ตลาดหุ้นยุโรป โอกาสและความเสี่ยงที่ต้องจับตาในปี 2567

โดย จตุรภัทร ทนาบุตร นักกลยุทธ์การลงทุน SCB Chief Investment Office ธนาคารไทยพาณิชย์
3 Min Read
28 มีนาคม 2567
2.847k views
TSI_Article_573_Inv_Thumbnail
Highlights
  • เศรษฐกิจและตลาดหุ้นยุโรปในภาพรวมปี 2567 คาดว่า GDP จะเติบโตเป็นบวก จากการฟื้นตัวของภาคการบริโภคและการผลิต ขณะที่เงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลง ส่วนนโยบายการเงิน คาดว่าธนาคารกลางยุโรปมีแนวโน้มจะลดอัตราดอกเบี้ยและลดขนาดงบดุลในปีนี้

  • ผลตอบแทนรวมของดัชนี STOXX Europe 600 ซึ่งเป็นดัชนีหลักในตลาดหุ้นยุโรป ให้ผลตอบแทนรวมเฉลี่ย 5 ปี อยู่ที่ 9.5% ต่อปี ส่วนในมุม Valuation ดัชนี STOXX Europe 600 ซื้อขายอยู่ในระดับที่ค่อนข้างถูกเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี และถูกเมื่อเทียบกับดัชนีหุ้นสหรัฐฯ

  • ความเสี่ยงในระยะสั้นของตลาดหุ้นยุโรป เช่น การเพิ่มขึ้นของดัชนี STOXX 600 ที่ค่อนข้างกระจุกตัว กฎระเบียบของทางการยุโรป และความไม่แน่นอนด้านนโยบายจากทั้งในยุโรปและภายนอกยุโรป เป็นต้น

วิเคราะห์ภาพรวมเศรษฐกิจและภาพรวมตลาดหุ้นยุโรปในปี 2567

ภาพรวมเศรษฐกิจ และแนวนโยบายทางเศรษฐกิจของยุโรป คาดว่า GDP ของยูโรโซน ในปี 2567 จะสามารถเติบโตเป็นบวก เนื่องจาก

1) ภาคการบริโภคฟื้นตัว เนื่องจากกำลังซื้อของภาคครัวเรือนมีแนวโน้มดีขึ้น จากค่าจ้างที่ยังสูง สวนทางกับเงินเฟ้อที่ลดลง ประกอบกับภาคครัวเรือนยังมีเงินออมส่วนเกินสูง
2) ผลกระทบทางลบที่สะสมมาจากอัตราดอกเบี้ยที่สูง กดดัน GDP ในช่วงที่ผ่านมา มีแนวโน้มทยอยลดลง
3) กิจกรรมภาคการผลิตทยอยกลับมาฟื้นตัว

 

อย่างไรก็ตาม SCB CIO มองว่าแรงกระตุ้นทางการคลังจะทยอยลดลง ตามมาตรการกระตุ้นช่วงที่ผ่านมาเริ่มหมดไป เช่น การทยอยยุติมาตรการอุดหนุนพลังงานของประเทศต่าง ๆ ในยูโรโซน ทั้งนี้ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) คาดการณ์ GDP ปี 2567 และปี 2568 จะขยายตัว 0.6% และ 1.5% ตามลำดับ ส่วนเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2567 และปี 2568 ECB คาดการณ์ไว้ที่ 2.3% และ 2.0% ตามลำดับ ด้านเงินเฟ้อพื้นฐานในปี 2567 และปี 2568 ถูกคาดการณ์อยู่ที่ 2.6% และ 2.1% ตามลำดับ

 

ส่วนแนวนโยบายการเงิน SCB CIO คาดว่า ECB มีแนวโน้มลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในการประชุมฯ วันที่ 6 มิถุนายนนี้ เป็นอย่างเร็ว ขณะที่ จำนวนและขนาดของการลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่เหลือปี 2567 คือ ครั้งละ 25bp ในเดือนมิถุนายน เดือนกันยายน และเดือนธันวาคม รวมทั้ง จะเริ่มลดขนาดงบดุลของ ECB ผ่านการทยอยลดการลงทุนต่อบนสินทรัพย์ที่อยู่ภายใต้โครงการ Pandemic Emergency Purchase Programme (PEPP) ในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 และยุติการลงทุนภายใต้โครงการ PEPP หลังเดือนธันวาคม 2567

 

ภาพรวมและแนวโน้มผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในยุโรป

ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในดัชนี STOXX Europe 600 ในไตรมาสที่ 4/2566 ที่รายงานออกมา โดยเฉลี่ยมีรายได้ และกำไร (Earnings) หดตัวลบ -6.1% และ -11.6% เมื่อเทียบรายปี (YoY) ตามลำดับ โดยสัดส่วนบริษัทในดัชนี ที่รายงานผลประกอบการต่ำกว่าที่ผลสำรวจนักวิเคราะห์ (Consensus) คาดการณ์ มีมากกว่า สัดส่วนที่ออกมาสูงกว่า Consensus คาด

สำหรับปัจจัยหลักที่กดดันผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในดัชนี STOXX Europe 600 ได้แก่

1) ราคาพลังงานที่ชะลอตัวลง กดดันผลประกอบการกลุ่มพลังงาน
2) แนวโน้มกำไรกลุ่มธนาคารแผ่วลง หลังจากอัตราดอกเบี้ยผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว
3) เงินดอลลาร์สหรัฐ ที่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินยูโรในช่วงไตรมาสที่ 4/2566 ได้กดดันผลประกอบการในภาพรวม เนื่องจากบริษัทจดทะเบียนในดัชนี มีสัดส่วนรายได้มาจากสหรัฐฯ เฉลี่ยที่ 25% ของรายได้ทั้งหมด

 

อย่างไรก็ดี SCB CIO คาดว่า ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในดัชนี STOXX Europe 600 ในปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น สอดคล้องกับภาพรวม GDP ปี 2567 ที่มีแนวโน้มเติบโต โดย Consensus คาดการณ์ว่า การเติบโตของกำไรต่อหุ้น (EPS Growth) ของดัชนี STOXX Europe 600 ในปี 2567 และปี 2568 จะขยายตัว 6.2%YoY และ 10.4%YoY ตามลำดับ

 

ภาพรวมผลตอบแทนของตลาดหุ้นยุโรปในช่วง 3 – 5 ปีย้อนหลัง

ดัชนี STOXX Europe 600 ซึ่งมีหุ้นบริษัท 600 แห่งในยุโรปเป็นส่วนประกอบ ให้ผลตอบแทนรวม (รวมส่วนต่างราคาและเงินปันผล) เฉลี่ย 3 ปี อยู่ที่ 9.7% ต่อปี และ 5 ปี อยู่ที่ 9.5% ต่อปี ส่วนดัชนี FTSE 100 ตัวแทนหุ้น 100 บริษัทที่ใหญ่ที่สุดในตลาดหุ้นลอนดอน ให้ผลตอบแทนรวมเฉลี่ย รอบ 3 ปี อยู่ที่ 8.6% ต่อปี และ 5 ปี อยู่ที่ 5.4% ต่อปี

 

ส่วนหากดูผลการดำเนินงานนับตั้งแต่ต้นปี 2567 จนถึงวันที่ 13 มีนาคม 2567 (YTD) ของดัชนี STOXX Europe 600 ให้ผลตอบแทนรวมเฉลี่ยที่ 6.4% ส่วนดัชนี FTSE 100 ให้ผลตอบแทนรวมเฉลี่ย 1.4% ต่อปี เมื่อพิจารณาในรายละเอียดของผลตอบแทน YTD ของดัชนี STOXX Europe 600 พบว่า ผลตอบแทนที่เป็นบวก มาจากการเพิ่มของราคาหุ้นขนาดใหญ่เพียงไม่กี่ตัว โดยหุ้นขนาดใหญ่ที่เป็นตัวนำการปรับขึ้นของดัชนี เช่น Novo Nordisk (กลุ่มสุขภาพ), ASML (กลุ่มเทคโนโลยี), LVMH (กลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย) และ SAP (กลุ่มเทคโนโลยี)  

 

ภาพรวมความถูกแพงของมูลค่าหุ้น (Valuation) บนตลาดหุ้นยุโรป

SCB CIO มองว่า อัตราส่วนราคาต่อกำไรในอนาคต (Forward P/E ratio) ของดัชนี STOXX Europe 600 ยังซื้อขายอยู่ในระดับที่ค่อนข้างถูกเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี และถูกเมื่อเทียบกับดัชนีหุ้นสหรัฐฯ อย่างดัชนี S&P 500 และดัชนี NASDAQ ขณะเดียวกัน เมื่อเปรียบเทียบความถูกแพงของ Valuation ผ่านส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนของตลาดหุ้น (Earnings Yield) และอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ (Bond Yield) หรือที่เรียกว่า Earnings Yield Gap ของดัชนี STOXX Europe 600 ก็ยังอยู่ในระดับที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับดัชนีหุ้นสหรัฐฯ

ความเสี่ยงของตลาดหุ้นยุโรป

1) การเพิ่มขึ้นของดัชนี STOXX 600 YTD ที่ค่อนข้างกระจุกตัว

SCB CIO มองว่า การที่ YTD ดัชนี STOXX Europe 600 เพิ่มขึ้นแบบค่อนข้างกระจุกตัวจากหุ้นเพียงไม่กี่ตัว ได้เพิ่มความเสี่ยงที่ดัชนีจะผันผวน และอาจปรับเพิ่มตัวขึ้นได้จำกัด ประกอบกับการที่ดัชนี มีสัดส่วนหุ้นกลุ่มเติบโต (Growth) ต่ำ แต่มีสัดส่วนหุ้นวัฏจักร (Cyclicals) ซึ่งเคลื่อนไหวตามวงจรเศรษฐกิจสูงเมื่อเทียบกับดัชนีหุ้นสหรัฐฯ ทำให้การเพิ่มขึ้น ที่นำโดยกลุ่ม Growth อาจไม่ได้ยั่งยืน เพราะมีสัดส่วนน้อยกว่า ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่ชะลอลงในปี 2567

 

ขณะที่ หุ้นในตลาดยุโรปแต่ละตัวที่ปรับเพิ่มขึ้น มีความเสี่ยงพักฐาน เช่น หุ้นสินค้าหรู ที่เป็นหนึ่งในกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย อย่างหุ้น LVMH มีความเสี่ยงเผชิญความไม่แน่นอนบนการฟื้นตัวของความต้องการซื้อจากจีน เนื่องจากความมั่งคั่งของครัวเรือนจีนมีแนวโน้มถูกกระทบจากภาคอสังหาริมทรัพย์จีนที่ยังซบเซา ซึ่ง LVMH  มีสัดส่วนรายได้จากจีนราว 20% ของรายได้ทั้งหมด

 

ส่วนหุ้น ASML ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องจักรผลิตชิปของโลก มีสัดส่วนรายได้จากจีนราว 25% ซึ่งรายได้จากจีนเสี่ยงเผชิญความไม่แน่นอน จากข้อพิพาททางเทคโนโลยีกับจีนที่มีมากขึ้น หรือแม้กระทั่งหุ้น Novo Nordisk ก็เสี่ยงพักฐานเช่นกัน เนื่องจากมีสัดส่วนรายได้จากสหรัฐฯ ราว 55% ทำให้รายได้เสี่ยงถูกกดดัน จากค่าเงินยูโรที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ ตามที่ SCB CIO คาดว่า ECB มีแนวโน้มระมัดระวังในการลดดอกเบี้ย มากกว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ดังนั้น จึงประเมินว่า หากหุ้นขนาดใหญ่ที่ปรับขึ้นนำตลาด YTD เริ่มปรับเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง อาจส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้นได้จำกัด

 

2) ความเสี่ยงจากกฎระเบียบของทางการยุโรป

รัฐสภาของสหภาพยุโรป ได้อนุมัติกฎหมายปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) ฉบับแรกของโลก เพื่อรับประกันความปลอดภัย รวมทั้ง สิทธิพื้นฐานของผู้คนและธุรกิจจากการใช้ AI ภายใต้การพัฒนากฎเกณฑ์และหลักการที่ยึดมนุษย์เป็นศูนย์กลาง โดยกฎหมายจะแบ่งแนวทางปฏิบัติเข้มข้นขึ้นตามระดับความเสี่ยงของระบบ AI ตั้งแต่ความเสี่ยงน้อยที่สุด ความเสี่ยงสูง ความเสี่ยงที่ยอมรับไม่ได้ และความเสี่ยงด้านความโปร่งใสที่เฉพาะเจาะจง  

 

ทั้งนี้ จะมีการคิดค่าปรับกับบริษัทที่ไม่ปฏิบัติตามกฎ เริ่มตั้งแต่ 35 ล้านยูโร หรือ 7% ของมูลค่าการซื้อขายประจำปีทั่วโลก แล้วแต่จำนวนใดสูงกว่า สำหรับการละเมิดจากแอปพลิเคชัน AI ที่ถูกแบน นอกจากนี้ จะมีการคิดค่าปรับ 15 ล้านยูโร หรือ 3% สำหรับการละเมิดด้านอื่น และ 7.5 ล้านยูโร หรือ 1.5% สำหรับการป้อนข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง โดยคาดว่า จะมีการกำหนดสัดส่วนค่าปรับสูงสุดสำหรับ บริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และสตาร์ทอัพต่อไป

 

ขณะที่ เบื้องต้นมีการออกมาตรการสนับสนุนการใช้ AI สำหรับ SMEs และสตาร์ทอัพ มอบข้อเสนอพิเศษในการเข้าถึงซูเปอร์คอมพิวเตอร์และเครือข่ายนวัตกรรมในวงกว้าง โดย SCB CIO มองว่า กฎหมายนี้ จะเป็นอีกปัจจัยท้าทายสำหรับบริษัทจดทะเบียนในยุโรป ที่มีการใช้ AI ในธุรกิจ ทำให้ต้องระมัดระวังมากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงการกระทำที่ผิดกฎอันนำไปสู่การเสียค่าปรับ

 

3) ความไม่แน่นอนด้านนโยบายจากทั้งในยุโรปและภายนอกยุโรป

ภาพรวมของยุโรป ยังเผชิญความไม่แน่นอนทางการเมืองและนโยบายที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในปี 2567 จากการเลือกตั้งหลายพื้นที่ที่จะเกิดขึ้น ทั้งการเลือกตั้งรัฐสภายุโรปในเดือนมิถุนายน 2567 ซึ่งจะมีผลต่อการเลือกประธานคณะกรรมาธิการยุโรปถัดไป และส่งกระทบต่อการพิจารณาประเด็นสำคัญในภาคธนาคารและตลาดทุนด้วย การเลือกตั้งสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายน 2567 ซึ่งหากอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ชนะเลือกการตั้ง อาจนำไปสู่การขึ้นอัตราภาษีนำเข้าจากสินค้าต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงจากสินค้านำเข้าจากยุโรปที่อัตรา 10%

 

และการเลือกตั้งอังกฤษ ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน หรือเดือนธันวาคม 2567 โดยจากสถิติในอดีต พบว่า ความไม่แน่นอนด้านนโยบายของยุโรป มักจะเพิ่มขึ้นเมื่อใกล้การเลือกตั้งสหรัฐฯ ฉะนั้น ปัจจัยนี้จึงเป็นตัวแปรที่จำกัดการปรับตัวเพิ่มขึ้นของ Valuation ดัชนี STOXX Europe 600 แม้ว่า Valuation ของดัชนี ยังซื้อขายในระดับที่น่าสนใจ ก็ตาม

 

คำแนะนำการลงทุนในตลาดหุ้นยุโรป

สำหรับการลงทุนในระยะสั้น ด้วยปัจจัยความเสี่ยงจากการเพิ่มขึ้นของดัชนี STOXX 600 นับตั้งแต่ต้นปีที่ค่อนข้างกระจุกตัว ความเสี่ยงจากกฎระเบียบของทางการยุโรป และความไม่แน่นอนด้านนโยบายจากทั้งในยุโรปและภายนอกยุโรป ที่มีแนวโน้มสร้างความผันผวน ซึ่งยังคงเป็นปัจจัยที่ต้องจับตา จึงทำให้ SCB CIO ยังไม่ได้ให้คำแนะนำเข้าลงทุนในตลาดหุ้นยุโรป แต่มองว่า นักลงทุนที่มีจุดประสงค์ลงทุนระยะยาว สามารถถือหุ้นยุโรปได้ เมื่อพิจารณาจากความเสี่ยงขาลงของ Valuation ในดัชนีหุ้นยุโรปที่ค่อนข้างจำกัด ขณะที่ EPS ของดัชนี ในช่วง 1 ถึง 2 ปีข้างหน้า ยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี

 

คำเตือน : การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง รวมถึงควรขอคำแนะนำเพิ่มเติมจากผู้ประกอบธุรกิจก่อนตัดสินใจลงทุน

 

หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน


นักลงทุนมือใหม่และผู้ที่สนใจ เรียนรู้ลักษณะพื้นฐาน ทางเลือกลงทุน และวิธีการลงทุนในต่างประเทศผ่านตลาดหุ้นไทย เพื่อกระจายความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “มือใหม่หัดลงทุนต่างประเทศ” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่
แท็กที่เกี่ยวข้อง: