นักลงทุนหลายคนคงเคยสงสัยว่า... หากสัดส่วนการลงทุนในพอร์ตของเราผิดเพี้ยนไปจากสัดส่วนตั้งต้น เพราะผลตอบแทนของสินทรัพย์แต่ละตัวเติบโตไม่เท่ากัน เราควรทำอย่างไรต่อดี วิธีสำคัญที่น่าจะตอบโจทย์นี้ได้ คือ “การปรับพอร์ตลงทุน” เพราะเมื่อเวลาผ่านไป สินทรัพย์ที่โตเร็วจะมีมูลค่าวิ่งแซงสินทรัพย์อื่นๆ สัดส่วนโดยรวมของพอร์ตจึงเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด และอาจทำให้ความเสี่ยงของพอร์ตเราเพิ่มมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว
การปรับพอร์ตจึงทำให้นักลงทุนมั่นใจได้ว่า พอร์ตลงทุนจะยังตอบโจทย์เป้าหมายในอนาคต แถมยังอยู่ในระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ยิ่งในภาวะที่สถานการณ์เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา นักลงทุนยิ่งจำเป็นต้องหันกลับมาดูพอร์ตที่ลงทุนไปว่ามีการปรับเปลี่ยนมากน้อยเพียงใด
ตัวอย่างเช่น นักลงทุนคนหนึ่งยอมรับความเสี่ยงได้ในระดับปานกลาง (Moderate) จึงจัดสรรเงินลงทุนในหุ้น 50% ตราสารหนี้ 30% และเงินฝากอีก 20% ตั้งแต่ปีแรกที่เริ่มลงทุน ซึ่งปีนั้นทั้งปีตลาดหุ้นพุ่งขึ้นแบบทะยานฟ้า ทำให้ผลตอบแทนจากการลงทุนในพอร์ตเพิ่มขึ้นอย่างมาก นักลงทุน H-A-P-P-Y แต่ลืมนึกไปว่า สัดส่วนของหุ้นในพอร์ตก็จะเพิ่มขึ้นจาก 50% เป็น 70% ของพอร์ตด้วยเช่นกัน พอร์ตนี้จึงมีความเสี่ยงโดยรวมที่สูงขึ้น
หากนักลงทุนไม่มีการปรับพอร์ตใดๆ และเกิดโชคดีที่หุ้นยังขึ้นต่อ สัดส่วนของหุ้นในพอร์ตก็จะยิ่งโตขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็น 80% หรือ 90% ของพอร์ต แต่หากโชคร้าย สถานการณ์พลิกเป็นหุ้นตกอย่างแรงเมื่อไหร่ รับรองว่าพอร์ตที่มีหุ้นในสัดส่วนสูงๆ เสียหายหนักแน่นอน
ถ้าต้องยอมรับความเสี่ยงสูงขนาดนั้น นักลงทุนหลายท่านคงรับมือไม่ไหว
คำถามคือ จะปรับพอร์ตอย่างไรดี?
เริ่มง่ายๆ จากการกำหนดช่วงการเปลี่ยนแปลงที่ยอมรับได้ของสินทรัพย์แต่ละประเภท เช่น กำหนดให้หุ้นมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ไม่เกิน 10% จากพอร์ตตั้งต้น ถ้าเกินจากสัดส่วนนี้ จะปรับพอร์ตทันที เพื่อปรับให้สัดส่วนการลงทุนกลับมาเท่าเดิม หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “Rebalance” นั่นเอง
จากตารางจะเห็นว่า หากสัดส่วนการถือครองหุ้นน้อยกว่า 40% หรือมากกว่า 60% ของพอร์ต นักลงทุนก็จะปรับพอร์ตให้กลับมาเท่ากับพอร์ตตั้งต้นที่วางไว้ คือ ถือหุ้น 50% ของพอร์ต ซึ่งนักลงทุนอาจปรับพอร์ตโดย
กล่าวโดยสรุป การ Rebalance คือ การปรับสมดุลของพอร์ตลงทุนให้สัดส่วนของสินทรัพย์ต่างๆ กลับมาอยู่ในนโยบายการลงทุนส่วนตัวหรือพอร์ตตั้งต้นที่วางไว้ ซึ่งจะช่วยป้องกันความเสี่ยงได้เป็นอย่างดี แถมยังสามารถสร้างผลตอบแทนที่มั่นคง ไม่เหวี่ยงจนเราหวั่นไหวอีกด้วย
Tips : หลักเกณฑ์ง่ายๆ ในการหาช่วงเวลาปรับพอร์ต
นอกจากนี้ อาจต้องพิจารณาถึงปัจจัยต่างๆ เช่น ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ สถานะทางการเงิน รวมไปถึงข้อจำกัดของแต่ละคน และการคาดการณ์เศรษฐกิจในอนาคต หากปัจจัยเหล่านี้เปลี่ยนแปลงไป นักลงทุนก็ควรที่จะพิจารณาปรับพอร์ตด้วยเช่นกัน
สำหรับนักลงทุนที่สนใจ อยากเรียนรู้เทคนิคและกระบวนการบริหารพอร์ตลงทุนให้เหมาะกับสไตล์ตนเอง เพื่อสร้างพอร์ตลงทุนให้เติบโตอย่างยั่งยืน สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “ครบเครื่องเรื่องบริหารพอร์ตลงทุน” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่