การจัดการเงินทองในวัยเกษียณ

โดย วรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการบริหาร บลจ.บัวหลวง จำกัด
4 Min Read
1 ธันวาคม 2564
4.526k views
PF_การจัดการเงินทองในวัยเกษียณ_Thumbnail
Highlights
  • สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับวัยเกษียณ คือ แผนการจัดการเงินทองที่เหมาะสม จะบริหารเงินหลังเกษียณอย่างไร ให้มีพอกิน พอใช้ไปตลอดชีวิต เพราะอายุขัยเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ และไม่รู้เลยว่าจะต้องใช้ชีวิตหลังเกษียณไปอีกกี่ปี

  • การบริหารเงินออมที่มีอยู่ให้งอกเงยเพิ่มขึ้นก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน โดยปัจจุบันการลงทุนสำหรับวัยเกษียณไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป เพียงให้เงินทำงานผ่านกองทุนรวม ก็จะมีผู้เชี่ยวชาญมืออาชีพมาคอยดูแลและบริหารจัดการให้

วัยเกษียณ คือ วัยที่มีรายได้ลดน้อยลง เพราะเกษียณแล้วไม่ได้ทำงานประจำแบบเดิม และแม้จะสามารถลดค่าใช้จ่ายทั่วไปในการดำรงชีวิตได้ แต่ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ ตามอายุที่มากขึ้น

 

เมื่อเป็นอย่างนี้ แน่นอนว่าค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนจะมีโอกาสสูงเกินกว่ารายได้รายเดือนที่อาจได้รับจากการทำงานพิเศษต่าง ๆ และอาจจะมากกว่ารายได้จากดอกเบี้ยและการลงทุน ซึ่งยิ่งสูงวัย รายได้ก็จะหดหายลงไปเรื่อย ๆ จนอาจเหลือแต่เงินก้อนสุดท้ายที่จะมีค่าน้อยลงเพราะราคาสินค้าและบริการจะแพงขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับผู้เกษียณ คือ แผนการจัดการเงินทองที่เหมาะสม

 

หากใครพึ่งพาบุตรหลานได้ก็ถือว่าโชคดี แต่หากพบว่าพึ่งพาไม่ได้เพราะลำพังครอบครัวของเขาก็ดิ้นรนลำบากอยู่แล้ว เมื่อเป็นอย่างนี้ การวางแผนเงินทองของตัวเองยามเกษียณก็ยิ่งสำคัญ ต้องทำให้เงินที่มีเพียงพอต่อการใช้ไปตลอดชีวิต

 

สิ่งที่ต้องทำทันทีเมื่ออ่านบทความนี้จบ

  1. ตรวจสอบสวัสดิการสุขภาพของตัวเองว่ามีอะไรบ้าง เช่น สิทธิข้าราชการ ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ กองทุนประกันสังคม บัตรทอง เป็นต้น และศึกษาวิธีการเข้าถึงสวัสดิการสุขภาพที่ตัวเองมีเอาไว้ล่วงหน้า เพราะจะเป็นค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ที่สุดของคนวัยนี้ที่จะได้ใช้แน่ ๆ

 

  1. ตรวจสอบหนี้สินที่คงเหลือและปลดภาระให้จบสิ้นทันทีหรือปลอดหนี้ให้เร็วที่สุด อย่าปล่อยทิ้งไว้ถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ

 

  1. จัดทำบัญชีรายจ่ายเป็นรายเดือนล่วงหน้าว่าแต่ละเดือนมีรายจ่ายชนิดต่าง ๆ เท่าไหร่ โดยให้เริ่มต้นทำใหม่เพราะเกษียณแล้วชีวิตจะปรับเปลี่ยน รายจ่ายจึงเปลี่ยนไปด้วย ส่วนด้านรายได้รายเดือนนั้นถ้ามีเพิ่มจากการทำงานในวัยเกษียณก็ใส่ลงไป (ถ้าไม่มี ก็คือ ไม่มี) หลังจากนั้นให้ดูว่าจำนวนเงินก้อนสุดท้ายที่มีอยู่นั้นเมื่อหักรายจ่ายดังกล่าวแล้วจะเพียงพอให้ใช้ไปอีกกี่ปี

 

ตัวอย่าง

คุณศิริ มีเงินก้อนอยู่ 8 ล้านบาท ประมาณการรายจ่ายต่อเดือน คือ 30,000 บาท หรือ 360,000 บาทต่อปี แปลว่าเงิน 8 ล้านบาทจะทำให้ดำรงชีวิตต่อไปได้อีกประมาณ 22 ปี

 

คุณมงคล มีเงินก้อนอยู่ 20 ล้านบาท ประมาณการรายจ่ายต่อเดือน คือ 200,000 บาท หรือ 2,400,000 บาทต่อปี แปลว่าเงิน 20 ล้านบาทจะทำให้ดำรงชีวิตต่อไปได้อีกประมาณ 8 ปี

 

จากตัวอย่างจะเห็นว่า คุณมงคลมีเงินเก็บมากกว่าคุณศิริ แต่คุณมงคลมีสถานการณ์ที่แย่กว่าคุณศิริเพราะมีเงินดำรงชีพไปได้อีกแค่ 8 ปีเท่านั้น คำถาม คือ หลังจากนั้นคุณมงคลจะทำอย่างไร

 

สรุปได้ว่าจำนวนเงินเก็บก้อนสุดท้ายที่มีอยู่ แม้จะดูมาก แต่ไม่ใช่ว่าได้เปรียบคนอื่น เพราะขึ้นอยู่กับรายจ่ายของตัวเองด้วย และถ้าคำนวณแล้วพบว่าเหลือเงินใช้อีกไม่กี่ปีควรหาทางแก้ไข

 

ทางออก เมื่อคำนวณแล้วพบว่าเหลือเงินใช้อีกไม่กี่ปี

  1. ลดรายจ่ายประจำ เช่น ค่าอาหาร ค่าสังสรรค์ ค่าเสื้อผ้า ค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยว ค่าสมาชิกต่าง ๆ เป็นต้น และระวังอย่าช้อปปิ้งออนไลน์จนเพลิน

 

  1. ลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้เกี่ยวกับที่อยู่อาศัย โดยขายไป หรือให้เช่า แล้วไปอยู่ร่วมกันกับญาติ ลูกหลาน เพื่อนสนิท หรือไปอยู่ในจังหวัดที่มีค่าครองชีพต่ำกว่าที่อยู่ในปัจจุบัน

 

นอกจากนี้ การไปอยู่ในที่พักเฉพาะสำหรับผู้สูงอายุ หากทำให้ประหยัดเงินได้มากกว่า ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจมาก เพราะหลายที่มีบริการดูแลที่เหมาะสมกับวัยเกษียณอีกด้วย มีหลายคนที่มีเงินพอใช้ยามเกษียณก็ยังย้ายไปอยู่เพราะมีชีวิตที่ดีกว่า เหมาะสมกว่า มีการทำกิจกรรมที่เกี่ยวกับผู้สูงวัย มีเพื่อน แถมเมื่อเจ็บป่วยก็มีการดูแลหรือช่วยเหลือติดต่อส่งตัวไปยังสถานพยาบาลอีกด้วย

 

  1. นำที่อยู่อาศัยไปทำ Reverse Mortgage กับธนาคารต่าง ๆ นี่คือนวัตกรรมทางการเงินที่ยอดเยี่ยมที่เกิดขึ้นมาเมื่อไม่นานนี้ คือการให้ผู้สูงวัยที่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง นำที่อยู่อาศัยไปจำนองกับธนาคาร แล้วธนาคารจะให้เงินทุกเดือนเหมือนธนาคารมาขอผ่อนซื้อบ้านของเรา เราจะได้เงินสดมาใช้จ่ายแต่ละงวดตามที่ทำสัญญาไว้กับธนาคาร โดยเรายังอยู่อาศัยในบ้านของตัวเองได้ พอครบกำหนดตามที่ตกลงกับธนาคารไว้บ้านหลังนั้นก็จะตกเป็นของธนาคาร ซึ่งเป็นการจำนองแบบย้อนกลับนั่นเอง

 

แล้วกำหนดเวลาที่ว่านี้จะนานกี่ปี ... จะเกิดกรณีที่ยังไม่ตายแต่ธนาคารมายึดบ้านไปหรือไม่ กรณีนี้ ธนาคารจะตีมูลค่าบ้านพร้อมกับประเมินอายุเฉลี่ยของเจ้าของบ้าน แล้วธนาคารจะทยอยจ่ายเงินค่าบ้านให้เป็นรายเดือนหรือรายงวดตามแต่จะตกลงกัน โดยเรายังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในบ้านหลังนั้น ยังอาศัยอยู่ในบ้านได้จนเสียชีวิตหรือตัดสินใจขายบ้านไปก่อน ซึ่งหลังครบกำหนดตามสัญญา บ้านก็จะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของธนาคาร โดยธนาคารสามารถนำบ้านไปขายทอดตลาดต่อไป

 

  1. เพิ่มรายได้จากการขายทรัพย์สินที่ไม่จำเป็น เช่น ของสะสมอย่างกระเป๋า เสื้อผ้า นาฬิกา เครื่องประดับ เป็นต้น

 

  1. หารายได้เสริม ผู้เกษียณจำนวนมากยังใช้ความสามารถสร้างรายได้ได้อยู่ เช่น ทำขนม ทำอาหาร เป็นที่ปรึกษาบริษัท เป็นบล็อคเกอร์ เป็นยูทูปเบอร์แนะนำเรื่องต่าง ๆ เป็นต้น

 

ให้เงินทำงานผ่านกองทุนรวม

เงินก้อนสุดท้ายที่เหลืออยู่ใช่ว่าจะใช้หมดไปในปีสองปี จึงควรหาวิธีบริหารเงินให้งอกเงย โดยเงินที่ยังไม่ต้องใช้ภายใน 5 ปีขึ้นไป สามารถนำไปลงทุนที่รับความเสี่ยงได้เพื่อหวังผลตอบแทนที่สูงขึ้น โดยจะบริหารเองก็ได้ถ้ามีความรอบรู้เพียงพอ แต่ต้องระวังอย่ากระโจนใส่การลงทุนที่หลอกลวงหรือลงทุนในอะไรที่ไม่เข้าใจแต่ผลตอบแทนจูงใจเหลือเกิน เช่น ไม่เข้าใจใน “บิตคอยน์” แต่เห็นผลตอบแทนสูง เลยกระโจนเข้าไปลงทุน ผลที่ได้ในที่สุดอาจไม่เป็นดังหวัง

 

ทางเลือกที่น่าสนใจ คือ การลงทุนผ่านกองทุนรวม โดยมีการปรึกษาหารือกับผู้แนะนำการลงทุนของ บลจ./ ของธนาคาร / บล./ บลน. ที่มีใบอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. ถือเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยกว่า เพราะจะได้รับคำแนะนำที่เหมาะสมกับสถานะของตัวเองเป็นการเฉพาะและมีกองทุนรวมที่เปิดโอกาสให้ลงทุนได้พิจารณาเลือกมากมายและหลากหลาย

 

ทั้งนี้ ควรเน้นการลงทุนที่ได้รับผลตอบแทนแบบสม่ำเสมอจากการลงทุนเพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่าย และลดการดึงเงินต้นออกมาใช้ให้มากที่สุด เช่น กองทุนรวมตราสารหนี้ที่จ่ายเงินคืนระหว่างการลงทุน กองทุนรวมหุ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศที่จ่ายปันผล กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานที่จ่ายปันผลสม่ำเสมอ เป็นต้น

 

ตัวอย่างสัดส่วนการลงทุนสำหรับผู้เกษียณ

  • เงินฝาก หุ้นกู้ พันธบัตรรัฐบาล กองทุนรวมตราสารหนี้ สัดส่วนประมาณ 40 - 60%
  • หุ้น กองทุนรวมหุ้น สัดส่วนประมาณ 10 - 40%
  • ทองคำ กองทุนรวมทองคำ สัดส่วนประมาณ 5 - 10%
  • กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ / กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน / กองทุนรวมทางเลือกอื่น ๆ สัดส่วนประมาณ 10 - 15%

 

ที่สำคัญควรปรึกษากับผู้แนะนำการลงทุนที่มีใบอนุญาตดังกล่าวข้างต้นก่อนจะจัดสรรการลงทุน เพราะแต่ละคนมีความต้องการ มีข้อจำกัด ที่ไม่เหมือนกัน และอย่าลืมว่าการลงทุนนั้น ๆ ต้องมีสภาพคล่องในการไถ่ถอนมาใช้จ่ายด้วย

 

สิ่งที่ต้องระมัดระวัง

  • การให้เงินก้อนลูกหลานหรือเพื่อนฝูง ต้องมั่นใจว่าจะไม่กระทบต่อเงินออมเพื่อดำรงชีพในวัยเกษียณ ถ้ายังไม่พอใช้ก็อย่าให้ไป

 

  • หลายคนอยากไปทำสวนทำไร่ แต่ไม่มีประสบการณ์มาก่อน เรี่ยวแรงก็ถดถอย อาจขาดทุน เจ็บป่วย และกระทบเงินออมสำหรับวัยเกษียณได้

 

  • ระวังการต้มตุ๋น หลอกลวง แชร์ลูกโซ่ กองทุนที่ผิดกฎหมาย เป็นต้น โดยเฉพาะผลตอบแทนที่เหลือเชื่อ หรือมีคนเข้ามาเยินยอความสำเร็จในอดีต ทำให้หลงเชื่อจ่ายเงินไป

 

คำเตือน

คนวัยเกษียณจะมีเวลาว่างและมีเงินก้อนในมือ จึงมักจะอยากใช้จ่าย อยากให้รางวัลตัวเอง อย่าเพลิดเพลินกับเวลาที่มีและเงินในมือ ต้องประมาณให้ดีก่อนใช้ ไม่เช่นนั้นเงินอาจหมดได้ และจะเป็นเรื่องเศร้า ถ้าตายก่อนใช้เงินหมด

เป็นเรื่องแสนสลด ถ้าใช้เงินหมดแล้วยังไม่ตาย


สำหรับใครที่สนใจ เรียนรู้เทคนิคและวิธีการบริหารจัดการเงินหลังเกษียณ เพื่อเตรียมพร้อมก้าวสู่ชีวิตหลังเกษียณอย่างมีความสุข สามารถเรียนรู้เพิ่มเติม ผ่าน e-Learning หลักสูตร “วางแผนการเงินหลังเกษียณ สไตล์วัยเก๋า” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: