เปิดประสบการณ์ลงทุนหุ้นเวียดนาม ของสติมา เมี้ยนละม้าย

โดย ฐิติเมธ โภคชัย ฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
3 Min Read
17 เมษายน 2567
1.266k views
TSI_Article_582_Inv_Thumbnail
Highlights

เปิดประสบการณ์ลงทุนหุ้นเวียดนามของสติมา เมี้ยนละม้าย สถาปนิกและเจ้าของเพจ Vietnam Value Investor ซึ่งจะมาบอกเล่าประสบการณ์ลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนามจากจุดเริ่มต้นเมื่อ 9 ปีที่แล้ว รวมถึงคำแนะนำสำหรับนักลงทุนไทยที่จะเข้าไปลงทุนหุ้นเวียดนาม

“เต๋า” สติมา เมี้ยนละม้าย สถาปนิกและเจ้าของเพจ Vietnam Value Investor ถือเป็นนักลงทุนไทยกลุ่มแรก ๆ ที่เข้าไปลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนาม ด้วยการเลือกหุ้นตามหลักการลงทุนแบบเน้นคุณค่า (Value Investment) ขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญกับการกระจายความเสี่ยงผ่านเครื่องมือลงทุน DR (Depositary Receipts) และกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนหุ้นเวียดนาม ซึ่งตลอด 9 ปีที่ผ่านมาก็ถือว่าได้รับผลตอบแทนในระดับที่น่าประทับใจ

 

ประมาณปี 2552 เต๋าเข้าสู่โลกการลงทุนครั้งแรกในชีวิต ด้วยการลงทุนหุ้นไทย โดยได้รับแรงบันดาลใจจากการอ่านหนังสือการลงทุนหลายเล่ม ที่เขียนโดย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนเน้นคุณค่า ดังนั้น สไตล์การลงทุนของเต๋าจึงเป็นลักษณะเน้นคุณค่าและหุ้นปันผล “เต๋าคัดเลือกหุ้นเข้าพอร์ตลงทุน เหมือน ดร.นิเวศน์เลย ไม่ว่าจะเป็นหุ้นกลุ่มค้าปลีก โรงพยาบาล สนามบิน ที่สำคัญเน้นลงทุนระยะยาว” เต๋า เล่า

 

นอกจากเต๋าจะมีต้นแบบการลงทุนที่ดีแล้ว การเข้ามาลงทุนหุ้นไทยหลังวิกฤติซับไพรม์ (ปี 2551) เริ่มคลี่คลาย เมื่อดัชนีหุ้นไทยได้ปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ราคาหุ้นทุกตัวที่เต๋าถืออยู่ปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน “เต๋าได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนหุ้นไทย มาจากการมีต้นแบบที่ดี จังหวะและความโชคดี”

 

หลังจากเต๋าประสบความสำเร็จจากการลงทุนหุ้นไทย จังหวะเดียวกันก็ได้มีโอกาสฟังรายการด้านการเงินการลงทุนรายการหนึ่ง โดยมีดร.นิเวศน์เป็นวิทยากร และได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับความน่าสนใจของการลงทุนหุ้นเวียดนาม เต๋าจึงตัดสินใจศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับตลาดหุ้นเวียดนามทันที

 

ปี 2558 เต๋าได้เห็นข้อมูลของ บมจ. Airports Corporation of Vietnam (ACV) ผู้บริหารจัดการท่าอากาศยานภายในประเทศเวียดนาม ซึ่งกำลังจะเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ต่อประชาชนในครั้งแรก (IPO) จึงตัดสินใจบินไปเมืองโฮจิมินห์ แล้วติดต่อกับโบรกเกอร์เพื่อขอเปิดบัญชีซื้อขายหุ้น ด้วยเหตุผลต้องการจองซื้อหุ้น ACV

 

อย่างไรก็ตาม เต๋าไม่สามารถทำการซื้อขายหุ้นเวียดนามได้ เพราะเงินที่จะนำไปลงทุนยังไม่สำแดง (Declare) ที่สนามบิน จึงต้องบินกลับประเทศไทย และเมื่อกลับมาก็ทราบว่าโบรกเกอร์ไทยก็เปิดบริการลงทุนหุ้นเวียดนาม จึงตัดสินใจเปิดบัญชีซื้อขายหุ้น และหุ้นเวียดนามตัวแรก ๆ ในชีวิต คือ ACV และหุ้นตัวนี้ก็อยู่ในพอร์ต โดยราคาได้ปรับขึ้นมาประมาณ 2 เท่า

 

เต๋าเล่าประสบการณ์การลงทุนหุ้นเวียดนามในช่วงแรกว่ายังมีข้อจำกัดพอสมควร โดยเฉพาะข้อมูล บทวิจัย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นภาษาเวียดนามและต้องรอโบรกเกอร์จากเวียดนามส่งมาให้เท่านั้น ทำให้การเข้าถึงค่อนข้างยาก นอกจากนี้หากพิจารณาสัดส่วนนักลงทุนรายย่อยที่ลงทุนในหุ้นเวียดนามมีประมาณ 85% และส่วนใหญ่จะใช้ปัจจัยด้านเทคนิคในการวิเคราะห์และเน้นลงทุนระยะสั้น (เทรดดิ้ง) “ทำให้ภาพรวมการลงทุนค่อนข้างผันผวน อาจมีความแตกต่างจากตลาดหุ้นไทย ที่มีสัดส่วนนักลงทุนรายย่อยไม่สูง ทำให้ความผันผวนมีน้อยกว่า” เต๋า กล่าว

 

คำถามที่ตามมา คือ ขณะที่นักลงทุนรายย่อยส่วนใหญ่เน้นลงทุนหุ้นเวียดนามแบบเทรดดิ้ง การเน้นลงทุนระยะยาวจะประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน เต๋าให้คำตอบว่าสามารถประสบความสำเร็จได้ เพราะการลงทุนหุ้นระยะยาวจะช่วยลดความผันผวนจากการลงทุนได้ “เมื่อความผันผวนน้อยลง โอกาสขาดทุนก็น้อยลงตามไปด้วย ยิ่งลงทุนระยะยาวขึ้น โอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนที่ดีก็มีมากขึ้น”

 

นอกจากนี้ เต๋าแนะนำว่าหากต้องการประสบความสำเร็จจากการลงทุนหุ้นเวียดนามไม่ควร Bias หุ้นกลุ่มที่เคยเป็น Super Stock ในไทย เพราะอาจจะเป็น Super Stock ในตลาดหุ้นเวียดนามได้เช่นกัน

 

“นักลงทุนควรพิจารณาธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตอื่น ๆ ด้วย เช่น หุ้นกลุ่มเทคโนโลยี หรือ หุ้นที่ราคาตกลงอย่างมากจากข่าวหรือความกลัวของนักลงทุนรายย่อยชาวเวียดนาม”

 

คำแนะนำ

จากประสบการณ์ 9 ปีที่เต๋าลงทุนหุ้นเวียดนาม แนะนำนักลงทุนที่กำลังสนใจว่าเนื่องจากตลาดหุ้นเวียดนามค่อนข้างผันผวน จึงควรให้ความสำคัญกับการกระจายความเสี่ยง “หากลงทุนหุ้นไทยอาจลงทุน 5 ตัวก็ถือว่าเพียงพอ แต่สำหรับหุ้นเวียดนามต้องมากกว่านั้น โดยส่วนตัวมีหุ้นถึง 12 ตัว โดยเน้นหุ้นขนาดใหญ่และเป็น Super Stock เพราะตลอด 9 ปีที่ผ่านมา พบว่าหุ้นที่ถือก็มีทั้งหุ้นเติบโตดีเกินคาดและแย่เกินคาด จึงต้องกระจายการลงทุนเพื่อลดความเสี่ยงของพอร์ตลงทุนโดยรวม” เต๋า แนะนำ

 

นอกจากลงทุนหุ้นเวียดนามโดยตรงแล้ว เต๋าก็ยังแบ่งเงินไปลงทุนผ่าน DR* ด้วย “นอกจากจะเป็นการกระจายความเสี่ยงแล้ว ยังเหมาะสำหรับนักลงทุนที่เริ่มสนใจลงทุนหุ้นเวียดนามด้วย”

 

โดยปัจจุบันในตลาดหุ้นไทยมี DR ที่อ้างอิงหุ้นเวียดนาม 2 ตัว คือ DR E1VFVN3001 อ้างอิง DCVFMVN30 ETF ลงทุนอิงกับดัชนี VN 30 ที่เป็นดัชนีหุ้นเวียดนามชั้นนำขนาดใหญ่ 30 ตัวในตลาดหุ้นเวียดนาม (คล้ายกับดัชนี SET50) และ DR FUEVFVND01 อ้างอิง DCVFMVN DIAMOND ETF ลงทุนอิงกับดัชนี VN Diamond ดัชนีหุ้นเวียดนาม 18 ตัว

 

“หากต้องการได้หุ้นเวียดนามที่เป็น Super Stock ก็ลงทุนผ่าน Diamond ETF ได้ อีกทั้ง ยังลงทุนกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนหุ้นเวียดนาม โดยเลือกลงทุนกองทุนรวม SSF เพื่อรับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีอีกด้วยครับ” เต๋า ปิดท้าย

 

*DR หรือ Depositary Receipt เป็นตราสารที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้นักลงทุนไทยสามารถซื้อขายหุ้นหรือ ETF ต่างประเทศได้ โดยผู้ออก DR  จะเป็นคนไปซื้อหุ้นหรือ ETF ต่างประเทศมาเก็บไว้ และนำมาเสนอขายนักลงทุนไทยอีกต่อหนึ่ง ในรูปของเงินบาท นักลงทุนไทยจึงซื้อขายหุ้นหรือ ETF นั้นผ่านตลาดหุ้นไทยได้ โดยใช้บัญชีเดียวกันกับการซื้อขายหุ้นไทย เหมือนการซื้อขายหุ้นทั่วไป

 

นักลงทุนที่สนใจ สามารถดูรายละเอียดของ DR เพิ่มเติมได้ที่ คลิกที่นี่

 

หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน


สำหรับนักลงทุนมือใหม่และผู้ที่สนใจ เรียนรู้ลักษณะพื้นฐาน ทางเลือกลงทุน และวิธีการลงทุนในต่างประเทศผ่านตลาดหุ้นไทย เพื่อกระจายความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “มือใหม่หัดลงทุนต่างประเทศ” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่ 

 

หรือสนใจเรียนรู้พื้นฐานการลงทุนใน DR วิธีการซื้อขาย ตลอดจนกลยุทธ์การลงทุนใน DR สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “ลงทุน DR ฉบับมือใหม่” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่ 

แท็กที่เกี่ยวข้อง: