ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา หากใครมีโอกาสได้ติดตามข่าวเศรษฐกิจอาเซียนอยู่เป็นประจำ คงจะเห็นได้ว่าเวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในอาเซียน และเป็นจุดหมายปลายทางของบริษัทและนักลงทุนต่างชาติ ด้วยหลาย ๆ ปัจจัย ทั้งลักษณะของประชากร การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน นโยบายเศรษฐกิจของภาครัฐ การพัฒนาธุรกิจภาคบริการ เทคโนโลยีและการศึกษา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ส่งผลให้เวียดนามกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่นักลงทุนทั่วโลกให้ความสนใจ
ในบทความนี้ จะพาทุกท่านมาทำความรู้จักกับ “ตลาดหุ้นเวียดนาม” ผู้นำในกลุ่มตลาดหุ้นชายขอบ (Frontier Market) ด้วยสัดส่วนสูงสุดที่ 28.8% ในดัชนี MSCI Frontier (ข้อมูล ณ วันที่ 15 มีนาคม 2024) เพื่อให้นักลงทุนเข้าใจและเห็นภาพเกี่ยวกับโครงสร้างของตลาดหุ้นเวียดนามมากขึ้นก่อนตัดสินใจลงทุน
ย้อนไปในอดีตเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2000 ตลาดหุ้นเวียดนามถูกก่อตั้งขึ้นเป็นวันแรก โดยมีบริษัทจดทะเบียนเพียง 2 แห่ง และบริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิก 6 แห่ง ซึ่ง ณ ขณะนั้นมูลค่าตลาดคิดเป็นเพียง 0.2% ของ GDP เวียดนามในปี 2000
อย่างไรก็ตาม ด้วยวิวัฒนาการและการส่งเสริมการพัฒนาจากรัฐบาล ส่งให้ภายในสิ้นปี 2023 ตลาดหุ้นเวียดนามมีบริษัทจดทะเบียนเกือบ 2,300 แห่ง มีบริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิกอยู่ 82 แห่ง และมีมูลค่าตลาดเพิ่มขึ้นแตะ 9.6 ล้านล้านบาท คิดเป็น 58.1% ของ GDP ปี 2566 เลยทีเดียว โดยในปัจจุบันตลาดหุ้นเวียดนามมีตลาดหุ้นอยู่ 2 แห่ง
- ตลาดหลักทรัพย์นครโฮจิมินห์ (Ho Chi Minh City Stock Exchange: HOSE) เป็นตลาดหลักทรัพย์แห่งแรกของประเทศเวียดนาม ซึ่งเดิมทีเป็นศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์โฮจิมินห์ ซิตี้ และต่อมาได้รับการสนับสนุนการจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) จึงได้เริ่มเปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการในเดือนกรกฎาคม 2000 โดยในปัจจุบันมีหุ้นจดทะเบียนอยู่ 590 ตัว และกองทุน ETF 14 กอง ซึ่งถือเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในเวียดนามด้วยมูลค่าตลาดราว 7.5 ล้านล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 15 มีนาคม 2024)
ตลาดหลักทรัพย์นครโฮจิมินห์มีการกำหนดราคาเสนอซื้อขายหลักทรัพย์สูงสุด (Ceiling) และต่ำสุด (Floor) ในแต่ละวันเปลี่ยนแปลงได้ไม่เกิน 7% ของราคาปิดในวันทำการก่อนหน้า กรณีเป็นหลักทรัพย์ที่ซื้อขายวันแรกจะกำหนดให้ราคาเปลี่ยนแปลงได้ไม่เกิน 20% ของราคา IPO
- ตลาดหลักทรัพย์ฮานอย (Hanoi Stock Exchange: HNX) เป็นตลาดหลักทรัพย์เบอร์สองของเวียดนาม ซึ่งมีขนาดเล็กกว่า โดยปัจจุบันมีหุ้นจดทะเบียนอยู่ 322 ตัว มูลค่าตลาดรวมกันราว 2.1 แสนล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 15 มีนาคม 2024) ทั้งนี้ หากจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพ ตลาดหลักทรัพย์ฮานอยจะเน้นไปที่กิจการขนาดกลางและขนาดเล็ก (SME) โดยมีลักษณะคล้ายกับตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ของไทย คือเป็นตลาดที่มีเกณฑ์การเข้าจดทะเบียนยืดหยุ่นกว่า เช่น ทุนจดทะเบียนขั้นต่ำจะต้องมากกว่า 43 ล้านบาท เทียบกับตลาดหลักทรัพย์โฮจิมินห์ที่จะต้องมากกว่า 171 ล้านบาท เป็นต้น
ตลาดหลักทรัพย์ฮานอยมีการกำหนดราคาเสนอซื้อขายหลักทรัพย์สูงสุด (Ceiling) และต่ำสุด (Floor) ในแต่ละวันเปลี่ยนแปลงได้ไม่เกิน 10% ของราคาปิดในวันทำการก่อนหน้า กรณีเป็นหลักทรัพย์ที่ซื้อขายวันแรกจะกำหนดให้ราคาเปลี่ยนแปลงได้ไม่เกิน 30% ของราคา IPO
นอกจากนี้ ภายใต้การดูแลของตลาดหลักทรัพย์ฮานอยยังมีกระดานซื้อขายอีกกระดานชื่อว่า UpCoM (Unlisted Public Company) ซึ่งคือกระดานซื้อขายหุ้นของบริษัทที่ยังไม่ได้จดทะเบียนทั้งในตลาดหลักทรัพย์โฮจิมินห์และตลาดหลักทรัพย์ฮานอย โดยกระดานซื้อขายนี้จะให้บริษัทเอกชนหรือรัฐวิสาหกิจเข้ามาได้ทดลองซื้อขายก่อนที่จะเข้าจดทะเบียนใน 2 ตลาดหลักข้างต้น ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อให้บริษัทเอกชนสามารถเข้ามาระดมทุนในตลาดมากขึ้น โดยปัจจุบันมีหุ้นอยู่ทั้งหมด 868 ตัว และมีมูลค่าตลาดราว 1.3 ล้านล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 15 มีนาคม 2024) อย่างไรก็ตาม หากบริษัทในกระดานนี้เข้าเกณฑ์ที่กำหนดก็สามารถย้ายหุ้นไปซื้อขายยังตลาดหลักทรัพย์โฮจิมินห์หรือตลาดหลักทรัพย์ฮานอยได้
ทั้งนี้ ในฐานะนักลงทุนต่างชาติ อีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่นักลงทุนควรทราบก่อนตัดสินใจลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนาม คือ ข้อจำกัดด้าน Foreign Ownership Limit (FOL) หรือ สัดส่วนการถือครองหลักทรัพย์สูงสุดของนักลงทุนต่างชาติที่จะสามารถเข้าซื้อหุ้นตัวนั้น ๆ ได้ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะอยู่ที่ 49% สำหรับหุ้นทั่วไป และ 30% สำหรับหุ้นธนาคาร อย่างไรก็ดี อาจมีการปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัท ดังนั้น หากหุ้นตัวใดที่มีสัดส่วนการถือครองจากนักลงทุนต่างชาติเต็มจำนวนแล้ว ก็จะทำให้นักลงทุนต่างชาติไม่สามารถเข้าไปซื้อหุ้นตัวนั้นได้อีก
นอกจากนี้ ในแง่ของผลิตภัณฑ์การลงทุน ปัจจุบันตลาดหุ้นเวียดนามทั้งหมดยังไม่เปิดให้บริการขายชอร์ต (Short Sell) ส่วนตลาดตราสารอนุพันธ์มีผลิตภัณฑ์เพียงแค่สัญญาซื้อขายล่วงหน้าอ้างอิงดัชนี VN30 สัญญาซื้อขายล่วงหน้าอ้างอิงกับพันธบัตรรัฐบาลและใบสำคัญแสดงสิทธิในการซื้อหลักทรัพย์ที่สำรองไว้ (Covered Warrant)
ดัชนีหลักตลาดหุ้นเวียดนาม
- VN Index : ดัชนีหลักของตลาดหลักทรัพย์นครโฮจิมินห์สะท้อนการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นทุกตัวที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โฮจิมินห์ มีการคำนวณดัชนีหุ้นแบบถ่วงน้ำหนักด้วยมูลค่าตลาด (Capitalization-Weighted Index) ครอบคลุมหุ้น 590 ตัว 11 อุตสาหกรรม โดยหุ้นที่ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของดัชนี 3 อันดับแรก ได้แก่ หุ้นธนาคาร VCB หุ้นธนาคาร BID และหุ้นพลังงาน GAS
- VN 30 Index : ดัชนีหุ้นที่สะท้อนการเคลื่อนไหวของหุ้นเวียดนามที่มีขนาดใหญ่ สภาพคล่องสูง 30 ตัวแรกในตลาดหลักทรัพย์โฮจิมินห์ ซึ่งมีมูลค่าตลาดราว 70 – 80% ของตลาดหลักทรัพย์โฮจิมินห์ และมีการคำนวณดัชนีแบบถ่วงน้ำหนักด้วยมูลค่าตลาดและปรับด้วย Free Float (Free-Floated Adjusted Market Cap-Weighted) โดยหุ้นที่ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของดัชนี 3 อันดับแรก ได้แก่ หุ้นเทคโนโลยี FPT หุ้นเหล็ก HPG และหุ้นธนาคาร ACB
- VN Diamond Index : ดัชนีที่มีเงื่อนไขว่าหุ้นที่เป็นส่วนประกอบจะต้องมีนักลงทุนต่างชาติถือหุ้นอย่างน้อย 95% ของสัดส่วนที่สามารถลงทุนได้ กล่าวคือเป็นดัชนีที่รวมหุ้นที่นักลงทุนต่างชาติชอบลงทุน ซึ่งมีการคำนวณดัชนีหุ้นแบบถ่วงน้ำหนักด้วยมูลค่าตลาด (Capitalization-Weighted Index) โดยหุ้นที่ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของดัชนี 3 อันดับแรก ได้แก่ หุ้นเทคโนโลยี FPT หุ้นค้าปลีก MWG และหุ้น PNJ
- HNX Index : ดัชนีหลักของตลาดหลักทรัพย์ฮานอยสะท้อนการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นทุกตัวที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮานอย มีการคำนวณดัชนีหุ้นแบบถ่วงน้ำหนักด้วยมูลค่าตลาด (Capitalization-Weighted Index) ครอบคลุมหุ้น 322 ตัว 11 อุตสาหกรรม โดยหุ้นที่ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของดัชนี 3 อันดับแรก ได้แก่ หุ้นโบรกเกอร์ SHS หุ้นนิคมอุตสาหกรรม IDC และหุ้นอสังหาริมทรัพย์ THD
- HNX 30 Index : ดัชนีหุ้นที่สะท้อนการเคลื่อนไหวของหุ้นเวียดนามที่มีขนาดใหญ่ สภาพคล่องสูง 30 ตัวแรกในตลาดหลักทรัพย์ฮานอย คล้ายกับ VN 30 Index โดยมีการคำนวณดัชนีแบบถ่วงน้ำหนักด้วยมูลค่าตลาดและปรับด้วย Free Float (Free-Floated Adjusted Market Cap-Weighted) เช่นกัน โดยหุ้นที่ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของดัชนี 3 อันดับแรก ได้แก่ หุ้นนิคมอุตสาหกรรม IDC หุ้นโบรกเกอร์ SHS และหุ้นพลังงาน PVS
ตัวอย่างบริษัทในตลาดหุ้นเวียดนามที่น่าสนใจ
- FPT Corporation (FPT) เป็นบริษัทเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในเวียดนาม มีมูลค่าตลาดราว 2.1 แสนล้านบาท โดยบริษัทให้บริการจำหน่ายซอฟต์แวร์หลังบ้าน บริการคลาวด์ ผู้จัดจำหน่ายโปรแกรมคอมพิวเตอร์ การเป็นที่ปรึกษาด้านไอทีและยังเป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคมอีกด้วย ซึ่งบริษัทนี้ถือได้ว่าเป็นลูกรักของรัฐบาลเวียดนามและเป็นหน้าเป็นตาให้กับประเทศ จึงทำให้รัฐบาลมีการสนับสนุนงานให้จำนวนมาก โดยบริษัทมีอัตราการเติบโตของรายได้เฉลี่ยปีละ 17.8% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
- Vinamilk (VNM) เป็นบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากนมวัวที่ใหญ่ที่สุดในเวียดนาม ด้วยมูลค่าตลาดราว 2.1 แสนล้านบาท และครองส่วนแบ่งการตลาดสูงสุดที่ราว 43% โดยบริษัทมีผลิตภัณฑ์จากนมมากกว่า 200 SKU เช่น นมพร้อมดื่ม, โยเกิร์ต, นมผง, ชีส, นมถั่วเหลือง และเครื่องดื่มสำเร็จรูป นอกจากนี้บริษัทกำลังอยู่ในช่วงรีแบรนด์ครั้งใหญ่เพื่อจับตลาดกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งคาดว่าจะช่วยเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดอย่างต่อเนื่อง
- Sabeco (SAB) เป็นบริษัทผู้ผลิตเบียร์อันดับ 1 ในเวียดนามในแง่ของปริมาตร โดยมีมูลค่าตลาดราว 1.1 แสนล้านบาท ซึ่งปัจจุบันบริษัทเป็นเจ้าของโรงกลั่นเบียร์ 26 แห่งทั่วเวียดนาม และมีกำลังการผลิตรวมมากกว่าสองพันล้านลิตร
- Airports Corporation of Vietnam (ACV) หรือบริษัทท่าอากาศยานเวียดนามซึ่งทำธุรกิจคล้ายกับบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT โดย ACV เป็นผู้บริหารท่าอากาศยานหลักของประเทศจำนวน 22 แห่ง ปัจจุบันมีมูลค่าตลาดราว 2.7 แสนล้านบาท
ช่องทางการลงทุนในหุ้นเวียดนาม
ปัจจุบันการลงทุนในเวียดนามสามารถทำได้ผ่านหลายช่องทาง โดยจะขอแบ่งออกเป็น 2 ช่องทางหลัก ๆ คือ
- การลงทุนตรงในต่างประเทศ ซึ่งคือการเปิดบัญชีหลักทรัพย์ต่างประเทศกับโบรกเกอร์ในไทยที่เปิดให้บริการซื้อขายหุ้นเวียดนาม โดยจะมีข้อดีในด้านความหลากหลาย ทำให้สามารถเลือกลงทุนในหุ้นหรือ ETF ตัวใดก็ได้ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์นั้น และมีสภาพคล่องสูง สามารถซื้อขายได้แบบเรียลไทม์ อย่างไรก็ดี การนำเงินออกไปลงทุนในต่างประเทศ หากมีกำไรจะต้องนำมาเสียภาษีกำไรจากการลงทุนต่างประเทศด้วย
- การลงทุนผ่านตลาดหุ้นไทย สามารถทำได้ผ่าน 2 ช่องทาง คือ
2.1 การลงทุนในกองทุนรวมหุ้นเวียดนาม ซึ่งคือการเปิดบัญชีซื้อขายกองทุนรวม โดยจะมีให้เลือกหลากหลายตามแต่กลยุทธ์การลงทุน
2.2 การลงทุนผ่าน Depositary Receipt (DR) ซึ่งคือหลักทรัพย์ประเภทหนึ่งที่จดทะเบียนให้ซื้อขายได้เหมือนหุ้น โดยผู้ออก DR จะเป็นผู้ที่ไปซื้อหลักทรัพย์ในต่างประเทศมา แล้วนำมาเสนอขายหลักทรัพย์ต่างประเทศนั้นให้กับผู้ลงทุนไทยในรูปสกุลเงินบาท ปัจจุบันมี DR เพียง 2 ตัวที่อ้างอิงหุ้นเวียดนาม คือ E1VFVN3001 อ้างอิงดัชนี VN 30 และ FUEVFVND01 อ้างอิงดัชนี VN Diamond
สำหรับนักลงทุนที่สนใจ ลงทุนหุ้นเวียดนามผ่าน DR สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ คลิกที่นี่
หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน