การเวนคืนกรมธรรม์ มีข้อดี ข้อเสียอย่างไร

โดย สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP® นักวางแผนการเงิน สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
3 Min Read
30 พฤศจิกายน 2563
127.008k views
TSI_5_การเวนคืนกรมธรรม์ มีข้อดี ข้อเสียอย่างไร
Highlights
  • การเวนคืนกรมธรรม์ คือ การขอยกเลิกกรมธรรม์เดิม เพื่อรับเงินสดจากบริษัทประกัน

  • เราควรเวนคืนกรมธรรม์ หากสัญญาหรือความคุ้มครองของกรมธรรม์ฉบับเดิมไม่ตอบโจทย์ความต้องการ หรือมีกรมธรรม์ใหม่ที่ให้ผลประโยชน์มากกว่าเดิม แต่ก็ต้องศึกษาเงื่อนไขให้ดีเพราะเมื่ออายุมากขึ้น การซื้อประกันชีวิตใหม่ในแบบเดียวกัน จะต้องจ่ายเบี้ยประกันแพงขึ้น หรือหากมีปัญหาสุขภาพ การเวนคืนแล้วทำประกันใหม่อาจไม่คุ้มครองโรคที่เป็นได้เหมือนกับฉบับเดิม

ปัจจุบันคนไทยรู้จักผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตกันเป็นอย่างดี แต่มีประเด็นหนึ่งที่ยังมีข้อสงสัยกันอยู่ คือ การเวนคืนกรมธรรม์ โดยคำถามหลักที่หลายคนสงสัยคงหนีไม่พ้น “การเวนคืนกรมธรรม์มีข้อดีหรือข้อเสียอย่างไร”

 

ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจกันก่อนว่า คำว่า “เวนคืนกรมธรรม์” คืออะไร

 

การเวนคืนกรมธรรม์ คือ การขอยกเลิกกรมธรรม์เดิม เพื่อรับเงินสดจากบริษัทประกัน ซึ่งจะขอเวนคืนได้เมื่อกรมธรรม์มีมูลค่าเงินสดเกิดขึ้นแล้ว โดยทั่วไปมูลค่าเงินสดจะเกิดขึ้นในปีที่ 2 หรือมีการจ่ายชำระเบี้ยประกันไปแล้ว 2 ปี หลายคนเลือกที่จะเวนคืนเมื่อประสบกับปัญหาการเงินและต้องการเงินสดมาหมุนเวียนใช้จ่าย หรือบางครั้งก็เกิดจากการที่ซื้อกรมธรรม์ผิดประเภทแล้วต้องการเปลี่ยนเป็นกรมธรรม์ฉบับใหม่ที่มีสัญญาการคุ้มครองตามที่ต้องการ

 

ข้อดีของการเวนคืนกรมธรรม์

 

  1. กรณีซื้อประกันชีวิตผิดแบบตั้งแต่ต้นเพราะส่วนใหญ่คนไทยจะซื้อประกันชีวิตเนื่องจากถูกขายมากกว่าอยากซื้อ หลายคนจึงซื้อประกันชีวิตด้วยความเกรงใจ ไม่มีความรู้ความเข้าใจในกรมธรรม์ที่ซื้อ การเวนคืนกรมธรรม์เดิม เพื่อซื้อกรมธรรม์ที่เหมาะสมก็เหมือนการเริ่มต้นใหม่ ทำให้เลือกประกันที่มีความคุ้มครองตามที่ตัวเองต้องการได้

 

  1. กรณีที่กรมธรรม์เดิมไม่ได้ตอบโจทย์ความต้องการเช่น เดิมซื้อกรมธรรม์ที่ทุนประกันสูงๆ เนื่องจากมีภาระความรับผิดชอบมาก เช่น มีภาระหนี้สินสูง แต่ปัจจุบันภาระความรับผิดชอบลดลงหรือหนี้สินไม่มีแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องแบกภาระการจ่ายเบี้ยประกันสูงๆ เพื่อทุนประกันสูงอีกต่อไป การเวนคืนกรมธรรม์ เพื่อลดภาระหรือมองหาช่องทางการออมเงินใหม่ที่ดีกว่า ก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดี

 

  1. กรณีที่กรมธรรม์ใหม่ให้ประโยชน์มากกว่ากรมธรรม์เดิมการเลือกซื้อกรมธรรม์ก็เหมือนการตัดเสื้อผ้าที่ขนาด รูปแบบ สไตล์ เนื้อผ้า ย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามยุค การเลือกเปลี่ยนกรมธรรม์แบบใหม่ที่เหมาะกับตัวเองน่าจะดีกว่า เช่น อยากซื้อประกันชีวิตที่คุ้มครองการศึกษาของลูก แต่เมื่อลูกเรียนหนังสือจบพ่อแม่ก็เข้าสู่วัยกลางคนหรือใกล้เกษียณ ควรเลือกซื้อประกันชีวิตแบบบำนาญ เพื่อสร้างกระแสเงินที่มั่นคงในยามเกษียณแทน

 

  1. เป็นการบริหารรายจ่ายเพราะภาระการจ่ายเบี้ยประกันชีวิตไม่ควรเกิน 10% ของเงินได้สุทธิหลังหักภาษี เนื่องจากประกันชีวิตเป็นสัญญาการออมเงินระยะยาวที่ต้องปฏิบัติตามสัญญา คือ ชำระเบี้ยในจำนวนและภายในเวลาที่กำหนด ดังนั้น หากรายได้ในอนาคตไม่แน่นอน แต่มีค่าใช้จ่ายสูง หากมีภาระต้องจ่ายเบี้ยประกันชีวิตเยอะเกินไป อาจทำให้ไม่สามารถชำระเบี้ยได้ จะเป็นผลเสียต่อแผนการบริหารความเสี่ยงหรือบริหารเงินออม ดังนั้น ควรเลือกจ่ายเบี้ยประกันในแบบประกันที่เหมาะสมกับตัวเองมากที่สุด และเวนคืนแบบประกันที่ไม่เหมาะสม

 

ข้อเสียของการเวนคืนกรมธรรม์

 

  1. ถ้าจะเวนคืนกรมธรรม์ประกันชีวิต ควรเวนคืนหรือยกเลิกภายใน 15 วันหลังจากเซ็นรับเอกสารกรมธรรม์ประกันชีวิตซึ่งกฎหมายให้สิทธิขอยกเลิกสัญญาและเวนคืนเงินประกัน โดยได้รับเงินที่ชำระไปคืน (มีค่าธรรมเนียมเล็กน้อย) แต่หากเลย 15 วันไปแล้ว ก็จะได้มูลค่าเงินสด หรือเรียกว่า มูลค่าเงินเวนคืน โดยทั่วไปจะน้อยกว่าเบี้ยที่จ่ายไป ดังนั้น ถ้าอยากรู้ว่ากรมธรรม์ที่ซื้อแต่ละปีมีมูลค่าเงินสดอยู่เท่าไหร่ สามารถดูได้จากตารางมูลค่ากรมธรรม์ประกันภัยในกรมธรรม์ประกันชีวิต

 

  1. เมื่ออายุมากขึ้น การซื้อประกันชีวิตใหม่ในแบบเดียวกัน จะต้องจ่ายเบี้ยประกันแพงขึ้นและเนื่องจากเบี้ยประกันชีวิตส่วนใหญ่จะเป็นอัตราคงที่ คือ ปีแรกจ่ายเบี้ยเท่าไหร่ก็จ่ายเท่ากันตลอดอายุกรมธรรม์ ดังนั้น หากเลือกเวนคืนแล้วทำประกันแบบเดิมก็ต้องยอมจ่ายเบี้ยที่แพงกว่าเดิมไปเรื่อยๆ ไม่ใช่จ่ายเบี้ยแพงกว่าเดิมแค่ปีเดียว แต่หากซื้อประกันคนละแบบกับของเดิมที่เวนคืน ก็ต้องดูรายละเอียดเบี้ยประกันที่ต้องชำระอีกที จึงไม่แน่เสมอไปว่าเบี้ยจะแพงขึ้น

 

  1. เวลาทำประกันชีวิตใหม่ ถ้ามีปัญหาสุขภาพ บริษัทประกันชีวิตก็อาจไม่รับหรือถ้ารับก็ต้องจ่ายเบี้ยประกันเพิ่มหรือยกเว้นไม่คุ้มครองความเสียหายจากโรคที่เป็นอยู่ ขณะที่ประกันชีวิตตัวเดิมอาจจะให้ความคุ้มครองทุกอย่างเหมือนเดิม ไม่มีข้อยกเว้น

 

ดังนั้น ก่อนจะเวนคืนกรมธรรม์ต้องศึกษาข้อมูลให้ละเอียดว่าคุ้มค่าหรือไม่? ประกันใหม่ที่จะซื้อมีความเหมาะสมกว่าประกันเดิมหรือไม่? ทุนประกันเพียงพอกับความต้องการหรือไม่? จ่ายเบี้ยประกันได้หรือไม่? ระยะเวลาความคุ้มครองเหมาะสมแค่ไหน? และควรตรวจสุขภาพตามที่บริษัทประกันแนะนำ เพื่อจะได้รู้ว่าได้รับความคุ้มครองเต็ม 100% หรือมีข้อยกเว้นอะไรบ้าง และหากพิจารณาแล้วการเวนคืนไม่คุ้มค่าก็ควรอยู่กับกรมธรรม์เดิม

 

สำหรับใครที่สนใจอยากเรียนรู้เทคนิคและวิธีการวางแผนจัดการเงินอย่างเป็นระบบ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ และสามารถต่อยอดความมั่งคั่งไปสู่การมีอิสรภาพทางการเงินได้ สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร เงินทองต้องวางแผน” ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: