ในปี 2566 เศรษฐกิจจีนมีอัตราการเติบโต 5.2% เมื่อเทียบกับปีก่อน สูงกว่าเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งไว้ที่ระดับ 5% ถึงแม้ว่าจะมีความกังวลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนก็ตาม แต่จีนยังเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ด้วยมูลค่าประมาณ 640 ล้านล้านบาท เป็นรองเพียงแค่สหรัฐอเมริกา และมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่าประเทศไทยถึงราว 35 เท่า มีประชากรกว่า 1.4 พันล้านคนที่เป็นแรงขับเคลื่อนหลักในภาคการบริโภค ทั้งยังเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของโลก
ทว่า ตลาดหุ้นจีนและตลาดหุ้นฮ่องกงกลับไม่ได้มีทิศทางสดใสตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยมีผลตอบแทนที่ติดลบ Underperform ภาพรวมตลาดหุ้นโลก โดยดัชนี CSI 300 ที่สะท้อนภาพรวมตลาดหุ้นจีนปรับลงกว่า 38% ดัชนี Hang Seng ที่สะท้อนภาพรวมตลาดหุ้นฮ่องกงปรับลดลงถึง 45% (ข้อมูล ณ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567)
โดยจีนได้เผชิญกับความท้าทายหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ความไม่แน่นอนของนโยบายภาครัฐ การจัดระเบียบบริษัทเทคโนโลยี รวมถึงการปิดเมืองที่ยาวนานกว่าประเทศอื่นในช่วงการแพร่ระบาด COVID-19 เป็นต้น ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อพญามังกรจีนลดลง สะท้อนจากเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ (Fund Flow) ไหลออกจากตลาดหุ้นจีนและตลาดหุ้นฮ่องกงตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
หากพิจารณาถึงปัญหาที่ลึกลงไป ประเมินว่าจีนกำลังเผชิญกับความท้าทายเชิงโครงสร้าง 3D ได้แก่
- Debt ปัญหาหนี้ในภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยบริษัทอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ของจีน เช่น China Evergrande ที่เคยเป็นเบอร์ 1 ด้านอสังหาริมทรัพย์ ยังเกิดปัญหาเรื่องสภาพคล่องจากการอ่อนแอลงของกำลังซื้อ รวมถึงการควบคุมตลาดอสังหาริมทรัพย์ของภาครัฐ ทำให้บริษัทต้องล้มละลายในท้ายที่สุด บริษัทที่ใหญ่ขนาดนี้ยังเกิดปัญหาเช่นนี้ได้ บริษัทที่มีขนาดเล็กลงมาจึงมีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับปัญหานี้ได้เช่นเดียวกัน
- Deflation อัตราเงินเฟ้อจีน หรือดัชนี CPI เดือนมกราคม ปี 2567 ลดลง 0.8% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งอยู่ในโซนหดตัวมาแล้ว 4 เดือนติดต่อกัน สะท้อนว่าจีนอาจกำลังเผชิญกับภาวะเงินฝืด สาเหตุจากการชะลอตัวของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงความเชื่อมั่นในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ลดลงจากปัญหาหนี้สิน
- Demographic ในปี 2566 มีเด็กเกิดใหม่ในจีนประมาณ 9 ล้านคน ซึ่งลดลงจากปี 2565 ที่อยู่ราว 9.5 ล้านคน และลดลงเป็นปีที่ 7 ติดต่อกัน ทำให้จีนมีแนวโน้มเข้าสู่สังคมสูงวัยซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า โดยในปี 2566 ประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปี มีสัดส่วนประมาณ 21% ของทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากเพียง 12% เมื่อ 10 ปีก่อน ถือเป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
โดยประเมินว่ารัฐบาลจีนควรให้ความสำคัญกับความท้าทายเชิงโครงสร้างข้างต้น ผ่านการออกนโยบายช่วยเหลือที่เฉพาะจุดมากขึ้น เช่น การผ่อนปรนนโยบายควบคุมบริษัทอสังหาริมทรัพย์ เพื่อช่วยให้ปัญหาหนี้ไม่ลุกลามบานปลาย (แก้ไขปัญหาหนี้) การกระตุ้นการบริโภคผ่านการให้คูปองสนับสนุนการใช้จ่าย (แก้ไขปัญหาอัตราเงินเฟ้อ) หรือการยกเลิกกฎหมายห้ามมีลูกเกิน 3 คนต่อครอบครัว (แก้ไขปัญหา Demographic) เป็นต้น
ถึงแม้ว่าความท้าทายเชิงโครงสร้างของจีนอาจต้องใช้เวลาในการแก้ไข แต่บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นจีนและฮ่องกงเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้นแล้วในปัจจุบัน โดยแบ่งออกเป็น 5 ปัจจัยบวก
- การผลักดันเทคโนโลยีภายในประเทศ การจัดระเบียบบริษัทเทคโนโลยีจีนถือเป็นหนึ่งในปัจจัยที่กดดันภาพรวมการลงทุนในตลาดหุ้นจีนและฮ่องกงตลอดช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ประเมินว่าได้ผ่านจุดที่แย่ที่สุดไปแล้วในปัจจุบัน โดยรัฐบาลจีนกลับมาให้การสนับสนุนบริษัทเทคโนโลยีมากขึ้นตามนโยบาย “Made in China 2025” ที่รัฐบาลจีนมุ่งเน้นผลักดันให้ก้าวข้ามจากการเป็นประเทศแห่งฐานการผลิตไปสู่ผู้นำด้านเทคโนโลยีของโลก ผ่านการสนับสนุนอุตสาหกรรมและนวัตกรรมที่หลากหลาย เช่น หุ่นยนต์ เทคโนโลยีการแพทย์ เซมิคอนดักเตอร์ เป็นต้น
ทั้งหมดนี้ ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนในระยะข้างหน้า โดยบริษัทจีนเองก็ถือว่าทำได้ค่อนข้างดีในแง่การยกระดับเทคโนโลยีของตัวเองขึ้นมาจนเป็นที่รู้จักในระดับสากลในช่วงที่ผ่านมา เช่น บริษัท Baidu ที่ทำธุรกิจระบบค้นหาข้อมูลคล้ายกับ Google และเปิดตัว AI ที่มีประสิทธิภาพไม่ต่างจาก ChatGPT หรือบริษัท ByteDance เจ้าของแอปพลิเคชัน TikTok ที่เติบโตอย่างรวดเร็วจนมีผู้ใช้งานมากกว่า 1.5 พันล้านคนต่อเดือน เป็นต้น
- การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด จีนเป็นหนึ่งในผู้นำของโลกในด้านการปรับตัวเข้าสู่พลังงานสะอาด เห็นได้จากเป้าหมายของรัฐบาลจีนที่ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นศูนย์ภายในปี 2603 ผ่านการสนับสนุน เช่น ยกเว้นการเก็บภาษีซื้อรถยนต์ไฟฟ้าจนถึงปี 2570 เป็นต้น โดยจีนถือเป็นตลาดรถยนต์ไฟฟ้าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 55% ของยอดขายรถยนต์ทั้งโลกในปี 2566 ซึ่งสูงกว่ายุโรปและสหรัฐอเมริกาที่อยู่เพียง 21% และ 11% ตามลำดับ จึงเห็นแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าของจีนที่ออกไปตีตลาดโลกรวมถึงประเทศไทย ด้วยราคาและคุณภาพที่สมเหตุสมผล ทำให้โมเมนตัมยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าไหลเข้าสู่บริษัทจีนมากขึ้น
- การสนับสนุนตลาดทุน รัฐบาลจีนให้การสนับสนุนตลาดทุนมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการลดภาษีอากรแสตมป์ (Stamp Duty) ลง 50% การจำกัดการทำธุรกรรมขายชอร์ต (Short Sell) สำหรับหุ้นบางตัว การสนับสนุนให้กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติเข้าซื้อหุ้นเพื่อพยุงตลาด และการเปลี่ยนผู้อำนวยการของสำนักงาน ก.ล.ต. จีนคนใหม่ เป็นต้น ทำให้นักลงทุนกลับมามีความเชื่อมั่นมากขึ้น
- การใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย ธนาคารกลางจีนได้มีการลดอัตราสำรองธนาคาร (RRR) ถึง 3 ครั้งใน 1 ปีที่ผ่านมา โดยครั้งล่าสุด คือ เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2567 ด้วยการปรับ RRR ลงถึง 0.5% นับเป็นการปรับลงที่มากสุดในรอบกว่า 16 ปี อีกทั้ง ยังมีการลดดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับลูกค้าชั้นดี (LPR) ประเภท 5 ปี ลง 0.25% เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ปี 2567 เป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือน นับเป็นการช่วยเหลือความต้องการซื้อในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ซบเซา
- มูลค่าหุ้นที่อยู่ในระดับน่าสนใจ ปัจจุบัน P/E Ratio 12 เดือนข้างหน้าของดัชนี CSI 300 ที่สะท้อนภาพรวมตลาดหุ้นจีน และดัชนี Hang Seng ที่สะท้อนภาพรวมตลาดหุ้นฮ่องกง อยู่ที่เพียง 13 และ 9 เท่า ตามลำดับ ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี ถึงราว 1.5 - 2 Standard Deviation (ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน) และใกล้เคียงกับช่วงโควิดเมื่อปี 2563 (ข้อมูล ณ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567) ถือเป็นปัจจัยที่ช่วยจำกัด Downside ของตลาดเอาไว้ได้
จากข้อมูลดังกล่าว ประเมินว่าปัจจุบันแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ของตลาดหุ้นจีนและตลาดหุ้นฮ่องกง เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะสำหรับนักลงทุนที่ยังไม่มีการลงทุนในตลาดหุ้นจีนและฮ่องกง และไม่ต้องการลงทุนหุ้นรายตัว ซึ่งมีความเสี่ยงมากกว่า สามารถกระจายการลงทุนในตลาดทั้งสองได้สะดวกและมีประสิทธิภาพผ่านตลาดหุ้นไทยด้วยผลิตภัณฑ์ DR* ที่มีหลักทรัพย์อ้างอิงเป็น ETFs ที่ลงทุนอ้างอิงดัชนีหลักของตลาดหุ้นจีนและฮ่องกง ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 5 ตัว ได้แก่
- CN01 ที่มีหลักทรัพย์อ้างอิงเป็น ChinaAMC CSI 300 Index ETF อ้างอิงดัชนี CSI 300 หุ้นขนาดใหญ่ 300 ตัวในตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้และตลาดหลักทรัพย์เซินเจิ้น
- STAR5001 ที่มีหลักทรัพย์อ้างอิงเป็น Premia China STAR50 ETF อ้างอิงดัชนี STAR 50 หุ้นเทคโนโลยีขนาดกลางและขนาดเล็กบนกระดาน STAR ของตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้
- HK01 ที่มีหลักทรัพย์อ้างอิงเป็น Tracker Fund of Hong Kong อ้างอิงดัชนี Hang Seng ซึ่งสะท้อนภาพรวมบริษัทจีนและฮ่องกงที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกง
- HKCE01 ที่มีหลักทรัพย์อ้างอิงเป็น Hang Seng China Enterprises Index ETF อ้างอิงดัชนี Hang Seng China Enterprises สะท้อนภาพรวมบริษัทจีนชั้นนำที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกงจำนวน 50 ตัว
- CNTECH01 ที่มีหลักทรัพย์อ้างอิงเป็น ChinaAMC Hang Seng TECH Index ETF อ้างอิงดัชนี Hang Seng TECH บริษัทเทคโนโลยีจีนชั้นนำที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกงจำนวน 30 ตัว
*DR หรือ Depositary Receipt เป็นตราสารที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้นักลงทุนไทยสามารถซื้อขายหุ้นหรือ ETF ต่างประเทศได้ โดยผู้ออก DR จะเป็นคนไปซื้อหุ้นหรือ ETF ต่างประเทศมาเก็บไว้ และนำมาเสนอขายนักลงทุนไทยอีกต่อหนึ่ง ในรูปของเงินบาท นักลงทุนไทยจึงซื้อขายหุ้นหรือ ETF นั้นผ่านตลาดหุ้นไทยได้ โดยใช้บัญชีเดียวกันกับการซื้อขายหุ้นไทย เหมือนการซื้อขายหุ้นทั่วไป
ศึกษารายละเอียดของ DR เพิ่มเติมได้ที่ คลิกที่นี่
หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน
สำหรับนักลงทุนมือใหม่และผู้ที่สนใจ เรียนรู้ลักษณะพื้นฐาน ทางเลือกลงทุน และวิธีการลงทุนในต่างประเทศผ่านตลาดหุ้นไทย เพื่อกระจายความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “มือใหม่หัดลงทุนต่างประเทศ” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่
หรือเรียนรู้พื้นฐานการลงทุนใน DR กลไกการเคลื่อนไหวของราคา ตลอดจนวิธีการซื้อขาย และกลยุทธ์การลงทุนใน DR สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “ลงทุน DR ฉบับมือใหม่” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่