เปิดประสบการณ์ลงทุนหุ้นสหรัฐฯ ของวีระพงษ์ ธัม

โดย ฐิติเมธ โภคชัย ฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
4 Min Read
9 เมษายน 2567
7.153k views
TSI_Article_579_Inv_Thumbnail
Highlights

วีระพงษ์ ธัม อดีตนายกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย) ถือเป็นนักลงทุนรุ่นแรก ๆ ที่ตัดสินใจแบ่งเงินไปลงทุนหุ้นต่างประเทศ โดยเขาไปลงทุนหุ้นสหรัฐอเมริกา เพราะมองว่าเป็นการกระจายการลงทุนที่ดี แต่เนื่องจากประสบการณ์ที่ยังมีจำกัด และลงทุนในช่วงฟองสบู่เพราะกลัวตกรถ ทำให้ไม่ประสบความสำเร็จ จึงต้องปรับพอร์ตการลงทุน ปัจจุบันพอร์ตลงทุนกลับมาเข้าที่เข้าทางด้วยแนวทางการลงทุนที่ถูกต้องและเลือกหุ้นที่ดี มีคุณภาพ ความสำเร็จจึงอยู่แค่เอื้อม

“หลิน” วีระพงษ์ ธัม เติบโตมาจากครอบครัวธุรกิจโบรกเกอร์ประกันภัย ทำให้เขาวาดฝันจะเป็นนักธุรกิจเหมือนคุณพ่อ คุณแม่ และเขาก็ทำความฝันให้เป็นจริงเมื่อได้กลายเป็นเจ้าของธุรกิจหลายประเภท ผ่านการถือหุ้นที่ซื้อขายในตลาดหุ้นไทยด้วยแนวทางการลงทุนแบบเน้นคุณค่า (Value Investing) จนประสบความสำเร็จและได้รับการขนานนามว่าเป็น “นักลงทุนหุ้นคุณค่ารุ่นใหม่ไฟแรง”

 

หลังจากประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง วีระพงษ์ก็ตัดสินใจไปลงทุนหุ้นสหรัฐอเมริกา โดยการเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นและหุ้นตัวแรกที่ซื้อ คือ Berkshire Hathaway ที่มีวอร์เรน บัฟเฟตต์ เป็นผู้ก่อตั้ง ในปี 2555 โดยเหตุผลที่ซื้อหุ้นตัวนี้ เพราะต้องการไปเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อนั่งฟังวอร์เรน บัฟเฟตต์ ขวัญใจของเขา ในวันประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2557

 

อีกเหตุผลสำคัญที่กระตุ้นให้วีระพงษ์เกิดความสนใจหุ้นสหรัฐอเมริกามากขึ้น คือ ได้มีโอกาสร่วมเดินทางกับสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย) เพื่อไปเยี่ยมชมกิจการ (Company Visit) บริษัทที่ซิลิคอน แวลลีย์ หลายแห่ง (เช่น Facebook, Alphabet (Google), Airbnb) จึงได้เห็นกระบวนการทำงานและวัฒนธรรมองค์กร และได้พูดคุยกับคนไทยที่ทำงานที่นั่น ก็พบว่า ธุรกิจให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนา (R&D) เช่น หากงานไหนที่ทำงานซ้ำ ๆ ก็จะเขียนโปรแกรมขึ้นมาเพื่อให้ทำงานแทน พูดง่าย ๆ นำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการทำงานและการดำเนินธุรกิจ เขาจึงเริ่มศึกษาข้อมูลมากยิ่งขึ้น

 

นอกจากนี้ ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 (ปี 2563) ถือเป็นจุดเริ่มต้นแบบจริงจังในการเข้าไปลงทุนหุ้นสหรัฐฯ โดยมีปัจจัยสำคัญเนื่องจากตลาดหุ้นทั่วโลกปรับลดลงอย่างรวดเร็ว แต่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ กลับฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว และหากดูจากสถิติก็พบว่ามีรูปแบบการฟื้นตัวคล้าย ๆ กับช่วงวิกฤติซับไพรม์ (ปี 2551) โดยหุ้นที่ฟื้นตัวชัดเจน คือ หุ้นกลุ่มเทคโนโลยี เนื่องจากได้รับประโยชน์จากการแพร่ระบาด COVID-19 และด้วยปัจจัยพื้นฐานก็เป็นธุรกิจที่แข็งแกร่งทำให้นักลงทุนทั่วโลกกระโดดเข้ามาลงทุนหุ้นกลุ่มดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง รวมถึงวีระพงษ์

 

“การฟื้นตัวหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ทำให้นักลงทุนทั่วโลก มะรุมมะตุ้มเข้ามาซื้อหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีเพราะราคาหุ้นปรับขึ้นทุกวันและกลัวพลาดโอกาสหรือเรียกว่า FOMO ผลที่ตามมาก็ทำให้เกิดฟองสบู่และฟองสบู่ก้อนใหญ่ที่สุด คือ ช่วงต้นปี 2564” วีระพงษ์ กล่าว

 

ผลจากการเข้าไปลงทุนหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีในช่วงฟองสบู่กำลังขยายตัว ทำให้วีระพงษ์แทบไม่มีกำไรและเงินก้อนใหม่ ๆ ที่เติมเข้าไปก็ขาดทุน เพราะซื้อในช่วงราคาแพง “ยอมรับว่าเป็นการลงทุนที่ไม่มีวินัย ถึงแม้จะซื้อถูกตัวก็ขาดทุน และจากวันนั้นจนถึงวันนี้ หุ้นที่ถือก็กลับมาได้เพียง 5% เท่านั้น เช่น Facebook, Google ส่วนที่เหลืออีก 95% ราคาหุ้นยังกองอยู่กับพื้น บางธุรกิจก็ล้มหายตายจากไปเลย ซึ่งเหตุการณ์นี้ก็ได้เรียนรู้และเป็นประสบการณ์ตรงในการลงทุนหุ้นสหรัฐฯ รวมถึงการดูหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีด้วย”

 

วีระพงษ์ อธิบายต่อว่า หลักการลงทุนหุ้นสหรัฐฯ กับหุ้นไทยเป็น “หลักการเดียวกัน” เพียงแต่หุ้นสหรัฐฯ ซึ่งมีขนาดใหญ่ มีธุรกิจที่หลากหลาย และมีนักลงทุนจากทั่วโลกมาลงทุน ทำให้ต้องศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดลึกซึ้ง “ต้องเข้าใจธุรกิจอย่างแท้จริง พูดง่าย ๆ เมื่อโลกกว้างขึ้น มีสินค้าให้เลือกมากมาย ต้องตั้งสติให้ดีและอย่าเชื่ออะไรง่าย ๆ”

 

หลังจากได้บทเรียนและมีเวลาการลงทุนยาวนานขึ้น วีระพงษ์เริ่มเข้าใจการลงทุนหุ้นสหรัฐฯ เช่น จะหาข้อมูลจากที่ไหนที่มีความน่าเชื่อถือ “เริ่มรู้แล้วว่าจะต้องประพฤติตัวอย่างไรบ้าง จึงเริ่มสร้าง Playbook การลงทุนหุ้นสหรัฐฯ ของตัวเอง เริ่มจากการกรองข้อมูล เลือกธุรกิจที่เหมาะสมกับสไตล์การลงทุนของตัวเอง เพื่อทำให้ประสิทธิภาพการลงทุนดีขึ้น”       

 

วีระพงษ์ ยอมรับว่าส่วนใหญ่แล้วจุดเริ่มต้นการลงทุนเกิดจาก “ความโลภ” และเมื่อได้เรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์ ความโลภก็จะหายไปและแทนที่ด้วยความรู้ ความเข้าใจ ก็จะทำให้การลงทุนประสบความสำเร็จในระยะยาว “ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา ก็เริ่มปรับแก้พอร์ตลงทุนมาเรื่อย ๆ เช่น ลงทุนหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่มีขนาดกลางและขนาดเล็ก โดยเลือกธุรกิจที่ยังไม่มีกำไรและกำลังอยู่ในช่วงเริ่มสร้าง (Early Stage)”

 

เขาใช้เวลาปรับแก้พอร์ตลงทุนหุ้นสหรัฐฯ 2 – 3 ปี ซึ่งเขายอมรับว่าพอร์ตลงทุนที่ฟื้นตัวได้ ส่วนหนึ่งมาจากความโชคดีที่แค่บาดเจ็บจากการแบ่งเงินไปลงทุนเพียงเล็กน้อย โดยกลยุทธ์การปรับพอร์ต นอกจากจะลงทุนหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่มีขนาดกลางและขนาดเล็กแล้ว ยังให้ความสำคัญกับการกระจายลงทุนในตลาดที่มีโอกาสสร้างผลตอบแทน “การกระจายลงทุนในระดับที่เหมาะสมจะทำให้เกิดประสิทธิภาพการลงทุน”

 

วีระพงษ์ ให้ข้อแนะนำว่า องค์ประกอบสำคัญในการไปลงทุนต่างประเทศให้ประสบความสำเร็จ คือ การประมาณการตัวเอง ความระมัดระวัง องค์ความรู้ และเน้นลงทุนระยะยาว “หากสนใจลงทุนหุ้นต่างประเทศ ควรเริ่มต้นจากการค่อยเป็นค่อยไป หาความรู้ก่อนเน้นผลกำไร ลงทุนธุรกิจที่เข้าใจและเข้ากับสไตล์ตัวเอง และสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ หาธุรกิจที่ดี และเมื่อหาของดีได้แล้วก็ไม่จำเป็นต้องซื้อทันที ก็ต้องดูจังหวะด้วย เช่น หากราคาหุ้นแพงก็ต้องรอ ซึ่งข้อดีของการลงทุนหุ้นสหรัฐฯ คือ มีตัวเลือกหลากหลาย ดังนั้น เมื่อเลือกธุรกิจที่น่าสนใจเข้ามาในลิสต์แล้ว และหากคุณภาพธุรกิจในลิสต์ดีขึ้นเรื่อย ๆ และเข้าลงทุนในราคาที่เหมาะสม คุณภาพของพอร์ตลงทุนก็จะดีขึ้นตามไปด้วย” วีระพงษ์ กล่าว

 

สำหรับการจัดพอร์ตลงทุนหุ้นสหรัฐฯ ของวีระพงษ์ ปัจจุบันได้ลดสัดส่วนหุ้นกลุ่มเติบโต (Growth Stock) คือ กลุ่มเทคโนโลยี เพราะมองว่าราคาค่อนข้างแพง ด้วยการเพิ่มน้ำหนักไปยังหุ้นกลุ่มคุณภาพ (Quality Stock) ซึ่งหากอ้างอิงกับ MSCI กำหนดให้คุณสมบัติสำคัญ 3 อย่างในการนิยามคำว่าหุ้นประเภทดังกล่าว คือ

  1. สร้างผลตอบแทนแก่ส่วนผู้ถือหุ้นสูง
  2. กำไรบริษัทเติบโตสม่ำเสมอ และ
  3. มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนในระดับต่ำ

 

โดยหุ้นคุณภาพมีลักษณะเด่นมักทนทานต่อสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวหรือถดถอยได้ดีกว่าตลาดโดยรวม และสามารถสร้างผลตอบแทนได้โดดเด่นในระยะยาว

 

“ส่วนตัวชอบหุ้นกลุ่มคุณภาพที่จับต้องได้ เข้าใจธุรกิจดีและเติบโตในระดับหนึ่ง มีความมั่นคงและแข็งแรง ราคาไม่แพง เช่น ธุรกิจอาหาร กีฬา ธุรกิจบริการด้านการเงิน” วีระพงษ์ กล่าว 

 

คำแนะนำ

เขาแนะนำนักลงทุนที่กำลังสนใจลงทุนหุ้นสหรัฐฯ โดยต้องรู้ว่าตัวเองต้องรู้อะไร และไม่รู้ว่าตัวเองไม่รู้อะไร และต้องประเมินตัวเองตลอดเวลา เพราะถึงตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะมีข้อดี คือ เป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ มีประสิทธิภาพ มีสินค้าให้เลือกหลากหลาย แต่ก็ตามมาด้วยความเสี่ยงที่หลากหลายเช่นกัน จึงต้องเริ่มต้นจากการศึกษาหาความรู้ให้ถ่องแท้ก่อน

 

การเลือกหุ้นไม่จำเป็นต้องถูกต้องทุกครั้ง เพราะนี่คือสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เนื่องจากข้อจำกัดในการวิเคราะห์ซึ่งหลายอย่างเป็นสิ่งที่คาดการณ์ไม่ได้ แต่นักลงทุนที่ดีควรมีอัตราความสำเร็จในการเลือกหุ้นที่สูง อย่างน้อยที่สุดที่เลือกต้อง “ไม่ขาดทุนในระยะยาว” หมายความว่า หุ้นที่เลือกในอีกหลาย ๆ ปีข้างหน้า ต้องมีผลประกอบการที่ดี และการเลือกหุ้นที่ถูกต้องไม่ควรตัดสินใจด้วย “ราคา” ในระยะเวลาสั้น ๆ เพราะกว่าที่ราคาหุ้นจะบอกว่านักลงทุนคิดถูกหรือผิดควรเป็นระยะเวลา 1 - 2 ปีขึ้นไป

 

สำหรับการลงทุนหุ้นไทย ถือว่าเป็นพอร์ตลงทุนหลักของวีระพงษ์ โดยเขาจะเน้นการลงทุนตามธีม (Thematic Investment) เป็นการลงทุนโดยอาศัยการจับทิศทางกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก ว่าแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงใดที่จะเป็นปัจจัยสำคัญผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจการค้าโลกในระยะยาว โดยวีระพงษ์ชอบหุ้นส่งออกที่ได้รับประโยชน์จากการเติบโตของเศรษฐกิจของต่างประเทศ “ผมจะคัดเลือกหุ้นที่เป็นผู้นำในการส่งออกและสามารถจับทางตลาดที่ส่งออกไปได้” ถัดมา คือ กลุ่มบริการ เพราะเป็นธุรกิจที่คนไทยมีความเชี่ยวชาญ รวมถึงธุรกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงด้านอุตสาหกรรมและมีโอกาสเติบโตในอนาคต    

 

โดยกลยุทธ์การคัดกรองหุ้นไทย วีระพงษ์จะใช้หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์แบบ Top- Down Analysis, SWOT เพื่อดูจุดแข็ง จุดอ่อนของบริษัท รวมทั้งการเปรียบเทียบค่า Ratio ต่าง ๆ อีกทั้ง Five Forces Model ก็เป็นอีกกรอบในการวิเคราะห์เพื่อดูสภาวะการแข่งขันในอุตสาหกรรมที่น่าสนใจ

 

ลงทุนหุ้นสหรัฐฯ ผ่านตลาดหุ้นไทย

สำหรับนักลงทุนไทย ที่สนใจลงทุนหุ้นสหรัฐฯ ปัจจุบันสามารถลงทุนได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น ผ่านการลงทุนในหลักทรัพย์จดทะเบียนที่ซื้อขายบนกระดานตลาดหุ้นไทย เช่น DRx (Fractional DR) ซึ่งเป็นตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศ โดยผู้ออก DRx จะเป็นคนไปซื้อหุ้นหรือหน่วยลงทุนต่างประเทศ แล้วนำมาเสนอขายให้กับนักลงทุนไทยในรูปสกุลเงินบาทอีกต่อหนึ่ง ซึ่งผู้ถือ DRx จะได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เสมือนลงทุนหุ้นหรือหน่วยลงทุนต่างประเทศโดยตรง

 

ซึ่งช่องทางนี้ถือเป็นการลงทุนในประเทศไทย จึงไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากกำไรที่เกิดจากการลงทุนในต่างประเทศอีกด้วย ปัจจุบันตลาดหุ้นไทย (SET) มี DRx อยู่ 10 ตัว ที่อ้างอิงหุ้นสหรัฐฯ โดยหุ้นที่โดดเด่น คือ หุ้น 7 นางฟ้า ได้แก่

  1. AAPL80X อ้างอิงหุ้นบริษัท Apple Inc. บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลก ผู้นำในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีนวัตกรรมใหม่ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง เช่น Mac, iPhone, Apple Watch และ iPad เป็นต้น

 

  1. MSFT80X อ้างอิงหุ้นบริษัท Microsoft Corporation ผู้ผลิตซอฟต์แวร์รายใหญ่ หนึ่งในผู้ถือหุ้นใหญ่ของ ChatGPT ซึ่งเป็น AI Chatbot ชื่อดังที่ถูกนำมาต่อยอดธุรกิจอย่างกว้างขวาง

 

  1. GOOG80X อ้างอิงหุ้นบริษัท Alphabet Inc. (Google) บริษัทแม่ของ Google เป็นบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลก ที่มีผลิตภัณฑ์และบริการที่น่าสนใจมากมาย เช่น Google Search Engine, Gmail, Google Maps, YouTube เป็นต้น

 

  1. AMZN80X อ้างอิงหุ้นบริษัท Amazon บริษัทเทคโนโลยีและ e-Commerce ยักษ์ใหญ่ในสหรัฐฯ ผู้ประกอบธุรกิจสตรีมมิ่งและ AI ระดับโลก

 

  1. META80X อ้างอิงหุ้นบริษัท Meta Platforms เจ้าแห่งโซเชียลมีเดีย แพลตฟอร์มชื่อดังอย่าง Facebook Instagram และ WhatsApp

 

  1. TSLA80X อ้างอิงหุ้นบริษัท Tesla Inc. ผู้นำในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่โดดเด่นในอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยปัจจุบันเป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) รายใหญ่ที่สุดของโลก

 

  1. NVDA80X อ้างอิงหุ้นบริษัท NVIDIA Corporation ผู้นำตลาด GPU หรือ การ์ดจอในธุรกิจเกม ที่ขยายธุรกิจไปสู่ยานยนต์ และ AI รวมถึง GPU ที่ใช้ประมวลผลของ ChatGPT และ AI ของผู้ให้บริการรายอื่น ๆ


นักลงทุนสามารถซื้อขาย DRx ได้อย่างสะดวกผ่านแอปพลิเคชัน Streaming เช่นเดียวกับการซื้อขายหุ้น เพียงแค่เปิดบัญชี DRx ซึ่งเป็นบัญชีย่อยภายใต้บัญชีซื้อขายหุ้นเพิ่มเติม

 

ดูรายละเอียดเกี่ยวกับ DRx เพิ่มเติม >> คลิกที่นี่ 

 

หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน

สำหรับนักลงทุนมือใหม่และผู้ที่สนใจ เรียนรู้ลักษณะพื้นฐาน ทางเลือกลงทุน และวิธีการลงทุนในต่างประเทศผ่านตลาดหุ้นไทย เพื่อกระจายความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “มือใหม่หัดลงทุนต่างประเทศ” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่ 

 

สำหรับนักลงทุนมือใหม่และผู้ที่สนใจ เรียนรู้ลักษณะพื้นฐาน หลักการเลือกลงทุน และวิธีการลงทุน DRx ในต่างประเทศผ่านตลาดหุ้นไทย สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “DRx ลงทุนไซซ์เล็ก เพื่อโอกาสใหญ่ในตลาดโลก” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่ 

แท็กที่เกี่ยวข้อง: