ตลาดหุ้นไทยในช่วงไตรมาสแรกปี 2567 ที่ผ่านมายังคงไม่ฟื้นตัว แม้จะเป็นหนึ่งในตลาดที่ถูกปรับลดลงมากที่สุดในปีที่แล้ว โดยถูกกดดันจาก 2 ปัจจัย หนึ่งคือเศรษฐกิจโลกที่ยังฟื้นตัวช้า ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางในหลายประเทศ และตลาดเริ่มเปลี่ยนมุมมองที่ตอนแรกคิดว่า ธนาคารกลางประเทศพัฒนาแล้วจะปรับลดดอกเบี้ยเร็วและแรง เป็นช้าและน้อย กดดันให้ตลาดหุ้นทั่วโลกรวมถึงตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลง
ประการที่สอง คือความล่าช้าผิดปกติของ พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 (เดิมคาดสิ้นปี 2566) ผลของงบประมาณที่ล่าช้าทำให้ภาครัฐมีข้อจำกัดมากในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลให้การกระตุ้นต่าง ๆ จากทางรัฐบาลน้อยผิดปกติตั้งแต่เริ่มปีงบประมาณมา (ไตรมาส 4 ปีที่แล้ว) โดยการที่เศรษฐกิจฟื้นตัวช้านี้ท้ายที่สุดก็กลับมาส่งผลลบต่อกำไรของบริษัทจดทะเบียนโดยรวม โดยกำไรไตรมาส 4 ของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมดทำได้เพียง 1.78 แสนล้านบาท ลดลงถึง 26% QoQ และ 3% YoY
อย่างไรก็ดี มองว่าตลาดในไตรมาส 2 จะฟื้นตัวได้บ้าง อย่างน้อยก็จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มดีขึ้น โดยได้แรงหนุนจากแรงกระตุ้นจากนโยบายการคลัง หลังจากที่ได้มีการอนุมัติงบประมาณปี 2567 เป็นที่เรียบร้อย มองว่ารัฐบาลน่าจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลาย ๆ อย่างออกมา เมื่อพิจารณาถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการกระตุ้นเศรษฐกิจ มาตรการส่วนใหญ่อาจจะอยู่ในรูปแบบเงินโอน เนื่องจากทำได้ง่าย รวดเร็ว และมีผลสูงในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แม้จะเป็นผลระยะสั้น ๆ ก็ตาม
มาตรการเงินโอนที่กล่าวถึง อาจเป็นได้ในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นเงินโอนให้กับกลุ่มเปราะบาง ซึ่งอาจจะเป็นทั้งกลุ่มรายได้น้อยหรือผู้สูงอายุ รวมถึงเกษตรกรผ่านการอุ้มราคาสินค้าเกษตรหรือพักชำระหนี้ หรือเงินโอนให้กับรัฐบาลท้องถิ่น เพื่อปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานในชนบท (คล้ายกับโครงการกองทุนหมู่บ้าน) นอกจากนี้ ยังไม่รวมถึงมาตรการสำหรับกลุ่มธุรกิจโดยเฉพาะ เช่น มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ และมาตรการภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่ก็มีโอกาสถูกนำมาใช้เช่นกัน โดยมองว่ามาตรการเหล่านี้จะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจกลับมาเติบโตที่ระดับปกติมากขึ้น
ความเสี่ยงที่ต้องจับตาในไตรมาส 2
ตลาดหุ้นไทยในไตรมาส 2 ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตามอง หลัก ๆ จากความผันผวนจากปัจจัยทั้งภายในและนอกภายประเทศ หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ยังมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับสูง สวนทางกับตลาดที่คาดว่าจะมีการปรับลดดอกเบี้ยลงเร็ว ๆ นี้ ตลาดโลกอาจจะผันผวนกดดันตลาดในประเทศได้ หันกลับมาดูในประเทศ แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยอาจจะทรงตัวอยู่ในระดับสูงเช่นกัน หลังคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ยังคงดอกเบี้ยไว้ที่ 2.5% แม้ตลาดจะคาดหวังว่า กนง. จะปรับลดดอกเบี้ยลง
ในสภาวะที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูงเช่นนี้ อาจทำให้บริษัทจดทะเบียนมีภาระผูกพันในการชำระดอกเบี้ยที่สูงขึ้น สะท้อนถึงอัตรากำไรของบริษัทที่อาจลดลงจากการปันส่วนของกำไรมาจ่ายดอกเบี้ย ผลที่ตามมาคือ การลงทุนในตลาดอาจน่าดึงดูดน้อยลง และเม็ดเงินไหลออกจากตลาดหุ้นไปสู่ตลาดพันธบัตรเพราะผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น ในระยะปานกลาง ตลาดหุ้นไทยยังเผชิญความท้าทายจากปัญหาเชิงโครงสร้าง อาทิ ภูมิทัศน์ทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป สังคมสูงวัย อัตราส่วนหนี้สินที่สูงทั้งภาคครัวเรือนและภาครัฐที่ลดความสามารถในการใช้จ่าย รวมถึงการแข่งขันที่สูงขึ้นจากคู่แข่งในภูมิภาค และการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในการส่งออก ซึ่งความท้าทายเหล่านี้อาจจำกัดศักยภาพผลผลิตของประเทศไทยและแนวโน้มการเติบโตในระยะกลาง
แนวโน้มการลงทุนในครึ่งปีหลัง
มองข้ามไตรมาส 2 ไป คาดว่าตลาดน่าจะปรับดียิ่งขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 จากนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่จะเห็นผลชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการบริโภคในประเทศ รวมถึงแนวโน้มที่ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงปลายปี คาดว่าหุ้นในกลุ่มค้าปลีกจะเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่น่าจะได้รับผลประโยชน์จากมาตรการของรัฐบาลมากที่สุด จากความเป็นไปได้ว่า รัฐบาลน่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการแจกเงิน ส่งเสริมให้มีการบริโภคภายในประเทศมากขึ้น และเมื่อมองไปในกลุ่มนี้ คาดว่ากลุ่มสินค้าที่ไม่จำเป็น (อาทิ เสื้อผ้า หรือสินค้าตกแต่งบ้าน) อาจจะเร่งตัวขึ้นได้ดีกว่า เนื่องจากที่ผ่านมายอดขายอ่อนแอมาก (ยอดขายสาขาเดิมยังคงหดตัว) ขณะที่กลุ่มสินค้าจำเป็น ยอดขายไม่ได้แย่มากนัก (ยอดขายสาขาเดิมยังคงขยายตัวเป็นบวก) เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาช่วยบริโภค จึงยังคงคาดการณ์กำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) ของตลาดหุ้นไทยเฉลี่ยที่ 83.5 บาท และ SET Index Target สำหรับปี 2567 ที่ 1,500 จุด ขณะที่อุตสาหกรรมที่โดดเด่นคือ ค้าปลีก ท่องเที่ยว และโรงพยาบาล
หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน