เมื่อพูดถึงการลงทุนต่างประเทศ เชื่อว่านักลงทุนไทยจะนึกถึงการลงทุนในตลาดหุ้นเป็นหลัก แต่ความจริงตลาดพันธบัตรของรัฐบาลทั่วโลกก็เป็นอีกหนึ่งกลุ่มสินทรัพย์ลงทุนที่น่าสนใจไม่แพ้กัน
สิ้นปี 2023 ที่ผ่านมา ข้อมูลจาก Visual Capitalist ชี้ว่าตลาดพันธบัตรทั่วโลกมีขนาดรวมกันถึงกว่า 97 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ เป็นรองมูลค่าตามราคาตลาด (Market Capitalization) ของตลาดหุ้นทั่วโลกรวมกันที่ 109 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ เพียงเล็กน้อย
นอกเหนือจากนั้น หลังวิกฤติโควิด-19 การลงทุนในพันธบัตรส่วนใหญ่ก็มีผลตอบแทนที่สูงขึ้นมาก ทำให้นักลงทุนทั่วโลกกลับเข้าลงทุนอย่างคึกคัก
แต่สำหรับนักลงทุนไทย ก่อนที่จะเข้าลงทุนในตลาดพันธบัตรรัฐบาลต่างประเทศ ต้องศึกษาโอกาส ช่องทางการลงทุน และความเสี่ยงที่แตกต่างจากการลงทุนในหุ้นหรือตราสารหนี้ในประเทศให้ดีก่อน
คำถามแรกที่ต้องตอบคือ โอกาสอยู่ที่ไหน?
สำหรับพันธบัตรรัฐบาลต่างประเทศนั้น มี 4 ประเด็นสำคัญคือ ประเทศ อัตราผลตอบแทน (Yield) อายุคงเหลือ และสกุลเงิน
การเลือกประเทศ จะเป็นการกำหนดขอบเขตการลงทุนเบื้องต้น ตลาดพันธบัตรเหมือนกับตลาดหุ้นอย่างหนึ่ง คือ ประเทศที่มีตลาดพันธบัตรใหญ่ที่สุดคือ สหรัฐอเมริกา คิดเป็นกว่า 35% ของพันธบัตรทั้งโลก รองลงมา คือ ญี่ปุ่น จีน และประเทศในทวีปยุโรป
สำหรับการลงทุนในตลาดพันธบัตรรัฐบาล ยิ่งขนาดสินทรัพย์ใหญ่ สภาพคล่องจะยิ่งเพิ่มสูงขึ้น เพราะเป็นเสมือนภาพสะท้อนว่าพันธบัตรรัฐบาลของประเทศเหล่านั้นได้รับความนิยมสูง หรือมีนักลงทุนที่เชื่อมั่นพร้อมถือครองจำนวนมาก
เมื่อเราเลือกประเทศได้แล้ว เรื่องต่อมาที่ต้องดูก็คือ อัตราผลตอบแทน (Yield)
แต่ละประเทศจะมีนโยบายการเงิน เศรษฐกิจ และความเสี่ยงที่ต่างกัน ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนต่างกันไปด้วย เช่น ปัจจุบัน พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 2 ปี ให้อัตราผลตอบแทนที่ 4.6% เพราะใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวด ดูดเงินออกจากระบบ ต่างกับพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น อายุ 2 ปี ที่มีอัตราผลตอบแทนเพียง 0.2% เพราะนโยบายการเงินผ่อนคลายอย่างมาก
เรื่องต่อมาคือ อายุคงเหลือ ตามหลักการลงทุน พันธบัตรรัฐบาลประเทศเดียวกัน ที่มีอายุต่างกันจะให้อัตราผลตอบแทนที่ไม่เท่ากัน
โดยปกติ พันธบัตรที่มีอายุคงเหลือสูง มักมีความเสี่ยงที่สูงกว่าพันธบัตรที่มีอายุคงเหลือต่ำ เนื่องจากต้องรับความเสี่ยงการเปลี่ยนแปลงของตลาดยาวนานขึ้น ตามระยะเวลากว่าที่พันธบัตรจะมีการคืนเงินต้น
ส่วนสุดท้ายคือ สกุลเงิน ส่วนใหญ่พันธบัตรรัฐบาลจะมีสกุลเงินเดียวกับประเทศผู้ออก (Local Currency) ทำให้นักลงทุนอาจได้กำไรเพิ่มเติมถ้าสกุลเงินในประเทศหลักแข็งค่าไปพร้อมกัน แต่ก็ต้องดูให้ดี เพราะบางประเทศ รัฐบาลเข้าถึงสภาพคล่องในรูปเงินตราต่างประเทศได้ง่ายกว่า เช่น อาร์เจนตินา ตุรเคีย แอฟริกาใต้ หรืออินโดนีเซีย ที่มีสัดส่วนพันธบัตรในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ (Hard Currency) มากกว่า 40% ของทั้งหมด
เมื่อเราเข้าใจต้นตอของโอกาสในสินทรัพย์นี้แล้ว ก็ถึงเวลาหาเครื่องมือลงทุนสำหรับคนไทย
ในกรณีของตลาดพันธบัตรรัฐบาลต่างประเทศ มีช่องทางหลากหลายไม่ต่างจากหุ้นต่างประเทศ แต่มีความยากง่าย และรูปแบบที่ไม่เหมือนกัน
ยากที่สุดสำหรับรายย่อยคือการซื้อขายพันธบัตรโดยตรง เพราะตลาดพันธบัตรมีลักษณะการซื้อขายแบบ Over-The-Counter (OTC) กล่าวคือ เป็นการซื้อขายโดยตกลงกันเองระหว่างนักลงทุน พร้อมกับชำระเงินและส่งมอบกันเองนอกตลาด ไม่ใช่เป็นการซื้อขายผ่านตลาดอย่างเป็นทางการ ทำให้ต้องมีสถาบันการเงินต่างประเทศเข้ามาช่วยแนะนำ และเริ่มต้นด้วยเงินลงทุนที่สูง นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องกฎเกณฑ์ในการลงทุนที่มากกว่าสินทรัพย์ที่สร้างขึ้นมาเพื่อรายย่อยโดยตรง
ง่ายขึ้นมาหนึ่งระดับ คือการซื้อขายผ่าน ETF ต่างประเทศ ที่สามารถซื้อได้ในตลาดหลักทรัพย์ (Exchange) เหมือนหุ้น โดยจะเป็นการรวมพันธบัตรหลายหลายรุ่นเข้าด้วยกัน เช่น iShares U.S. Treasury Bond ETF ตัวย่อ GOVT ที่รวมพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ หรือ Vanguard Emerging Markets Government Bond ETF ตัวย่อ VWOB ที่ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลของประเทศตลาดเกิดใหม่ ทั้งหมดซื้อขายที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ด้วยสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ
หรือที่คุ้นชินกับนักลงทุนไทยมากที่สุดก็คือ กองทุนที่ลงทุนในพันธบัตรต่างประเทศ ข้อดีคือเข้าถึงง่ายที่สุด แต่กองทุนเหล่านี้มักมีการผสมผสานการลงทุนในพันธบัตรกับตราสารหนี้ประเภทอื่น ๆ เพื่อให้อัตราผลตอบแทนสูงขึ้นในระดับที่น่าสนใจ ในขณะเดียวกัน มักมีการป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ในประเทศ ก่อนลงทุนจึงควรสอบถามให้ดีว่า อัตราผลตอบแทนที่ได้รับจากพันธบัตรเป็นเท่าไหร่ สัดส่วนลงทุนเท่าไหร่ และอัตราผลตอบแทนที่ได้รับเป็นเงินบาทเท่าไหร่กันแน่
สุดท้ายที่ต้องไม่ลืม คือความเสี่ยงจากการลงทุนพันธบัตร หลังจากที่แนะนำเบื้องต้นไปแล้วว่า ประเด็นสำคัญที่ต้องดูก่อนลงทุนพันธบัตรรัฐบาลต่างประเทศมีอะไรบ้าง สามารถแยกองค์ประกอบทั้งหมดออกเป็นความเสี่ยงการลงทุน 6 เรื่องหลักประกอบด้วย
ปัจจุบันโอกาสในการลงทุนเปิดกว้าง การลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลต่างประเทศเป็นหนึ่งในทางเลือกที่น่าสนใจ นักลงทุนที่สนใจสามารถศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับตลาดพันธบัตรได้
เชื่อว่าถ้าเราเข้าใจและลงทุนพันธบัตรรัฐบาลต่างประเทศได้ สินทรัพย์นี้จะเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ช่วยลดความผันผวนของพอร์ตลงทุนที่มีสินทรัพย์หลากหลาย ทำให้การลงทุนต่างประเทศของเรามั่นคงมากขึ้นครับ
หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน