ภาษีลงทุนต่างประเทศ เรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม

โดย พนิดา ชูกุล ผู้เชี่ยวชาญการวางแผนการเงิน เพจมาดามฟินนี่ MadamFinney
3 Min Read
23 มีนาคม 2567
15.907k views
TSI_Article_569_Inv_Thumbnail
Highlights

หากนักลงทุนประเมินว่า การลงทุนในสินทรัพย์ลงทุนต่างประเทศ หรือลงทุนนอก เป็นการกระจายความเสี่ยงที่ดี ขณะเดียวกันก็เพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีด้วย นอกจากจะต้องศึกษาข้อมูลและติดตามข่าวสารแล้ว สิ่งสำคัญที่ควรคำนึงถึง คือ ภาษีลงทุนต่างประเทศ ซึ่งต้องทำความเข้าใจรายละเอียดและวิธีบริหารจัดการภาษีลงทุนต่างประเทศ เพราะเกณฑ์บางอย่างอาจกระทบต่อการนำเงินออกไปลงทุน หากบริหารจัดการภาษีได้ดี ย่อมมีโอกาสเพิ่มผลตอบแทนที่ดีได้

ปัจจุบันโอกาสในการลงทุนต่างประเทศไม่ได้ถูกจำกัดไว้สำหรับกลุ่มนักลงทุนสถาบันหรือนักลงทุนรายใหญ่อีกต่อไป นักลงทุนรายย่อยสามารถกระจายความเสี่ยงของพอร์ตลงทุนและเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนได้ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนหุ้น ตราสารหนี้ และสินทรัพย์อื่น ๆ ทั่วโลก

 

อย่างไรก็ตาม ก่อนตัดสินใจไปลงทุนต่างประเทศ ควรทำความเข้าใจ “ภาษี” เพื่อให้วางแผนการลงทุนเป็นไปตามเป้าหมาย รู้ต้นทุนต่าง ๆ สร้างผลกำไร และที่สำคัญลดความเสี่ยงที่จะเสียหายจากการทำผิดในเรื่องภาษี

 

ภาษีลงทุนต่างประเทศ คือ ภาษีเงินได้ที่เกิดขึ้นจากการที่นักลงทุนได้รับ “เงินได้จากการลงทุน” ประเภทต่าง ๆ จากการลงทุนในสินทรัพย์ที่อยู่นอกประเทศไทย โดยเงินได้จากการลงทุนในต่างประเทศที่ต้องเสียภาษี มีลักษณะเหมือนกับเงินได้จากการลงทุนในประเทศ คือ จัดเป็นรายได้ประเภท 40 (4) เช่น รายได้ดอกเบี้ยรับจากเงินฝากธนาคารในต่างประเทศ หรือหุ้นกู้ต่างประเทศ / เงินปันผลจากหุ้นหรือกองทุนรวมในต่างประเทศ / ส่วนต่างกำไรจากการขายหุ้นต่างประเทศ เป็นต้น

 

ดังนั้น เมื่อนำเงินไปลงทุนต่างประเทศ ผู้ที่ต้องเสียภาษีให้กับกรมสรรพากร คือ ผู้มีเงินได้จากการลงทุนในต่างประเทศ เช่น เงินปันผลจากหุ้นต่างประเทศ / กำไรจากการขายหุ้นต่างประเทศ / ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในต่างประเทศ รวมถึงผู้ที่อยู่ในประเทศไทยเกิน 180 วันในปีภาษีและมีเงินได้จากต่างประเทศ โดยจะไม่คำนึงถึงปีที่นำเงินได้เข้ามาในประเทศไทยว่า ต้องเป็นปีเดียวกันกับปีที่เกิดเงินได้จากการลงทุนในต่างประเทศถึงจะเสียภาษี

 

สำหรับผู้ที่ลงทุนในกองทุนรวมต่างประเทศผ่านบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ที่จดทะเบียนในประเทศไทย หรือลงทุนผ่าน DR (Depositary Receipt) หรือมีเงินได้จากการลงทุนต่างประเทศแต่เสียภาษีในประเทศนั้นแล้ว โดยที่ประเทศนั้นมีอัตราการเสียภาษีสูงกว่าไทยและมีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับไทย ก็ไม่ต้องเสียภาษี

อนุสัญญาภาษี เรื่องต้องรู้ถ้าไม่อยากเสียภาษีซ้ำซ้อน

อนุสัญญาภาษีซ้อน คือ สัญญายกเว้นการเก็บภาษีซ้อนที่รัฐบาลไทยได้ทำไว้กับรัฐบาลประเทศอื่น เป็นสนธิสัญญาทางภาษีแบบทวิภาคี ที่สองประเทศตกลงทำขึ้นเพื่อช่วยให้ผู้เสียภาษีไม่ต้องเสียภาษีซ้ำซ้อนจากรายได้ที่ได้รับ ทั้งในประเทศที่เกิดเงินได้กับประเทศที่เป็นที่อยู่อาศัยของผู้เสียภาษี โดยอนุสัญญาภาษีซ้อนจะช่วยสร้างกฎเกณฑ์และ ขั้นตอนการเสียภาษีที่ชัดเจน เพิ่มความโปร่งใส ลดข้อโต้แย้ง และเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางภาษีกันระหว่าง ประเทศคู่สัญญาเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้ผู้เสียภาษี

 

โดยจะระบุว่าประเทศไหนจะเป็นผู้เก็บภาษีเงินได้จากรายได้ประเภทใด ในจำนวนเท่าไหร่ และในรูปแบบไหน เพื่อให้เกิดการจ่ายภาษีเพียงครั้งเดียว เช่น ผู้เสียภาษีสามารถนำจำนวนภาษีที่ได้จ่ายไปแล้วในประเทศที่เกิดรายได้มาเป็นเครดิตภาษีที่ใช้หักกับภาษีที่ต้องจ่ายในประเทศไทย เป็นต้น

 

ปัจจุบันประเทศไทยมีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศไหนบ้าง สามารถดูได้ที่ https://www.rd.go.th/765.html



เมื่อตัดสินใจไปลงทุนต่างประเทศจึงต้องเข้าใจวิธีบริหารจัดการภาษีลงทุนต่างประเทศ โดยในเบื้องต้นควรทราบ หลักการคิดกำไรเงินได้ที่เป็นกำไรจากการลงทุน หมายถึง ส่วนต่างที่เกิดจากการที่นักลงทุนได้รับเงินจากการขาย เงินลงทุนในจำนวนที่มากกว่าต้นทุนของเงินลงทุนที่ได้จ่ายไป และหักค่านายหน้าและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องแล้ว

 

สูตรคำนวณ กำไรจากการลงทุน

= ((ราคาขาย x จำนวนหุ้น) - (ราคาซื้อ x จำนวนหุ้น)) - ค่านายหน้าและค่าธรรมเนียม

= ((ราคาขาย-ราคาซื้อ) x จำนวนหุ้น) - ค่านายหน้าและค่าธรรมเนียม

 

เพื่อให้การเก็บข้อมูลมีความถูกต้อง โปร่งใส และสะดวกในการเก็บเป็นหลักฐานที่ใช้ในการยื่นภาษีเงินได้ นักลงทุนควรมีระบบบันทึกข้อมูลการซื้อขายที่ชัดเจน โดยอาจจัดทำขึ้นด้วยตัวเอง หรือใช้เครื่องมือ หรือแพลตฟอร์มของโบรกเกอร์ที่เปิดบัญชีซื้อขายช่วยในการเก็บบันทึกข้อมูลและเก็บเอกสารหลักฐานประกอบไว้ในที่ปลอดภัย หากเป็นการดาวน์โหลดข้อมูลก็ต้องทำการสำรองข้อมูลดังกล่าวอย่างสม่ำเสมอด้วย

 

โดยข้อมูลที่นักลงทุนควรทำการเก็บบันทึกอย่างละเอียด คือ ข้อมูลรายการซื้อขายเงินลงทุนในต่างประเทศ เช่น

  • วันที่ซื้อ ราคาซื้อ จำนวนซื้อ
  • วันที่ขาย ราคาขาย จำนวนขาย
  • ค่านายหน้าและค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องในแต่ละรายการ
  • อัตราแลกเปลี่ยนที่ใช้ในการแปลงค่า ควรกำหนดหลักการที่ใช้ให้แน่นอนและระบุแหล่งอ้างอิงไว้อย่างชัดเจน พร้อมเก็บหลักฐาน เพราะส่งผลต่อการคำนวณกำไรขาดทุนจากการขายหุ้นต่างประเทศ
  • หลักการในการคำนวณต้นทุนของหุ้นที่ขายให้ชัดเจนและใช้หลักการดังกล่าวในการคำนวณอย่างสม่ำเสมอไม่ เปลี่ยนแปลงไปมา เช่น วิธี First-In, First-Out (FIFO) และ Average Cost เป็นต้น
  • หากมีการนำเงินปันผลไปลงทุนต่อก็ควรบันทึกรายการเหล่านี้ไว้ด้วย เช่น วันที่ จำนวนเงิน สกุลเงิน อัตราแลกเปลี่ยน ราคาซื้อ เพื่อคำนวณเป็นราคาต้นทุนของหุ้นที่ซื้อ

 

จากนั้นก็ศึกษาวิธีคำนวณภาษี สำหรับนักลงทุนที่เป็นบุคคลธรรมดา ให้นำเงินได้จากการลงทุนต่างประเทศทุกรายการ มารวมคำนวณกับเงินได้ประเภทอื่น ๆ แล้วหักค่าใช้จ่ายตามประเภทของเงินได้ ก่อนที่จะใช้สิทธิลดหย่อนต่าง ๆ จากนั้นคำนวณภาษีเงินได้ตามอัตราก้าวหน้าสำหรับบุคคลธรรมดา แล้วจึงนำภาษีหัก ณ ที่จ่ายทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศที่มีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศไทย รวมถึงภาษีครึ่งปีที่ได้จ่ายไปมาหักออกจากภาษีเงินได้ทั้งหมด

 

เมื่อถึงเวลาการยื่นเงินได้จากการลงทุนต่างประเทศ มีหลักฐานดังนี้

  • แบบ ภ.ง.ด.94 สำหรับภาษีครึ่งปี (มกราคม - มิถุนายน) โดยยื่นภายในสิ้นเดือนกันยายน
  • แบบ ภ.ง.ด.90 สำหรับภาษีทั้งปี (มกราคม - ธันวาคม) โดยยื่นภายในสิ้นเดือนมีนาคมของปีถัดมา และสามารถใช้ภาษีที่จ่ายไปตอนครึ่งปีมาหักจากภาษีที่ต้องยื่นทั้งหมดของปีได้

 

สำหรับเอกสารที่ใช้ในการเสียภาษีเงินได้ต่างประเทศ

  • เอกสารหลักฐานที่ยืนยันเงินได้จากการลงทุนในต่างประเทศ เช่น บันทึกการซื้อขายหลักทรัพย์และการคำนวณต้นทุนกำไรขาดทุนของพอร์ตหุ้นต่างประเทศ / เอกสารประกอบการรับเงินปันผล / เอกสารการรับดอกเบี้ย
  • เอกสารทางภาษีที่เกี่ยวข้อง เช่น ใบรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย / แบบยื่นภาษีเงินได้ และใบเสร็จรับเงินของภาษีเงินได้ที่ได้ยื่นไปแล้วในประเทศที่เป็นแหล่งรายได้
  • เอกสารเกี่ยวกับอนุสัญญาภาษีซ้อนที่ประเทศไทยทำกับประเทศที่นักลงทุนไปลงทุน

 

การลงทุนต่างประเทศ ไม่เพียงแต่ต้องศึกษาข้อมูลการลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ หรืออัปเดตข้อมูลข่าวสารอยู่เป็นประจำแล้ว ประเด็นความเข้าใจเรื่อง “ภาษีลงทุนต่างประเทศ” ก็มีความสำคัญ เพราะช่วยให้สามารถก้าวออกไปสู่โลกของการลงทุนทั่วโลกได้อย่างมั่นใจมากขึ้น และอย่าลืมว่าหากวางแผนภาษีจากการลงทุน และตัดสินใจในการลงทุนโดยมีข้อมูล จะเพิ่มการคว้าโอกาสในการลงทุนและจัดการความเสี่ยงเรื่องผลตอบแทนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน


สำหรับใครที่สนใจอยากรู้สิทธิประโยชน์และเงื่อนไขต่าง ๆ ในการลดหย่อนภาษี เพื่อให้สามารถวางแผนภาษีและเพิ่มเงินออมได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “วางแผนดี ได้ภาษีคืน ด้วยโปรแกรม Tax Planning” ฟรี!!! >> คลิกที่นี่
แท็กที่เกี่ยวข้อง: