ยุโรป เป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีตลาดหลักทรัพย์สำคัญหลายแห่ง และมีความสำคัญมากต่อตลาดการเงินและระบบเศรษฐกิจโลก เนื่องจากบริษัทที่สร้างผลกระทบสูงต่อเศรษฐกิจโลกก็จดทะเบียนในภูมิภาคนี้ จากข้อมูลของ Bloomberg ณ วันที่ 13 มีนาคม 2567 ตลาดหลักทรัพย์สำคัญ ๆ 3 แห่งในยุโรป ได้แก่ Euronext, London Stock Exchange (LSE) และ Deutsche Börse มีมูลค่าตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) รวมกันประมาณ 1.03 แสนล้านยูโร โดยมีรายละเอียดดังนี้
- Euronext : เป็นตลาดหลักทรัพย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในยุโรป ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2543 จากการรวมตัวของตลาดหลักทรัพย์ 3 แห่ง ได้แก่ ตลาดหลักทรัพย์อัมสเตอร์ดัม (เนเธอร์แลนด์) ตลาดหลักทรัพย์ปารีส (ฝรั่งเศส) และตลาดหลักทรัพย์บรัสเซลส์ (เบลเยียม) จากนั้นก็มีตลาดหุ้นอื่นในยุโรปเข้ามารวมเพิ่มเติม
ปัจจุบัน Euronext รวมตลาดหลักทรัพย์ 7 แห่งในยุโรป ได้แก่ เบลเยียม ฝรั่งเศส ไอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ อิตาลี นอร์เวย์ และโปรตุเกส (ข้อมูล ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2567) มีบริษัทจดทะเบียนทุกตลาดภายใต้ Euronext 1,925 บริษัท คิดเป็นมาร์เก็ตแคปรวมประมาณ 9.1 พันล้านยูโร
ทั้งนี้ Euronext ยังรองรับบริษัทข้ามชาติที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อื่นอยู่แล้ว และต้องการมาจดทะเบียนใน Euronext เป็นตลาดแห่งที่สองด้วย เพื่อให้เข้าถึงนักลงทุนในยุโรป โดยบริษัทที่ต้องการจดทะเบียนกับ Euronext ควรเลือกสำนักงานและตลาดย่อย ๆ ให้เหมาะกับความต้องการ ซึ่งสำนักงานมีทั้งหมด 7 แห่ง ได้แก่ อัมสเตอร์ดัม บรัสเซลส์ ดับลิน ลิสบอน มิลาน ออสโล และปารีส แต่ละแห่งวางกฎเกณฑ์แตกต่างกันเล็กน้อย เช่น เกณฑ์จำนวนหุ้นหมุนเวียน เป็นต้น
ขณะที่ Euronext มี 3 ตลาดย่อย ได้แก่
1) Euronext สำหรับบริษัทขนาดใหญ่ แบ่งบริษัทจดทะเบียนเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่ม A ทุนจดทะเบียนมากกว่า 1,000 ล้านยูโร กลุ่ม B ทุนจดทะเบียน 150 – 1,000 ล้านยูโร และกลุ่ม C ทุนจดทะเบียนต่ำกว่า 150 ล้านยูโร
2) Euronext Growth สำหรับผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่มีการเติบโตสูง ต้องการระดมทุนเพื่อการเติบโต
3) Euronext Access และ Euronext Access+ สำหรับบริษัทสตาร์ทอัพและ SMEs ที่ต้องการระดมทุนเพื่อการเติบโต โดยจะเริ่มจากจดทะเบียนใน Euronext Access ก่อน เมื่อบริษัทมีขนาดใหญ่เพียงพอจะถูกโอนย้ายไปซื้อขายบนกระดาน Euronext Access+ ก่อนขยับสู่ Euronext Growth และ Euronext ต่อไป (ที่มา : Euronext)
- London Stock Exchange (LSE) : ตลาดหลักทรัพย์ลอนดอน เป็นหนึ่งในตลาดหลักทรัพย์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก มีมาร์เก็ตแคปรวมประมาณ 5.9 หมื่นล้านยูโร (ข้อมูล ณ วันที่ 13 มีนาคม 2567) ปัจจุบัน LSE มีบริษัทจดทะเบียนมากกว่า 1,000 แห่ง จากกว่า 100 ประเทศทั่วโลก โดยภายใต้ตลาดหลักทรัพย์ลอนดอน จะมีตลาดย่อย 2 ตลาด คือ
1) ตลาดหลัก หรือ Main Market ซึ่งจะแบ่งบริษัทจดทะเบียนเป็น 2 กลุ่ม คือ
1.1) Main Market - Premium Segment สำหรับบริษัทระดับโลก ที่ต้องการเข้ามาจดทะเบียนซื้อขายเพื่อเข้าถึงนักลงทุนในยุโรป
1.2) Main Market - Standard Segment สำหรับบริษัทหลัก ๆ ในอังกฤษและยุโรป
2) ตลาดเล็ก หรือ AIM สำหรับบริษัท SMEs ที่ต้องการเติบโต (ที่มา : London Stock Exchange)
- Deutsche Börse : ดำเนินการบน Frankfurt Stock Exchange หรือ ตลาดหลักทรัพย์แฟรงก์เฟิร์ต ซึ่งเป็นตลาดหลักทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในเยอรมนี และมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ในยุโรป โดยมีมาร์เก็ตแคปรวมประมาณ 3.5 หมื่นล้านยูโร (ข้อมูล ณ วันที่ 13 มีนาคม 2567) ถือเป็นศูนย์กลางการซื้อขายระหว่างประเทศด้วย เมื่อพิจารณาจากโครงสร้างที่ครึ่งหนึ่งของผู้มีส่วนร่วมในตลาดกว่า 200 ราย มาจากประเทศอื่นที่ไม่ใช่เยอรมนี
การจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แฟรงก์เฟิร์ต จะมีกลุ่มย่อยให้เลือกจดทะเบียน ได้แก่ Prime Standard โดยบริษัทในกลุ่มนี้ต้องปฏิบัติภายใต้ข้อกำหนดด้านความโปร่งใสสูงสุดในยุโรป รวมถึงข้อกำหนดด้านความโปร่งใสระดับสากล ต่อมาคือ General Standard บริษัทต้องปฏิบัติภายใต้ข้อกำหนดด้านความโปร่งใสสูงสุดในยุโรป และ Scale สำหรับ SMEs เพื่อช่วยให้จดทะเบียนได้ง่าย รวดเร็ว และคุ้มค่า
โดยช่องทางการซื้อขายมี 2 ช่องทาง คือ Xetra เป็นระบบการซื้อขายหุ้นเยอรมันและกองทุนรวมดัชนีชั้นนำในยุโรป โดยมีอัตราการหมุนเวียนสูง ซื้อขายได้ในราคาตลาดที่ยุติธรรม กับ Börse Frankfurt เป็นช่องทางซื้อขายหลักทรัพย์เยอรมันและหลักทรัพย์ต่างประเทศ โดยมีผู้เชี่ยวชาญดูแล รับประกันการดำเนินการตามคำสั่งและราคาที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ (ที่มา : Deutsche Börse)
ดัชนีหลักในตลาดหุ้นยุโรป
ในส่วนของดัชนีหลักในยุโรปที่นักลงทุนนิยมลงทุน มีด้วยกัน 5 ดัชนี ได้แก่
- Euro Stoxx 50 เป็นดัชนีหุ้นยุโรปที่ออกแบบโดยบริษัท STOXX ที่ดำเนินการโดย Deutsche Börse Group ซึ่งจะรวบรวมหุ้นของบริษัท 50 แห่งที่มีขนาดใหญ่ที่สุด และอยู่ใน 20 กลุ่มธุรกิจหลักที่มีสภาพคล่องมากที่สุด จาก 11 ประเทศในยูโรโซนเอาไว้ สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรม (Sector) ที่มีสัดส่วนมากที่สุด 3 อันแรกในดัชนี คือ กลุ่มเทคโนโลยี กลุ่มอุตสาหกรรม รวมทั้งกลุ่มผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อผู้บริโภค โดยดัชนีนี้ เป็นหนึ่งในดัชนีที่มีสภาพคล่องมากที่สุด มักถูกใช้เป็นตัวชี้วัด และเป็นดัชนีอ้างอิงสำหรับผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เช่น สัญญาออปชัน สัญญาฟิวเจอร์ส และกองทุนรวมดัชนี (ETF)
- Stoxx Europe 600 ออกแบบโดยบริษัท STOXX โดยมีส่วนประกอบเป็นบริษัทจดทะเบียน 600 แห่ง ที่เป็นตัวแทนของบริษัทที่มีมาร์เก็ตแคปขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก ครอบคลุม 17 ประเทศในยุโรป ซึ่งดัชนีมีการถ่วงน้ำหนักมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดปรับด้วยการกระจายการถือหุ้นโดยผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free-Floated Adjusted Market Cap-Weighted) ครอบคลุมบริษัทจดทะเบียน 90% ของตลาดหุ้นยุโรป สำหรับ Sector ที่มีสัดส่วนมากที่สุด 3 อันแรกในดัชนี คือ กลุ่มสุขภาพ กลุ่มอุตสาหกรรม และกลุ่มเทคโนโลยี
- FTSE 100 ย่อมาจาก The Financial Times Stock Exchange 100 Index เป็นดัชนีที่รวบรวมหุ้น 100 บริษัทที่มีมาร์เก็ตแคปสูงที่สุดในตลาดหลักทรัพย์ลอนดอนเอาไว้ มักถูกใช้บ่งชี้ความสามารถในการทำกำไรของบริษัท ผลการดำเนินงานของตลาดหุ้นลอนดอน และเศรษฐกิจโดยรวมของสหราชอาณาจักร สำหรับ Sector ที่มีสัดส่วนมากที่สุด 3 อันแรกในดัชนี คือ กลุ่มสุขภาพ กลุ่มพลังงาน และกลุ่มอุตสาหกรรม
- DAX เป็นดัชนีที่มีส่วนประกอบของหุ้นบริษัทขนาดใหญ่ 40 แห่ง ที่ซื้อขายบนตลาดหลักทรัพย์แฟรงก์เฟิร์ต ในกลุ่ม Prime Standard ซึ่งครอบคลุมมาร์เก็ตแคป 80% ของตลาดโดยรวม โดยเป็นดัชนีผลตอบแทนรวม ซึ่งใช้ราคาจากการซื้อขายบนช่องทาง Xetra ดัชนีนี้มีความสำคัญในลักษณะเดียวกับ FTSE 100 คือ มักถูกใช้บ่งชี้ความสามารถในการทำกำไรของบริษัท ผลการดำเนินงานของตลาดหุ้นแฟรงก์เฟิร์ต และเศรษฐกิจโดยรวมของเยอรมัน สำหรับ Sector ที่มีสัดส่วนมากที่สุด 3 อันแรกในดัชนี คือ กลุ่มอุตสาหกรรม กลุ่มเทคโนโลยี และกลุ่มยานยนต์
- CAC 40 เป็นดัชนีที่มักใช้ในการวัดผลการดำเนินงานของตลาดหุ้นฝรั่งเศส โดยดัชนีจะมีส่วนประกอบของหุ้นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นฝรั่งเศส ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเชิงของมาร์เก็ตแคป 40 แห่ง ที่ซื้อขายอยู่บนตลาดหลักทรัพย์ Euronext Paris Exchange สำหรับ Sector ที่มีสัดส่วนมากที่สุด 3 อันแรกในดัชนี คือ กลุ่มผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อผู้บริโภค กลุ่มอุตสาหกรรม และกลุ่มสุขภาพ
ตัวอย่างบริษัทในตลาดหุ้นยุโรปที่น่าสนใจ
เนื่องจากดัชนี Stoxx Europe 600 เป็นดัชนีตลาดหุ้นยุโรปที่ได้รับความนิยมจากนักลงทุนมากที่สุด และเป็นดัชนีที่นักลงทุนสามารถหาข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนได้ง่ายกว่าดัชนีอื่น ๆ โดย Sector และหุ้นที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่ต้องการลงทุนในตลาดหุ้นยุโรป ได้แก่
- กลุ่มเทคโนโลยี เช่น บริษัท ASML และ SAP
- กลุ่มอุตสาหกรรม เช่น บริษัท Schneider
- กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น เช่น บริษัท Nestle และ L’Oréal
- กลุ่มสุขภาพ เช่น บริษัท Novo Nordisk
- กลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น บริษัท LVMH, Richemont และ Ferrari)
ช่องทางการลงทุนในตลาดหุ้นยุโรป
ตลาดหุ้นยุโรปมีทางเลือกให้ลงทุนค่อนข้างหลากหลาย และประกอบไปด้วยหุ้นที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก หากนักลงทุนสนใจก็สามารถลงทุนในตลาดหุ้นยุโรปได้ผ่าน 3 ช่องทาง คือ
1) ลงทุนโดยตรงในหุ้นยุโรป หรือ กองทุนรวมดัชนี (ETF) ที่อ้างอิงดัชนีหลักของตลาดหุ้นยุโรป เหมาะสำหรับผู้ที่มีประสบการณ์การลงทุนโดยตรงในหุ้นมาแล้ว โดยสามารถซื้อขายหุ้นยุโรป หรือ ETF อ้างอิงตลาดหุ้นยุโรปได้ ผ่านบริษัทหลักทรัพย์ในไทยที่ให้บริการ ซึ่งการลงทุนด้วยวิธีนี้ นักลงทุนจะต้องแลกเปลี่ยนเงินบาทเป็นสกุลเงินยูโรเพื่อซื้อขาย จึงถือเป็นการลงทุนในต่างประเทศ ที่นักลงทุนต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากกำไรที่เกิดจากการลงทุนด้วย
2) กองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในตลาดหุ้นยุโรป ช่องทางนี้ลงทุนได้ง่ายที่สุดและนักลงทุนไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับกำไรที่เกิดจากการลงทุนในต่างประเทศด้วย ซึ่งกองทุนรวมที่ลงทุนในตลาดหุ้นยุโรป ก็จะมี 2 รูปแบบ คือ กองทุนที่เน้นการลงทุนเชิงรุก คัดเลือกหุ้นรายตัว และกองทุนเชิงรับ ที่ลงทุนผ่านกองทุนรวมดัชนี
3) ลงทุนผ่านตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศ (DR : Depositary Receipt*) ที่อ้างอิงหุ้นในตลาดหุ้นยุโรป ผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ซึ่งช่องทางนี้ถือเป็นการลงทุนในไทย จึงไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากกำไรที่เกิดจากการลงทุนด้วย โดยปัจจุบันตลาดหุ้นไทยมี DR สองตัวที่อ้างอิงหุ้นยุโรป คือ LVMH01 อ้างอิงหุ้น LVMH บริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าหรู โดยมีแบรนด์ชื่อดังอย่าง Louis Vuitton, Christian Dior, Celine เป็นต้น และ ASML01 อ้างอิงหุ้น ASML บริษัทผู้ผลิตเครื่องผลิตชิปให้กับโรงงานผลิตชิปทั่วโลก
*DR หรือ Depositary Receipt เป็นตราสารที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้นักลงทุนไทยสามารถซื้อขายหุ้นหรือ ETF ต่างประเทศได้ โดยผู้ออก DR จะเป็นคนไปซื้อหุ้นหรือ ETF ต่างประเทศมาเก็บไว้ และนำมาเสนอขายนักลงทุนไทยอีกต่อหนึ่ง ในรูปของเงินบาท นักลงทุนไทยจึงซื้อขายหุ้นหรือ ETF นั้นผ่านตลาดหุ้นไทยได้ โดยใช้บัญชีเดียวกันกับการซื้อขายหุ้นไทย เหมือนการซื้อขายหุ้นทั่วไป
นักลงทุนที่สนใจสามารถศึกษารายละเอียดของ DR เพิ่มเติมได้ที่ คลิกที่นี่
คำเตือน : การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง รวมถึงควรขอคำแนะนำเพิ่มเติมจากผู้ประกอบธุรกิจก่อนตัดสินใจลงทุน
หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน