สำรวจโอกาสและความเสี่ยงตลาดหุ้นเวียดนาม

โดย ธีรภัทร เมธานุเคราะห์ นักวิเคราะห์ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กรุงไทย เอ็กซ์สปริง
5 Min Read
1 เมษายน 2567
703 views
TSI_Article_575_Inv_Thumbnail
Highlights
  • ตลาดหุ้นเวียดนามมีความน่าสนใจในหลายด้าน เช่น อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง เฉลี่ยปีละ 6% การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่เพิ่มขึ้น การส่งออกที่เติบโตขึ้นมากกว่า 3 เท่า และประชากรที่อยู่ในวัยแรงงาน ซึ่งมีทั้งกำลังซื้อและความต้องการบริโภคจับจ่ายใช้สอย เป็นต้น

  • ความเสี่ยงของการลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนาม เช่น ความเสี่ยงด้านการเมืองและกฎระเบียบ ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจที่พึ่งพาการส่งออกมาก และความเสี่ยงด้านสภาพคล่องในการซื้อขาย เป็นต้น

  • การลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนาม เหมาะกับการลงทุนเพื่อหวังผลตอบแทนระยะยาวมากกว่าการเก็งกำไร เพราะเศรษฐกิจและตลาดหุ้นเวียดนามกำลังเจริญรอยตามประเทศที่กำลังพัฒนา จึงมีโอกาสเติบโตและสร้างผลตอบแทนที่ดี

การลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนาม ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับนักลงทุนที่ต้องการแสวงหาผลตอบแทนจากการลงทุน และกระจายความเสี่ยงนอกเหนือจากตลาดหุ้นไทย ทั้งนี้ตลาดหุ้นเวียดนามจัดเป็น Frontier Market (ตลาดชายขอบ) ที่กำลังพัฒนาไปสู่ Emerging Market (ตลาดเกิดใหม่) เช่นเดียวกับตลาดหุ้นไทยในปัจจุบัน

 

โดย ณ สิ้นปี 2022 ข้อมูลจาก Bloomberg ระบุว่า มูลค่าตามราคาตลาดของตลาดหุ้นเวียดนาม (Market Cap.) อยู่ที่ประมาณ 60% ต่อ GDP เวียดนาม ส่วนตลาดหุ้นไทยอยู่ที่ 115% ต่อ GDP ไทย แต่เวียดนามมีอัตราการเติบโตของ Market Cap. สูงกว่าที่ 42% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2019 – 2023) เทียบกับตลาดหุ้นไทยที่เพิ่มขึ้นเพียง 6% ในช่วงเวลาเดียวกัน
Chart showing the movement of the VN Index from 2019 to March 22, 2024

จากกราฟด้านบน แสดงการเคลื่อนไหวของดัชนี VN Index นับตั้งแต่ต้นปี 2019 ที่เปิดตลาดที่ 892.54 จุด จนถึงวันที่ 22 มีนาคม 2024 ที่ปิดตลาดไปที่ 1,281.80 จุด โดยตัวเลขด้านบนสุดของกราฟ แสดงการเปลี่ยนแปลงของดัชนีรายปีหรือเทียบเท่ากับอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในดัชนี VN Index ชี้ให้เห็นว่า ดัชนีดังกล่าวให้ผลตอบแทนเป็นบวกเกือบทุกปี ยกเว้นปี 2022 ซึ่งเป็นช่วงที่ธนาคารกลางทั่วโลกต่างปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องเพื่อขจัดความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อ ส่วนในปี 2024 นับจากต้นปีจนถึงวันที่ 22 มีนาคม 2024 ดัชนี VN Index ปรับตัวขึ้นมาแล้ว 13.4%

Chart depicting the profit growth rate of listed companies in the Vietnam stock market from 2014 to 2023

ส่วนกำไรบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นเวียดนาม มีการขยายตัวในอัตราตัวเลข 2 หลักในช่วงปี 2014 – 2019 ก่อนที่ชะลอตัวลงในปี 2020 จากผลกระทบการแพร่ระบาดโควิด-19 แต่ก็กลับมาเติบโตอีกครั้งในปี 2021 ส่วนปี 2022 – 2023 กำไรสุทธิกลับมาชะลอตัวลงถึงติดลบ เป็นไปตามการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ

Chart illustrating the average daily trading value of the Vietnam stock market by month from January 2019 to February 2024.

กราฟด้านบนแสดงมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยรายวันเป็นรายเดือน แยกตามตลาด โดยตลาดหลักทรัพย์โฮจิมินห์ (HOSE) มีการซื้อขายต่อวันเฉลี่ยในปี 2023 ที่ 632 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ตามมาด้วยตลาดหลักทรัพย์ฮานอย (HNX) ที่ 61 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐต่อวัน และ UpCoM (กระดานซื้อขายหุ้นของบริษัทที่ยังไม่ได้จดทะเบียนทั้งในตลาดหลักทรัพย์โฮจิมินห์และตลาดหลักทรัพย์ฮานอย) ที่ 22 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐต่อวัน ถือว่ามูลค่าการซื้อขายต่อวันเพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่าตัวเมื่อเทียบกับของปี 2019 แต่ก็ยังต่ำกว่าปี 2021 ที่ในปีนั้นมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันสูงถึง 955, 120, และ 62 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐต่อวันตามลำดับ

 

และหากวัดสภาพคล่องจากอัตราส่วนมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเทียบกับ Market Cap. พบว่าตลาดหลักทรัพย์โฮจิมินห์ ในปี 2023 ที่ 0.32 ถือว่าใกล้เคียงกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในปีเดียวกันที่ 0.29
Two graphs. The left graph depicts cumulative net purchase (sale) value categorized by investor groups. The right graph illustrates cumulative investment inflow (outflow) value categorized by ETFs.

ถ้ามองในแง่ของเงินทุนไหลเข้า - ออก (Fund Flow) พบว่าตลาดหุ้นเวียดนามยังมีเงินลงทุนไหลเข้าสุทธิเป็นบวก โดยกราฟบนซ้ายมือแสดงมูลค่าการซื้อ (ขาย) สุทธิตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 2021 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2024 แยกตามกลุ่มนักลงทุน โดยนักลงทุนรายย่อยมียอดซื้อสุทธิสะสมเป็นบวก ในขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนต่างประเทศเป็นยอดขายสุทธิสะสม

ส่วนกราฟด้านบนขวามือแสดงมูลค่าสะสมของเงินลงทุนใน Exchange Traded Fund (ETF) ที่สำคัญในตลาดหุ้นเวียดนาม ซึ่งกองทุนเหล่านี้นักลงทุนต่างชาติใช้เป็นเครื่องมือในการลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนามเพื่อเกาะติดผลตอบแทนไปกับดัชนี พบว่ามีเงินลงทุนไหลเข้าสุทธิเป็นบวกเช่นกัน

เนื่องจากตลาดหุ้นเวียดนาม มีจำนวนนักลงทุนรายย่อยที่เติบโตเร็วมากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันมีนักลงทุนรายย่อย 7.5 ล้านบัญชี (ข้อมูล ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2024) หรือคิดเป็นประมาณ 7.5% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ เทียบกับของไทยที่ 8% แต่ด้วยจำนวนประชากรของไทยน้อยกว่า ทำให้จำนวนนักลงทุนรายย่อยของเวียดนามนั้นน่าจะใกล้เคียงกับบ้านเรา ทั้งนี้นักลงทุนรายย่อยของเวียดนามส่วนใหญ่มีพฤติกรรมซื้อขายหุ้นในลักษณะของการเก็งกำไร รวมทั้งมีบทบาทในตลาดหุ้นมากที่สุดคิดเป็นสัดส่วนของมูลค่าการซื้อขายมากกว่า 90% ดังนั้น การวิเคราะห์ทางเทคนิคนับเป็นเครื่องมือในการเข้าออกตลาดหุ้นเวียดนามได้ดีพอสมควร

ส่วนเศรษฐกิจเวียดนาม ในระยะยาวยังคงขับเคลื่อนแบบเดียวกับประเทศที่กำลังพัฒนา แต่มีการเติบโตของ GDP สูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก จากขนาดประชากรที่ใหญ่ราว 97 ล้านคน (มากที่สุดเป็นอันดับ 3 ในอาเซียนรองจากอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์) ทั้งนี้เวียดนามเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตของ GDP สูงที่สุดในอาเซียน โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 6% และคาดว่าในอีก 5 – 10 ปีข้างหน้า จะยังโตในลักษณะนี้ อีกทั้งลักษณะประชากรของเวียดนามส่วนใหญ่ยังเป็นวัยทำงาน มีทั้งกำลังซื้อและความต้องการบริโภคจับจ่ายใช้สอยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แตกต่างจากประเทศอื่นในอาเซียนที่เริ่มเข้าสู่สังคมสูงวัย ซึ่งอาจทำให้เศรษฐกิจมีแนวโน้มเติบโตช้าลง

 

นอกจากนี้ ธุรกิจต่าง ๆ ยังมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีการโยกย้ายแรงงานจากภาคเกษตรกรรมมายังภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น เกื้อหนุนในแง่การขยายตัวของสังคมเมือง รวมทั้งเป็นปัจจัยบวกดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่หลั่งไหลเข้ามาจากการที่ประเทศเวียดนามมีต้นทุนค่าแรงที่ถูกโดยเปรียบเทียบกับประเทศในเอเชีย อีกทั้ง ทำเลที่ตั้งอยู่ใกล้กับประเทศที่เป็น Global Supply Chain นอกจากนี้ยังได้ส้มหล่นจากที่บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่หลายรายย้ายฐานการผลิตจากจีนมายังเวียดนามเพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการกีดกันทางการค้า ทำให้เวียดนามได้ชื่อว่าเป็น Global Manufacturing Hub

 

ด้านหนี้สาธารณะยังอยู่ในระดับต่ำ โดยข้อมูลล่าสุดจาก IMF เผยว่าหนี้โดยรวมทั่วไปของรัฐบาลเวียดนามอยู่ที่ 32.7% ของ GDP ขณะที่ประเทศไทยอยู่ที่ 62.9% ของ GDP ทำให้รัฐบาลยังมีช่องว่างสำหรับการกระตุ้นเศรษฐกิจ

 

การขยายตัวของภาคการส่งออก โดยในช่วงสิบปีที่ผ่านมา เวียดนามมีมูลค่าการส่งออกที่เติบโตขึ้นมากกว่า 3 เท่า นอกเหนือจากนี้ยังมีแรงขับเคลื่อนจากการทำ Free Trade Agreements (FTAs) กับหลายประเทศและภูมิภาคเศรษฐกิจที่สำคัญ ซึ่งจะช่วยให้ประเทศเวียดนามขยายตลาดส่งออกได้มากยิ่งขึ้น

 

Indicators สำคัญที่นักลงทุนต้องติดตามในตลาดหุ้นเวียดนาม

  1. ภาวะเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะตัวเลขอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ที่สะท้อนสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อจากที่เศรษฐกิจเวียดนามยังพึ่งพาการบริโภคในประเทศเป็นหลัก ซึ่งหากอัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นก็จะกระทบต่ออำนาจซื้อของผู้บริโภคในประเทศ

 

นอกจากนี้นักลงทุนยังต้องติดตามภาวะเศรษฐกิจต่างประเทศ เนื่องจากเศรษฐกิจเวียดนามพึ่งพาการส่งออกมากที่สุดในอาเซียน โดยเฉพาะคู่ค้าสำคัญอย่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป (EU) ส่วนตัวเลข FDI แสดงการไหลเข้าของเงินลงทุนจากต่างประเทศชี้ให้เห็นความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ

 

  1. การเคลื่อนไหวของดัชนี VN Index เพื่อติดตามภาวะตลาดและ Sentiment ของตลาดหุ้นเวียดนาม

 

  1. นโยบายภาครัฐ ว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด รวมทั้งข้อตกลงทางการค้า และปัจจัยที่เกื้อหนุนต่อการประกอบธุรกิจ

 

  1. การลงทุนภาครัฐ ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในการพัฒนาโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน เป็นต้น

 

โอกาสที่สำคัญสุดของตลาดหุ้นเวียดนามที่นักลงทุนต่างรอคอย คือ การได้รับการเลื่อนชั้นจากปัจจุบันที่ถูกจัดอยู่ในตลาดหุ้นชายขอบ (Frontier Market) มาเป็นตลาดหุ้นเกิดใหม่ (Emerging Market) นั่นหมายถึงเม็ดเงินลงทุนของกองทุนทั่วโลกที่จะหลั่งไหลเข้ามา โดยเฉพาะจากนักลงทุนสถาบัน รวมถึงกองทุนรวมและกองทุนบำนาญที่ถูกกำหนดให้ลงทุนได้ตั้งแต่ตลาด Emerging Market ขึ้นไป

 

นอกจากนี้ ยังมีรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่อีกหลายรายที่เตรียมแปรรูปเข้าตลาดหุ้นเวียดนาม ทั้งในกลุ่มสื่อสาร พลังงาน และกลุ่มสาธารณูปโภค ที่จะเพิ่ม Market Cap. และสร้างโอกาสในการลงทุนมากขึ้น ทั้งนี้ สำนักงาน ก.ล.ต. เวียดนามกำลังร่างกฎเกณฑ์เพื่ออำนวยความสะดวกให้นักลงทุนต่างชาติเข้าถึงตลาดหุ้นได้มากขึ้น เช่นเดียวกับนักลงทุนท้องถิ่น อันเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ตลาดหุ้นเวียดนามสามารถถูก Upgrade จากตลาดหุ้นชายขอบ มาเป็นตลาดหุ้นเกิดใหม่

 

ความเสี่ยงของการลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนาม มีความคล้ายกับการลงทุนในตลาดหุ้นทั่วไป ได้แก่

  1. ความเสี่ยงด้านการเมืองและกฎระเบียบ อาทิ การเปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐบาล แม้เวียดนามมีระบบการปกครองแบบสังคมนิยมภายใต้พรรคการเมืองเดียว คือ พรรคคอมมิวนิสต์ ความเสี่ยงด้านการเมืองถือว่ามีไม่มากนัก ยกเว้นหากมีการเปลี่ยนแปลงในตัวบุคคลสำคัญระดับสูงของพรรค ก็ย่อมส่งผลกระทบต่อจิตวิทยาการลงทุนในระยะสั้นได้ ส่วนการเปลี่ยนแปลงของกฎหมายและกฎระเบียบมาจากการที่ทางการเวียดนามมีการออกกฎระเบียบที่เคร่งครัดขึ้น

 

  1. ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ เศรษฐกิจเวียดนามพึ่งพาการส่งออกมากที่สุดในอาเซียน ดังนั้น ถ้าเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า เช่น สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป (41% ของมูลค่าการส่งออก) ชะลอตัว อาจส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก

 

  1. สภาพคล่องของการซื้อขาย เนื่องจากตลาดหุ้นเวียดนามเป็นตลาดที่กำลังพัฒนา อาจมีผลกระทบจากจำนวนครั้งและปริมาณการซื้อขายของหุ้นที่มีการเปลี่ยนมือต่ำ

 

  1. บรรษัทภิบาลของบริษัทจดทะเบียน ความโปร่งใสในตลาดหุ้นเวียดนามยังต้องปรับปรุงเพื่อให้เทียบเท่าเกณฑ์มาตรฐานสากล

 

  1. ข้อจำกัดของนักลงทุนต่างชาติ (Foreign Ownership Limit) ตลาดหุ้นเวียดนามมีการกำหนดสัดส่วนการถือครองหลักทรัพย์สูงสุดของนักลงทุนต่างชาติที่จะสามารถเข้าซื้อหุ้นตัวนั้น ๆ ได้ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะอยู่ที่ 49% สำหรับหุ้นทั่วไป และ 30% สำหรับหุ้นธนาคาร ดังนั้น หากหุ้นตัวใดที่มีสัดส่วนการถือครองจากนักลงทุนต่างชาติเต็มจำนวนแล้ว ก็จะทำให้นักลงทุนต่างชาติไม่สามารถเข้าไปซื้อหุ้นตัวนั้นได้อีก

 

  1. ความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน การที่นักลงทุนไทยจะทำการซื้อขายหุ้นเวียดนาม ต้องทำการแลกเงินบาทเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ (USD) ก่อน แล้วจึงแปลงเป็นเงินดอง (VND) ของเวียดนามอีกที เพื่อมาทำรายการซื้อหุ้น ส่วนการขายหุ้นก็ต้องนำเงินดองมาแปลงเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐก่อน แล้วจึงแปลงกลับมาเป็นเงินบาท ดังนั้น ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนอาจกระทบต่อผลตอบแทนจากการลงทุนให้เพิ่มขึ้นหรือน้อยลงได้ ทั้งนี้ ธนาคารกลางเวียดนาม (SBV) บริหารอัตราแลกเปลี่ยน VND เทียบกับ USD เป็นแบบกึ่งลอยตัว (Managed Float) คล้ายกับของประเทศไทย

 

  1. ความเสี่ยงจากการผันผวนของตลาดหุ้น เนื่องจากตลาดหุ้นเวียดนามจัดอยู่ในตลาดชายขอบ (Frontier Market) มักเผชิญกับความผันผวนมากกว่าเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นที่พัฒนาแล้ว เนื่องจากกฎระเบียบที่อาจยังไม่ได้มาตรฐานสากล รวมทั้งมีความไวต่อการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก

 

คำแนะนำการลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนาม

การลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนาม แม้จะมีความผันผวนแต่ก็เป็นการลงทุนเพื่อหวังผลตอบแทนระยะยาวมากกว่าที่จะเก็งกำไร เนื่องจากพัฒนาการของเศรษฐกิจและตลาดหุ้นเวียดนามที่เจริญรอยตามประเทศที่กำลังพัฒนา ที่เรียกว่า Catch-Up Growth” ที่ประเทศที่มาทีหลังจะได้ผลบวกจากการลงทุน การถ่ายทอดเทคโนโลยี และ Know-How จากประเทศที่พัฒนามาก่อน

 

ดังนั้น การซื้อหุ้นเวียดนามตอนนี้ ก็จะทำให้ได้รับผลตอบแทนเช่นเดียวกับการลงทุนในตลาดเกิดใหม่อื่น ๆ เหมือนเช่นในอดีต การเข้าไปลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนามตอนนี้เปรียบเสมือนการย้อนเวลาไปอดีตเช่นเดียวกับการที่เราเข้าไปซื้อหุ้นไทยเมื่อ 10 หรือ 15 ปีที่ผ่านมา ตอนที่ราคาหุ้น SCC ยังอยู่ที่ 150 บาท หุ้น PTT ที่ราคา IPO 35 บาท หุ้น BBL ที่ 80 บาท หรือหุ้น LH ที่ราคา 5 บาทเมื่อเทียบกับราคาหุ้นปัจจุบันจะเห็นว่าผลตอบแทนมีการเติบโตอย่างมาก ดังนั้นเสน่ห์ของตลาดหุ้นเวียดนาม คือการเข้าไปซื้อหุ้นในธุรกิจเดียวกันที่นักลงทุนไทยเคยพลาดโอกาสไม่ได้เข้าไปซื้อหุ้นเหล่านี้ในสมัยก่อน

 

หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน


นักลงทุนมือใหม่และผู้ที่สนใจ เรียนรู้ลักษณะพื้นฐาน ทางเลือกลงทุน และวิธีการลงทุนในต่างประเทศผ่านตลาดหุ้นไทย เพื่อกระจายความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “มือใหม่หัดลงทุนต่างประเทศ” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่ 
แท็กที่เกี่ยวข้อง: