ท่ามกลางกระแส Disruptive Technology* จนทำให้หลายบริษัทที่สมัยก่อนเคยเป็นผู้นำธุรกิจ แต่บัดนี้ล้มหายตายจากหรือแคระแกร็นไปเลย (อาทิ Kodak ที่มุ่งเน้นผลิตฟิล์มถ่ายรูป หรือ Nokia ที่ทำโทรศัพท์มือถือแต่ยึดติดกับระบบปฏิบัติการเดิม ๆ) แต่มีบริษัทหนึ่งชื่อว่า Netflix ที่สามารถปรับตัวเองและแสวงหาโอกาสทางธุรกิจจากเทคโนโลยีที่พลิกผันได้
Netflix จากที่เคยทำธุรกิจให้เช่า DVD ทางไปรษณีย์ที่เกือบล้มละลาย แต่ก็ก้าวข้ามมาเป็นบริษัทบันเทิงที่มูลค่าตลาดสูงถึง 2.5 แสนล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐในปัจจุบัน ทั้งนี้ Netflix เป็นหนึ่งในบริษัทแรก ๆ ที่ใช้อินเทอร์เน็ตในการเข้าถึงลูกค้าและได้เปลี่ยนแปลงธุรกิจบันเทิงไปอย่างสิ้นเชิง แม้ดูเป็นเพียงความคิดง่าย ๆ ในปัจจุบัน แต่ในสมัยนั้นการริเริ่มธุรกิจให้บริการสตรีมมิ่งวิดีโอต้องมีความกล้าอย่างมาก รวมทั้งการมีวิสัยทัศน์ของผู้บริหาร เนื่องจากความเร็วและความสามารถในการดาวน์โหลดข้อมูลในสมัยนั้นยังมีข้อจำกัด แต่ Netflix ก็ได้พิสูจน์แล้วว่าทำได้จนประสบความสำเร็จมาถึงทุกวันนี้
*Disruptive Technology หรือเทคโนโลยีที่พลิกผัน คือ เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมรูปแบบใหม่ ๆ ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงการดำเนินธุรกิจและพฤติกรรมของผู้บริโภคอย่างมีนัยสำคัญ จนสามารถแทนที่ผลิตภัณฑ์ หรือเทคโนโลยีเดิมในตลาดได้สำเร็จ
โมเดลธุรกิจของ Netflix เป็น Subscription-Based
กล่าวได้เลยว่า โมเดลการทำธุรกิจของ Netflix นั้นวิวัฒนาการมาจากเทคโนโลยีที่ทำให้เกิดการพลิกผัน จากที่สมัยก่อนผู้บริโภคต้องรับชมรายการบันเทิงผ่านทางทีวี ที่ถูกกำหนดตารางเวลาตายตัว รวมทั้งมีโฆษณาขั้น ก่อนที่มีวิดีโอเทป (VHS) เข้ามา แต่ก็ต้องหาซื้อหรือไม่ก็ต้องเช่าจากร้านวิดีโอที่มีจำนวนรายการให้เลือกจำกัด
ย้อนกลับไปในปี 1997 นาย Reed Hastings ซึ่งในเวลานั้นทำธุรกิจซอฟต์แวร์ ได้เช่าวิดีโอเทปมาจาก Blockbuster ร้านที่ให้บริการเช่าวิดีโอที่มีจำนวนสาขามากที่สุดในสหรัฐฯ ณ ขณะนั้น แต่กลับต้องมาเสียค่าปรับจากการส่งคืนวิดีโอล่าช้า จึงได้ร่วมกับเพื่อนคือ นาย Marc Randolph (ต่อมาเป็น CEO คนแรกของ Netflix) มาร่วมกันตั้งบริษัท Netflix ทำธุรกิจให้เช่าวิดีโอระบบสมาชิกแบบที่ไม่ต้องเสียค่าปรับ แต่ก็ติดปัญหาเรื่องต้นทุนการขนส่งด้วยขนาดสินค้า
จนกระทั่งการเข้ามาของ DVD ที่เป็นแผ่นบางก็ทำให้ Netflix เริ่มเปิดธุรกิจให้จำหน่ายและให้เช่า DVD ผ่านไปรษณีย์ทางออนไลน์ แต่ก็ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดจากที่ต้องต่อกรกับผู้เล่นรายใหญ่อย่าง Blockbuster (ประกาศล้มละลายในปี 2010) จวบจนกระทั่งปี 2007 Netflix ก็เริ่มให้บริการสตรีมมิ่งวิดีโอจากคอนเทนต์ (Content) ที่มีจากผู้สร้างและผู้ผลิตภายนอก
ก่อนที่ในปี 2011 Netflix เริ่มผลิตคอนเทนต์ ของตัวเองจากทีวีซีรีส์เรื่อง “House of Cards” ซึ่งประสบความสำเร็จจากที่ได้รับคำชมจากนักวิจารณ์ รวมทั้งเป็นทีวีซีรีส์เรื่องแรกที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล Emmy จนทำให้ Netflix มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักกันในหมู่ผู้ชมคอนเทนต์มากขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีซีรีส์ที่สร้างชื่อเสียงและมียอดผู้เข้าชมมากกว่า 500 ล้านชั่วโมงขึ้นไป (ในช่วง 28 วันแรกของการออกอากาศ) อย่าง "Stranger Things," “Wednesday,” "Dahmer - Monster: The Jeffrey Dahmer Story," "Money Heist," "Bridgerton," ไปจนถึง “Squid Game” ที่มีจำนวนชั่วโมงในการรับชมสูงถึง 1.65 พันล้านชั่วโมง
ทั้งนี้ คอนเทนต์ ซึ่งประกอบด้วยภาพยนตร์ รายการทีวี สารคดี เป็นต้น ถือเป็นทรัพย์สินที่สำคัญของ Netflix มีทั้งที่บริษัทลงทุนสร้างเอง (Owned) และจากการว่าจ้างผู้ผลิต (Licenses) ซึ่งเรียกรวมกันว่า Netflix Original อีกส่วนหนึ่งมาจากภาพยนตร์และรายการทีวีที่มีการออกอากาศไปแล้วของผู้สร้างและค่ายหนังแต่นำมาฉายซ้ำใน Platform ของ Netflix
ข้อดีของการที่ Netflix มีคอนเทนต์เป็นของตนเองแม้ต้องมีการลงทุนที่สูงมากในช่วงต้น และเป็นต้นทุนการดำเนินงานหลัก (มากกว่า 90% ของสินทรัพย์คอนเทนต์ โดยเฉลี่ยมีการตัดจ่ายภายในเวลา 4 ปีนับตั้งแต่เดือนที่มีการออกอากาศเป็นครั้งแรก) แต่ก็คุ้มค่าในทางเศรษฐศาสตร์จากที่สามารถนำกลับมาออกอากาศซ้ำได้อีก โดยที่ค่าใช้จ่ายดำเนินการลดลงอย่างมีนัย รวมทั้งลดความเสี่ยงจากที่ไม่ต้องพึ่งพาคอนเทนต์ของ Third Parties ที่อาจถูกยกเลิกสัญญาได้ นับตั้งแต่ปี 2018 จนถึงปี 2023 Netflix มีการลงทุนสินทรัพย์คอนเทนต์เป็นมูลค่ารวมมากกว่าหนึ่งหมื่นล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐต่อปี
Netflix เป็นผู้ให้บริการสตรีมมิ่งวิดีโอที่มีสมาชิกมากที่สุดในโลก
ปัจจุบัน Netflix เป็นผู้ให้บริการสตรีมมิ่งวิดีโอที่มียอดสมาชิกมากที่สุดในโลก โดย ณ เดือนมกราคม 2024 บริษัทมีจำนวนสมาชิกที่จ่ายค่าบริการรวม 260.28 ล้านราย ในมากกว่า 190 ประเทศทั่วโลก (ยกเว้นจีน เกาหลีเหนือ ไครเมีย ซีเรีย และรัสเซียที่มีการคว่ำบาตรจากผลสงครามรัสเซีย-ยูเครน) ทั้งนี้สมาชิกของ Netflix เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปีจากตัวเลขปี 2016 ที่มีอยู่ 98 ล้านราย มาเป็น 260 ล้านรายในปี 2023 หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 15%
ในปีการเงิน 2023 ที่ผ่านมา รายได้ของ Netflix เกือบทั้งหมดมาจากรายได้จากการสตรีมมิ่งที่มาจากการเก็บค่าสมาชิกรายเดือน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับจำนวนสมาชิกที่จ่ายค่าบริการ และค่าสมาชิกรายเดือนที่ขึ้นอยู่กับแผนการรับชมที่สมาชิกเลือกไว้ ซึ่งส่งผลต่อรายได้ค่าสมาชิกเฉลี่ย (Average Revenue per User-ARPU) โดยรายได้ส่วนใหญ่เกือบ 60% มาจากตลาดต่างประเทศ ส่วนรายได้จากการให้เช่า DVD ที่บริษัทให้บริการมาตั้งแต่ต้น มีไม่ถึง 0.5% ของรายได้รวม และบริษัทได้ยกเลิกธุรกิจ DVD ไปตั้งแต่เดือนเมษายนปีก่อน อย่างไรก็ ตามคาดว่าในปีการเงิน 2024 เป็นต้นไปบริษัทจะมีการรับรู้รายได้จากธุรกิจโฆษณาแฝงที่เริ่มต้นไปในปลายปี 2023
ปัจจัยที่ทำให้ Netflix ประสบความสำเร็จ
นอกจากนี้ บริษัทยังมีระบบวิเคราะห์และเก็บข้อมูลพฤติกรรมการรับชมของสมาชิกที่ก้าวล้ำ ทำให้สามารถสร้างและแนะนำคอนเทนต์ให้ตรงใจกับความต้องการ เพื่อสร้างความพึงพอใจของสมาชิกให้มากที่สุด อีกทั้งบริษัทยังเป็นพาร์ตเนอร์กับผู้ผลิตอุปกรณ์ต่อเชื่อม มีปุ่มกด “Netflix Botton” รวมทั้งสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันในระบบปฏิบัติการทั้ง Android และ iOS ก็ยิ่งช่วยให้ผู้ชมเข้าถึง Netflix ได้สะดวกขึ้น โดยสามารถทดลองชมฟรีแบบไม่มีค่าใช้จ่าย ทำให้ลูกค้าที่เริ่มแรกไม่คิดสมัครเป็นสมาชิกแต่เมื่อทดลองชมและติดใจก็กลายเป็นสมาชิกระยะยาว
โอกาสลงทุนหุ้น Netflix ผ่านตลาดหุ้นไทย
ปัจจุบัน นักลงทุนไทยสามารถลงทุนในต่างประเทศได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น ผ่านการลงทุนในหลักทรัพย์จดทะเบียนที่ซื้อขายบนกระดานตลาดหุ้นไทย เช่น DRx (Fractional DR) ซึ่งเป็นตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศ โดยผู้ออก DRx จะเป็นคนไปซื้อหุ้นหรือหน่วยลงทุนต่างประเทศ แล้วนำมาเสนอขายให้กับนักลงทุนไทยในรูปสกุลเงินบาทอีกต่อหนึ่ง ซึ่งผู้ถือ DRx จะได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เสมือนลงทุนหุ้นหรือหน่วยลงทุนต่างประเทศโดยตรง
ล่าสุด ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ได้ออกตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศของบริษัท เน็ตฟลิกซ์ อิงค์ (Netflix, Inc.) หรือ DRx ของหุ้น NFLX มีสัญลักษณ์ซื้อขาย คือ NFLX80X เพื่อให้นักลงทุนไทยสามารถซื้อขายหุ้น NFLX ได้บนกระดานตลาดหุ้นไทย (อัตราส่วน 1 หุ้น NFLX : 10,000 DRx) ซึ่งมีข้อดีคือ ไม่ต้องยุ่งยากในการไปลงทุนหุ้น NFLX ในต่างประเทศโดยตรง มีเงินน้อยก็ลงทุนได้ เนื่องจาก DRx สามารถลงทุนขั้นต่ำโดยเริ่มต้นที่ 0.0001 หน่วยเท่านั้น และสามารถเลือกซื้อขายเป็นจำนวนเงินบาท หรือ จำนวนหน่วยของ DRx ก็ได้
นอกจากนี้ ยังสามารถซื้อขายได้ตามเวลาทำการของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ซึ่งจะเปิดซื้อขายในเวลา 2 ทุ่มถึงตี 4 ของวันถัดไป ทำให้การเคลื่อนไหวของราคา DRx จะสอดคล้องกับหุ้น Netflix ที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แนสแด็ก (Nasdaq) สหรัฐอเมริกา โดยนักลงทุนสามารถซื้อขาย DRx ได้อย่างสะดวกผ่านแอปพลิเคชัน Streaming เช่นเดียวกับการซื้อขายหุ้น เพียงแค่เปิดบัญชี DRx ซึ่งเป็นบัญชีย่อยภายใต้บัญชีซื้อขายหุ้นเพิ่มเติม หรือนักลงทุนที่มีบัญชีซื้อขายหุ้นอยู่แล้วสามารถขอเปิดบัญชี DRx ด้วยตนเองผ่านแอปพลิเคชัน Streaming ได้เช่นกัน
หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน
สำหรับนักลงทุนมือใหม่และผู้ที่สนใจ เรียนรู้ลักษณะพื้นฐาน หลักการเลือกลงทุน และวิธีการลงทุน DRx ในต่างประเทศผ่านตลาดหุ้นไทย สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “DRx ลงทุนไซซ์เล็ก เพื่อโอกาสใหญ่ในตลาดโลก” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่