มือใหม่สนใจหุ้นกลุ่มสื่อสาร ต้องเริ่มที่งบการเงิน

โดย ภัทรธร ช่อวิชิต AISA นักลงทุนเน้นคุณค่า
3 Min Read
10 เมษายน 2567
8.01k views
TSI_Article_580_Inv_Thumbnail
Highlights
  • หุ้นกลุ่มสื่อสารเป็นหุ้นที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการสื่อสาร โดยรวมแล้วมักเน้นการให้บริการสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น บริการโทรศัพท์มือถือ บริการอินเทอร์เน็ต บริการโทรทัศน์จากอุปกรณ์อื่น ๆ เป็นต้น หมายความว่า หากสนใจลงทุนหุ้นกลุ่มนี้จะต้องเข้าใจเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและแนวโน้มในการใช้งาน

  • การพัฒนาในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอาจมีผลต่อผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของบริษัท ดังนั้น ก่อนตัดสินใจลงทุนจะต้องพิจารณาถึงการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ การเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมการใช้งานของผู้บริโภคเพื่อทำการวิเคราะห์กำไรขาดทุน รวมถึงความแข็งแกร่งของกิจการและความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงในตลาดและเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วด้วย

เมื่อเอ่ยถึงหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมที่นักลงทุนสนใจลงทุนเป็นอันดับต้น ๆ คือ กลุ่มสื่อสาร เพราะเป็นธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับวัฏจักร จึงไม่ต้องกังวลกับภาวะเศรษฐกิจ ที่สำคัญได้กลายเป็นปัจจัยที่ 5 และขาดไม่ได้ของผู้คนในยุคนี้และในอนาคต

 

นอกจากนี้ โดยรวมแล้วเป็นหุ้นกลุ่มที่จ่ายเงินปันผลที่น่าสนใจ แต่ประเด็นที่ถือเป็นจุดอ่อนที่นักลงทุนต้องติดตาม คือ การแข่งขัน เพราะเมื่อเป็นธุรกิจเชิงโครงสร้างพื้นฐาน การแข่งขันจะทำให้เกิดต้นทุนค่าใช้จ่าย ใช้เงินลงทุนเป็นระยะ ๆ ด้วยเหตุนี้ ก่อนตัดสินใจลงทุนจึงต้องศึกษาข้อมูลและวิเคราะห์งบการเงินให้ละเอียด (บทความนี้จะวิเคราะห์งบการเงิน ธุรกิจผู้ให้บริการโทรศัพท์ โทรศัพท์ผ่านเสียง (Voice) และข้อมูล (Data) และบริการเสริมต่าง ๆ)

 

ลักษณะงบการเงินของหุ้นกลุ่มสื่อสาร

เมื่อเปิดงบการเงินธุรกิจผู้ให้บริการโทรศัพท์ (เช่น ADVANC, TRUE) ก็จะมีสินค้าเหมือนกัน คือ โทรศัพท์ผ่านเสียง (Voice) และข้อมูล (Data) และบริการเสริมต่าง ๆ ดังนั้น จึงต้องลงทุนสินทรัพย์ไม่หมุนเวียนขนาดใหญ่ไปก่อน จากนั้นเมื่อเปิดให้บริการจึงจะเริ่มเก็บเกี่ยวรายได้ไปเรื่อย ๆ

 

แต่จุดสำคัญที่ลืมไม่ได้ คือ จะต้องใช้ใบอนุญาตหรือสัมปทานในการเริ่มต้นธุรกิจ หมายความว่า จะต้องสร้างรายได้เพื่อนำมาคืนหนี้ให้ได้ก่อนใบอนุญาตหรือสัมปทานจะหมดอายุ (ประมาณ 20 ปี) โดยการดำเนินธุรกิจเริ่มต้นด้วยการทำสัมปทานกับรัฐวิสาหกิจ (บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT)) ซึ่งมีรูปแบบสำคัญ 2 แบบ  

 

  • Build-Operate-Transfer (BOT) เอกชนเป็นผู้ลงทุนพัฒนาและดำเนินโครงการรับความเสี่ยงจากผลประกอบการและต้องส่งมอบกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินของโครงการให้แก่ภาครัฐเมื่อพร้อมเริ่มเปิดให้บริการหรือเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาสัญญา พูดง่าย ๆ เอกชนทำการก่อสร้าง นำไปใช้งาน เมื่อหมดสัมปทานก็โอนให้รัฐ ดังนั้น ในงบการเงินจะบันทึกเป็น “สินทรัพย์ภายใต้สัญญาสัมปทาน

 

  • Build-Transfer-Operate (BTO) เอกชนเป็นผู้ออกแบบ ลงทุนและก่อสร้างสินทรัพย์แล้วโอนกรรมสิทธิ์ในสินทรัพย์ให้แก่รัฐบาลทันทีหลังจากก่อสร้างเสร็จ โดยเอกชนจะมีสิทธิในการใช้ทรัพย์สินที่ตัวเองลงทุนตามสัญญาสัมปทานในการดำเนินงานเพื่อหาผลตอบแทนภายในระยะเวลาที่กำหนด พูดง่าย ๆ เอกชนลงทุนก่อสร้างแล้วโอนให้รัฐก่อนแล้วค่อยนำไปดำเนินการ ในงบการเงินจะบันทึกเป็น “สินทรัพย์ไม่มีตัวตน รายการสิทธิและสัมปทาน

 

ในช่วงเริ่มต้นการดำเนินธุรกิจแบบเสียงยุค 2G พบว่าคาดการณ์ค่อนข้างยากเกี่ยวกับตัวเลขรายได้และกำไร จึงมีการปรับสัญญากันอย่างต่อเนื่อง จึงมีเหตุการณ์ฟ้องร้องระหว่างเอกชนกับรัฐวิสาหกิจตามมาเช่นกัน ดังนั้น หากพิจารณาหมายเหตุประกอบงบการเงิน พบว่ามีเรื่องคดีความ การฟ้องร้องผูกพันอย่างมากมาย อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ยุค 4G เป็นต้นมาจะดำเนินการภายใต้ระบบใบอนุญาต โดยมีคณะกรรมการกำกับกิจการวิทยุและโทรคมนาคม เป็นผู้ดูแลจัดประมูลและจัดเก็บค่าใบอนุญาตส่งกระทรวงการคลัง ทำให้แทบไม่มีการฟ้องร้อง 

 

โดยสรุป ธุรกิจนี้จะต้องลงทุนหนัก ๆ ก่อน และต้องทำกำไรคืนหนี้ให้ได้ก่อนหมดสัมปทานหรือใบอนุญาต ดังนั้น หากสนใจลงทุนหุ้นกลุ่มนี้ต้องรอจังหวะปีที่ธุรกิจสร้างผลประกอบการถึงจุดคุ้มทุนมากกว่า “ต้นทุนคงที่” และพลิกจากขาดทุนเป็น “กำไร”

 

คำศัพท์ที่ต้องรู้

เมื่อบริษัทได้ประกาศงบการเงินแต่ละงวด รายการที่นักลงทุนควรพิจารณาเป็นอันดับแรก คือ ทิศทางรายได้ เพราะต้นทุนส่วนใหญ่จะเป็นต้นทุนคงที่ ดังนั้น จะต้องประเมินว่าธุรกิจจะต้อง “ขาดทุนลดลงเรื่อย ๆ” หรือผลประกอบการต้องเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญต้องรักษากำไรไว้ให้ได้จนหมดสัมปทานหรือใบอนุญาต

 

เนื่องจาก “รายได้” เป็นหัวใจในการวิเคราะห์หุ้นกลุ่มสื่อสาร ดังนั้น คำอธิบายผลประกอบการที่มาพร้อมงบการเงินจะแยกรายได้เป็น “ราคาและปริมาณ” และเพื่อให้วิเคราะห์ได้ง่ายมากขึ้น ควรทำความเข้าใจคำศัพท์ที่สำคัญ

  • จำนวนลูกค้า แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ แบบรายเดือน (Postpaid) คือ ใช้งานก่อนแล้วค่อยชำระค่าบริการเมื่อครบรอบ และแบบเติมเงิน (Prepaid) โดยต้องชำระเงินก่อนแล้วจึงสามารถเปิดใช้บริการได้
  • ARPU (Average Revenue Per User) คือ รายได้เฉลี่ยต่อลูกค้าหนึ่งคน (บาท/เลขหมาย/เดือน) เป็นตัวชี้ว่ารายได้ต่อหนึ่งหมายเลขเป็นเท่าไร โดย ARPU สูงหรือลดลง มาจากปัจจัยการแข่งขัน สงครามราคา หรือสภาวะกำลังในขณะนั้น
  • นาทีโทรเฉลี่ยต่อหมายเลขต่อเดือน (MOU) (นาที/เลขหมาย/เดือน) คือ จำนวนนาทีที่เรียกเก็บเงินจากการโทรออกของลูกค้า ซึ่งเกิดจากการใช้บริการเสียงและการโทรออกต่างประเทศ หารด้วยจำนวนลูกค้าเฉลี่ยระหว่างต้นงวดและปลายงวด
  • จำนวนอินเทอร์เน็ตที่ใช้ต่อเลขหมายต่อเดือน (VOU) (กิกะไบต์/เลขหมายที่ใช้อินเทอร์เน็ต/เดือน) คือ จำนวนอินเทอร์เน็ตที่เรียกเก็บเงินจากการใช้งานของลูกค้า ซึ่งเกิดจากปริมาณการใช้บริการอินเทอร์เน็ต หารด้วยจำนวนลูกค้าเฉลี่ยระหว่างต้นงวดและปลายงวด
  • อัตราจำนวนเลขหมายที่ตัดออกจากระบบ (Churn Rate) คือ จำนวนผู้ใช้บริการที่ยกเลิกบริการระหว่างงวด หารด้วยผลรวมของจำนวนผู้จดทะเบียนใหม่ระหว่างงวด และจำนวนผู้ใช้บริการ ณ ต้นงวด
  • จำนวนผู้ใช้บริการ คือ จำนวนหมายเลขที่จดทะเบียน ณ สิ้นงวด ไม่รวมถึงหมายเลขที่มีสถานะเป็นจำนวนเลขหมายที่ตัดออกจากระบบ (Churn)

โดยสรุป ธุรกิจสื่อสารจะมีคำศัพท์เฉพาะของอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่จะเป็นค่าที่ใช้วัดส่วนของรายได้ โดยแยกเป็นปริมาณและราคา สามารถเข้าไปดูได้ที่คำอธิบายผลประกอบการที่ออกมาพร้อมงบการเงิน ทำให้นักลงทุนสามารถมองแนวโน้มธุรกิจได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ ควรเข้าใจสูตรคำนวณข้อมูลเชิงการเงิน มีดังนี้

  • อัตรากำไร EBITDA Margin = EBITDA / รายได้รวม
  • เงินกู้ที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุน = เงินกู้ที่มีภาระดอกเบี้ย / ส่วนของผู้ถือหุ้น ณ ปลายงวด (Interest-Bearing Debt to Equity)
  • หนี้สินสุทธิต่อทุน (Net Debt to Equity) = (เงินกู้ที่มีภาระดอกเบี้ย - เงินสด) / ส่วนของผู้ถือหุ้น ณ ปลายงวด
  • หนี้สินสุทธิต่อ EBITDA = (เงินกู้ที่มีภาระดอกเบี้ย - เงินสด) / EBITDA (Net Debt to EBITDA)
  • หนี้สินสุทธิรวมหนี้สินตามสัญญาเช่า = (เงินกู้ที่มีภาระดอกเบี้ย + หนี้สินตามสัญญาเช่า + ใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ค้างจ่ายต่อ EBITDA ค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ค้างจ่าย - เงินสด) / EBITDA
  • อัตราส่วนความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ย = กำไรก่อนดอกเบี้ยและภาษี / ดอกเบี้ยจ่าย (Interest Coverage)
  • อัตราส่วนความสามารถในการชำระภาระผูกพัน = EBITDA * (1-อัตราภาษี) / (หนี้สินครบกำหนดชำระใน 1 ปี +(DSCR) ดอกเบี้ยจ่ายรายปี)
  • อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ (ROA) = กำไรสุทธิ / ค่าเฉลี่ยสินทรัพย์รวม ณ ต้นงวดและปลายงวด
  • อัตราผลตอบแทนจากส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) = กำไรสุทธิ / ค่าเฉลี่ยส่วนของผู้ถือหุ้น ณ ต้นงวดและปลายงวด
  • กระแสเงินสดอิสระ (Free Cash Flow) = เงินสดสุทธิจากกิจกรรมดำเนินงาน - เงินลงทุนโครงข่าย – หนิ้สินตามสัญญาเช่าจ่าย

 

การจับจังหวะถึงจุดคุ้มทุนด้วยงบการเงิน

ช่วงที่นักลงทุนรอสำหรับหุ้นกลุ่มสื่อสาร คือ จังหวะที่รายได้ของบริษัทถึงจุดคุ้มทุน โดยสัญญาณสำคัญที่บ่งชี้ว่าบริษัทกำลังถึงจุดคุ้มทุนหรือต้นทุนเริ่มคงที่ คือ อัตรากำไรขั้นต้นเริ่มเพิ่มขึ้น (เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า) ดังนั้น หากเห็นสัญญาณดังกล่าว ประเมินว่าธุรกิจกำลังเริ่มมีกำไร เพราะเมื่อรายได้เพิ่มขึ้นต่อเนื่องก็จะเห็นตัวเลขกำไรขั้นต้น กำไรก่อนดอกเบี้ยและภาษี และกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น

 

การประเมินมูลค่า

เนื่องจากธุรกิจสื่อสารเป็นธุรกิจที่ดำเนินการด้วยสัมปทานหรือใบอนุญาต (มีวันหมดอายุ) ทำให้การประเมินมูลค่าต้องประเมินด้วย “กระแสเงินสด” ในแต่ละปี ไปจนถึงปีที่หมดสัมปทานหรือใบอนุญาต ดังนั้น ข้อควรระวัง คือ หลังจากหมดสัมปทานหรือใบอนุญาต และกรณีที่ไม่ได้ต่ออายุสัมปทานหรือใบอนุญาต รายได้อาจลดลงอย่างรวดเร็ว จึงพบว่าบริษัทแต่ละแห่ง (เช่น ADVANC และ TRUE) จะต้องขอใบอนุญาตเพื่อทำให้มีใบอนุญาตต่อเนื่อง

 

ดังนั้น นักลงทุนควรดูกระแสเงินสดว่ามีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่องหรือไม่ ถ้ากระแส เงินสดเหมือนเดิม ราคาหุ้นก็จะทรง ๆ ถ้ามีแนวโน้มลดลง ราคาหุ้นก็มีโอกาสจะปรับลง อย่างไรก็ตาม หุ้นกลุ่มสื่อสารถือเป็นกลุ่ม “จ่ายเงินปันผล” โดยการที่บริษัทจะจ่ายเงินปันผลได้ดีและสม่ำเสมอ จะต้องมาจากกําไรที่เพิ่มขึ้นกับการจ่ายปันผลที่เพิ่มขึ้น เช่น กําไรสุทธิ 10 บาท จ่ายปันผล 5 บาท ปีถัดไปกําไรสุทธิ 10 บาท จ่ายปันผล 7 บาท หมายความว่า กำไรเท่าเดิม แต่จ่ายปันผลเพิ่มขึ้น ดังนั้น จึงควรดู Payout Ratio โดยก่อนตัดสินใจลงทุนต้องดูว่า Payout Ratio เพิ่มขึ้นหรือลดลง

 

สะท้อนว่า หุ้นกลุ่มสื่อสารจะมี “ผลตอบแทน” ค่อนข้างชัดเจน ดังนั้น ต้องดู EBITDA ในแต่ละปีว่ามีมากกว่า “เงินต้นและดอกเบี้ยจ่าย” หรือไม่ หากมีมากกว่าและนำมาจ่ายปันผลก็ไม่มีปัญหา และเนื่องจากเป็นธุรกิจที่สามารถประเมินรายได้ได้ ดังนั้น ถึงแม้จะมีหนี้สินค่อนข้างสูง แต่ก็นำไปซื้อสินทรัพย์ที่มีประโยชน์ จึงเป็นธุรกิจที่ยอมรับได้ว่าจะมี D/E Ratio ที่สูง จึงเป็นหุ้นที่ซื้อขายกันที่ P/BV Ratio สูง เพราะ ROE สูง และมาร์จิ้นอยู่ในระดับที่ดี ดังนั้น เมื่อเห็นราคาหุ้นปรับย่อลงมา จึงเป็นโอกาสในการเข้าไปเก็บสะสม และเน้นลงทุนระยะยาวเพื่อรับเงินปันผล

 

หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน


สำหรับนักลงทุนมือใหม่หรือผู้ที่สนใจ เรียนรู้องค์ประกอบต่าง ๆ ของงบการเงิน และเทคนิคการอ่านงบการเงินแบบง่าย เพื่อประเมินศักยภาพของกิจการประกอบการตัดสินใจลงทุน ผ่าน e-Learning หลักสูตร “Financial Statement Analysis” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่
แท็กที่เกี่ยวข้อง: