DCA กับ กองทุนรวมหุ้น

โดย SET
5 Min Read
30 พฤศจิกายน 2563
6.192k views
TSI_49_DCA กับ กองทุนรวมหุ้น
Highlights
  • “กองทุนรวมหุ้น” เหมาะกับนักลงทุนมือใหม่ที่รับความเสี่ยงได้สูง อยากลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนในระยะยาว

  • การลงทุนแบบ DCA ในกองทุนรวมหุ้นจะช่วยลดความผิดพลาดจากการจับจังหวะการลงทุน และเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดี เพราะมีโอกาสได้ต้นทุนเฉลี่ยต่อหน่วยที่ต่ำกว่าในระยะยาว และทำให้ได้จำนวนหน่วยที่มากขึ้น แถมยังเป็นการสร้างวินัยในการลงทุนอีกด้วย

“อยากลงทุนอะไรก็ได้ที่ให้ผลตอบแทนสูงในระยะยาว”

“ไม่มีเวลาติดตามภาวะการลงทุน อยากให้มีคนช่วยวิเคราะห์และตัดสินใจแทนให้”

 

เชื่อว่าผู้ลงทุนมือใหม่หลายคนคงเคยมีความคิดแบบนี้แน่ๆ และหากเมื่อไหร่ก็ตามที่เริ่มถามไถ่ผู้มีประสบการณ์ทั้งหลาย หนึ่งในคำตอบที่ได้รับแรกๆ คงหนีไม่พ้นคำแนะนำให้ ลงทุนในกองทุนรวมหุ้น สิ!

 

กองทุนรวมหุ้น หรือ กองทุนรวมตราสารทุน (Equity Fund) คือ กองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในตราสารทุนประเภทต่างๆ ทั้งหุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ ใบสำคัญแสดงสิทธิในการซื้อหลักทรัพย์ (Warrant) รวมถึงหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอื่นๆ ซึ่งเมื่อรวมแล้วจะต้องมีสัดส่วนการลงทุนเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 65% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม และสามารถนำเงินส่วนที่เหลือไปลงทุนในหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินประเภทอื่นๆ หรือจะนำเงินทั้งหมดไปลงทุนในหุ้นก็ได้เช่นกัน 

 

ข้อดีคือ หากเราสามารถรับความเสี่ยงได้สูง ในระยะยาวก็มีโอกาสได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนในกองทุนรวมหุ้นสูงกว่ากองทุนรวมที่ลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่น อีกทั้งยังมีผู้จัดการกองทุนเป็นผู้ตัดสินใจลงทุนให้ แต่คำถามที่ค้างคาใจของหลายๆ คนก็คือ เราควรซื้อกองทุนรวมตอนไหนถึงจะได้รับผลตอบแทนสูงสุด?

 

ในความเป็นจริงแล้ว คงไม่มีใครที่จะทำนายภาวะการลงทุนในอนาคตได้อย่างแม่นยำ เทคนิคการลงทุนที่จะช่วยให้มือใหม่อย่างเราสามารถลงทุนได้อย่างมีความสุข แม้ไม่มีความรู้ด้านการวิเคราะห์กราฟเทคนิคและไม่รู้จะซื้อขายตอนไหน ก็คือ การลงทุนแบบถัวเฉลี่ยต้นทุน หรือ DCA (Dollar Cost Averaging) นั่นเอง

ข้อดีของการลงทุนแบบ DCA ในกองทุนรวมหุ้น

 

  1. ลดความผิดพลาดจากการจับจังหวะการลงทุน เพราะได้ทยอยลงทุนในทุกๆ เดือน ดังนั้น ราคาต้นทุนที่ได้จึงเป็นราคาเฉลี่ย ซึ่งแม้จะไม่ใช่ราคาต่ำที่สุด แต่ก็ไม่ใช่ราคาสูงที่สุดด้วยเช่นกัน

  2. เพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดี เหมาะกับสินทรัพย์ที่มีความผันผวนอย่างกองทุนรวมหุ้น เพราะมีโอกาสได้ต้นทุนเฉลี่ยต่อหน่วยที่ต่ำกว่าในระยะยาว และมีโอกาสได้จำนวนหน่วยที่มากขึ้นเช่นกัน

  3. สร้างวินัยการลงทุน เพราะเป็นการลงทุนแบบอัตโนมัติต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ตามระยะเวลาที่เรากำหนดเองได้ โดยไม่ต้องหวั่นไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาวะการลงทุนที่เกิดขึ้น
TSI_Article_049_Inv_DCA กับ กองทุนรวมหุ้น_01

จะเห็นว่า... การลงทุนแบบ DCA ในกองทุนรวมหุ้นสามารถสร้างผลตอบแทนได้ดี โดยที่เราไม่ต้องคอยจับจังหวะว่าจะซื้อได้ราคาถูกหรือแพง เพียงแค่ต้องเลือกกองทุนรวมหุ้นที่มีผลการดำเนินงานดี และอาศัยความมีวินัยในการลงทุนอย่างสม่ำเสมอเท่านั้นเอง

 

เทคนิคในการเลือกกองทุนรวมหุ้น

 

นักลงทุนควรพิจารณาข้อมูลในหนังสือชี้ชวนของกองทุนรวมหุ้นนั้นๆ อย่างละเอียด และวิเคราะห์เพื่อเปรียบเทียบกับกองทุนรวมหุ้นกองอื่นๆ ที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน โดยประเด็นสำคัญที่ควรพิจารณามีดังนี้

 

  1. ข้อมูลการลงทุน

 

  • นโยบายการลงทุน :กองทุนรวมนำเงินไปลงทุนในทรัพย์สินอะไร สัดส่วนเท่าไร เช่น ลงทุนในหุ้นโดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 
  • กลยุทธ์ในการบริหารกองทุนรวม : วิธีการในการบริหารพอร์ตลงทุนของกองทุนรวม เช่น เป็น Passive หรือ Active Management เป็นต้น
  • นโยบายจ่ายเงินปันผล :กองทุนรวมมีการจ่ายเงินปันผลหรือไม่
  • กองทุนรวมเหมาะกับนักลงทุนประเภทใด : เป็น Checklist ว่ากองทุนรวมนี้มีความเสี่ยงอยู่ในระดับที่รับได้หรือไม่

 

  1. ข้อมูลความเสี่ยง

 

  • ปัจจัยความเสี่ยงที่สำคัญ เช่น
  • ความเสี่ยงจากการดำเนินงานของ บลจ. เช่น ประเภท ขนาด และฐานะการเงิน
  • ความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาสินทรัพย์ที่กองทุนรวมนำเงินไปลงทุน โดยขึ้นอยู่กับสภาวะเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และสภาวะการลงทุนในตลาดทุน เป็นต้น
  • คำเตือนที่สำคัญ เช่น ในกรณีที่ บลจ. มีพันธสัญญาหรือข้อตกลงกับรัฐต่างประเทศ หรือมีความจำเป็นจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายของรัฐต่างประเทศ

 

  1. ข้อมูลค่าธรรมเนียม

 

  • ค่าใช้จ่ายส่วนที่เก็บจากนักลงทุนโดยตรง : คิดเป็น % ของมูลค่าซื้อขาย เช่น ค่าธรรมเนียมการขาย การรับซื้อคืน การสับเปลี่ยน เป็นต้น ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ไม่ได้กระทบกับเงินทรัพย์สินของกองทุนรวม แต่กระทบกับผลตอบแทนที่เราจะได้รับ เพราะถ้าซื้อขายบ่อยก็จะทำให้เสียค่าธรรมเนียมในส่วนนี้มากขึ้น
  • ค่าใช้จ่ายส่วนที่เก็บจากกองทุนรวม : คิดเป็น % ต่อปีของ NAV เช่น ค่าธรรมเนียมการจัดการ ผู้ดูแลผลประโยชน์ นายทะเบียน เป็นต้น ยิ่งกองทุนรวมมีค่าใช้จ่ายเยอะเท่าไหร่ ก็เท่ากับเราต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นเท่านั้น แม้ไม่ค่อยเห็นผลกระทบในระยะสั้น แต่ในระยะยาวอาจทำให้เรามีต้นทุนค่าธรรมเนียมเป็นจำนวนมากก็ได้ ดังนั้น ทุกครั้งที่อ่าน Fund Fact Sheet ก็ควรเลือกดูกองทุนรวมที่มี อัตราส่วนค่าใช้จ่ายทั้งหมด (Total Expense Ratio) ต่ำๆ จะดีกว่า

 

  1. ข้อมูลการซื้อขาย

 

  • จำนวนเงินลงทุนขั้นต่ำครั้งแรก/ครั้งถัดไป เช่น จำนวนเงินลงทุนครั้งแรก 5,000 บาท ครั้งถัดไป 500 บาท
    ขึ้นไป เป็นต้น

 

  1. ข้อมูลผลการดำเนินงานย้อนหลัง

 

  • ผลการดำเนินงานย้อนหลัง : ตั้งแต่ 3 เดือน 6 เดือน 1 ปี 3 ปี 5 ปี และตั้งแต่จัดตั้งกองทุน
  • ดัชนีชี้วัด (Benchmark) : แตกต่างกันในกองทุนรวมแต่ละประเภท เช่น กองทุนรวมหุ้นมีดัชนีชี้วัดเป็น SET Index เป็นต้น ซึ่งจะใช้ข้อมูลย้อนหลังในช่วงเวลาเดียวกันกับผลการดำเนินงาน
  • Information Ratio : แสดงความสามารถของผู้จัดการกองทุนในการสร้างผลตอบแทนเทียบกับความเสี่ยง ถ้าค่า Information Ratio เป็นบวก แสดงว่า กองทุนรวมสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าดัชนีชี้วัด ดังนั้น ยิ่งค่า Information Ratio เยอะ ก็ยิ่งดีนั่นเอง
  • ความผันผวนของผลการดำเนินงาน (Standard Deviation) : ค่าความเสี่ยงของกองทุนรวมที่แสดงความคลาดเคลื่อนของผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับจากการลงทุน ว่าจะผิดไปจากที่คาดหวังมากน้อยเพียงใด โดยอาจจะมากกว่าหรือน้อยกว่าที่คาดหวังไว้ก็ได้

 

  1. พอร์ตการลงทุน

 

  • ข้อมูลสัดส่วนประเภทสินทรัพย์ที่ลงทุน : ระบุรายละเอียดชัดเจนมากกว่าที่บอกในนโยบายการลงทุน เช่น ในนโยบายการลงทุนอาจจะระบุว่า ลงทุนในหุ้นโดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 65% ของ NAV แต่จริงๆ แล้วในพอร์ตการลงทุนอาจมีสัดส่วนของหุ้นสูงถึง 90% ของ NAV
  • 5 หมวดหลักทรัพย์แรกที่ลงทุน : กองทุนรวมหุ้นจะแสดงสัดส่วนการลงทุนในหมวดอุตสาหกรรมสูงสุด 5 อันดับแรก แสดงให้เห็นการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุน
  • 5 อันดับแรกของหลักทรัพย์ที่ลงทุน : รายชื่อของหลักทรัพย์ที่มีสัดส่วนการลงทุนสูงสุด 5 อันดับแรกของพอร์ตการลงทุน โดยบาง บลจ. อาจจะมีข้อมูลอื่นๆ ประกอบ เช่น คะแนนคุณภาพการบริหารงานตามหลักบรรษัทภิบาล (CG Scoring) เป็นต้น

 

ถ้าพร้อมแล้ว ก็สามารถเริ่มลงทุนแบบ DCA ได้ง่ายๆ ผ่านบริการของทุก บลจ. หรือตัวแทนสนับสนุนการขาย โดยสามารถส่งคำสั่งซื้อและหักเงินผ่านบัญชีออมทรัพย์หรือบัตรเครดิตได้ทันที (ตามเงื่อนไขของผู้ให้บริการ) ที่สำคัญ เราสามารถเริ่มต้นลงทุนด้วยเงินเพียงแค่ 500 บาท รวมทั้งสามารถกำหนดระยะเวลาและความถี่ที่ต้องการลงทุนได้ ไม่ว่าจะเป็นรายสัปดาห์ รายเดือน รายไตรมาส หรือรายปี

 

ดังนั้น ใครที่ยังลังเล ไม่กล้าลงทุนซักที เพราะกลัวจะจับจังหวะลงทุนผิดจนทำให้ขาดทุนแบบกู่ไม่กลับ หรือยังไม่พร้อมเพราะไม่มีเงินก้อนใหญ่ที่จะลงทุน ก็ขอแนะนำการลงทุนแบบ DCA ในกองทุนรวมหุ้นให้เป็นทางเลือกการลงทุนเพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงินในระยะยาว เปิดบัญชีกองทุน >> คลิกที่นี่

 

สำหรับผู้ที่สนใจอยากรู้เทคนิคลงทุนสม่ำเสมอแบบ DCA ในหุ้นดี กองทุนเด่น เพื่อสร้างอิสรภาพทางการเงินในระยะยาว สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร วางแผนลงทุนสม่ำเสมอด้วยหุ้นและกองทุน” ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: