บุกแดนมังกร ทำความรู้จักตลาดหุ้นจีน

โดย รัฐศรัณย์ ธนไพศาลกิจ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายหลักทรัพย์ต่างประเทศและฟิวเจอร์ส บล.บัวหลวง
3 Min Read
17 มีนาคม 2567
3.086k views
TSI_Article_564_Inv_Thumbnail
Highlights

ตลาดหุ้นจีนเป็นหนึ่งในตลาดหุ้นที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีและบริษัทใหม่ ๆ ที่มีการนำเสนอนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ บทความนี้จะพานักลงทุนไปรู้จักตลาดหุ้นจีนทั้ง 4 แห่ง ซึ่งมีจุดเด่นที่แตกต่างกัน รวมถึงประเภทหุ้นจีนที่มีให้ซื้อขาย และดัชนีหลักของตลาดหุ้นจีน ซึ่งนักลงทุนไทยสามารถลงทุนในดัชนีหลักของตลาดหุ้นจีน ผ่านตลาดหุ้นไทยด้วยผลิตภัณฑ์ที่ชื่อว่า DR ได้อีกด้วย

หากพูดถึงตลาดหุ้นจีน (แผ่นดินใหญ่) นักลงทุนอาจจะนึกถึงตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ หรือ ตลาดหุ้นเซินเจิ้น เป็นหลัก รวมถึงตลาดหุ้นปักกิ่งที่เพิ่งเปิดใหม่เมื่อปี 2564 แต่หากรวมตลาดหุ้นฮ่องกงที่เป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีนเข้าไปด้วยแล้ว จะทำให้จีนมีตลาดหุ้นทั้งหมด 4 แห่งในปัจจุบัน โดยมูลค่าตลาดรวมกันอยู่ที่ประมาณ 505 ล้านล้านบาท ทำให้ตลาดหุ้นจีนมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก เป็นรองเพียงตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา ที่มีมูลค่าตลาดประมาณ 1,900 ล้านล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567)

 

ขณะที่ในแง่ของประวัติศาสตร์ ถึงแม้ว่าตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้และตลาดหุ้นเซินเจิ้นจะเพิ่งจัดตั้ง แต่ตลาดหุ้นฮ่องกงนั้นถือว่ามีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานถึง 130 ปี ติด 10 อันดับตลาดหุ้นที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในโลก หลังฮ่องกงเคยอยู่ภายใต้การปกครองของสหราชอาณาจักรตั้งแต่ปี 2384 – 2540 โดยตลาดหุ้นฮ่องกงเป็นตลาดที่ได้รับความนิยมจากนักลงทุนต่างชาติที่ต้องการลงทุนในบริษัทจีน เนื่องจากมีความเป็นมาตรฐานสากลและมีการเปิดเผยข้อมูลเป็นภาษาอังกฤษ ต่างจากตลาดหุ้นจีนแผ่นดินใหญ่ที่ยังมีข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูล

 

จากตลาดหุ้นจีนทั้งหมด 4 แห่ง จึงมีความหลากหลายของประเภทหุ้น เช่น A-Share, B-Share, H-Share และ ADR เป็นต้น รวมถึงดัชนีหลักของตลาดหุ้นจีนที่ครอบคลุมการลงทุนในหลายอุตสาหกรรม ดังนั้น ควรทำความรู้จักก่อนตัดสินใจไปลงทุน

 

  1. ตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง (Hong Kong Exchanges and Clearing: HKEX) ก่อตั้งขึ้นในปี 2434 มีอายุมากมากกว่า 130 ปี ติด 10 อันดับตลาดหุ้นที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในโลก มีมูลค่าตลาดราว 135 ล้านล้านบาท และมีบริษัทจดทะเบียนอยู่ราว 2,600 บริษัท โดยมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินหลายประเภทให้เลือกลงทุน ทั้งยังเป็นตลาด ETFs ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเซีย ด้วยมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ (AUM) ประมาณ 11.5 ล้านล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567)

 

ตลาดหุ้นฮ่องกงเป็นที่นิยมของบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ของจีนในการเข้ามาจดทะเบียน เช่น Alibaba, Tencent และ Baidu เป็นต้น เนื่องจากมีความเป็นมาตรฐานสากลและเป็นช่องทางหลักในการเข้าถึงนักลงทุนต่างชาติที่ต้องการเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นจีน โดยบริษัทในตลาดหุ้นฮ่องกงค่อนข้างมีอุตสาหกรรมที่หลากหลาย มีทั้งกลุ่มเศรษฐกิจดั้งเดิม (Old Economy) และเศรษฐกิจยุคใหม่ (New Economy)

 

  1. ตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ (Shanghai Stock Exchange: SSE) ก่อตั้งขึ้นในปี 2533 (26 พฤศจิกายน 2533) เป็นตลาดหุ้นที่ใหญ่ที่สุดในจีน มีมูลค่าตลาดราว 222 ล้านล้านบาท และมีบริษัทจดทะเบียนราว 2,263 บริษัท โดยการจดทะเบียนจะมีเกณฑ์ที่ค่อนข้างเข้มงวดกว่าตลาดหุ้นอื่น ๆ ของจีน เช่น การกำหนดสินทรัพย์รวมของบริษัทที่จะจดทะเบียนขั้นต่ำอยู่ที่ประมาณ 15,000 ล้านบาท และบริษัทต้องมีกำไรอย่างน้อย 3 ปีติดต่อกัน เป็นต้น ทำให้ส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่เข้ามาจดทะเบียนและอยู่ในกลุ่มเศรษฐกิจดั้งเดิม เช่น พลังงาน หรือการเงิน เป็นต้น

 

  1. ตลาดหลักทรัพย์เซินเจิ้น (Shenzhen Stock Exchange: SZSE) ก่อตั้งขึ้นหลังจากตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ไม่กี่วันเมื่อปี 2533 (1 ธันวาคม 2533) เป็นตลาดหุ้นที่ใหญ่อันดับ 2 ของจีน มีมูลค่าตลาดราว 146 ล้านล้านบาท และมีบริษัทจดทะเบียนอยู่ราว 2,844 บริษัท โดยบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เซินเจิ้นมักเป็นบริษัทที่มีขนาดเล็กลงมาจากตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ เนื่องจากเกณฑ์การจดทะเบียนนั้นมีความยืดหยุ่นมากขึ้น เช่น บริษัทต้องมีสินทรัพย์รวมขั้นต่ำประมาณ 5,000 ล้านบาท และบริษัทต้องมีกำไรอย่างน้อย 2 ปีติดต่อกัน เป็นต้น ทำให้บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เซินเจิ้นจะเริ่มมีส่วนประกอบของกลุ่มเศรษฐกิจยุคใหม่มากขึ้น เช่น เทคโนโลยี หรือ การแพทย์ เป็นต้น โดยอาจเปรียบเทียบคล้ายกับตลาดหลักทรัพย์ NASDAQ ของสหรัฐอเมริกา

 

  1. ตลาดหลักทรัพย์ปักกิ่ง (Beijing Stock Exchange: BSE) เป็นตลาดหุ้นที่เพิ่งเปิดใหม่เมื่อปี 2564 มีมูลค่าตลาดราว 2 ล้านล้านบาท มีบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ประมาณ 240 บริษัท จัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง (SMEs) เป็นไปตามนโยบาย Common Prosperity ของจีนที่ต้องการลดความเหลื่อมล้ำภายในประเทศ จึงมีเกณฑ์การจดทะเบียนที่ยืดหยุ่นมากที่สุด เช่น บริษัทต้องมีสินทรัพย์รวมขั้นต่ำ 250 ล้านบาท และไม่ได้กำหนดว่าบริษัทต้องมีกำไร เป็นต้น

 

ประเภทของหุ้นจีนที่มีให้ลงทุน

สำหรับประเภทของหุ้นจีน นักลงทุนอาจจะเคยเห็นว่าหุ้นจีนมีการจำแนกออกเป็นหลายประเภท ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ดังนี้

  • กลุ่มที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จีนแผ่นดินใหญ่ เช่น A-Share ซึ่งใช้เรียกบริษัทจีนที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นจีน หรือ B-Share ซึ่งต่างจาก A-Share ตรงที่จะใช้สกุลเงินต่างประเทศในการซื้อขาย
  • กลุ่มที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง เช่น H-Share ซึ่งใช้เรียกบริษัทจีนที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกง หรือ Red Chip ซึ่งต่างจาก H-Share ตรงที่มีรัฐบาลจีนเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
  • กลุ่มที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐอเมริกา หรือเรียกว่า American Depository Receipt: ADR

 

ทั้งนี้ บริษัท 1 แห่ง อาจมีหุ้นที่จดทะเบียนอยู่ใน 2 ตลาดหุ้นก็เป็นได้ หรือเรียกว่า Dual Listing เช่น Alibaba จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงใช้สัญลักษณ์ 9988 และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐอเมริกา ใช้สัญลักษณ์ BABA เป็นต้น

A table summarizing the types of stocks in China

ดัชนีหลักตลาดหุ้นจีน

นอกจากหุ้นจีนที่มีหลายประเภทแล้ว ดัชนีหลักของตลาดหุ้นจีนยังมีความโดดเด่นที่น่าสนใจแตกต่างกัน รวมถึงช่องทางการลงทุนผ่าน DR* ในตลาดหุ้นไทย ดังนี้

 

  • ดัชนี CSI 300 : ประกอบด้วยหุ้นจีนขนาดใหญ่ 300 ตัวของตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้และตลาดหุ้นเซินเจิ้น กระจายการลงทุนไปยัง 11 อุตสาหกรรม ครอบคลุมทั้งหุ้นกลุ่มเศรษฐกิจดั้งเดิมและเศรษฐกิจยุคใหม่ โดยดัชนี CSI 300 เป็นดัชนีที่มักใช้สะท้อนถึงภาพรวมเศรษฐกิจจีนและการลงทุนในตลาดหุ้นจีน เช่น บริษัทสุรา Kweichow Moutai และธนาคารยักษ์ใหญ่ของจีน ICBC เป็นต้น หากนักลงทุนสนใจลงทุนอ้างอิงดัชนี CSI 300 ปัจจุบันสามารถลงทุนได้ผ่าน CN01 ซึ่งเป็น DR ที่มีหลักทรัพย์อ้างอิง คือ ChinaAMC CSI 300 Index ETF ซึ่งเป็น ETF ที่อ้างอิงดัชนี CSI 300

 

  • ดัชนี STAR 50 : ประกอบด้วยหุ้นเทคโนโลยีและนวัตกรรม 50 ตัวบนกระดาน STAR ของตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ โดยส่วนใหญ่เป็นหุ้นเทคโนโลยีประเภท Hard Tech เช่น ผู้ผลิตชิปชั้นนำของจีน SMIC เป็นต้น ซึ่งมีแนวโน้มได้รับประโยชน์จากการสนับสนุนของรัฐบาลจีนตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 5 ปี ฉบับที่ 14 (พ.ศ. 2564 - 2568) ที่มุ่งเน้นพัฒนาเทคโนโลยีภายในประเทศ เพื่อลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศในระยะยาว โดยนักลงทุนสามารถลงทุนอ้างอิงดัชนี STAR 50 ได้ผ่าน STAR5001 ซึ่งเป็น DR ที่มีหลักทรัพย์อ้างอิง คือ Premia China STAR50 ETF ซึ่งเป็น ETF ที่ลงทุนอ้างอิงดัชนี STAR 50

 

  • ดัชนี Hang Seng : เป็นดัชนีเรือธงที่รวบรวมบริษัทจีนและฮ่องกงชั้นนำ ใช้เป็นตัวแทนของภาพรวมตลาดหุ้นฮ่องกง โดยดัชนีมีพัฒนาการมาตลอด 55 ปีนับตั้งแต่จัดตั้งดัชนี เริ่มแรกมีหุ้นอยู่เพียง 33 ตัว แต่ปัจจุบันได้มีการเพิ่มขึ้นสู่ 82 ตัว เช่น บริษัทประกัน AIA และธนาคาร HSBC เป็นต้น

 

โดยดัชนีมีแผนเพิ่มขึ้นสู่ 100 ตัวในท้ายที่สุด เพื่อให้สามารถสะท้อนภาพรวมตลาดหุ้นฮ่องกงได้ทั่วถึงมากขึ้น รวมถึงมีความหลากหลายของอุตสาหกรรมและส่วนประกอบของหุ้นเศรษฐกิจยุคใหม่มากขึ้น โดยนักลงทุนสามารถลงทุนได้ผ่าน HK01 ซึ่งเป็น DR ที่มีหลักทรัพย์อ้างอิงเป็น Tracker Fund of Hong Kong อ้างอิงดัชนี Hang Seng ซึ่งเปรียบเสมือนตำนาน ETFs อ้างอิงดัชนี ผู้บุกเบิกตลาด ETFs ตัวแรกในฮ่องกง โดยปัจจุบันเป็น ETFs ที่มีขนาดใหญ่และสภาพคล่องสูงที่สุดในตลาดหุ้นฮ่องกง ทั้งยังบริหารโดย Hang Seng Investment Management

 

  • ดัชนี Hang Seng China Enterprises : เป็นหนึ่งในดัชนีเรือธงเช่นเดียวกับ Hang Seng แต่ต่างกันตรงที่ Hang Seng China Enterprises จะเน้นรวบรวมบริษัทจีนชั้นนำที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกงจำนวน 50 ตัว เช่น บริษัทสื่อสารยักษ์ใหญ่ China Mobile เป็นต้น โดยสามารถลงทุนได้ผ่าน HKCE01 ซึ่งเป็น DR ที่มีหลักทรัพย์อ้างอิงเป็น Hang Seng China Enterprises ETFs ซึ่งเป็น ETFs ที่มีขนาดใหญ่และมีสภาพคล่องสูงเป็นอันดับ 2 รองจาก Tracker Fund of Hong Kong ในตลาดหุ้นฮ่องกง และบริหารโดย Hang Seng Investment Management

 

  • ดัชนี Hang Seng TECH : อีกดัชนีเรือธงของฮ่องกงที่ประกอบด้วยหุ้นกลุ่มเศรษฐกิจยุคใหม่จำนวน 30 ตัว ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกง และส่วนใหญ่เป็นที่รู้จักในระดับสากล เช่น Tencent Alibaba และ Xiaomi เป็นต้น โดยนักลงทุนสามารถลงทุนได้ผ่าน CNTECH01 ซึ่งเป็น DR ที่มีหลักทรัพย์อ้างอิงเป็น ChinaAMC Hang Seng TECH Index ETF ซึ่งเป็น ETF ที่ลงทุนอ้างอิงดัชนี Hang Seng TECH

 

*DR หรือ Depositary Receipt เป็นตราสารที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้นักลงทุนไทยสามารถซื้อขายหุ้นหรือ ETF ต่างประเทศได้ โดยผู้ออก DR  จะเป็นคนไปซื้อหุ้นหรือ ETF ต่างประเทศมาเก็บไว้ และนำมาเสนอขายนักลงทุนไทยอีกต่อหนึ่ง ในรูปของเงินบาท นักลงทุนไทยจึงซื้อขายหุ้นหรือ ETF นั้นผ่านตลาดหุ้นไทยได้ โดยใช้บัญชีเดียวกันกับการซื้อขายหุ้นไทย เหมือนการซื้อขายหุ้นทั่วไป

 

หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน

สำหรับนักลงทุนมือใหม่และผู้ที่สนใจ เรียนรู้ลักษณะพื้นฐาน ทางเลือกลงทุน และวิธีการลงทุนในต่างประเทศผ่านตลาดหุ้นไทย เพื่อกระจายความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “มือใหม่หัดลงทุนต่างประเทศ” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

 

หรือเรียนรู้พื้นฐานการลงทุนใน DR กลไกการเคลื่อนไหวของราคา ตลอดจนวิธีการซื้อขาย และกลยุทธ์การลงทุนใน DR สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “ลงทุน DR ฉบับมือใหม่” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: