ตลาดหุ้นอินเดีย ทำผลงานได้ค่อนข้างโดดเด่นในปี 2566 โดยดัชนี Nifty 50 ซึ่งแสดงค่าเฉลี่ยของหุ้น 50 บริษัทที่ใหญ่ที่สุดในตลาดหลักทรัพย์แห่งชาติอินเดีย (National Stock Exchange of India : NSE) และเป็นดัชนีที่นักลงทุนนิยมใช้ติดตามผลงานตลาดหุ้นอินเดีย ให้ผลตอบแทนรวม (Total Return) ในปี 2566 อยู่ที่ 21.3% ขณะที่ ผลตอบแทนรวมเฉลี่ย 3 ปี อยู่ที่ 17.2% ต่อปี และผลตอบแทนรวมเฉลี่ย 5 ปี อยู่ที่ 16.2% ต่อปี
โดยกลุ่มธุรกิจที่ผลตอบแทนรวมค่อนข้างโดดเด่น ในปี 2566 ได้แก่ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ 81.4% กลุ่มยานยนต์ 47.6% และกลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน 39.1% ซึ่งเมื่อพิจารณาปัจจัยสนับสนุนทั้งกำไรของบริษัทจดทะเบียนในอินเดีย รวมถึงปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ การลงทุน และการเมือง ตลาดหุ้นอินเดียในช่วงเวลาต่อจากนี้ ก็ยังมีความน่าสนใจ
ภาพรวมกำไรของบริษัทจดทะเบียน
สำหรับกำไรของบริษัทจดทะเบียนในอินเดีย ก่อนเกิดวิกฤตการเงินโลก ค่าเฉลี่ยการเติบโตของกำไรในช่วงปี 2547-2552 อยู่ที่ 16% โดยช่วงที่เศรษฐกิจอินเดียรุ่งเรืองสุดขีด ในปี 2548 กำไรเคยเติบโตกว่า 33% แต่หลังเกิดวิกฤตการเงินโลกในปี 2551-2552 รวมถึงการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัวในปี 2556 จนกระทั่งเข้าสู่ช่วงเศรษฐกิจหยุดชะงักจากโควิด-19 กำไรก็เริ่มเติบโตช้าลง ค่าเฉลี่ยการเติบโตในช่วงปี 2553-2563 อยู่ที่ 7% เท่านั้น อย่างไรก็ตาม หลังผ่านพ้นการแพร่ระบาดโควิด-19 กำไรก็กลับมาเติบโตสูงอีกครั้ง โดย Bloomberg คาดการณ์ว่า กำไรบริษัทจดทะเบียนในอินเดีย ปี 2564 – 2568 จะเติบโตเฉลี่ย 19%
จากข้อมูลสำรวจความคิดเห็นนักวิเคราะห์สำนักต่าง ๆ (Consensus) คาดว่า แนวโน้มกำไรต่อหุ้นในระยะข้างหน้า (Forward EPS) ของตลาดหุ้นอินเดีย ปี 2567-2568 จะอยู่ในระดับ 14-18% และคาดการณ์ผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้นในระยะข้างหน้า (Forward ROE) อยู่ในระดับ 14-16% ซึ่ง SCB CIO มองว่า ผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้น (ROE) มีโอกาสขยายตัวได้อีกในอนาคต จากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว รายได้ภาษีขยายตัวแข็งแกร่ง การเติบโตของภาคธุรกิจบนฐานหนี้ที่ต่ำ สนับสนุนโดยภาคธนาคารที่มีฐานทุนแข็งแรง รวมทั้งการลงทุนของภาครัฐและภาคเอกชนที่กำลังเร่งตัวขึ้น ทำให้อาจเห็น ROE ขยายตัว 17% เหนือกว่าค่าเฉลี่ย 20 ปี และเป็นไปได้ที่อาจกลับไปขยายตัว 18-26% เหมือนในอดีต
โอกาสของตลาดหุ้นอินเดีย
เมื่อพิจารณาปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ พบว่า หลังวิกฤติดุลชำระเงินในประเทศปี 2534 อินเดียได้ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้มีรูปแบบเสรีนิยมมากขึ้น โดยภาครัฐเน้นควบคุมเฉพาะธุรกิจที่สำคัญ ที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างที่มีผลต่อสาธารณประโยชน์เท่านั้น ทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เติบโตเฉลี่ย 10% ต่อปี ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา
ปัจจุบันเศรษฐกิจอินเดีย ขับเคลื่อนด้วยการใช้จ่ายในประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน โดยสัดส่วนการบริโภคในประเทศเทียบกับการส่งออก อยู่ที่ประมาณ 9 : 1 ทั้งนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่า GDP อินเดียในช่วงปี 2565 - 2573 จะขยายตัว 6-7% ต่อปี ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจอินเดียมีขนาดแซงหน้าญี่ปุ่นและเยอรมนี ในปี 2573
สำหรับปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนการบริโภคในประเทศระยะต่อไป ได้แก่ สัดส่วนประชากรอินเดียที่อยู่ในวัยแรงงานเป็นหลัก รายได้ประชากรที่เพิ่มขึ้น และการขยายตัวของเมือง ส่วนปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้เศรษฐกิจอินเดียเติบโตในระยะข้างหน้า ได้แก่ ภาครัฐปฏิรูปนโยบายด้านมหาดไทยและการคลังขนานใหญ่ ยกระดับคุณภาพโครงสร้างที่สนับสนุนการทำธุรกิจ เป็นต้น
โดยนับตั้งแต่รัฐบาลชุดปัจจุบันเข้ารับตำแหน่งในปี 2557 ก็เดินหน้าส่งเสริมการใช้ระบบดิจิทัลในธุรกิจ อำนวยความสะดวกในการจดทะเบียนธุรกิจ ลดระเบียบข้าราชการ ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน และปรับลดภาษี ซึ่งสิ่งเหล่านี้ช่วยให้อินเดียมีสภาพแวดล้อมเป็นมิตรต่อภาคธุรกิจมากขึ้น ทำให้สินเชื่อและการลงทุนเติบโต ตัวเลขการจ้างงานเพิ่มขึ้น ขณะที่ รัฐบาลก็เก็บภาษีได้มากขึ้น จึงมีส่วนอย่างมากในการลดการขาดดุลงบประมาณในประเทศ ทั้งยังลดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดได้ จากนโยบายดึงดูดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI)
ในด้านการลงทุน อินเดียกำลังเข้าสู่วัฏจักรการลงทุนรอบใหม่ ทั้งฝั่งภาครัฐและเอกชน โดยตัวเลขการสะสมทุนถาวรเบื้องต้น (Gross Fixed Capital Formation : GFCF) ที่แสดงการลงทุนของทุกภาคส่วน เคยอยู่ในระดับสูงสุดที่ 36% ในปี 2551 แต่ลดลงต่อเนื่องจนเหลือ 27.3% ในปี 2564 เนื่องจากประสบปัญหาต่าง ๆ เช่น ความไม่มั่นใจของผู้ประกอบการต่อนโยบายของรัฐบาล ปัญหาหนี้เสียอยู่ในระดับสูง โครงการลงทุนหยุดชะงักจากความล่าช้าในการขออนุญาตจากหน่วยงานกำกับดูแล และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูง เป็นต้น แต่วัฏจักรการลงทุนกำลังกลับมาด้วยความต้องการที่อยู่อาศัยที่ฟื้นตัวเด่นชัด ทำให้งบลงทุนภาคครัวเรือนเติบโต เห็นได้จากสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ขยายตัวในช่วงที่ผ่านมา
ขณะที่ รัฐบาลอินเดียก็ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง ด้วยงบประมาณเติบโตเฉลี่ย 23% ต่อปี นับตั้งแต่ปี 2559-2566 ในส่วนของปีงบประมาณ 2567 รัฐบาลอินเดียร่วมกับรัฐวิสาหกิจ จัดสรรงบประมาณลงทุนไว้ 18.5 ล้านล้านรูปี เพิ่มขึ้น 28% เมื่อเทียบกับปี 2566 และคิดเป็น 6% ของ GDP สูงกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปี (ปีงบประมาณ 2554-2563) อยู่ที่ 3.9% โดยโครงการที่ใช้งบลงทุนสูงสุด คือ โครงสร้างพื้นฐานคมนาคม
นอกจากนี้ รัฐบาลอินเดียยังสนับสนุนการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล เพื่อให้ประชากรอินเดียเข้าถึงบริการทางการเงินมากขึ้น โดยได้ทุ่มเงินลงทุนพัฒนาระบบการชำระเงินดิจิทัล Unified Payments Interface (UPI) ซึ่งช่วยให้ผู้ใช้งานเชื่อมโยงบัญชีธนาคารหลายบัญชีเข้ากับแอปพลิเคชันด้วยมือถือเพียงเครื่องเดียว ทำให้ทำธุรกรรมกับบุคคลอื่นได้แบบเรียลไทม์บนสมาร์ตโฟน ช่วยลดช่องว่างระหว่างเขตเมืองและชนบท นำผู้คนที่ไม่มีบัญชีธนาคารหลายล้านคนเข้าสู่ระบบธนาคารอย่างเป็นทางการด้วย
ไม่เพียงเท่านี้ UPI ยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ธุรกิจขนาดเล็ก พ่อค้าริมทาง และชุมชนชนบท เพราะสามารถนำข้อมูลธุรกรรมการค้าที่บันทึกบนแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซของเอกชนหรือภาครัฐ ไปพิสูจน์ความน่าเชื่อถือด้านเครดิต ช่วยในการระดมทุน ลดความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง ทำให้การเข้าถึงระบบธนาคารและปริมาณสินเชื่อสำหรับธุรกิจขนาดเล็กสูงขึ้น
สำหรับการลงทุนภาคเอกชน มองว่าจากการที่ภาคเอกชนยังมีสัดส่วนหนี้สินต่ำ มีโอกาสใช้สินเชื่อขยายกิจการในอนาคตได้อีก ส่วนการใช้กำลังการผลิตอยู่ในช่วงฟื้นตัว จะมีผลอย่างมากในการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในสินทรัพย์คงที่มากขึ้น
ส่วนด้านการเมืองในอินเดียนั้น ระหว่างเดือน เม.ย. - พ.ค. 2567 นี้ จะมีการเลือกตั้งรัฐบาลชุดใหม่ โดยรัฐบาลชุดปัจจุบันที่มี นายนเรนทรา โมที (Narendra Modi) เป็นนายกรัฐมนตรี ยังเป็นหนึ่งในผู้นำทางการเมืองที่ได้รับความนิยมที่สุดในอินเดีย ซึ่งมองว่า ก่อนการเลือกตั้ง รัฐบาลของนายโมที คงมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และมาตรการอื่น ๆ ออกมาต่อเนื่อง
โดยที่ผ่านมา เราได้เห็นการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติม สำหรับโครงการจ้างงานในชนบท เงินอุดหนุนก๊าซหุงต้มที่สูงขึ้น และการขยายโครงการอุดหนุนอาหารจากรัฐบาลกลาง นอกเหนือจากการเบิกจ่ายงบประมาณจำนวนมากจากรัฐบาล ก่อนการเลือกตั้งของแต่ละรัฐ ในเดือน พ.ย. - ธ.ค. 2566 ทำให้คาดว่า การบริโภคจะเติบโตจากเงินอุดหนุนและการโอนเงิน ช่วงไตรมาส 4 ของปีงบประมาณ 2567 ซึ่งเป็นช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง
ทั้งนี้ คาดว่า ไม่ว่าพรรคใดเป็นผู้นำรัฐบาลนโยบายการปฏิรูปเศรษฐกิจที่สำคัญ เช่น ภาษีสินค้าและบริการ (GST Tax) โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการผลิต (PLI Schemes) และการเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนโครงสร้างที่สำคัญของเศรษฐกิจจะยังคงดำเนินต่อไป
ความเสี่ยงของตลาดหุ้นอินเดีย
ในส่วนปัจจัยเสี่ยงของการลงทุนในตลาดหุ้นอินเดีย ที่ควรติดตาม ได้แก่ ความผันผวนของค่าเงินอินเดียรูปี ซึ่งรัฐบาลและธนาคารกลางอินเดียพยายามจำกัดความเสี่ยงด้านนี้ ผ่านการสะสมทุนสำรองระหว่างประเทศที่แข็งแกร่ง หันไปนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียที่มีราคาส่วนลดและใช้สกุลเงินรูปีอินเดียซื้อขาย แทนการใช้เงินดอลลาร์สหรัฐ
ส่วนแรงกดดันเงินทุนไหลออกน่าจะมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ได้ผ่านช่วงการใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัวไปแล้ว ซึ่งจะลดแรงกดดันต่อ Fund Flow ที่ไหลออกจากกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา
ขณะที่ พันธบัตรรัฐบาลอินเดีย จะถูกรวมในดัชนีพันธบัตรรัฐบาลสกุลเงินท้องถิ่นของ JP Morgan (GBI-EM) ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2567 โดยใช้เวลา 10 เดือน (ถึงเดือนมีนาคม 2568) เพิ่มน้ำหนักอย่างค่อยเป็นค่อยไปสู่น้ำหนักเป้าหมาย 10% ทำให้คาดว่าจะดึงดูดเงินลงทุนสู่อินเดียได้ 2-3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปีงบประมาณ 2568
อีกปัจจัยเสี่ยงสำคัญ คือ เงินเฟ้อ ซึ่งปัจจุบัน เงินเฟ้อผู้บริโภค (CPI) ยังสูงกว่าเงินเฟ้อเป้าหมายของธนาคารกลางอินเดีย จึงอาจจำกัดความสามารถของธนาคารกลางอินเดียในการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยที่ผ่อนคลายมากขึ้น แต่เชื่อว่า CPI มีแนวโน้มชะลอตัวในระยะถัดไป
สรุป
ตลาดหุ้นอินเดียมีแนวโน้มที่ดีในระยะยาว จากปัจจัยสนับสนุนด้านโครงสร้างประชากร ความพร้อมด้านกฎระเบียบ นโยบายรัฐที่สนับสนุน หนี้ที่ยังอยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งการฟื้นตัวของเครื่องจักรเศรษฐกิจที่สำคัญ เช่น ภาคอสังหาริมทรัพย์ และอุตสาหกรรมการผลิต
สำหรับผู้ที่สนใจลงทุนในตลาดหุ้นอินเดีย แนะนำให้เน้นลงทุนผ่านกองทุนรวมที่มีสัดส่วนหุ้นขนาดใหญ่ มากกว่าหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็ก เพราะคาดว่า เงินลงทุนจากต่างชาติมีโอกาสไหลกลับมา หลังเห็นความชัดเจนของนโยบายรัฐบาล หลังเลือกตั้ง อีกทั้งผลตอบแทนที่เติบโตในช่วงที่ผ่านมากระจุกตัวในหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็ก ขณะที่ Valuation ตลาดหุ้นอินเดียอยู่ในระดับแพง จึงมีความเสี่ยงที่หุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กจะเริ่มเข้าสู่ช่วงพักฐาน หลังแนวโน้มความร้อนแรงของกำไรเริ่มลดลง
คำเตือน : การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง รวมถึงควรขอคำแนะนำเพิ่มเติมจากผู้ประกอบธุรกิจก่อนตัดสินใจลงทุน
หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน