุน สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “Sector Analysis” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่ 
แท็กที่เกี่ยวข้อง: