เปิดม่านแดนภารตะ ทำความรู้จักตลาดหุ้นอินเดีย

โดย สกลฉัฐฐ์ เชาวน์เลิศเสรี, CFA นักวิเคราะห์การลงทุน SCB Chief Investment Office ธนาคารไทยพาณิชย์
3 Min Read
15 มีนาคม 2567
2.75k views
TSI_Article_562_Inv_Thumbnail
Highlights
  • ตลาดหุ้นอินเดียเป็นตลาดหุ้นเกิดใหม่ที่น่าสนใจ ด้วยมูลค่าตามราคาตลาดถือเป็นตลาดหุ้นขนาดใหญ่อันดับ 4 ของโลก ซึ่งประกอบด้วย 2 ตลาดหลัก ได้แก่ ตลาดหลักทรัพย์แห่งชาติอินเดีย และตลาดหลักทรัพย์บอมเบย์

  • กลุ่มอุตสาหกรรมหลักในตลาดหุ้นอินเดีย (อ้างอิงดัชนี Nifty 50) ได้แก่ กลุ่มบริการทางการเงิน กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศ และกลุ่มพลังงาน เป็นต้น

  • นักลงทุนไทยสามารถลงทุนหุ้นอินเดียได้ง่ายผ่านกองทุนรวม เช่น กองทุน Index Fund หรือกองทุนรวมหุ้นอินเดีย และต้องคำนึงถึงความเสี่ยงด้านความผันผวนและความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนด้วย

ถ้าพูดถึงตลาดหุ้นเกิดใหม่เอเชีย (Emerging Asia) ที่ฉายแววโดดเด่นในสายตาชาวโลกช่วงเวลานี้ “ตลาดหุ้นอินเดีย” ถูกจัดอยู่ในกลุ่มดังกล่าว โดยเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา นับเป็นครั้งแรกที่มูลค่าตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) ของตลาดหุ้นอินเดียพุ่งทะยานแตะระดับ 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และในวันที่ 23 มกราคม 2567 มาร์เก็ตแคปของตลาดที่เติบโตต่อเนื่อง ก็ส่งผลให้ตลาดหุ้นอินเดีย เลื่อนขั้นจากตลาดหุ้นที่มีขนาดใหญ่ที่สุดอันดับ 5 ของโลก ขึ้นมาเป็นอันดับ 4 ของโลก แซงหน้าตลาดหุ้นฮ่องกง เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จากข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 ตลาดหุ้นอินเดียมีมาร์เก็ตแคปอยู่ที่ 4.63 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

โดยตลาดหุ้นอินเดีย ประกอบด้วย 2 ตลาดหลักด้วยกัน ได้แก่

  1. National Stock Exchange of India (NSE) หรือตลาดหลักทรัพย์แห่งชาติของอินเดีย ก่อตั้งขึ้นในปี 2535 ที่เมืองมุมไบ ซึ่ง ณ สิ้นปี 2566 มีบริษัทจดทะเบียนอยู่ราว 2,300 บริษัท
  2. Bombay Stock Exchange (BSE) หรือตลาดหลักทรัพย์บอมเบย์ ก่อตั้งขึ้นโดยนักธุรกิจที่มีอิทธิพลในบอมเบย์ เมื่อปี 2418 ถือเป็นตลาดหลักทรัพย์ที่เก่าแก่ที่สุดในเอเชีย โดยในปี 2500 รัฐบาลอินเดียได้รับรองตลาดหลักทรัพย์แห่งนี้ภายใต้ พ.ร.บ.ควบคุมสัญญาซื้อขายหลักทรัพย์ ปัจจุบัน ตลาดหลักทรัพย์แห่งนี้ มีบริษัทจดทะเบียนอยู่ราว 5,000 บริษัท

 

ดัชนีหลักที่สำคัญในตลาดหุ้นอินเดีย

หุ้นที่มีสภาพคล่องและการซื้อขายบ่อยนั้น มีอยู่ทั้ง 2 ตลาดดังกล่าว ส่วนดัชนีที่นักลงทุนนิยมใช้ในการติดตามผลตอบแทนในตลาดหุ้นอินเดีย มีด้วยกัน 2 ดัชนีหลัก ได้แก่

  1. ดัชนี Nifty 50 เป็นดัชนีถ่วงน้ำหนักหุ้นลอยตัว (Free Float Weighted Index) โดยจะแสดงค่าเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนักของหุ้น 50 บริษัทที่ใหญ่ที่สุด และมีสภาพคล่องสูงที่สุดในตลาดหลักทรัพย์ NSE
  2. ดัชนี Sensex เป็นดัชนีถ่วงน้ำหนักหุ้นลอยตัวเช่นกัน โดยจะแสดงค่าเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนักของหุ้น 30 บริษัทขนาดใหญ่ที่สุด และมีสภาพคล่องสูงที่สุดในตลาดหลักทรัพย์ BSE

 

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ทั้ง 2 ดัชนีหลัก ได้รับความนิยมลงทุน ส่วนดัชนีอื่น ๆ ที่มีนักลงทุนบางส่วนนิยมลงทุนเช่นกัน ได้แก่

  • ดัชนี Nifty Bank เป็นดัชนีที่สะท้อนการเคลื่อนไหวของหุ้นกลุ่มธนาคารที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ NSE
  • ดัชนี BSE Small Cap เป็นดัชนีที่ออกแบบโดย S&P เพื่อใช้เป็นตัวแทนของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ BSE ที่มีมาร์เก็ตแคปต่ำที่สุด 15% สุดท้ายของตลาดหลักทรัพย์ BSE
  • ดัชนี BSE Mid Cap เป็นดัชนีที่ S&P ออกแบบมาเพื่อเป็นตัวแทน หุ้นขนาดกลางในตลาดหลักทรัพย์ BSE ที่มีขนาดถัดออกมาจากกลุ่ม Large-Cap ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 15% ของมูลค่าตลาดรวม

 

กลุ่มอุตสาหกรรมและบริษัทที่น่าสนใจในตลาดหุ้นอินเดีย

หากอ้างอิงจากดัชนี Nifty 50 ซึ่งสะท้อนหุ้นขนาดใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ NSE จากข้อมูล ณ สิ้นปี 2566 กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดคือ กลุ่มบริการทางการเงิน คิดเป็น 35.3% ของมูลค่าตลาด ตัวอย่างหุ้นที่น่าสนใจในกลุ่มนี้ ได้แก่ HDFC Bank และ ICICI Bank ซึ่งเป็นหุ้นธนาคารที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 1 และ 2 ในอินเดีย

 

ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีขนาดใหญ่รองลงมาคือ กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศ คิดเป็น 13.6% ของมูลค่าตลาด ตัวอย่างหุ้นที่น่าสนใจในกลุ่มนี้ คือ Infosys เป็นบริษัทเทคโนโลยีสารสนเทศข้ามชาติ และอันดับ 3 คือกลุ่มพลังงาน คิดเป็น 11.4% ของมูลค่าตลาด ตัวอย่างหุ้นที่น่าสนใจในกลุ่มนี้ คือ Reliance Industries เป็นต้น
A pie chart illustrating the proportion of stocks in various industries within the Nifty 50 index as of December 2566

ในส่วนของสัดส่วนการถือครองหุ้นในตลาดหลักทรัพย์อินเดีย จากข้อมูลของ Bloomberg พบว่า ประมาณ 50% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด จะอยู่ในมือของเจ้าของกิจการที่นำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (Sponsors) อีกราว 20% อยู่ในมือของนักลงทุนสถาบันต่างชาติ ส่วนอีก 15% อยู่ในมือของนักลงทุนสถาบันในประเทศ ขณะที่ 9% อยู่ในมือของนักลงทุนรายย่อย และอีก 6% อยู่ในมือของกลุ่มอื่น ๆ เช่น ใบแสดงสิทธิในหุ้นที่ออกโดยสถาบันการเงินในประเทศสหรัฐอเมริกา (American Depository Receipt : ADRs) และใบแสดงสิทธิในหุ้นที่ออกโดยสถาบันการเงินทั่วโลก (Global Depository Receipt : GDRs) และหุ้นที่ถือโดยผู้ดูแลรับฝากทรัพย์สิน (Custodians) เป็นต้น

 

โดยการซื้อขายหุ้นอินเดียของนักลงทุนสถาบันต่างชาติ ค่อนข้างผันผวนตามปัจจัยทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลง โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา สถานะของนักลงทุนสถาบันต่างชาติ กลับมาเป็นผู้ซื้อสุทธิอีกครั้ง หลังจากที่มีสถานะขายสุทธิเมื่อปี 2565 ส่วนนักลงทุนสถาบันในประเทศ ซึ่งครอบคลุมทั้งกลุ่มสถาบันและนักลงทุนรายย่อยที่ลงทุนผ่านกองทุนรวมนั้น มองว่า ยังมีช่องว่างในการขยายตัวได้อีกมาก เนื่องจากมูลค่าหุ้นต่อสินทรัพย์ของครัวเรือนยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ

 

ขณะที่ รัฐบาลอินเดียมีนโยบายสนับสนุนให้ภาคครัวเรือนเก็บออมเพื่อการเกษียณ ผ่านกองทุน Systematic Investment Plans หรือ (SIPs) ซึ่งเป็นกองทุนที่สามารถลดหย่อนภาษีได้ และมีระบบช่วยลงทุนเป็นประจำรายเดือน ซึ่งนโยบายนี้มีผลอย่างมาก ทำให้เงินลงทุนของนักลงทุนในประเทศอินเดียเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสร้างเสถียรภาพให้กับตลาดหุ้น ซึ่งก็จะส่งผลดี เพิ่มความน่าสนใจให้กับตลาดหุ้นอินเดียมากขึ้นไปอีกในอนาคต  

 

แนะนำการลงทุนหุ้นอินเดีย

โดยรวมแล้ว จะเห็นว่า ตลาดหุ้นอินเดีย มีบทบาทที่ทวีความสำคัญมากขึ้นต่อโลกของการลงทุน ด้วยสถานการณ์ที่เป็นตลาดหุ้นขนาดใหญ่อันดับ 4 ของโลกในเวลานี้ ซึ่งนักลงทุนรายย่อยของไทยที่สนใจลงทุนในตลาดหุ้นอินเดีย ก็สามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วยการลงทุนผ่านกองทุนรวม ทั้งที่เป็นกองทุนเชิงรับ (Passive Management) แบบกองทุน Index Fund ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่คาดหวังผลตอบแทนใกล้เคียงกับดัชนี และกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนเชิงรุก (Active Management) โดยไปลงทุนผ่านกองทุนรวมหุ้นอินเดีย ที่ผู้จัดการกองทุนทำหน้าที่คัดเลือกหุ้นรายตัวให้ เหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่คาดหวังโอกาสรับผลตอบแทนที่ดีกว่าดัชนี

 

อย่างไรก็ตาม ก่อนจะเข้าลงทุน การพิจารณาถึงความเสี่ยงที่รับได้ยังมีความสำคัญ เพราะตลาดหุ้นอินเดียยังมีลักษณะของตลาดที่มีความผันผวนสูงเช่นเดียวกับตลาดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ รวมถึงมีประเด็นความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้น ผู้ที่จะลงทุนในตลาดหุ้นอินเดีย จำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจและยอมรับความเสี่ยงในประเด็นเหล่านี้ 

 

คำเตือน : การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง รวมถึงควรขอคำแนะนำเพิ่มเติมจากผู้ประกอบธุรกิจก่อนตัดสินใจลงทุน

หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน


สำหรับนักลงทุนมือใหม่และผู้ที่สนใจ เรียนรู้ลักษณะพื้นฐาน ทางเลือกลงทุน และวิธีการลงทุนในต่างประเทศผ่านตลาดหุ้นไทย เพื่อกระจายความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “มือใหม่หัดลงทุนต่างประเทศ” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่ 
แท็กที่เกี่ยวข้อง: