ถ้าทุกท่านย้อนกลับไปดูการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อเงินดอลลาร์สหรัฐในอดีต พบว่ามีความผันผวนมาโดยตลอด โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในปี 2565 ที่ผันผวนสูงเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นปีที่เงินเฟ้อของสหรัฐอเมริกา ขึ้นไปอยู่ระดับสูง ส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง จากระดับ 0.00 - 0.25% มาที่ระดับ 5.25 - 5.50%
ค่าเงินที่ผันผวนสูง ส่งผลกระทบต่อการลงทุนของนักลงทุนไทยที่ไปลงทุนในต่างประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะผลตอบแทนที่นักลงทุนจะได้รับแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ผลตอบแทนของหลักทรัพย์ที่ลงทุนในต่างประเทศ และผลตอบแทนจากอัตราแลกเปลี่ยน
หากในอนาคต เงินบาท “อ่อนค่า” เมื่อเทียบกับสกุลเงินต่างประเทศ ย่อมถือเป็นผลดีสำหรับนักลงทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ ตรงกันข้าม หากถ้าเงินบาท “แข็งค่า” เมื่อเทียบกับสกุลเงินต่างประเทศ ทำให้ผลตอบแทนจากการลงทุนในต่างประเทศปรับลดลง
ด้วยเหตุนี้ จะเห็นได้ว่าความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเป็นสิ่งที่ควบคู่มากับการลงทุนในต่างประเทศและไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้การบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน มีความสำคัญสำหรับนักลงทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ
(จากภาพ) ช่วงต้นปี 2565 อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อเงินดอลลาร์สหรัฐ “อ่อนค่า” ต่อเนื่องจากบริเวณ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ไปทำจุดอ่อนค่าสุดของปีที่บริเวณ 38.40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หรืออ่อนค่าถึง 20% ในระยะเวลา 9 เดือน ก่อนที่ในช่วงท้ายของปี 2565 จะแข็งค่ามาที่ 34.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หรือแข็งค่ากว่า 10.20% จะเห็นได้ว่ามีความผันผวนค่อนข้างสูง ดังนั้น นักลงทุนที่ไม่ต้องการเผชิญความไม่แน่นอนของผลตอบแทนจากอัตราแลกเปลี่ยน สามารถใช้ตราสารอนุพันธ์ที่อิงกับอัตราแลกเปลี่ยนมาลดความเสี่ยงได้
ในปัจจุบันเครื่องมือบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนในต่างประเทศมีหลากหลายทางเลือกด้วยกัน เช่น Forwards Contracts, Options และ Futures Contracts เป็นต้น สำหรับประเทศไทย นักลงทุนสามารถบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ 2 ทาง
โดยการซื้อขาย Futures สามารถทำได้เพียงมีบัญชี TFEX กับบริษัทหลักทรัพย์ และวางเงินหลักประกันราว 2 – 3% ของมูลค่าสัญญา ดังนั้น นักลงทุนที่ต้องการบริหารความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของค่าเงิน สัญญา Futures ถือเป็นทางเลือกที่เข้าถึงได้ง่ายกว่าการทำธุรกรรม Forwards และ Options
นอกเหนือจากการลงทุนซื้อหลักทรัพย์ในต่างประเทศ การซื้อตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศ หรือ DR (Depositary Receipt) ก็สามารถใช้ Futures ในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้เช่นกัน เนื่องจาก DR เป็นตราสารที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้นักลงทุนไทยสามารถซื้อขายหลักทรัพย์ในต่างประเทศได้ผ่านตลาดหุ้นไทยด้วยสกุลเงินบาท
โดยราคาของ DR เคลื่อนไหวตามราคาหลักทรัพย์ต่างประเทศที่ใช้อ้างอิง ซึ่งถูกปรับด้วยอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว โดยหากหลักทรัพย์ต่างประเทศคงที่ ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท “แข็งค่า” เมื่อเทียบกับสกุลเงินต่างประเทศ ราคา DR จะปรับลดลง ในทางตรงกันข้าม หากอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท “อ่อนค่า” เมื่อเทียบกับสกุลเงินต่างประเทศ ราคา DR จะปรับเพิ่มขึ้น ดังนั้น นักลงทุนที่ต้องการซื้อขาย DR จึงควรพิจารณาความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนด้วยเช่นกัน
ตัวอย่างที่ 1 : สำหรับผู้ลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศโดยตรง
นักลงทุนต้องการซื้อหุ้น AAPL ที่ราคา 200 ดอลลาร์สหรัฐ จำนวน 20 หุ้น โดยกำหนดให้ USDTHB อยู่ที่ 36.06 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และ USD Futures อยู่ที่ 35.98 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ (ยังไม่รวมค่าธรรมเนียมการซื้อขาย)
ต่อมากำหนดให้ราคาหุ้น AAPL คงที่ แต่ USDTHB แข็งค่าเป็น 35.75 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และ USD Futures แข็งค่าเป็น 35.67 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
จากตัวอย่าง การแข็งค่าของอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อเงินดอลลาร์สหรัฐ จะทำให้มูลค่าพอร์ตลงทุนหุ้น AAPL ในรูปสกุลเงินบาทลดลง แต่นักลงทุนสามารถนำกำไรจากการ Short USD Futures มาชดเชยมูลค่าพอร์ตลงทุนที่ลดลงได้
ตัวอย่างที่ 2 : สำหรับผู้ลงทุนใน DR
นักลงทุนต้องการซื้อ DR CNTECH01 ที่ราคา 19.9 บาท จำนวน 100,000 หุ้น โดยกำหนดให้ USDTHB อยู่ที่ 36.06 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ USD Futures อยู่ที่ 35.98 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่วน HKDTHB อยู่ที่ 4.6105 บาทต่อฮ่องกงดอลลาร์ และราคาหลักทรัพย์อ้างอิง 3088.HK อยู่ที่ 4.32 ฮ่องกงดอลลาร์ (ยังไม่รวมค่าธรรมเนียมการซื้อขาย)
เนื่องจากสกุลเงินฮ่องกงดอลลาร์ (HKD) ได้มีการผูกกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ (USD) โดยมีกรอบการเคลื่อนไหวที่ 7.75 - 7.85 ฮ่องกงดอลลาร์ต่อดอลลาร์สหรัฐ นักลงทุนสามารถเลือกป้องกันความเสี่ยงสกุลเงินฮ่องกงดอลลาร์ ด้วย USD Futures ได้โดยการเปิดสถานะ Short
ต่อมากำหนดให้ราคาหลักทรัพย์อ้างอิง 3088.HK คงที่ แต่ USDTHB แข็งค่าเป็น 35.75 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่วน USD Futures แข็งค่าเป็น 35.67 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และ HKDTHB แข็งค่าเป็น 4.5704 บาทต่อฮ่องกงดอลลาร์
จากตัวอย่าง การซื้อ DR แม้ราคาหลักทรัพย์ในต่างประเทศคงที่ แต่ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าก็ทำให้มูลค่า DR ลดลงได้ ซึ่งการขาดทุนดังกล่าวสามารถชดเชยได้ด้วยกำไรที่เกิดขึ้นจากการ Short USD Futures
กล่าวโดยสรุป การใช้ Futures ผ่านตลาดอนุพันธ์ในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน จะช่วยลดความเสี่ยงที่เกิดจากการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนให้กับนักลงทุนในต่างประเทศได้ ซึ่งเชื่อว่านักลงทุนจะเห็นถึงความสำคัญของการป้องกันความเสี่ยงกันมากขึ้น และสามารถนำเครื่องมือที่ใช้บริหารความเสี่ยงดังกล่าวไปใช้ประโยชน์และต่อยอดการลงทุนของตัวเองได้
สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ USD Futures ได้ที่ >> คลิกที่นี่
หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน