ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ เชื่อว่าหลายคนมีแผนที่จะออกไปเล่นน้ำและคงรู้สึกถึงสภาพอากาศที่นับวันจะร้อนขึ้นเรื่อย ๆ จากภาวะโลกร้อน รวมถึงสถานการณ์ภัยแล้งที่ปีนี้นับว่ารุนแรงและน่าเป็นห่วงกว่าทุกปี
ศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต วิเคราะห์สถานการณ์ภัยแล้งของประเทศไทยว่า เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างและมีแนวโน้มว่าภัยแล้งแต่ละครั้งจะมีระยะเวลานานขึ้น มีความถี่และรุนแรงมากขึ้น ในขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยารายงานว่า ปริมาณน้ำในเขื่อนสิริกิติ์มีเหลือใช้ได้เพียง 29% เพราะปัญหาฝนทิ้งช่วง
แม้ว่าประเทศไทยได้มีการกำหนดแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (ปี 2561-2580) แต่จากปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ภาคธุรกิจต้องปรับตัวและบริหารความเสี่ยงจากการขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอุตสาหกรรมที่ต้องใช้น้ำในปริมาณมาก
ตัวอย่างของธุรกิจไทยที่บริหารจัดการน้ำอย่างจริงจัง
บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) หรือ “AMATA” ผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมใน 16 จังหวัดทั่วประเทศไทย เห็นความสำคัญของการใช้น้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด จึงมีระบบบำบัดน้ำเสียและหมุนเวียนน้ำที่ใช้แล้วไปใช้ซ้ำอีกในนิคมอุตสาหกรรม เช่น นำไปผลิตเป็นน้ำประปาคุณภาพสูง นำไปใช้หล่อเย็นในโรงไฟฟ้า และนำไปใช้ดูแลพื้นที่สีเขียวทั้งหมดในนิคมอุตสาหกรรม ลดการใช้น้ำดิบจากธรรมชาติได้มากถึง 30.9 ล้านลูกบาศก์เมตร ประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้ 76.5 ล้านบาทต่อปี
บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) หรือ “TFMAMA” ผู้ผลิตและจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ขนมปัง และเบเกอรี่ ซึ่งต้องใช้น้ำเป็นวัตถุดิบสำคัญ ได้เปลี่ยนจากการใช้สายยางในการล้างเครื่องตู้อบขนมปัง ไปใช้หัวสเปรย์แทน ลดปริมาณน้ำที่ใช้เพื่อกระจายไม่ให้เส้นหมี่เกาะติดกัน นำไอน้ำจากกระบวนการผลิตมาลดอุณหภูมิแล้วนำกลับไปใช้ใหม่ สามารถประหยัดน้ำได้ 34,397 ลูกบาศก์เมตรต่อปี ลดน้ำเสียที่ต้องเข้าสู่ระบบบำบัดได้ 4,800 ลูกบาศก์เมตรต่อปี
บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ “RATCH” ธุรกิจโรงไฟฟ้า ซึ่งต้องใช้พลังงานความร้อนและความร้อนร่วมในการผลิตไฟฟ้าและใช้น้ำจำนวนมาก มีการติดตามและประเมินระดับของแหล่งน้ำดิบที่ใช้ในการผลิตอย่างใกล้ชิดเพื่อบริหารความเสี่ยงจากการขาดแคลนน้ำ นอกจากนี้ ยังนำน้ำที่ผ่านการใช้งานแล้วมาบำบัดเพื่อใช้ซ้ำในโรงไฟฟ้า 3 แห่ง คือ โรงไฟฟ้า RGCO โรงไฟฟ้า RCO และโรงไฟฟ้า NRER มีการปรับปรุงคุณภาพน้ำทิ้งเพื่อนำมาหมุนเวียนใช้ใหม่ ส่วนน้ำทิ้งที่บำบัดแล้วก็นำไปใช้ในพื้นที่สีเขียว ลดการใช้น้ำดิบได้ 3,843,225 ลูกบาศก์เมตร
บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) หรือ “CENTEL” ธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร ติดตั้งอุปกรณ์ประหยัดน้ำ เช่น ฝักบัว ก๊อกน้ำ และโถสุขภัณฑ์ในโรงแรม นำน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดแล้วมาใช้รดน้ำต้นไม้และสนามหญ้า รวมถึงส่งเสริมให้ลูกค้ามีส่วนร่วมประหยัดน้ำ ทำให้ปริมาณการใช้น้ำต่อห้องพักลดลงมากถึง 49% ในปี 2565 และมีปริมาณน้ำที่นำกลับมาใช้ใหม่ 329,560 ลูกบาศก์เมตร
บริษัท เอส เอ็น ซี ฟอร์เมอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ “SNC” ผู้ผลิตชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าและแอร์ นำน้ำที่บำบัดแล้วจากกระบวนการผลิตของโรงงาน Cooling ที่จังหวัดสมุทรปราการ กลับมาใช้ระบายความร้อนบนหลังคาโรงงานได้ 21,620 ลูกบาศก์เมตร นอกจากนี้ ยังลดอัตราการใช้พลังงานของระบบทำความเย็นและลดปริมาณการใช้น้ำในกระบวนการฉีดพลาสติกได้ถึง 2,250 ลิตรต่อชั่วโมง โดยน้ำที่เติมเข้าไปในระบบสามารถนำมาใช้ซ้ำได้ถึง 98%
ในฝั่งของนักลงทุน นักลงทุนควรเข้าใจลักษณะธุรกิจของบริษัทที่เข้าไปลงทุน และศึกษาว่ามีความพร้อมรับมือกับภัยแล้งหรือปัญหาการขาดแคลนน้ำมากน้อยเพียงใด เพื่อบริหารความเสี่ยงในการลงทุน รวมถึงอาจตั้งคำถามในการประชุมผู้ถือหุ้นเกี่ยวกับกลยุทธ์ การบริหารความเสี่ยง และแผนการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงการบริหารจัดการน้ำ เช่น แหล่งน้ำที่ใช้ การคาดการณ์และประเมินความเสี่ยงจากการขาดแคลนน้ำ การจัดสรรและสำรองน้ำไว้ใช้ยามฉุกเฉิน และการบำบัดน้ำเสีย เป็นต้น
ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้นักลงทุนสามารถมั่นใจได้ในระดับหนึ่งว่า บริษัทที่ลงทุนนั้นสามารถรับมือกับวิกฤตภัยแล้ง และมีแผนสำรองเพื่อให้ยังสามารถแข่งขันและเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง
ตัวอย่างข้อมูลการดำเนินงานด้าน ESG ของบริษัทจดทะเบียน: (ESG Impacts and Business Showcases 2023)
ท่านสามารถค้นหาข้อมูล SET ESG Ratings (Website) และความรู้ด้าน ESG เพิ่มเติมได้ที่: SET ESG Academy (Website) (Line)
หมายเหตุ: บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ข้อมูลสำหรับการศึกษาในเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน
แหล่งข้อมูลอ้างอิง :
http://www.onwr.go.th/?page_id=4207
https://www.thaipbs.or.th/news/content/337840
https://www.thairath.co.th/spotlight/watercrisis/
https://www.ratch.co.th/th/environment/water-related-risks
https://centel.listedcompany.com/misc/SD/20230510-centel-sd-report-2022-th.pdf