CG (Corporate Governance หรือ บรรษัทภิบาล) คือ ระบบการกำกับดูแลที่จัดให้มีโครงสร้างและกลไกต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์และมีการถ่วงดุลอำนาจระหว่างผู้ถือหุ้น คณะกรรมการ ฝ่ายจัดการ โดยมุ่งเน้นไปที่การบริหารจัดการธุรกิจอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ บริษัทที่มี CG ดีจะทำให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่นว่า ธุรกิจมีรากฐานที่แข็งแรง ทำธุรกิจแบบมืออาชีพ มีกลไกตรวจสอบความผิดปกติและมีการจัดการความเสี่ยง สามารถที่จะแข่งขันและเติบโตได้ในระยะยาว
คณะกรรมการบริษัท ฝ่ายจัดการ และทุกหน่วยงานในองค์กรจึงต้องให้ความสำคัญกับการวางโครงสร้างและระบบ CG ที่ดีเพื่อให้ทุกคนมีแนวปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน ตั้งแต่การกำหนดนโยบาย กลยุทธ์ กลไกการกำกับดูแล ให้มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตอบโจทย์ความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสีย (เช่น ผู้ถือหุ้น นักลงทุน พนักงาน ลูกค้า คู่ค้า เป็นต้น) ที่สำคัญคือต้องมีการติดตามผลการดำเนินงานและสื่อสารให้ผู้มีส่วนได้เสียรับทราบอย่างต่อเนื่อง ตรงไปตรงมา
นอกจาก CG ที่บริษัทต้องให้ความสำคัญแล้ว เรื่องสังคม (Social) และสิ่งแวดล้อม (Environmental) ก็สำคัญไม่แพ้กัน ธุรกิจทุกวันนี้ต้องคำนึงถึงประเด็นสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) อย่างจริงจัง เช่น การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ผลิตสินค้าที่ตอบโจทย์ลูกค้า ไม่เอาเปรียบพนักงาน และไม่สร้างความเดือดร้อนแก่ชุมชน ทั้งหมดนี้จึงจะสามารถสร้าง “TRUST” หรือความไว้วางใจและทำให้บริษัท “น่าลงทุน” มากขึ้น
“ทั้ง ESG และ Governance เป็นเรื่องที่ทุกองค์กรต้องให้ความสำคัญ ซึ่งองค์กรที่สามารถจับทางได้ถูกต้องจะมีโอกาสทำให้ธุรกิจ Move forward ได้เร็วกว่าคู่แข่ง”
- คุณวิไลพร อิทธิวิรุฬห์ หุ้นส่วน EY ประเทศไทย -
“เงินลงทุนในโลกนี้ส่วนใหญ่อยู่ที่กองทุน ซึ่งเริ่มให้ความสำคัญกับ ESG มากขึ้น ดังนั้นบริษัทที่ต้องการมองหาแหล่งเงินทุน คงหลีกเลี่ยงไม่ได้และต้องลงมือทำ ESG อย่างจริงจัง”
- คุณกวี ชูกิจเกษม บล. พาย -
จึงถือได้ว่า CG เป็นเรื่องสำคัญที่นักลงทุนต้องพิจารณาให้ดี ก่อนตัดสินใจเลือกลงทุน
อ้างอิงจากงานสัมมนา SET Sustainability Forum: Grounding Greater Governance for Good จัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 ณ อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ท่านสามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ESG ได้ที่: SET ESG Academy (Website) (Line)
หมายเหตุ: บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ข้อมูลสำหรับการศึกษาในเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน